การเสวนา “มุมมองนักวิชาการละคร กับ 10 ปี เทศกาลละครกรุงเทพ”

การเสวนา “มุมมองนักวิชาการละคร  กับ 10 ปี เทศกาลละครกรุงเทพ”

อรพินท์  คำสอน

บรรยากาศสบายๆ ในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555  มีการ เสวนา “มุมมองนักวิชาการละครกับ 10 ปี เทศกาลละครกรุงเทพ”  ณ  ลานต้นโพธิ์  สวนสันติชัยปราการ กรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานเทศกาลละครกรุงเทพ ครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่  4 มีนาคมศกนี้   การเสวนาในครั้งนี้นับเป็นการย้อนทวนให้เห็นถึงเทศกาลละครกรุงเทพในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  ผ่านทัศนะและมุมมองของนักวิชาการผู้สนใจละคร คือ ศาสตราจารย์ ดร.  เจตนา  นาควัชระ  นักวิชาการด้านการละคร คือ ผศ. ดร. ปาริชาติ  จึงวิวัฒนาภรณ์ (คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)  และ อาจารย์ปวิตร  มหาสารินันท์  (คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)  ดำเนินรายการโดย อาจารย์ภาสกร  อินทุมาน  (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) การเสวนาในครั้งนี้มีมุมมองที่น่าสนใจดังนี้

ภาพรวมของเทศกาลละครกรุงเทพในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

อาจารย์เจตนากล่าวว่าอาจไม่ได้ติดตามละครทุกเรื่องและทุกปี  แต่ก็ยังจดจำละครหลายๆ เรื่องที่น่าออกแสดง ทั้งที่ลานในสวนสันติชัยปราการ ในอาคารเก่าบางแห่ง และร้านเล็กๆ แถวถนนพระอาทิตย์ได้ดี  ซึ่งนับว่าวงการละครสามารถสร้างความต่อเนื่องในกับตนเองได้มาก  แม้ว่าละครที่จัดแสดงในการเทศกาลละคร อาจเรียกได้ว่าเป็น “ละครผอม”   ที่มักจะเป็นละครที่ลงทุนน้อย  ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงและจำนวนนักแสดง    แต่คณะละครเหล่านี้กลับต้องอาศัยความคิดเป็นอย่างมากในการจัดแสดงในแต่ละครั้ง  และเห็นได้ว่าละครที่นำเสนอที่ผ่านมาเริ่มไม่บอกความอย่างตรงไปตรงมาอีกต่อไป  ซึ่งก็ตรงกับแนวคิดที่ว่า “สังคมแห่งปัญญาน่าจะเป็นสังคมที่ต้องตีความ (hermeneutic society)  ด้วยเหตุนี้   หากละครในลักษณะนี้ยังมีอยู่ต่อไปก็อาจจะช่วยสร้างปัญญาให้กับสังคมและผู้ชมได้  เช่นเดียวกับละคร “Zimmertheater” (แปลตรงตัวว่าละครที่เล่นในห้อง)  ที่แสดงในเยอรมนี  นับเป็น “ละครผอม” ที่จงใจเล่นในห้องเล็กๆ เช่นที่เมืองทือบิงเงน (Tübingen)  ซึ่งโด่งดังมาก  จำกัดผู้ชมไว้เพียง 60 คน และจะจัดแสดงละครที่กระตุ้นให้เกิดความคิดเชิงปรัชญา เช่น งานของ  Samuel Beckett  แต่เป็นละครที่ได้รับการยอมรับสูงมาก  ด้วยการรักษาความเข้มทั้งทางอารมณ์และทางปัญญาไว้ได้

อาจารย์ปาริชาติเห็นว่าจากปีแรกที่มีคณะละครสามัญร่วมงานเทศกาลละครกรุงเทพเพียง 3 กลุ่ม คือ “มะขามป้อม” “8×8” และ “มรดกใหม่” แต่ปัจจุบันมีคณะละครถึง 10 กลุ่ม  นับว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศิลปินเติบโตขึ้นและสร้างอัตลักษณ์ของตนชัดเจนมากขึ้นด้วย   อีกทั้งงานเทศกาลละครกรุงเทพยังแสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งรวมจิตอาสา ขณะเดียวกันก็แสดงความเป็น “อารยะขัดขืน” ต่ออุปสรรคนานาประการ ไม่ว่าจะจะสถานที่จัดแสดงไม่เอื้อต่อการแสดง และไม่มีเงินทุน  และทิ้งท้ายไว้ว่า  ถ้าอยากให้พื้นที่ศิลปะแห่งนี้มีชีวิต ก็จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมให้มาร่วมกันดูแล

อาจารย์ประวิตรกล่าวว่างานเทศกาลละครกรุงเทพสร้างความประทับใจใยหลากหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นละครที่สร้างความประทับใจ เช่น เรื่อง “After dog” ที่แก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ในการแสดงได้เป็นอย่างดี  หรือบรรยากาศของงานเทศกาลไม่ต่างจากงานภูเขาทอง  ที่มีเวทีแสดงละครพร้อมกัน 4 เรื่อง 4 เวที  แม้ว่าเสียงของแต่ละเวทีจะ “ตีกัน” แต่ก็ไม่มีผลต่ออรรถรสในการชมแต่อย่างใด   สำหรับปีนี้  ความน่าสนใจของเทศกาลฯ คือ  ในช่วง 2 สัปดาห์แรกมีการแสดงที่สวนสันติชัยปราการเป็นหลัก  และสัปดาห์สุดท้ายมีการแสดงละครที่กระจายไปแสดงในโรงละครต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ  ขณะเดียวกันยังมีการแสดงละครในช่วงวันธรรมดาด้วย   การกระจายพื้นที่จัดงานออกไป ทำให้งานในครั้งนี้เป็นเทศกาลละคร “กรุงเทพ” อย่างแท้จริง   มิใช่เป็นเพียงงานเทศกาลบางลำพูอีกต่อไป

 

งานเทศกาลละครกรุงเทพกับข้อจำกัดของพื้นที่จัดแสดง

อาจารย์ประวิตรตั้งข้อสังเกตว่าเทศกาลที่จะใช้พื้นที่กลางแจ้งได้ให้เกิดผล  ส่วนใหญ่จะจัดในประเทศหนาว  เพราะประชาชนในประเทศเหล่านี้จะตื้นเต้นเมื่อได้ออกมาทำกิจกรรมท่ามกลางแสงแดด   สำหรับการสร้างงาน คณะละครของไทยส่วนใหญ่มักจะคิดในกรอบของโรงละครมากกว่าการแสดงกลางแจ้ง  เพราะละครที่แสดงกลางแจ้งได้ดีต้องอาศัย “องศาศิลป์” อย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นแสง  เสียง  และการดึงดูดผู้ชม  ประกอบกับการทำงานของคณะละครส่วนใหญ่มักจะคิดงานและจัดแสดงตลอดทั้งปี  แทนที่จะเล่นเพียง 2 สัปดาห์ในงานเทศกาลละครเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ ละครที่แสดงในเทศกาลละครฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการตัดผลงานบางส่วนที่เคยจัดแสดง  หรือจะจัดแสดงต่อไปมาเป็นตัวอย่างเพียง 20-30 นาทีเท่านั้น

อาจารย์เจตนาเห็นว่าการแสดงในพื้นที่กลางแจ้งในงานเทศกาลละครกรุงเทพนับเป็นความท้าทายคณะละครอย่างมาก   ซึ่งคณะละครอาจจะเสวนาร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเกี่ยวกับการปรับตัว  เพื่อสร้างการแสดงที่เข้ากับพื้นที่นอกโรงละคร ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องศึกษาองค์ความรู้ทางด้านการละครเกี่ยวกับการแสดงในพื้นที่เปิดด้วย  ก็จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

อาจารย์ปาริชาติเห็นว่างานเทศกาลละครกรุงเทพที่ผ่านมาถูกจำกัดด้วยพื้นที่  จึงทำให้คณะละครต้องสร้างงานที่สอดรับกับพื้นที่จัดแสดง  แต่อย่างไรก็ดี   สิ่งอยากเห็นมากกว่าคือการให้ตัวงานเป็นโจทย์  เพื่อให้ศิลปินสามารถที่จะสร้างงานได้อย่างอิสระอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด โดยเฉพาะข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่   ด้วยเหตุนี้  หากงานแสดงชิ้นใดที่เหมาะที่จะแสดงในโรงละครก็ควรเปิดการโอกาสให้จัดแสดงในโรงละคร ดังเช่นที่จัดแสดงในครั้งนี้    อย่างไรก็ดี ละครที่จะยั่งยืนอยู่ได้ คือละครที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง  ซึ่งจะส่งผลให้เทศกาลละครฯ อยู่ได้ต่อไป

 

 

 

อนาคตของเทศกาลละครกรุงเทพ

อาจารย์ประวิตรเห็นว่าอาจจะต้องเริ่มทบทวนระบบการบริหารจัดการงานเทศการละครกรุงเทพ จากเดิมที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำไปตามคณะละคร  เพราะเทศกาลละครที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ไม่ว่าจะที่ฮ่องกง  ญี่ปุ่น หรือ สิงคโปร์  มีนักจัดการมืออาชีพกลุ่มเดิมที่เข้าใจศิลปะและศิลปินมาเป็นผู้จัดงานในทุกๆ ปี ซึ่งการจัดงานนั้นอาจต้องทำประชาสัมพันธ์ และของเงินสนับสนุนไว้ล่วงหน้า   ทั้งนี้ยังเสนอให้จัดทำคลังตัวบทละคร และคลัง DVD ที่บันทึกการแสดงละครเรื่องต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไปในอนาคต

ขณะที่อาจารย์ปาริชาติเห็นว่าอาจจะต้องหาวิธีที่จะใช้พื้นที่แห่งนี้ให้เต็มศักยภาพและได้ประโยชน์สูงสุด  จนทำให้งานเทศกาลละครกรุงเทพเป็นเหมือนงานเทศกาลละครที่เมืองเอดินเบอเรอ  ซึ่งผู้สนใจชมละครจากทั่วโลกต้องจองตั๋วละครและตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าหนึ่งปีเพื่อมาชมละครในงานเทศกาลครั้งนี้

อาจารย์เจตนากล่าวว่าอาจจะต้องหาวิธีที่จะทำให้ละครเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน  และทำให้ผู้คนรู้สึกว่า “ขาดละครไม่ได้”  เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งลิเกก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยในอดีต  และเห็นว่าที่ยังไม่อาจทำได้ในขณะนี้  ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ชม ซึ่งมีโอกาสได้ชมละครชั้นยอดเยี่ยมน้อยมาก  ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือเทศ  แม้แต่ผู้สอนการละครจำนวนหนึ่งก็มิได้แสวงหาโอกาสที่จะได้ดูละครเวทีชั้นยอดระดับโลก  ละครเวทีผู้กอยู่กับชุมชน และมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นที่สร้างคนดูได้อย่างดี   การเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการทำละคร  เพราะการสร้าง “ผู้รักสมัครเล่น” นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ซึ่งเริ่มการจากชักชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมดีกว่าที่จะบังคับ  อาจารย์ประวิตรเห็นด้วยว่าการพัฒนาคนดู  ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม ในการสนับสนุนศิลปิน  และกระทรวงศึกษาธิการ  ในการสนับสนุนค่าบัตรเข้าชมสำหรับนักเรียนนักศึกษาเพื่อโปรดโอกาสให้ได้สัมผัสกับงานศิลปะประเภทนี้    ขณะที่อาจารย์ปาริชาติเสริมว่านักวิชาการและนักวิจารณ์ต่างก็มีหน้าที่ต้องช่วยสนับสนุนศิลปินด้วย  โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่ออธิบายงานให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าใจ  และสื่อมวลชนก็ต้องมีบทบาทในการเผยแพร่ข่าวสารเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้  อาจารย์เจตนายังเห็นว่าการสนับสนุนคณะละครหรือเทศกาลละครโดยแหล่งทุนไม่ได้อยู่ในขนบของสังคมไทย  เพราะการลงทุนที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมนับเป็นการลงทุนที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมก็แต่ในระยะยาว  ดังเช่นที่ประเทศอังกฤษลงทุนเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เพิ่งจะเห็นผลในอีก 20-30 ปีต่อมา   ส่วนอเมริกามีขนบของการที่เอกชนสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม   ในขณะที่บางประเทศเช่นฝรั่งเศสสนับสนุนทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างจริงจัง  รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของเขาเป็นทั้งปัญญาชนระดับแนวหน้า และผู้บริหารที่มีจินตนาการกว้างไกล เช่น André Malraux  และทิ้งท้ายไว้ว่าสิ่งที่อยากเห็นในงานเทศกาลละครกรุงเทพในปีต่อๆ ไป คือ การแลกบทละครกันเล่นระหว่างคณะละคร  เพราะขณะนี้วงการละครขาดตัวบทกลางที่คณะละครใดก็เล่นได้   และก็น่าจะมีการแสดงละครมิวสิคัลฉบับสวนสันติชัยปราการขึ้นมาบ้าง

—————————-

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *