อ่านรวมเรื่องสั้นชิงรางวัลซีไรต์…ไปพร้อมๆ กับกรรมการ (พ.ศ. ๒๕๖๐)
อ่านรวมเรื่องสั้นชิงรางวัลซีไรต์…ไปพร้อมๆ กับกรรมการ (พ.ศ. ๒๕๖๐)
โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com
ถึงแม้ในปีนี้จะมีรวมเรื่องสั้นส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์เป็นจำนวนน้อยกว่าปกตินั่นคือเพียง ๕๗ เล่ม แต่คณะกรรมการคัดเลือกก็เปิดไฟเขียวให้รวมเรื่องสั้นจำนวนถึง ๘ เล่มผ่านด่านเข้าไปชิงชัยกันในรอบตัดสิน และที่น่ายินดีอีกอย่างก็คือนักเขียนจำนวน ๘ ท่านที่มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายในปีนี้ มีนักเขียนบุรุษและสตรีเป็นจำนวนเท่า ๆ กันคือกลุ่มละ ๔ ราย กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของการชิงรางวัลซีไรต์ที่มีผลงานของนักเขียนหญิงเข้ารอบได้เท่ากับผลงานของนักเขียนชาย หลังจากที่ฝ่ายหลังได้ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในการประชันกันมาโดยตลอด และผลงานรวมเรื่องสั้นที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้ โดยจะขอแยกเป็นกลุ่มหญิง ๔ ชาย ๔ ก็ประกอบไปด้วย
๑. ‘กลางฝูงแพะหลังหัก’ โดย อุมมีสาลาม อุมาร
๒. ‘เงาแปลกหน้า’ โดย อนิมมาล เล็กสวัสดิ์
๓. ‘สิงโตนอกคอก’ โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
๔. ‘เสน่หานุสรณ์’ โดย เงาจันทร์
๕. ‘ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ’ โดย ภู กระดาษ
๖. ‘นักแสดงสด’ โดย สาคร พูลสุข
๗. ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า’ โดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
๘. ‘เรากำลังกลายพันธุ์’ โดย เกริกศิษฏ์ พละมาตร์
ดังจะได้เปรียบมวยความโดดเด่นของแต่ละเล่ม ตามลำดับไปดังนี้
๑. ‘กลางฝูงแพะหลังหัก’ โดย อุมมีสาลาม อุมาร
หลังจากที่เมื่อปีกลาย โรสนี นูรฟารีดา ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักเขียนหญิงมุสลิมคนแรกที่มีผลงานเขียนเล่มแรกผ่านเข้ามาชิงซีไรต์ในรอบสุดท้ายกับรวมบทกวีชื่อ ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา (๒๕๕๙) มาปีนี้นักเขียนหญิงมุสลิม อุมมีสาลาม อุมาร ย้อนรอยประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการนำผลงานเขียนเล่มแรก นั่นคือ กลางฝูงแพะหลังหัก ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาได้
สำหรับรวมเรื่องสั้น กลางฝูงแพะหลังหัก ก็เป็นดูจะเป็นงานที่อ่านแล้วชวนให้รู้สึกสะดุ้งสะเทือนไปกับชะตากรรมของเหล่าตัวละครได้มากที่สุดในบรรดาทั้งแปดเล่มที่เข้ารอบมาในปีนี้ กับเรื่องราวที่มักจะวนเวียนอยู่กับภาพชีวิตของสมาชิกครอบครัวมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงจนกลายเป็นเรื่องปกติ สะท้อนทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวเดียวกันเองไปจนถึงกับผู้คนในสังคมผ่านมุมมองของตัวละครสตรีเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็มีทั้งเรื่องราวที่กล่าวถึงภาพความรุนแรงใน พื้นที่ อาทิเรื่อง ‘ผู้ต้องสงสัย’ ที่ชวนให้ต้องตั้งคำถามว่าเราควรจะเลือกไว้วางใจใคร หรือไม่ไว้วางใจใคร โดยเฉพาะกลุ่มผู้สติไม่ดีทั้งหลาย เรื่อง ‘ความตายในเดือนรอมฎอน’ ที่สะท้อนสำนึกในคุกของชายมือระเบิดที่ถูกจับได้ จนทำให้ครอบครัวต้องเดือดร้อน เรื่อง ‘แพะหลังหัก’ ที่เล่าความสัมพันธ์น่ารัก ๆ ระหว่างเด็กหญิงมุสลิมกับเจ้าอาวาสวัดพุทธ ก่อนจะเกิดความรุนแรงถึงขั้นเข่นฆ่า ซึ่งก็ล้วนเล่าออกมาได้อย่างสมจริงชนิดยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกสลด โดย อุมมีสาลาม อุมาร ก็ได้สะท้อนมูลเหตุแห่งความน่าหดหู่เหล่านี้ว่า อาจจะมาจากสถานการณ์ที่คนในครอบครัวเริ่มไม่สามารถเข้าอกเข้าใจหรือแม้แต่ไว้วางใจกัน กลายเป็นกำแพงขวางกั้นโดยเฉพาะระหว่างตัวละครหญิงชาย ทั้งในเรื่อง ‘ฝุ่น’ เกี่ยวกับสตรีที่พบว่าสามีแอบไปมีภรรยาคนที่สองโดยไม่ได้บอกเธอ เรื่อง ‘นิทานของพ่อ’ ที่ลูกสาวไม่อาจเข้าใจอุดมการณ์การใช้ชีวิตของผู้เป็นบิดา ทำให้เธอต้องคอยเป็นห่วงเป็นใยในยามชรา และเรื่อง ‘พี่ชาย’ ที่ตัวละครน้องสาวไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าพี่ชายแท้ ๆ ของเธอกำลังมีอุดมการณ์ด้านศาสนาและการเมืองเป็นอย่างไร และเขาแอบไปทำอะไรยามที่ไม่อยู่บ้านกระทั่งถึงวันเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครสามารถเยียวยาอะไรได้อีกแล้ว ซึ่ง อุมมีสาลาม อุมาร ก็สามารถสะท้อนภาวะความแปลกหน้าในครัวเรือนเหล่านี้ออกมาได้อย่างชวนสะท้อนใจ เมื่อเราไม่อาจจะเข้าใจคนใกล้ชิดที่อาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน
สีสันอีกอย่างในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ก็คือ การนำเสนอภาพตัวละครหญิงมุสลิมผู้มีวิถีชีวิตแหวกขนบจนน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘นมเพื่อม’ หญิงชราที่กลับมาใช้ชีวิตตามลำพัง ณ กระท่อมริมทะเลเมื่อโดนฉ้อโกงมรดกจนหมดตัว และต้องเป็นฝ่ายถูกทำร้ายอยู่ตลอดเวลาในเรื่อง ‘กลางฝูงแพะ’ และประวัติศาสตร์ชีวิตของ ‘ซัลมา’ หญิงมุสลิมวัยห้าสิบปีที่เลือกจะเป็นผู้หญิงกลางคืนในเรื่อง ‘ไก่หลุดคอก’ เผยให้เห็นอีกด้านของการเป็นสตรีมุสลิมที่ท้าทายจารีตปฏิบัติทางสังคมอย่างไม่แยแส รวมถึงเรื่องราวของคุณแม่อาวุโสวัยชราทว่ารักลูกหลานไม่เท่ากันจนผันสถานการณ์ไปเป็นความบาดหมางในเรื่อง ‘ย่า’ ซึ่งก็ล้วนแสดงภาพของสตรีที่มาพร้อมความมั่นอกมั่นใจในตัวเองที่ดูจะกลายเป็น ‘แพะหลงฝูง’ ไปในวิสัยของสังคมมุสลิม แถมด้วยเรื่องสั้นอันว่าถึงความเชื่อในไสยศาสตร์และพิธีกรรมของชาวมุสลิมด้วยการกลายร่างเป็นงูเพื่อรักษาโรคจากมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาในแบบตะวันตกในเรื่อง ‘ลวง’ ซึ่งก็เผยมุมด้านแห่งความคิดอ่านของชาวมุสลิมที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรับรู้มาก่อนได้เช่นกัน
แม้ว่าเนื้อหาเกือบทั้งหมดในรวมเรื่องสั้น จะวนเวียนอยู่กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวมุสลิมร่วมสมัยที่อาศัยอยู่ ณ บริเวณชายแดนภาคใต้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อุมมีสาลาม อุมาร ได้ใช้ศิลปะด้านการประพันธ์ลงรายละเอียดให้สีสัน ขับประเด็นที่แตกต่างออกไปในแต่ละเรื่องราวจนเกิดเป็นความหลากหลายที่ยังให้เอกภาพเชิงพื้นที่และวัฒนธรรมได้อยู่ ซึ่งสำหรับผู้อ่านที่เป็นคนนอกพื้นที่แล้ว รวมเรื่องสั้นเล่มนี้นับเป็นการเปิดประตูสู่การรับรู้ภาพชีวิตของพี่น้องมุสลิมร่วมชาติที่ทั้งเฉียบขาดและลุ่มลึกให้ภาพที่ต่างออกไปจากผลงานของนักเขียนชายร่วมศาสนา โดดเด่นทั้งในเรื่องการใช้ภาษา การให้บรรยากาศเชิงวัฒนธรรม การลำดับโครงสร้างเหตุการณ์ รวมถึงความเข้มข้นในด้านพลังอารมณ์จากชะตากรรมของเหล่าตัวละครที่สมจริงจนกลายเป็นสิ่งชวนเศร้า
๒. ‘เงาแปลกหน้า’ โดย อนิมมาล เล็กสวัสดิ์
สำหรับรวมเรื่องสั้นที่ ‘แขวะ’ และ ‘แซะ’ ภาพชีวิตคนเมืองร่วมสมัยในปัจจุบันได้อย่างเจ็บแสบมากที่สุดก็เห็นจะเป็น เงาแปลกหน้า ของ อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ เล่มนี้แหละ ผลงานชิ้นแรกของนักเขียนหญิงที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในเวทีซีไรต์ ด้วยลีลาจิกกัด เสียดสี พฤติกรรมผู้คนในโลกทุนนิยมที่จริงเสียจนไม่รู้ว่าจะจริงอย่างไร และแม้ว่าลีลาการเล่าจะอาบเจือความแฟนตาซีที่หลุดลอยไปจากความเป็นไปได้ แต่ทุก ๆ สิ่งที่ อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ เล่าไว้ในรวมเรื่องสั้นเล่ม ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เราเคยพบเคยเห็นมาแล้วในสังคมยุคปัจจุบัน
อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ ใช้ลีลาเชิงทดลองด้วยลูกเล่นคล้าย ๆ กับที่ วินทร์ เลียววาริณ เคยทำไว้ในรวมเรื่องสั้น อาเพศกำสรวล (๒๕๓๗) อาทิ การจัดตำแหน่งข้อความหรือตัวอักษรให้ดูแปลกตา ทั้งการโปรยคำแยกบรรทัดลงมา การจัดข้อความชิดซ้ายชิดขวา การใส่กรอบป้ายประกาศ การจัดหน้าแบบข้อสอบ ไปจนถึงการใช้เชิงอรรถในการถ่ายทอดความในใจของตัวละคร มาทำให้วิธีการนำเสนอในเรื่องสั้นจำนวน ๘ เรื่อง ดูมีความล้ำสมัยน่าสนใจ ซึ่งก็เป็นการใช้ลีลาที่ดูกำลังพอดี มีเหตุมีผลต่อเรื่องราวจนไม่ชวนให้รู้สึกฉูดฉาด
เรื่องสั้นส่วนใหญ่ในเล่มนี้ มักจะใช้ลีลามหัศจรรย์มาแดกดันพฤติกรรมอันเหลือเชื่อของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น ภาวะที่ร่างกายครึ่งซีกหายไปของสมาชิกในครอบครัวครอบครัวหนึ่งที่หมกมุ่นอยู่กับตัวตนเสมือนของตัวเองในโลก online มากกว่าจะใส่ใจสรีระร่างกายและจิตวิญญาณในโลกแห่งความเป็นจริงจากเรื่อง ‘อันตรธาน’ การใช้โภคทรัพย์ในการซื้อบุญเพื่อจับจองพื้นที่บนสรวงสวรรค์ จนเกิดธุรกิจทัวร์แดนนรกมาสร้างทางเลือกที่แตกต่าง ในเรื่อง ‘ยอดนักลงทุน’ ซึ่งก็ตรงกับเหตุการณ์ธุรกิจแห่งแรงศรัทธาที่น่าจะคุ้นเคยกันจากข่าวหน้าหนึ่ง ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยมาสร้าง ‘ความทรงจำลวง’ ให้กับพ่อแม่ผู้แก่ชราจนสมองชักจะเลอะเลือน ย้ำเตือนถึงวันเวลาอันมีความสุขกับบรรดาลูก ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะมันเป็นเพียงสิ่งที่บุตรผู้ไม่เคยมีเวลาว่างจ้างบริษัทให้จัดทำเพื่อเอาใจบุพการีในเรื่อง ‘ไอความทรงจำ’ ซึ่งเรื่องสั้นทั้งสามนี้ก็ล้วนมีพล็อตเรื่องที่เกินไปความจริงไปแสนไกล แต่สถานการณ์ต่าง ๆ กลับไม่ชวนให้รู้สึกว่ามีอะไรเกินเลย ค่าที่มันเผยให้เห็นสภาพภายในอันฉาบฉวยจนไม่มีแก่นสารสาระใด ๆ ของผู้คนในปัจจุบันได้อย่างสมจริงยิ่ง
ในขณะที่เรื่องสั้นอย่าง ‘คนคู่’ ที่กระแนะกระแหนตัวละครชายหญิงที่พบปะพูดคุยกันผ่าน webboard ของโลก online โดยต่างฝ่ายต่างเรียกร้องความจริงใจ ในขณะที่ตัวเองกลับต้องใส่หน้ากากซ่อนใบหน้าจริงเอาไว้ตอนออกเดท ก็กลายเป็นเรื่องเล่าชวนขำขันอันน่าสังเวช เรื่อง ‘หุ่นบำบัด’ ที่เล่าสถานการณ์การระบายอารมณ์เร้นลับภายในที่ไม่สามารถทำในโลกความเป็นจริงได้ จนต้องหันมาใช้บริการ ‘หุ่นบำบัด’ ที่ทำหน้าที่ได้เหมือนคนจริง ๆ และเรื่องสั้น ‘เงาแปลกหน้า’ ที่มาในน้ำเสียง แง่มุมเนื้อหา และลีลาที่แสนจะแปลกต่าง เล่าถึงความหมายแห่ง ‘ความสำเร็จ’ ของชายหนุ่มนักเปียโนที่ก้าวสู่จุดสูงสุดของอาชีพตั้งแต่เยาว์วัย จนต้องแสวงหาความท้าทายใหม่ ๆ ด้วยการเป็น จิตรกร และอาชีพอื่น ๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนภาพความโหยหาต้องการของผู้คนร่วมสมัยว่าพวกเขากำลังปรารถนาสิ่งใดได้อย่างสัตย์ซื่อ เพราะทุกมิติอารมณ์ของตัวละครคือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเพียงเรื่องราวในเรื่องสั้นหรือนิยาย ค่าที่มันอธิบายภาวะปัจจุบันของผู้คนร่วมสมัยได้ดีเหลือเกิน
จะมีเพียงเรื่องสั้น ‘ฝาผนัง’ ที่ใช้ลูกเล่นกั้นข้อความชิดซ้าย ไล่กลาง และไปทางขวา พรรณนาเสียงบ่นของสองสาวที่ฝ่ายหนึ่งอยู่เมืองไทยในขณะที่อีกฝ่ายกำลังใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากในต่างประเทศที่ไม่ค่อยจะลุ่มลึกสักเท่าไหร่จนคล้ายเป็นการอวดโชว์เทคนิค ผิดกับเรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย ‘แบบทดสอบ’ ที่มาในลีลาของข้อสอบเลือกตอบวัดความรู้ ที่นอกจากจะโยงเนื้อหากลับไปสู่เรื่องราวในเรื่องสั้นที่อยู่ก่อนหน้า ก็ยังสามารถจิกกัดระบบการศึกษา โดยเฉพาะมาตรฐานการออกข้อสอบคัดเลือกที่ไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ และการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้ที่เรียนในสถาบันที่ดีที่สุดได้อย่างลงตัว
เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นอันแพรวพราวทั้งเทคนิคลูกเล่นลีลาการประพันธ์และการสะท้อนภาวะอันร่วมสมัยของผู้คนในสังคมใน เงาแปลกหน้า เล่มนี้แล้ว ก็ชวนให้รู้สึกใจหายว่ามนุษย์เราได้ดำเนินมาถึงภาวะอะไรแบบนี้แล้วจริง ๆ หรือ จนอดไม่ได้ที่จะต้องนึกไปถึงวลีฮิตติดปากสะท้อนความหลากใจที่เคยเปรยถามกันอยู่บ่อยครั้งว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”
๓. ‘สิงโตนอกคอก’ โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
สำหรับรวมเรื่องสั้นที่เขียนได้อย่างวิจิตรเข้มข้นถูกอกถูกใจข้าพเจ้ามากที่สุดที่เข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้ ก็คงต้องยกให้ สิงโตนอกคอก ของนักเขียนหญิงที่ผู้วิจารณ์เพิ่งเคยได้อ่านผลงานเป็นครั้งแรก สิงโตนอกคอก นับเป็นรวมเรื่องสั้นอิงปรัชญาชีวิตมนุษย์และบทบาทที่พวกเขามีต่อสังคม ถ่ายทอดด้วยการเล่าตามขนบนิทานโบราณ แฝงการใช้สัญลักษณ์ ไปจนถึงการอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ในแบบฉบับงานไซไฟ เรื่องสั้นหลาย ๆ เรื่องในเล่มนี้ชวนให้นึกไปถึงผลงานของนักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลซีไรต์ ‘อัญชัน’ โดยเฉพาะจากเล่ม ผู้แลเห็นลม (๒๕๓๘) มือที่มองไม่เห็น (๒๕๔๒) อ่านโลกกว้าง (๒๕๔๕) และ ณ ที่แห่งนั้น (๒๕๔๘) แม้ว่าในด้านสำนวนภาษาและมุมมองความคิดอาจมีส่วนที่แตกต่างกันบ้าง
เรื่องสั้นที่โดดเด่นในเล่มนี้ คือเรื่องที่พยายามล้วงลึกไปถึงสัญชาตดิบของความเป็นมนุษย์ผ่านภาวะคับขัน ไม่ว่าจะเป็น ‘จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว’ ตำนานโบราณเกี่ยวกับผู้นำชุมชน ณ หมู่บ้านอันหนาวเย็น ที่ต้องเลือกระหว่างการเอาตัวรอดกับการพิทักษ์มรดกทางปัญญาและศรัทธาแห่งศาสนาจากหนังสือเก่าเก็บหายาก และ ‘สมาชิกในหลุมหลบภัย’ ที่ปอกเปลือกมนุษย์ผ่านครอบครัวใหญ่ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในหลุบหลบภัยเพื่อหนีสงครามเป็นเวลาหลายสิบปี โดยไม่รู้เลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินบ้าง ซึ่งทั้งสองเรื่องก็มุ่งสำรวจภาวะการเป็นผู้นำของผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดา’ ได้อย่างน่าพินิจแม้การเขียนจะติดอาการยืดยาวไปบ้าง ในขณะที่เรื่อง ‘อดัมกับลิลิธ’ ก็เล่าเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ร่วมสมัยของหนุ่มสาวชาวรัสเซียขนานไปกับตำนานรักสามเส้าของ Adam-Lilith-Eve จากพระคัมภีร์ Bible ซึ่งก็สะท้อนมุมลึกเร้นแห่งความรักและความใคร่ของตัวละครหญิงชายได้อย่างลึกซึ้งและจริงใจ
กลวิธีที่โดดเด่นอีกอย่างคือ วิธีการใช้สัญลักษณ์ในการสื่อประเด็นของเรื่อง ซึ่ง จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ดูจะทำได้อย่างลงตัวเป็นพิเศษ กับสัญลักษณ์ง่าย ๆ สื่อความได้อย่างตรงมาตรงไป หากกลับแฝงนัยอันซับซ้อนผ่านการลงรายละเอียดของเรื่องได้อย่างคมคาย เช่น ในเรื่อง ‘ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี’ ที่ใช้ไพ่ขาว-ดำประจำตัวบุคคลเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความดีเลวซึ่งเจ้าตัวไม่อาจควบคุมสีไพ่ของตัวเองได้ แต่ประชาชนกลับถูกบังคับให้เชื่อโดยห้ามสงสัย เรื่อง ‘กุหลาบย้อมสี’ ที่ผูกโยงความเชื่อศรัทธาทางศาสนาและเทพเจ้าเข้ากับดอกกุหลาบประจำตัวที่จะผุดผ่องไปด้วยสีขาว แต่มันกลับเป็นดอกกุหลาบที่สามารถย้อมกลับมาเป็นสีเดิมได้หากรงคธาตุมันแปรเปลี่ยนไป เสียดเย้ยความหลงใหลแต่เพียงภาพภายนอก ทว่าเรื่องสั้นที่ผู้วิจารณ์อ่านด้วยความปิติปลื้มปริ่มมากที่สุดในบรรดาเรื่องสั้นทั้ง ๗๔ เรื่องที่เข้ารอบสุดท้ายในปีนี้ก็คือ ‘รถไฟเที่ยงคืน’ ที่ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ใช้รถไฟลึกลับที่จะมาจอดเทียบสถานีเฉพาะเวลาเที่ยงคืนมาเป็นภาพแทนของการบรรลุนิพพานหลุดพ้นไปจากวังวนแห่งกิเลสมนุษย์ได้อย่างแสนหมดจดงดงาม ตีความปรัชญาแห่งพุทธศาสนาด้วยลีลาการเล่าที่ชวนซึ้งตรึงอารมณ์ผสมกับการถ่ายทอดความคิดอันแหลมคมที่กลมกลืนได้อย่างวิเศษ
สำหรับเรื่องสั้นกลิ่นอายไซไฟ ก็มีงานที่พูดถึงโลกอนาคตที่หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทกับผู้คนในสังคมมากขึ้น ดังเรื่อง ‘โอนถ่ายความเป็นมนุษย์’ ที่ตั้งสมมติฐานไว้ว่า มนุษย์สามารถกลายเป็นหุ่นยนต์ได้ง่าย ๆ ด้วยการลบความทรงจำแล้วบรรจุเข้าไปใหม่ พร้อมตั้งคำถามว่าแล้วพวกเขาจะยังมีความรักได้อีกหรือไม่ และเรื่อง ‘ซินเดอเรลล่าแห่งเหมืองหุ่นยนต์’ เมื่อต่อไปมนุษย์จะต้องอาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลหุ่นยนต์ ทำให้ราษฎรสามพี่น้องที่ยังเป็นมนุษย์ต้องหาทางหนีทีไล่กับอำนาจจักรกลที่กุมชะตาชีวิตพวกเขาอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องสั้นที่ดูมีจินตนาการความคิดน่าสนใจ ได้ทั้งบรรยากาศโลกอนาคตใต้สภาวการณ์อันชวนใจหาย แต่ยังย้อนกลับมาสำรวจความเป็นมนุษย์ไปได้พร้อม ๆ กัน
แต่เรื่องสั้นที่ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท แสดงฝีไม้ลายมือด้านการประพันธ์ได้อย่างโดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องสั้นปิดเล่ม ‘สิงโตนอกคอก’ ที่ใช้วิธีการเล่าแบบเรื่องซ้อนเรื่องซ้อนเรื่องถ่ายทอดเหตุการณ์ที่บุรุษนามนิกสันหนีทหารในช่วงสงครามไปหลบในบ้านพักแล้วพบหนังสือที่บันทึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิงกับเด็กชาย แซนดี้ และ เทรย์ ที่เล่านิทานสอนใจเกี่ยวกับสิงโตและลูกแกะอีกทอดหนึ่ง ซึ่งสุดท้าย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ก็สามารถร้อยเรียงรายละเอียดของเรื่องในแต่ละมิติชั้นเข้าด้วยกันได้อย่างมีประเด็น สะท้อนความเห็นเกี่ยวกับทางเลือกทำตัวตามสัญชาตญาณหรือจะคิดอ่านผ่านกรอบทางสังคมได้อย่างพินิจยิ่ง ซึ่งแม้เมื่อเทียบกับเรื่องสั้นเรื่องอื่น ๆ ‘สิงโตนอกคอก’ อาจจะเป็นเรื่องสั้นที่ต้องอ่านด้วยสติปัญญาจนออกจะแห้งแล้งในทางพลังอารมณ์ แต่ในด้านความแหลมคมแยบคายในการเขียนแล้วมันกลับเป็นงานที่ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท สามารถประกาศฝีมือได้ว่าไม่เป็นรองใครเลยจริง ๆ
การสำรวจภาวะแห่งความเป็นมนุษย์อย่างหลากหลาย เข้มข้น และลึกซึ้ง ถึงพร้อมด้วยทักษะการถ่ายทอดบอกเล่า เร้าความรู้สึกกันอย่างมีวรรณศิลป์ของเรื่องสั้นทั้งหลายภายในเล่มนี้ ทำให้ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท อาจมีโอกาสตามรอยนักเขียนหญิงรุ่นพี่อย่าง ‘อัญชัน’ ด้วยการคว้ารางวัลซีไรต์ เพราะไม่ว่าจะพลิกไปเปิดอ่านเรื่องไหนก็ล้วนหนักแน่นและคมคายจนสามารถยกให้เห็นเรื่องสั้นชั้นดีได้ทั้ง ๙ เรื่องเลยทีเดียว
๔. ‘เสน่หานุสรณ์’ โดย ‘เงาจันทร์’
ต้องสารภาพกันตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า ตั้งแต่ติดตามอ่านงานของ ‘เงาจันทร์’ มาไม่ว่าจะเป็น รวมเรื่องสั้น ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ (๒๕๕๐) หรือนิยาย ในรูปเงา (๒๕๕๔) และ รักในรอยบาป (๒๕๕๘) ผู้วิจารณ์เองไม่เคยสามารถจะดื่มด่ำกำซาบไปกับงานของ ‘เงาจันทร์’ ได้ เพราะไม่ว่าส่วนตัวแล้วจะนับถือลีลาการบอกเล่าเรื่องราวแนวพาฝันด้วยสถานการณ์อันแสนหดหู่ดำมืดจนกลายเป็นความแปลกใหม่กันอย่างไร สิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจที่สุดในงานของ ‘เงาจันทร์’ ก็คือพฤติกรรมและความคิดอ่านของตัวละครที่หลาย ๆ เรื่องก็ไม่ชวนให้เชื่อเอาเสียเลย โดยเฉพาะตัวละครฝ่ายชาย ทั้ง ๆ ที่อารมณ์ความรู้สึกภายในที่เชื่อถือได้ ก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเล่าเรื่องราวในแนวทางนี้อยู่ ต่อให้มันจะดูพาฝันอย่างไรก็ตาม
สำหรับรวมเรื่องสั้น เสน่หานุสรณ์ ผลงานเล่มที่สี่ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ของ ‘เงาจันทร์’ นี้ก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่ทักษะลีลาการสร้างตัวละคร ผูกโยงเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับกิเลสตัณหาโดยเฉพาะด้านกามารมณ์ของตัวละคร ‘เงาจันทร์’ จะยังทำออกมาได้น่าอ่านน่าติดตาม แต่ในความลุ่มลึกของตัวละครนี่ยังถือว่าอยู่ระดับไม่ผ่าน เพราะบางครั้งเธอก็ใช้จินตนาการเสียจนเลยเถิดไปจากความสมจริง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะหลาย ๆ เรื่อง ‘เงาจันทร์’ ก็เลือกสถานการณ์มาเล่าได้น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
เนื้อหาในภาพของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ตั้งใจจะให้ข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านกามารมณ์ของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น ‘เรื่องรักที่ตำบลริมแม่น้ำ’ เกี่ยวกับเรื่องราวของนักแปลสาวสวยผู้เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจที่หันไปมีความสัมพันธ์กับชายที่มีครอบครัวแล้ว เรื่อง ‘อมิตตดา’ ชายชราที่ปลีกวิเวกไปอาศัยอยู่ในป่า เนื่องจากโดนจับสึกหลังไปมีอะไรกับสีกา ที่กำลังจะมีความรู้สึกเสน่หากับเด็กสาวอายุคราวลูก เรื่อง ‘หมื่นแสนอาลัย’ ที่เปลี่ยนไปเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างนางรำวัยชรากับเด็กหนุ่มอายุเพียง ๑๖ ปี โดยเทียบเคียงลีลาการร่ายรำเข้ากับการบำเรอความรู้สึกทางกาม เรื่อง ‘วังวนความกระหาย’ ที่อาศัยตัวละครนักศึกษาครูฝึกสอนวัยสาวมาเล่าเรื่องราวการใช้ร่างกายขายความสุขให้กับชายผู้มีอิทธิพลเพื่อหนีจากความยากจนไปสู่สถานะแห่งความมั่งมี ซึ่งแม้ว่าในแต่ละเรื่อง ‘เงาจันทร์’ จะนำเสนอสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีสีสันทว่ายังจริงใจ แต่ประเด็นต่าง ๆ ที่เล่าก็ไม่ได้ถึงกับมีอะไรแปลกใหม่ไปจากสิ่งที่เราอาจจะเคยอ่านผ่านหูผ่านตากันมาแล้ว เรื่องสั้นเกี่ยวกับวังวนกามารมณ์ที่ดูจะเข้าท่าเข้าทางมากที่สุดจึงอาจเป็น ‘สุดาสวรรค์’ ที่หันไปเล่าเรื่องราวหลากหลายตัวละครผ่านมุมมองของหญิงวัยแรกสาวที่ตำแหน่งของหน้าต่างห้องนอนบนชั้นสองของเธอทำให้สามารถสอดส่องพฤติกรรมส่วนตัวของบรรดาเพื่อนบ้านได้ คล้ายเป็นการก้มมองจากสรวงสวรรค์ ซึ่งก็ให้มุมมองที่หลากหลายและรอบด้านดี เสียแต่ช่วงที่เรื่องราวกำลังดำเนินมาถึงตอนสำคัญ ‘เงาจันทร์’ ก็ดันอุดปากตัวละครของตัวเองไม่ให้เล่าอะไรอีกต่อไป เพราะเธอกำลังจะเก็บเงื่อนงำนั้นไว้เฉลยเองในภายหลัง ซึ่งก็เป็นความจงใจที่ทำให้กลวิธีการเล่าดูไม่มีชั้นเชิงเท่าไหร่ และมักจะพบเห็นได้หลายครั้งในผลงานวรรณกรรมของ ‘เงาจันทร์’
แต่เรื่องสั้นที่น่าสนใจจริง ๆ กลับกลายเป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนเพศสภาพของตัวละครที่แตกต่างออกไป อาทิเรื่อง ‘บางแก้ว’ ที่ให้ตัวละครหลัก ‘ฤทัย’ เป็นหญิงคนใช้เกือบใบ้ผู้มีหน้าที่คอยดูแลสุนัขหัวแก้วหัวแหวนของเจ้านายเกย์หนุ่มที่นิยมคบหาฝรั่ง จนกระทั่งผู้ชายคนหนึ่งของเจ้านายเริ่มหันมาสนใจ ‘ฤทัย’ ในที่สุด ซึ่ง ‘เงาจันทร์’ ก็ใช้สถานะความเป็นหญิงนอกสายตาชายเกย์และบทบาทการเป็นสัตว์เลี้ยงของสุนัขมาเทียบเคียงกับตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ไม่ต่างจากเรื่อง ‘อมนุษย์’ ที่ใช้กรณีฆ่าข่มขืนกัดอวัยวะเพศของเหยื่อเด็กผู้ชายวัยรุ่นสติไม่ดีมาแต่งเป็นเรื่องสั้นรหัสคดีที่มีปมประเด็นพิศวาสแบบชายรักชายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องยอมรับเลยว่า ‘เงาจันทร์’ ผูกปมเรื่องราวของเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้อย่างลุ้นระทึกชวนให้ติดตาม ก่อนที่เธอจะกลับมาตกม้าตายกับสถานการณ์ของตัวละครนำที่ไม่น่าเชื่อเอาเลยในช่วงสองหน้าสุดท้าย โชคดีที่ยังได้จินตนาการไซไฟอันแสนแปลกใหม่และคมคายจากเรื่อง ‘เสน่หานุสรณ์’ มาช่วยชดเชยเอาไว้ได้ กับเรื่องราวในโลกอนาคตที่รัฐบาลจะต้องควบคุมเพศสภาพและความรู้สึกด้านกามารมณ์ของผู้คนด้วยการบังคับให้ทานยาแปลงเพศเปลี่ยนจากหญิงเป็นชาย ทำให้คู่รักชาย-หญิงต้องกลายมาเป็นคู่ชาย-ชาย อย่างไม่อาจเลี่ยง จนนำไปสู่การปฏิวัติ
อย่างไรก็ดี เรื่องสั้นที่ดูจะอ่อนเบาที่สุดในเล่มก็เห็นจะเป็นเรื่อง ‘พ่อ’ ที่เล่าเรื่องความผูกพันระหว่างบิดาชาวนากับธิดาตัวน้อยด้วยฉากหลังในชนบท ที่เล่าได้อย่างหวานแหววและโลกสวยเสียจนมีน้ำเสียงแตกต่างไปจากเรื่องอื่น ๆ อย่างชัดเจนจนกลายเป็น ‘วรรณกรรมตาแป๋ว’ เพียงเรื่องเดียวในเล่ม ส่วน ‘ผู้เป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดิน’ ที่เล่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณย่าใจดีกับหลานชายผู้เกลียดบิดาขี้เมา แม้จะไม่ถึงกับหวานแหววเท่า แต่เรื่องราวก็ไม่ได้นำพาผู้อ่านไปไหนสักเท่าไหร่ กลายเป็นเพียงการแนะนำตัวละครโดยไร้การพัฒนา
แต่ก็อย่างว่า ลางเนื้อก็อาจจะชอบลางยา ใครที่ถูกชะตากับวรรณกรรมแนวทางนี้ก็อาจเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่ ‘เงาจันทร์’ เล่าก็เป็นได้ เพราะแม้แต่นิยายอย่าง ในรูปเงา ซึ่งข้าพเจ้ามองไม่เห็นเลยว่าเป็นงาน ‘ชั้นเยี่ยม’ ตรงไหน ก็ยังเคยหวิดจะคว้ารางวัลซีไรต์ในปีเดียวกันกับ คนแคระ (๒๕๕๕) ของ วิภาส ศรีทอง มาแล้ว!
๕. ‘ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ’ โดย ภู กระดาษ
สำหรับรวมเรื่องสั้นที่อ่านแล้วชวนให้พิศวงงงวยได้มากที่สุดที่เข้ารอบมาในปีนี้ ก็คงต้องยกให้ ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ ของ ภู กระดาษ นี่แหละ ค่าที่นักเขียนหนุ่มจากแดนอีสานท่านนี้มีลูกล่อลูกชนในเชิงวรรณศิลป์ที่ช่างสรรหาสร้อยคำสำนวนแปลก ๆ ใหม่ ๆ มาเล่าได้อย่างมีรสชาติ ประกาศความเป็น ‘นาย’ ของภาษาอันเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของการเป็นนักประพันธ์ได้อย่างสิ้นข้อสงสัย ทั้งยังใช้โครงสร้างการเล่าที่บางครั้งเมื่ออ่านจนจบแล้วก็ต้องมานั่งใคร่ครวญว่ามันมีโครงสร้างอะไรให้หยิบให้จับได้ด้วยหรือ จนกลายเป็นรวมเรื่องสั้นที่เหมือนจะนำพาผู้อ่านหลุดหลงไปในป่าหิมพานต์ คลาคล่ำไปด้วยตัวละครสุดพิสดาร เตลิดตะลานจนอาจจะป่วยการที่จะอ่านเพื่อไขว่คว้าหาสาระ
เรื่องสั้นทั้ง ๑๑ เรื่องในเล่มนี้แบ่งออกเป็นสามภาคใหญ่ ๆ นั่นคือ ภาคหนึ่ง : ผู้มาเยือน / ภาคสอง : ใน-ระหว่าง และ ภาคสาม : สู่นิรันดร์ ซึ่งจะค่อย ๆ ไล่จากเรื่องสั้นที่อ่านแล้วสามารถหยิบจับเรื่องราวมาเล่าต่อในภาคแรก มาสู่เรื่องราวที่ยากจะจับต้นชนปลายในภาคที่สอง ก่อนจะแฟนตาซีหลุดลอยกันอย่างเต็มกระบวนในภาคที่สามในที่สุด
ในส่วนของ ภาคหนึ่ง : ผู้มาเยือน ประกอบด้วยเรื่องสั้นแนวหัสคดียุกยิกยียวนด้วยสำบัดสำนวนกวนอารมณ์ จำนวน ๕ เรื่องได้แก่ ‘เหตุการณ์การจับกุม สันติภาพ ไม่เศร้า’ เกี่ยวกับคดีมโนสาเร่หลังการชกต่อยระหว่างนายสงครามกับนายสันติภาพ จนนายดาบตำรวจหลายภริยาต้องเข้ามาสางคดีในขณะที่เขายังพะวักพะวงกับเรื่องในมุ้งของตนเองอยู่ เรื่อง ‘ปล้น’ ที่ตั้งใจเย้ยหยันชะตากรรมพ่อหนุ่มคนยากที่ป่วยกำลังจะตายและตัดสินใจจะหนีความจนด้วยการปล้นธนาคารแต่สถานการณ์ยิ่งดิ่งลง ๆ จนถึงจุดชวนสมเพช เรื่อง ‘ชู-ชัน’ กับอาการอวัยวะเพศแข็งตัวของชายหนุ่มบนรถโดยสารที่ลามเลยไปถึงเรื่องศีลธรรม การค้าประเวณี และคุณค่าความดีงาม เรื่อง ‘อัลแบร์ กามู พาแม่มาท่องเที่ยวประเทศไทย’ ที่เสียดเย้ยแดกดันอาการคลั่งไคล้วาทะคนดังของคนไทย ด้วยการยกคำกล่าว ‘ผมรักแม่มากกว่าความยุติธรรม’ มาสร้างปรากฏการณ์ และเรื่อง ‘อุปสรรคในการเดินออกกำลังกายของอภิชาติ ช.’ ที่ร้อยไขว้ระหว่างเรื่องราวการออกกำลังกายยามค่ำคืนของชายหนุ่ม ตำนานนกหัสดีลิงค์ และศพสาวแม่ฮ้างได้อย่างแสนพิลึก ซึ่งในแต่ละเรื่อง ภู กระดาษ ก็สะท้อนภาพชีวิตอันน่าสังเวชใจของตัวละครออกมาด้วยภาษาและลีลาการเล่าที่ยังพอจะจับเรื่องราวได้ว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร อ่านไปก็ชวนให้อมยิ้มไปกับความช่างหยิกช่างหยอกที่ทำให้เรื่องที่จริง ๆ แล้วน่าเศร้าเหล่านี้มีอารมณ์ขันแสบ ๆ คัน ๆ จนกลายเป็นความบันเทิง
แต่สำหรับเรื่องสั้นใน ภาคสอง : ใน-ระหว่าง แนวทางการเขียนของ ภู กระดาษ ก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการวางโครงสร้างเรื่องราวที่เลื่อนไหลกระจัดกระจาย คลาคล่ำไปด้วยตัวละครหลากหลายที่บางครั้งก็ยากจะประมวลว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่กำลังเล่าอย่างไร และอาจต้องร้องขอกันไว้ว่าโปรดอย่าถามเลยว่าเรื่องสั้นในภาคนี้กำลัง ‘เล่า’ อะไร เพราะมันดูจะเป็นงานที่ต้องปล่อยใจให้หลงเคว้งไปในดงป่าแห่งภาษาของ ภู กระดาษ ที่เขียนวาดบรรยายด้วยตัวอักษรได้อย่างน่าอัศจรรย์ สำหรับเรื่องสั้นในภาคนี้ก็ประกอบไปด้วยเรื่อง ‘การยืนยันอีกครั้งหนึ่งของสาวแม่ฮ้างแห่งหมู่บ้านตาเอกทะไม’ เกี่ยวกับตัวละครสตรีที่ทำกิจการเกี่ยวกับศพ และชายที่กลายร่างกลับมาเป็นสุนัขดำ เรื่อง ‘เพราะว่าความรักนั้นไม่เคยมีฤดูกาล’ ที่เล่าผ่านนโยบายทหารคืนความสุขให้ประชาชน คนที่กลายเป็นปอบห่าก้อม และพระเนื้อหอมที่เป็นที่คลั่งไคล้ของเหล่าสีกา เรื่อง ‘งูในสวนหลังบ้าน’ กระแสสำนึกของหญิงสาวที่ต้องการกำจัดงูที่บังอาจมากัดมารดา ที่ฟุ้งซ่านเลยเถิดไปถึงตำนานนาคา-นาคี เรื่อง ‘ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ’ ที่ยิ่งหนักข้อด้วยการใช้สรรพนามแทนตัวละครว่า ‘มัน’ ซึ่งเปลี่ยนบทบาทไปเรื่อย ๆ ทั้งผู้จัดการโรงงาน และทหาร ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย จนสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใครแม้จะรับรู้ได้ว่ามันเป็นคนละ ‘มัน’ กัน และเรื่อง ‘รอยรักรอยสัก’ เล่าถึงตำนานรักของ ‘แพว’ และ ‘เพด’ ฉบับพิสดารที่ยิ่งอ่านก็ยิ่งอึนและชวนมึนมากกว่าจะโรแมนติก แม้จะยังรักษากลิ่นอายของการเป็นนิยายรักได้อยู่ ซึ่งเมื่อดูทรงแล้วเรื่องสั้นเหล่านี้คงมิใช่งานที่เขียนมาเพื่อให้อ่านแล้วเข้าใจ แต่ละเรื่องจึงอุดมไปด้วยเหตุการณ์สุดพิศวงชวนงงจนไม่รู้ว่าใครเป็นใครหรืออะไรเป็นอะไร จนกลายเป็นว่าถ้าอ่านแล้วจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้ ก็อาจถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะควรแล้ว!
ปิดท้ายเล่มกันด้วยเรื่องสั้นเพียงเรื่องเดียวใน ภาคสาม : สู่นิรันดร์ กับงานชื่อประหลาด ‘เตรายังเพลิงเยี้ยะ หรือไปเอาดวงไฟมาจากยักษ์’ ก็มาในลีลานิทานโบราณผ่านคู่ตัวละครสัญลักษณ์ ท้าวลึงค์ยักษ์ และนางโยนีใหญ่ แต่ด้วยลีลาการเขียนที่เพ้อฟุ้งเสียจนไม่ครณาตรรกะของเหตุการณ์อีกต่อไป ก็ทำให้มันเป็นเรื่องสั้นสัญลักษณ์ที่หลุดลอยจนแทบจะหยิบจับไม่ได้เลยว่ากำลังพยายามสื่อถึงสิ่งใดกันแน่
แต่ความสนุกของการรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ไม่ได้อยู่ที่อารามตรรกะวิบัติของตัวเรื่องราวเท่านั้น ทว่า ภู กระดาษ ยังสามารถเลือกเฟ้นสำนวนแปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่ไม่อาจทราบได้เลยว่ามีใช้กันจริงหรือไม่ มาให้สีสันกับลีลาวรรณศิลป์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ไม่ต่างจากตอนที่เขาเขียนนิยายเรื่อง เนรเทศ (๒๕๕๗) ในผลงานเล่มนี้เราจึงจะได้ยินคำศัพท์สุดแปลกหู เช่น ระนึงระนืด / มหรสพคบงัน / เด็กน้อยป้อยอ่อน / จ๋องกรอด / ผุบผู่ / ล่ายไปล่ายมา / ทดทัว / มิดสิ่ม / อูดอ้าว / ขื่นขิว / นับล้าน ๆ นับกือ ๆ / อะละอะลาย / กะลิกกะหลิ่น / ละวืนละวาย / ตาเหลือกตาซ่น ที่ค้นความหมายกันไม่เจอแม้ในพจนานุกรม! แต่ก็ถือเป็นส่วนผสมที่ยิ่งทำให้รวมเรื่องสั้นเล่มนี้มี DNA ทางวรรณกรรมสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในงานเขียนของผู้ใดมาก่อนเลยจริง ๆ
๖. ‘นักแสดงสด’ โดย สาคร พูลสุข
ในขณะที่รวมเรื่องสั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นการ ‘รวมฮิต’ นำเอาผลงานเรื่องสั้นต่างกรรมต่างวาระของนักเขียนแต่ละท่านมารวมกันเป็นอัลบั้ม แต่สำหรับรวมเรื่องสั้น นักแสดงสด ของ สาคร พูลสุข ดูจะมีโครงสร้างที่ตั้งใจให้เรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงจนสามารถมองเป็นเรื่องย่อยในจักรวาลเดียวกันได้ ผ่านชุดตัวละครที่จะผลัดเปลี่ยนกันมามีบทบาทเด่นในแต่ละเรื่องไป สร้างเอกภาพให้ตัวงานมีความเป็นปึกแผ่นคล้ายการอ่านนิยาย
อย่างไรก็ดีเรื่องสั้นจำนวน ๙ เรื่อง ก็มีทั้งเรื่องสั้นที่มีตัวละครเกี่ยวโยงกับเรื่องอื่น ๆ และเรื่องที่มีความเป็นเอกเทศสลับสับเปลี่ยนกันไป โดยเรื่องสั้นที่อาศัยชุดตัวละครเดียวกันมีอยู่จำนวน ๕ เรื่อง เริ่มจาก ‘เฆี่ยนพราย’ เล่าเรื่องราววิชามนต์ดำของการรำมโนราห์ที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการ ‘ล้างครู’ ที่โยงสู่ตัวละครหนุ่มสาวชาวเมืองอย่าง ‘บุปผา’ และ ‘ชิน’ ต่อด้วยเรื่อง ‘นักแสดงสด’ ที่แนะนำตัวละครหนุ่มสามเกลอคือ ‘เชี่ยว ชาญสกุล’ ‘ป.เศก ประจง’ และ ‘บูรณ์ บูรพา’ ซึ่งจะมาถกกันในเรื่องศิลปะการแสดงที่ทลายเส้นแบ่งระหว่างการสมมติและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ราวกับว่าศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไม่สามารถเสแสร้งทำได้ ก่อนจะโยงใยกลับไปหาตัวละคร ‘บุปผา’ อีกครั้ง มาถึงเรื่อง ‘จงโคร่ง’ ที่ ‘เชี่ยว ชาญสกุล’ พนักงานบริษัทให้บริการฟิล์มสำหรับการทำหนังในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ digital เกิดหมกมุ่นกับการค้นหา ‘สัตว์ร่างจริง’ ภายใน กระทั่งได้พบกับ คางคกป่า ที่เรียกว่า ‘จงโคร่ง’ ซึ่งมีเสียงร้องเหมือนการโหยหอนของสุนัข ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ ‘บูรณ์ บูรพา’ ได้เผชิญหน้ากับสาวสวยกล้าผู้ชายในอีกสองเรื่องคือ ‘เธอมีอ้อมกอดไว้ดับความใคร่’ กับตัวละคร ‘สร้อย’ หญิงในฝันของหนุ่มช่างคิดทั้งหลาย เพราะเธอไม่เคยเห็นความสำคัญหรือมีจริตในการเล่นตัวใด ๆ และพร้อมจะทอดกายให้ชายที่ถูกใจได้เสมอ กับเรื่อง ‘เวตาลอีกตัว…บนถนนอโศก’ เรื่องเล่าเทียบเคียงร่วมสมัยกับ นิทานเวตาล ของ น.ม.ส. ที่นำพฤติกรรมจอมหลอกล่อของเวตาลมาเปรียบกับนักร้องหญิงประจำผับที่มักจะใช้เสน่ห์เฉพาะตัวในการดึงดูดหัวใจจากลูกค้าหนุ่ม ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อพิจารณากันในภาพรวมแล้ว การโยงใยตัวละครทั้งหลายเหล่านี้ในเรื่องสั้นต่าง ๆ ก็ยังไม่เห็นการเชื่อมโยงเชิงบุคลิกที่ชัดเจนสักเท่าไหร่ เพราะ สาคร พูลสุข ดูเหมือนจะอาศัยเพียงชื่อตัวละครจากแต่ละเรื่องที่เหมือน ๆ กัน เพื่อให้ตัวงานเกิดความเป็นเอกภาพ แต่กลับไม่ได้ทำให้เรารู้จักตัวละครเพิ่มขึ้นมากนัก ถึงแม้ว่าผู้ประพันธ์จะขบประเด็นในแต่ละเรื่องได้อย่างเข้มข้นเพียงใดก็ตาม
นอกเหนือจากเรื่อง ‘เธอมีอ้อมกอดไว้ดับความใคร่’ และ ‘เวตาลอีกตัว…บนถนนอโศก’ แล้ว ก็ยังมีเรื่องสั้นอีกสองเรื่องที่เล่าถึงพฤติกรรมผู้หญิงกล้าผู้ชายคล้าย ๆ กัน นั่นคือเรื่อง ‘ครอบครัวสมมุติ’ ที่มุ่งจิกกัดของความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวมีอันจะกินในปัจจุบัน ว่ามันแทบไม่เหลือคุณสมบัติของการเป็นครอบครัวที่อบอุ่นอยู่อีกเลย จนบุตรสาววัยรุ่นต้องหันไปซบอกหาความอบอุ่นจากม้าทรงหนุ่มใหญ่แทน และเรื่อง ‘หญิงสาวในบทกวี’ ที่ดูเหมือน สาคร พูลสุข ดูเหมือนจะตั้งใจขยายเนื้อหาจากบทกวี ของ เรืองรอง รุ่งรัศมี ออกมาเป็นเรื่องสั้นเกี่ยวกับความแค้นของทายาทสาวครอบครัวชาวจีนที่บิดาของเธอต้องเสียชีวิตลงด้วยน้ำมือของนายทหาร จนพวกหล่อนต้องยอมพลีกลายเพื่อหาโอกาสแก้แค้นแทนบิดาให้ได้ในที่สุด ซึ่งทั้งสองเรื่องก็มีการปูวางเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างสนุกน่าติดตามดี มีรายละเอียดเหนือความคาดหมายที่ชวนให้ตกใจได้เสมอ
เรื่องสั้นที่ดูจะอ่อนเบาที่สุดในเล่มจึงกลายเป็น เรื่องสั้นกึ่งความเรียงสองเรื่องนั่นคือ ‘เราต่างก็เป็นมือสังหาร’ เกี่ยวกับความซวยซัดทอดจากแม่ค้าขายลูกชิ้น สู่คุณนายร้านเพชร และนักข่าว เพื่อหาคำตอบว่า ‘มือสังหาร’ ของสังคมคือใคร และเรื่อง ‘วิญญาณที่สาบสูญ’ เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของนักการเมืองขาใหญ่ ที่พยายามจะโยงใยไปสู่ประเด็น เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมอันอ่อนเชย ซึ่งเมื่ออ่านเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้แล้ว ก็อาจชวนให้รู้สึกเหมือนเป็นการบ่นพล่ามที่ไม่ได้ความคมคายทางความคิดเท่าเรื่องอื่น ๆ ที่ได้กล่าวถึงไป ชนิดที่ถ้าตัดสินใจตัดออกไปก็อาจทำให้รวมเรื่องสั้นหนักแน่นได้มากขึ้น
การกลับมาชิงซีไรต์อีกครั้งในรอบนี้ของ สาคร พูลสุข หลังจากที่รวมเรื่องสั้น เสือกินคน (๒๕๕๗) ซึ่งหลากหลาย เข้มข้น และลุ่มลึกกว่าหลายเท่าเคยได้เข้าชิงมาแล้วเมื่อสามปีก่อน จึงอาจยังไม่สามารถเทียบชั้นความสำเร็จครั้งเก่า ๆ ของเขาได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วงานชิ้นนี้ก็ยังถือว่ามีอะไร ๆ ให้อ่านให้พินิจครุ่นคิดและตีความอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
๗. ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า’ โดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
น่าสังเกตว่านักเขียนที่มีผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปีนี้ ล้วนมีทักษะพื้นฐานของการเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ที่เก่งฉกาจกันทุกคน ซึ่งหนึ่งในรายที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คงเป็น จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ กับรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า ที่สามารถเล่าเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือไม่ได้มีสาระยิ่งใหญ่อะไรให้กลายเป็นงานที่สนุกและชวนอ่านได้ แสดงฝีไม้ลายมือด้านการผูกปมเรื่องราวที่กระตุ้นให้ผู้อ่านอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วก็อาจไม่ได้คำตอบทั้งหมดจากทุกคำถามที่สงสัย และเนื้อหาก็อาจไม่ได้สะท้อนปรัชญาชีวิตที่ยิ่งใหญ่เหมือนในรวมเรื่องสั้นเล่มอื่น ๆ
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า เป็นรวมเรื่องสั้น ‘The Bests of…’ ที่ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ คัดสรรจากผลงานในรวมเรื่องสั้นเล่มก่อนหน้า ทั้ง ฮาวายประเทศ (๒๕๕๔) และ Young n’ Wild (๒๕๕๘) รวมถึงจากผลงานรวมเรื่องสั้นสามัคคีเล่มอื่น ๆ มาขัดสีฉวีวรรณเสียใหม่จนได้เป็นเรื่องสั้นชุดจำนวน ๙ เรื่อง หากจะนับบทแรก ‘Prologue ชานชาลา’ และบทสุดท้าย ‘Epilogue พระเจ้าทัมใจ’ ซึ่งมีเนื้อหาต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน
และถึงแม้ว่าชื่อของรวมเรื่องสั้นอาจชวนให้คิดว่าเป็นงานสัจนิยมสะท้อนโศกนาฏกรรมในสังคม แต่เอาเข้าจริงแล้วเรื่องสั้นส่วนใหญ่ในเล่มนี้จะมาในลีลา ‘มิติพิศวง’ ชวนอึนงงกับสถานการณ์อันแปลกประหลาดเร้นลับเสียมากกว่า ทั้งยังมาในโครงสร้างและลีลาหลากหลาย ไล่มาตั้งแต่การแบ่งเรื่องเป็นสองท่อนจากบท ‘Prologue ชานชาลา’ และบท ‘Epilogue พระเจ้าทัมใจ’ กับเรื่องราวของคู่สามีภรรยาที่เดินทางไปยังที่ดินรกร้างห่างไกลอันเป็นมรดกของฝ่ายภรรยา เพื่อให้เธอสามารถปฏิบัติพันธกิจพิธีกรรมลึกลับของตระกูลด้วยการลาจากไปยังพิภพบาดาลประมาณ ๔-๕ ปีโดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ ก่อนที่จะมาต่อเรื่องกันในบทสรุปเกี่ยวกับการค้นพบพระพุทธรูปหน้าตาเหยเกแสนประหลาดที่ถูกค้นพบในบ่อน้ำร้าง ที่ทุกคนต่างกล่าวอ้างว่ามีบุญญาธิการในการช่วยขจัดปัดเป่าความเศร้าโศกได้ มาถึงเรื่องสั้นอีโรติกสุดมหัศจรรย์ ‘เจลาตินรุ่มรัก’ ที่ใช้สรรพนามเล่าประสบการณ์ตัวละครหนุ่มว่า ‘คุณ’ ก่อนจะนำพาไปกับสาวสวยทายาทโรงงานกระดุมจากแหล่งท่องเที่ยวยามราตรี ที่จบลงที่คฤหาสน์ทันสมัยซึ่งอุดมไปด้วยสิ่งประหลาดหลุดโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิงสาราสัตว์ที่ถูกสตัฟฟ์ เจลาตินแสนอร่อยที่ทำจากไขมันสัตว์ บ่อกระดุมนับล้านเม็ด และ ‘ตัวเงินตัวทอง’! ส่วนเรื่อง ‘เพดานอาดูร’ ที่เล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่อาศัยอยู่ในคอนโนมิเนียมชั้น ๙ ซึ่งเป็นชั้นบนสุด แต่กลับได้ยินเสียงคนอาศัยอยู่ชั้นบนขึ้นไป ก็ใช้วิธีแบ่งส่วนเล่าแบบไล่ชั้นเหมือนขึ้นลิฟต์จาก Floor 1 ไปจนถึง Floor 9 แล้ววนกลับมา Floor 1 อีกครั้ง สร้างอารมณ์แห่งความมหัศจรรย์ราวกำลังดูหนังเหนือจริงของ Luis Bunuel ในขณะที่เรื่อง ‘อนุสรณ์สถานแห่งการเคลื่อนไหว’ เกี่ยวกับตำนานลึกลับของนักประพันธ์หนุ่มที่พิสมัยเด็กชายไม้ป่าเดียวกัน และปลีกวิเวกมาอาศัยอยู่กลางป่าเขาทางจังหวัดภาคใต้ แล้วเปิดพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวให้บริการ ทว่าต้องปิดร้างไปเป็นเวลา ๑๐ ปี หลังจากที่เขาเสียชีวิต ก็แบ่งท่อนการเล่าเป็นบท Prelude และ Movement 1-7 คล้ายชุดดนตรี Suite ที่สร้างความพิสดารกันด้วยประติมากรรมรูปขาลึกลับที่เคลื่อนไหวเองได้ยามลับตาคน และเรื่อง ‘วัวที่หุบเขา.’ เกี่ยวกับนักเรียนหนุ่มชาวไทยที่ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ฮาวายและได้ไปเดินเล่นบนภูเขา กระทั่งพบวัวที่ถูกกลุ่มวัยรุ่นรังแก และจู่ ๆ ก็มีเขาสีดำขนาดยักษ์งอกออกมาเองทำร้ายผู้เข้ามาก่อกวนกันจนเลือดโชก ก็เล่าด้วยการใส่จุด full stop กันทุกประโยค แม้จะทุกอย่างจะยังเป็นภาษาไทย ให้รสชาติของเรื่องที่มหัศจรรย์ได้ไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ
นอกจากเรื่องสั้นเน้นความน่าพิศงงแล้วในเล่มก็ยังพอมีเรื่องสั้นที่เล่าอย่างตรงมาตรงไป มุ่งความประทับใจมากกว่าจะแสดงลีลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘ภาพถ่ายละออตา’ เกี่ยวกับอาการหมกมุ่นกับเครือข่าย Facebook ของชายหนุ่มที่พบหญิงสาวช่างฝันขณะท่องเที่ยวเนปาล กระทั่งได้ทำความรู้จักกัน ทว่าภายหลังถูกตัดความสัมพันธ์เหลือเพียงรูปถ่ายปริศนาของเธอเพียงใบเดียวขณะนั่งเรือท่องเที่ยว ที่หาคำตอบไม่ได้สักทีว่าเป็นฝีมือการถ่ายของใคร เพราะไม่น่าจะมีใครอยู่ในตำแหน่งที่ถ่ายรูปนั้นได้ในวันนั้น ซึ่งเรื่องราวก็เล่นล้อเกี่ยวกับประเด็นชีวิตและจิตวิญญาณในภาพถ่ายได้อ่อนโยนละมุนละไมใส่ความแฟนตาซีลงไปในสัดส่วนกำลังพอดี เช่นเดียวกับเรื่อง ‘คุโรซากิไม่ได้ตาฝาด’ เกี่ยวกับพ่อแม่วัยชราชาวญี่ปุ่นที่ซื้อทัวร์ไปเที่ยวฮาวาย เพื่อตามหาลูกสาวที่หายสาบสูญไปหลังเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตก ก็เล่าได้เรียบง่ายชวนประทับใจเช่นกัน แม้ว่ามันอาจดูอ่อนน้ำหนักลงไปบ้างเมื่อเทียบกับเรื่องอื่น ๆ ในขณะที่เรื่องสั้นที่ยาวที่สุดในเล่ม นั่นคือ ‘ประดิษฐกรรมของอากง’ เกี่ยวกับอากงชายชรานักประดิษฐ์ที่ชอบใช้เวลาในการสร้างโน่นสร้างนี่ทำของเล่นชั้นดีให้หลานสาวแสนรักอยู่เสมอ ซึ่งเหมือนจะเล่าได้ชวนซึ้งในช่วงแรก ก็กลับดูจะยืดยาว และค่อย ๆ หลุดจากโหมดอารมณ์ความน่าประทับใจ จนสุดท้ายผู้อ่านก็อาจรู้สึกว่าไม่ได้ ‘สัมผัส’ ตัวละครสักเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่ก็อุตส่าห์อ่านมาตั้งยืดยาว
แต่เรื่องสั้นที่ดูจะเสียดสีได้อย่างมีสาระที่สุดในเล่มก็เห็นจะเป็น เรื่อง ‘น้ำตาที่ต่าง’ ที่เล่าเรื่องราวของนักแสดงหนุ่มตกอับ แต่สุดท้ายกลับได้รับบทบาทสำคัญมากที่สุดในชีวิต นั่นคือการจำลองใบหน้า บุคลิกภาพ น้ำเสียง และการวางตัว ทุก ๆ อย่าง ของนายพลแดร์ริดา ผู้นำแห่งประเทศใต้การปกครองเผด็จการทหาร หลังจากที่ท่านนายพลสิ้นลมไปเหลือเพียงวิญญาณเพื่อหลอกลวงประชาชน จนชายหนุ่มนักแสดงต้องถูกสตรีคนรักหักมุมหัวใจในที่สุด ก็เล่าเรื่องราวได้อย่างเจ็บแสบจนชวนให้ขนลุก จุกไปกับตัวละครได้ แม้เรื่องราวจะดูฟุ้งโม้เกินจริงได้ขนาดไหนก็ตาม
ในภาพรวมแล้วเรื่องสั้นทั้งหลายใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า เล่มนี้จึงมีลูกเล่นเชิงกลวิธีการประพันธ์ถ่ายทอดความมหัศจรรย์ของเรื่องราวที่เอาคนอ่านได้อยู่หมัด จนอยากจะติดตามตั้งแต่บรรทัดแรกไปจนถึงบรรทัดสุดท้ายว่าอะไรคืออะไร มีความเป็นมาประการไหน ทำไมถึงได้เกิดเหตุการณ์อันเหลือเชื่อเหล่านี้ได้ ซึ่งการที่ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เลือกจะอมพะนำเก็บงำมูลเหตุแห่งปริศนาเหล่านี้ไว้ (เพราะเขาเองก็อาจจะไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ได้แต่ทำหน้าที่เป็นผู้เล่า) ก็ทำให้เกิดความสงสัยว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีประเด็นล้ำลึกที่ต้องการสะท้อนความเป็นไปในสังคมแง่ไหนอยู่หรือเปล่า เรียกได้ว่าหากจะอ่านเอารสก็จะได้ทั้งรสชาติ หวาน เผ็ด เปรี้ยว เค็ม มัน อย่างที่ไม่เคยลิ้มชิมจากอาหารจานไหน ๆ แต่สารอาหารที่ได้จะมีวิตามินหมู่ไหนมากน้อยอย่างไรก็ไม่อาจมั่นใจ ตราบใดที่ความเร้นลับเหล่านั้นยังไม่ถูกไขให้กระจ่าง
๘. ‘เรากำลังกลายพันธุ์’ โดย เกริกศิษฏ์ พละมาตร์
หากพอจะทราบว่านักเขียนซีไรต์รายล่าสุด ‘พลัง เพียงพิรุฬห์’ จากรวมบทกวีสุดฮิป นครคนนอก (๒๕๕๙) มีชื่อเรียงเสียงจริงอย่างไร ก็คงพอจะเชื่อมโยงได้ว่าในปีนี้นักเขียนหนุ่มไฟแรงท่านเดียวกันมีผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เป็นปีที่สองติดต่อกันแล้ว เพราะนาม เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ก็คือชื่อจริงที่ใช้ในการประพันธ์อีกชื่อของ ‘พลัง เพียงพิรุฬห์’ นั่นเอง และแม้จะไม่ได้ใช้สองนามปากกามาชิงชัยกันเองแบบเดียวกับเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ ศิวกานท์ ปทุมสูต และ ‘ธมกร’ (ซึ่งเป็นนักเขียนท่านเดียวกัน) มีผลงานรวมบทกวี ต่างต้องการความหมายของพื้นที่ (๒๕๕๖) และ เมฆาจาริก (๒๕๕๖) เข้ารอบสุดท้ายพร้อม ๆ กัน แต่การที่ ‘พลัง เพียงพิรุฬห์’ และ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ จะมีผลงานเข้ารอบสุดท้ายของเวทีซีไรต์สองปีติดกันเช่นนี้ ก็นับเป็นการบ่งบอกได้อย่างดีว่าฝีมือเขาไม่ธรรมดาเลย
อย่างไรก็ดีจากรวมบทกวี นครคนนอก ที่เรียกได้ว่าล้ำสมัยและอินดี้ฮิปโย่ที่สุดในบรรดารวมบทกวีที่เข้ารอบสุดท้ายไปเมื่อปีกลาย มาในปีนี้กับผลงานรวมเรื่องสั้น เรากำลังกลายพันธุ์ มันกลับกลายเป็นงานแนวขนบที่เหมือนจะ ‘เชย’ ที่สุดในบรรดารวมเรื่องสั้นที่เข้ารอบลึกมาทั้ง ๘ เล่มไปเสียอย่างนั้น แต่ก็คงจะนำความเปลี่ยนแปลงอันนี้มาตัดสินชี้วัดว่าเป็นการ ‘เดินถอยหลัง’ ของนักเขียนหนุ่มเจ้าของรางวัลซีไรต์ท่านนี้ไม่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วรวมเรื่องสั้น เรากำลังกลายพันธุ์ ได้ตีพิมพ์ออกมาก่อน นครคนนอก เพราะปรากฏโฉมครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่ต้องรอรอบการประกวดซีไรต์ให้วนมาถึงรอบรวมเรื่องสั้นในปีนี้เสียก่อนจึงจะส่งเข้าประกวดได้
เรื่องสั้นส่วนใหญ่ใน เรากำลังกลายพันธุ์ มักจะมาในรูปแบบตำนานหรือนิทานท้องถิ่นจากดินแดนชนบทของไทย ที่กำลังเผชิญกับกระแสบ่าไหลจากความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘เงือก’ ที่ถ่ายทอดตำนานของ ‘เฒ่าตะโหมด’ ชายชราที่สามารถผุดดำถลำว่ายใต้ผิวน้ำราวกับเป็นปลา และต้องหาทางเอาคืนวิถีการประมงแบบใหม่ที่จะทำให้สายน้ำถูกทำลายไปโดยไม่อาจฟื้นคืน เรื่อง ‘เดือยหิน’ เกี่ยวกับไก่รองบ่อนในการแข่งพนันไก่ชน ที่ชวนให้นึกไปถึงเรื่องสั้น ‘ซาเก๊าะ’ ของ มนัส จรรยงค์ แม้โครงเรื่องจะยังต่างกัน ซึ่ง เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงการสัตว์เลี้ยงแห่งความรุนแรงนี้ได้อย่างละเอียดลึกราวกับคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มายาวนาน ส่วนเรื่อง ‘ขาล’ ก็เป็นการเดินทางกลับไปหาเกลอเก่าของบิดาของชายหนุ่ม ณ ดินแดนกลางป่า ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าบุพการีของเขามีอดีตอันชวนขมขื่นอย่างไร ซึ่งก็ถือว่าค่อย ๆ เผยเรื่องราวได้น่าสนใจดี
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องสั้นที่ตั้งใจเล่าชีวิตของหมู่ตัวละครหลากหลาย ที่สลับกันเข้ามามีบทบาทวนเวียนไป ท้าทายขนบการเล่าเรื่องสั้นที่ควรจะโฟกัสไปที่ตัวละครสำคัญรายหนึ่งหรือชุดหนึ่งเพียงถ่ายเดียว อย่างเรื่อง ‘บางลาไม่เคยลาก่อน’ ที่เล่าถึงตัวละครหลากหลาย ณ ชายหาดท่องเที่ยวแห่งบางลา ทั้งเกลอหนุ่มที่ทำงานเป็น beach boy ลากร่ม นักท่องเที่ยวสาวต่างชาติ หญิงกลางคืนนาม ‘ป้าสวาท’ และบุรุษบุคลิกลึกลับนาม ‘สวรรยา’ และเรื่อง ‘ผู้กุมชะตา’ เกี่ยวกับประวัติการแยกหมู่บ้านหนองขามออกเป็นฝั่งเหนือและฝั่งใต้ในช่วงชีวิตของ ‘ยายเยื้อน’ จากความขัดแย้งของชาวบ้านที่การใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โยงใยไปสู่เรื่องราวการต่อสู้ของ ‘ยายคำฝาน’ หมอผีสตรี ‘ซานโตส’ หลานชายวัยสามขวบครึ่งจอมแก่แดด และตัวละครอื่น ๆ อีกหลากหลาย ซึ่งแม้ว่า เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ จะนำเสนอสีสันของเหล่าตัวละครในเรื่องสั้นทั้งสองนี้ได้อย่างน่าสนใจ แต่วิธีการเล่าที่เหมือนจะเลื่อนไหลจนไม่เห็นจุดหมายเชิงโครงสร้างสักเท่าไหร่ ก็อาจทำให้มันกลายเป็นงานที่ดูเรื่อย ๆ จนไม่ได้แก่นสารเกินไปหน่อย
แต่เรื่องสั้นที่จัดอยู่ในข่ายน่าผิดหวัง อ่อนพลังทั้งในเชิงประเด็นเรื่องและกลวิธีการเล่า ก็คือเรื่อง ‘เรื่องของคาลโบ’ เกี่ยวกับชายที่ทำมาหากินด้วยการแสดงเป็น ‘คาวบอยกำมะลอ’ ณ ฟาร์มเลี้ยงโคแห่งใหญ่ในปากช่อง ซึ่งไม่ได้ละเอียดหรือลุ่มลึกอะไร เรื่อง ‘สุ่ม’ เรื่องสั้นเชิงสัญลักษณ์ที่ใช้ ‘สุ่ม’ เป็นภาพแทนความมั่นคงด้านการงานของพนักงานลูกจ้างบริษัทประกันภัยซึ่งก็เทียบเคียงได้อ่อนเชยจนไม่เห็นแง่มุมอะไรใหม่ ๆ ไม่ต่างจาก ‘เอกฉันท์แห่งหน้ากาก’ เรื่องสั้นเชิงความเรียงที่พยายามพิเคราะห์พฤติกรรมสวมหน้ากากของผู้คนร่วมสมัย พร้อมทั้งวิเคราะห์ต่อไปว่าจะเกิดอะไรในโลกอนาคตที่ไม่ต้องการผู้นำ และผู้คนอาจไม่จำเป็นต้องส่องกระจกกันอีก แต่น้ำเสียงที่ดูจะติดกลิ่นอายเทศนาโวหารอย่างชัดเจนเกินไป ก็ทำให้ภาพเปรียบอ่อนความคมคาย ไม่ชวนให้พินิจหรือตอบโต้สักเท่าไร แม้ว่าสถานการณ์ที่เลือกมาวิพากษ์จะยังน่าสนใจอยู่
ซึ่งเมื่อนำรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มาวางเทียบกับเล่มอื่น ๆ ที่เข้ารอบมา ก็สามารถจะเข้าใจได้ว่ามันก็มีรูปแบบและลีลาเชิงขนบแบบบ้าน ๆ ที่อ่านแล้วได้รสชาติที่แตกต่างไปจากเล่มอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน และถ้ากรรมการคัดเลือกมีเป้าประสงค์ให้งานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมีรสชาติที่แตกต่างหลากหลาย ก็อาจใช้เป็นคำอธิบายในการดันให้รวมเรื่องสั้นที่ออกจะสุก ๆ ดิบ ๆ เล่มนี้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมา ส่วนจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักเขียนที่คว้ารางวัลซีไรต์สองปีติดกันได้หรือไม่ ก็คงต้องปล่อยให้เป็นรสนิยมของคณะกรรมการชุดตัดสินเขาก็แล้วกัน!