ถึงอย่างไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม : หนึ่งในดวงใจ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล
ถึงอย่างไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม : หนึ่งในดวงใจ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล
เจตนา นาควัชระ
… และก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเหมือนเดิม การที่สุนทราภรณ์จะมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ก็ด้วยการที่คนรุ่นใหม่รู้จักคิดใหม่ ซึ่งผมได้เรียกร้องเอาไว้นานแล้วในบทความชื่อ “มรดกของ ‘สุนทราภรณ์’ : ข้อคิดเชิงวิจารณ์” (2527) เมื่อกลุ่ม “เยื่อไม้” นำเสนอการตีความใหม่ (2531) ผมก็ไม่ลังเลที่จะแสดงความชื่นชมเอาไว้ แต่ก็หวั่นๆ อยู่ในครั้งนั้นแล้วว่า ผู้ที่คิดใหม่ทำใหม่บางคนอาจจะถูกกลืนกินไปในกระแสของตลาดและก็จะคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ไม่ได้ ทุกครั้งที่พวกเราที่รักสุนทราภรณ์มาชุมนุมกันจัดสัมมนา “สุนทราภรณ์วิชาการ” (ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2532 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2554) เราก็ตอกย้ำอยู่เสมอว่า สุนทราภรณ์ต้องไม่หยุดอยู่กับที่ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่พวกสุนทราภรณ์นิยมอย่างเราอยากจะเห็นก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพ ซึ่งในกรณีล่าสุดเพลงสุนทราภรณ์ในชุด BSO Plays Suntaraporn ที่ได้นักดนตรีคลาสสิกระดับแนวหน้าของเมืองไทยมาเป็นผู้ดำเนินการ (อันรวมถึงการแสดงสดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2554) ก็แสดงให้เห็นปรากฏชัดแล้วว่า คนรุ่นใหม่อาจจะยกมาตรฐานการบรรเลงเพลงสุนทราภรณ์ได้เท่าเทียมกับต้นแบบหรือเหนือต้นแบบก็ยังได้ วิชาความรู้ด้านดนตรีดีขึ้นเรื่อยๆ การเล่นเครื่องดนตรีสากลก็ก้าวหน้าไปมาก เช่นเดียวกับการร้อง กล่าวโดยสรุปก็คือ ของดีมีอยู่ในมือแล้ว จะใช้อย่างไรจึงจะเรียกได้ว่าทำให้สุนทราภรณ์ก้าวไปไกลกว่าเดิม
การนำเพลงสุนทราภรณ์มาทำเป็นละครเพลงแบบมิวสิคัลนั้น เป็นทิศทางที่น่าจะทำได้ดี ที่ผมได้ติติงไปบ้างแล้วในส่วนที่เกี่ยวกับ กว่าจะรักกันได้ เดอะมิวสิคัล (เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554) มิใช่เป็นเรื่องของความย่อหย่อนในทางศิลปะ แต่เป็นเรื่องของการจัดการที่ขาดวิสัยทัศน์และมโนทัศน์อันชัดเจน ผมคาดหวังเอาไว้ว่าถ้ามีสุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล ครั้งที่ 2 (ซึ่งผมได้ชมเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555) ข้อบกพร่องจากสุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล ครั้งที่ 1 ก็น่าจะได้รับการแก้ไขไปแล้ว และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ (ในบางประการ) เรื่องแสง สี เสียง การเริงระบำ ความแคล่วคล่องว่องไวของนักแสดง รวมทั้งจังหวะการแสดงที่เร่งเร้าและรวดเร็ว ดูจะเป็นผลของบทเรียนที่ได้จากการแสดงครั้งแรก อะไรเล่าที่ทำให้สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล ครั้งที่ 2 ยังไม่จุใจพวกเราที่รักสุนทราภรณ์
คงจะต้องเริ่มต้นว่า คณะผู้จัดการแสดงครั้งที่ 2 มีทรัพยากรใดมีอยู่แล้วบ้าง (โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องทุน) สิ่งแรกก็คือ องค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) เพลงสุนทราภรณ์มีเป็นจำนวนพัน ถ้ารู้จักเลือก จะสร้างเรื่องแบบใด ก็หาเพลงมาใส่ได้ทั้งนั้น ผมเคยเล่าไว้ให้ฟังแล้วว่า ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เคยจัดรายการวิทยุโดยใช้การเล่าเรื่องประดุจนวนิยาย โดยเลือกเพลงสุนทราภรณ์มาเรียงร้อยต่อกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ระบบการ “ใส่เพลง” นั้น เรารู้จักกันมาจากขนบดั้งเดิมของนาฏศิลป์ไทยแล้ว ที่มีตัววรรณกรรมเป็นทุนเดิมอยู่ และการจัดการแสดงแต่ละครั้งก็จะต้องหาเพลงที่เหมาะมาหนุนเนื้อเรื่องให้ได้ นักดนตรีไทยเดิมระดับแนวหน้าเช่น ครูบุญยง เกตุคง เคยอาสาเข้าไปร่วมแสดงละครไทยประสมกับละครเยอรมัน ชื่อ พระสังข์-อิฟิเกเนีย เมื่อปี 2527 โดยที่สามารถปรับเพลงใหม่ได้ในทุกรอบการแสดง เพราะท่านมีองค์แห่งนิพนธ์ที่จำได้ถึง 20,000 เพลง ดังนั้น คณะนักแสดงที่ต้องการจะใช้เพลงสุนทราภรณ์มาสร้างเป็นละครก็ต้องเรียกว่ามีทุนเดิมอยู่แน่นมาก ผมยังไม่คิดว่า หนึ่งในดวงใจ : สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล ใช้ศักยภาพนี้อย่างเต็มที่แล้ว เนื่องจากโครงเรื่อง (plot) ที่สร้างขึ้นมานั้นดูแทบจะไม่มีสาระอะไรเลย ความจริงถ้าได้ไปปรึกษานักประพันธ์ระดับชาติบางท่าน ท่านก็คงคิดแนวเรื่องที่น่าสนใจให้ได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที บางท่านเช่น ว. วินิจฉัยกุล ก็รู้จักเพลงสุนทราภรณ์ดีมาก ท่านอาจจะช่วยเลือกเพลงให้ก็ยังได้
ประเด็นที่สอง คือมาตรฐานของต้นแบบ ซึ่งมีการอัดเสียงเอาไว้ แม้จะไม่ครบทั้งหมด แต่ก็ชี้ทางให้เห็นได้ว่า ผู้สร้างงานต้องการได้ยินเพลงของท่านอย่างไร ณ จุดนี้ เป็นจุดที่เป็นปัญหา เพราะเราจะตามท่านไปเสียทุกอย่างก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นการสร้างนวัตกรรมของตนเอง แต่การคิดใหม่ก็ย่อมต้องมีขอบเขตอันเหมาะสม การเรียบเรียงเสียงประสานใหม่และการขับร้องใหม่ในชุด BSO Plays Suntaraporn นั้น โดยส่วนรวมต้องถือว่าเป็นการเปิดโลกใหม่ให้แก่เพลงสุนทราภรณ์ โดยที่ยังรักษาคุณค่าของเดิมและสร้างมาตรฐานให้แก่ยุคใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง แต่ก็มีบางจุดที่ผมได้ขออนุญาตติงเอาไว้ เช่น เพลง “นวลปรางนางหมอง” ซึ่งผมเรียกว่าเป็น “การตีความผิดที่โอ่อ่า” (grandiose misinterpretation) ข้อท้วงติงของผมมิใช่เป็นเรื่องของคุณภาพ แต่เป็นเรื่องของการตีความที่ค้านกับเนื้อในของเพลง อันรวมถึงเนื้อร้องด้วย ผมคงจะไม่ใช้การวิจารณ์ในทำนองเดียวกันนี้กับ หนึ่งในดวงใจ : สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล เพราะผมไม่แน่ใจว่า การแสดงครั้งนี้ไปถึงขั้นการตีความใหม่
ประการที่สาม เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกับประเภทของศิลปะที่เรียกว่า “มิวสิคัล” (musical) หรือแต่เดิมเรียกว่า “มิวสิคัล คอเมดี้” (musical comedy) คำว่า “คอเมดี้” ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “ตลกคาเฟ่” อย่างแน่นอน นั่นคือมรดกของวงการดนตรีของโลกใหม่ คือ อเมริกาซึ่งได้สร้างงานแนวใหม่ขึ้นมาท้าทายจุลอุปรากร (operetta) อันเป็นงานประเภทเบาสมองซึ่งผู้เปี่ยมด้วยวัฒนธรรมแห่งกรุงเวียนนาได้สร้างเอาไว้ดูเล่นกัน โดยที่โลกใหม่ (ซึ่งต่อมาถ่ายทอดมรดกมาให้กับอังกฤษเมืองเก่า) พยายามที่จะสร้างเรื่องที่มีเนื้อหาสาระชวนคิด มิใช่เรื่องตลกกลวงๆ ที่มีคนเข้าใจกันผิด บางเรื่องจงใจเตือนสติในประเด็นที่หนักหน่วง เช่นเรื่องของการเหยียดผิวใน South Pacific บางเรื่องนำวรรณกรรมเก่าอันเลื่องชื่อที่ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชนมาแต่งเป็นละครเพลง เช่น Les Misérables บางเรื่องเรานำมาแสดงเป็นภาษาไทยแล้วถึงสองครั้งคือ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (Man of La Mancha) ซึ่งผมได้เรียกเอาไว้ว่าเป็น “การไต่บันไดเสียงไปสู่โลกแห่งอุดมคติ” และครูเอื้อเอง(ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจ)ก็พลัดหลงเข้าไปในวงของละครมิวสิคัลใน จุฬาตรีคูณ เรียกได้ว่าท่านใช้ดนตรีไปหนุนเรื่องที่มีเนื้อหาสาระราวกับเป็นอุปรากร แม้จะแต่งเพลงไว้ให้กับละครเรื่องนี้เพียงไม่กี่เพลง แต่ก็เป็นอมตะไปทุกเพลง
ประการที่สี่ เสียงเพลงที่เราอยากได้ยิน น่าจะเป็นเพลงที่บรรเลงสดโดยใช้วงดนตรีเล่นจริง ซึ่งมิวสิคัลที่เด่นๆในบ้านเราก็ยอมลงทุนในเรื่องนี้ เพลงสุนทราภรณ์นั้นฟังจากแผ่นหรือฟังจากเทปก็ไม่ได้รสเท่ากับได้ฟังจากการบรรเลงจริง ในการแสดงครั้งนี้เห็นได้ชัดเลยว่า เมื่อร้องเพลงหมู่ นักร้องมีปัญหามาก เพราะดนตรีตามนักร้องไม่ได้ เพราะอัดเสียงเอาไว้ล่วงหน้า และไม่มีวาทยกรที่จะกำกับการร้องและการบรรเลงให้เข้ากัน นักร้องสุนทราภรณ์นั้นไม่มีใครสู้ในแดนสยามนี้ในเรื่องของความพร้อมเพรียงในการร้องเพลงหมู่ เรื่องดนตรีที่อัดเสียงมาก่อนในครั้งนี้ต้องเรียกว่า ห่างไกลจากมาตรฐานของต้นแบบ และห่างไกลจากมาตรฐานใหม่ที่ BSOได้ตั้งไว้
สำหรับการแสดงนั้น ผมคิดว่าผมอ่านใจของผู้สร้างได้โดยไม่ยากนัก นั่นก็คือ แปลง “สุขกันเถอะเรา” ให้เป็น “สนุกกันเถอะเรา” ทุกอย่างต้องสนุก ต้องเรียกเสียงหัวเราะให้ได้มากที่สุด บ้านเมืองกำลังมีทุกข์ เราต้องมาช่วยกันผ่อนคลายซึ่งกันและกัน ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม แต่ก็จะต้องยอมรับว่า การวางจังหวะของการแสดงในช่วงครึ่งเวลาแรกทำได้ดี ไม่มีช่วงใดที่น่าเบื่อ ต้องชมเรื่องของการจัดฉากและการเปลี่ยนฉากที่ทำได้อย่างแทบไม่เห็นรอยต่อ ปัญหาคงจะเกิดจากการกำกับการแสดงที่ต้องการให้ทุกจุดเป็นจุดเด่น ผู้ที่ขาดประสบการณ์ในการแสดงบางคนจึงตั้งอกตั้งใจเกินไปที่จะทำตัวให้เด่น เช่นตัวแทนจากกลุ่มนักร้อง “คลื่นลูกใหม่” ของสุนทราภรณ์เอง โดยทั่วไปตัวเอกของเรื่องแสดงได้ดีไม่ขัดเขิน มีความสามารถหลายทาง ทั้งพูด ร้อง เต้น และสำหรับการร้องนั้น ผมคิดว่าโดยส่วนรวมต้องยอมรับว่าสอบผ่าน แม้ว่าพวกแฟนสุนทราภรณ์ที่ได้ตกหลุมรักแนวคลาสสิกของ BSO ไปแล้วก็คงหวังที่จะได้ยินการร้องแบบกึ่งอุปรากรบ้าง
ถึงอย่างไรก็ตาม ก็คงจะต้องชมผู้จัดแสดงว่าสามารถสร้างความหลากหลายให้แก่เพลงที่เลือกมาร้องได้ เช่น มีการประสานเสียงในบางตอน ซึ่งนักร้องต้นแบบทำไว้น้อยมาก การร้องเพลงคู่ในลักษณะ duet ทำได้ดีมากเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ผมทึ่งก็คือ การนำเพลงสองเพลงมาตัดกันได้อย่างแนบสนิท เช่น เพลง “คิดถึง” กับเพลง “ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง” นอกจากนั้นการปรับเนื้อร้องบ้างเล็กๆน้อยๆให้เข้ากับบริบทของการดำเนินเรื่องก็ทำได้อย่างแนบเนียน และก็มีการรักษามารยาทที่ดีในการบอกกล่าวไว้ล่วงหน้า น่าประหลาดที่ว่า เพลงที่เด่นที่สุดกลายเป็นเพลงที่แทรกเข้ามา โดยอาจไม่เข้ากับโครงเรื่องเท่าใดนัก นั่นก็คือ การเปิดโอกาสให้หนูน้อยมหัศจรรย์ (child prodigy) อายุ 9 ขวบ คือ เด็กหญิงญานิกา แกล้วกสิกรรม ศิษย์โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี ออกมาแสดงบทสั้นๆ ของรตี ในวัยเด็ก และร้องเพลง “น้ำตาดาว” ด้วยมาตรฐานที่ผมต้องยอมรับว่า เธอแย่งเวทีไปครองโดยไม่ได้ตั้งใจ (ภาษาฝรั่งเรียกว่า “to steal away the show”)
หลังจากพักครี่งเวลาแล้ว ละครเปลี่ยนทิศทางไปอย่างน่าเศร้า เวทีกลายเป็นพื้นที่ให้นักแสดงรุ่นอาวุโสมาผ่อนคลายอารมณ์ของตัวเองด้วยการแสดงตลกคาเฟ่ เคยมีคำคมที่ผมจำได้ว่า “สัปดนวันละนิดจิตแจ่มใส” แต่ถ้าสัปดนหลายสิบครั้งในช่วงเวลาไม่ถึงชั่วโมง คนดูบางคนก็อยากจะกลับไปดู “ตลกคาเฟ่” จริงๆ มากกว่า และตลกคาเฟ่ที่กอปรด้วยรสนิยมอันดี ก็มีให้ดูถมไป
สรุปได้ว่า หนึ่งในดวงใจ : สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล ไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะตั้งอกตั้งใจเกินไปที่จะสร้างความบันเทิงทุกชั่วขณะให้แก่พระเดชพระคุณแฟนเพลงสุนทราภรณ์
“สุนทราภรณ์พันธุ์แท้” ก็คงจะต้องบอกว่า เพลงสุนทราภรณ์แต่ละเพลงมีศักยภาพของการเป็นละครอยู่แล้ว ถ้ารู้จักสกัดศักยภาพเหล่านั้นออกมา และเรียงร้อยกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ก็คงจะกลายเป็นมิวสิคัลระดับแนวหน้าได้อย่างไม่ยากนัก สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาคิด BSO Plays Suntaraporn ใช้เวลาเตรียมการ 5 ปี (อันรวมถึงการเจรจาธุรกิจ!) และก็เห็นกันอยู่แล้วว่าคุ้มค่ากับที่รอคอย วันหน้าวันหลังผู้จัดการแสดงมิวสิคัลน่าจะหันซ้ายหันขวาไปดูคนอื่นเขาบ้าง
————————————-