Stealth : คน ตัวตน เพศสภาพ และชาติพันธุ์

Stealth : คน ตัวตน เพศสภาพ และชาติพันธุ์ 

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

ภาพยนตร์สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์เรื่อง Stealth (2006) หรือชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า Comme des voleurs เป็นหนังที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ตลกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อันที่จริงแล้ว Stealth ไม่ใช่หนังตลกโปกฮาอะไรมากมาย ออกไปหนังดราม่าด้วยซ้ำ แต่หนังมีความน่าสนใจมากในการสำรวจมนุษย์ในหลายแง่มุม

ก่อนจะลงลึกไปถึงหนัง ก็ขอเล่าถึงเจ้าของผลงานเสียก่อน หนังเป็นฝีมือของ ไลโอเนล ไบเยอร์ (Lionel Baier) ผู้กำกับไฟแรงชาวสวิตเซอร์แลนด์ ไบเยอร์สร้างชื่อจากหนังเรื่อง Stupid Boy (2004) ที่เล่าถึงเกย์หนุ่มที่กำลังค้นหาความหมายของชีวิต (ไบเยอร์ไม่ปิดบังว่าตัวเองเป็นเกย์) หรือหนังเรื่องล่าสุดอย่าง Another Man (2008) ว่าด้วยนักวิจารณ์หนุ่มไม่เอาไหนที่ไปตกหลุมรักเพื่อนร่วมงานสาว

นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่าหนังของไบเยอร์มักสำรวจถึงประเด็นร่วมสมัย ด้วยลีลาท่าทางแบบเสียดสีแดกดัน อย่างใน Stupid Boy คือการพูดถึงความสัมพันธ์ของเกย์ในยุคสมัยใหม่ ส่วน Another Man เป็นการล้อเลียนวิกฤตของวัฒนธรรมการวิจารณ์ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการแบบนี้ก็ปรากฏใน Stealth เช่นกัน

Stealth เล่าถึงชายหนุ่มที่ชื่อ ไลโอเนล (ไบเยอร์รับบทนี้เอง) นักเขียนเกย์ที่ประสบความสำเร็จ มีแฟนหนุ่มหล่อหน้าตาดี ชีวิตของไลโอเนลดูจะมีความสุขสมดี จนวันหนึ่งเขาค้นพบว่าตัวเองอาจมีเชื้อสายมาจากชาวโปแลนด์ ไลโอเนลจึงลงมือสืบสอบถึงชาติพันธุ์ของตัวเองด้วยวิธีที่ไม่ธรรมดา

ไลโอเนลเริ่มเสพติดทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโปแลนด์ เขาซื้อหนังสือของนักเขียนชาวโปแลนด์มาอ่าน หัดพูดภาษาโปลิช ย้อมผมตัวเองจากสีทองเป็นดำ หรือกระทั่งให้แฟนหนุ่มช่วยพิจารณาว่าโครงหน้าของเขาดูเหมือนคนโปแลนด์หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเขาได้พบกับหญิงสาวชาวโปแลนด์ชื่ออีวา และรู้ว่าเธอหนีเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย ไลโอเนลก็พาเธอมาอยู่ที่บ้านทันที

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ของไลโอเนลกับแฟนหนุ่มเริ่มสั่นคลอน จากนั้นหนังก็พาเราไปรู้จักตัวละครอีกตัว นั่นคือ ลูซี (นาตาชา โคตโชวมอฟ – ดาราสาวคู่บุญของไบเยอร์ เธอเล่นหนังของเขาเกือบทุกเรื่อง) พี่สาวของไลโอเนล ดูเหมือนว่าลูซีจะทำงานกับหน่วยงานที่มีเส้นสายพอสมควร ไลโอเนลจึงขอร้องให้เธอช่วยอีวา แต่ลูซีปฏิเสธอย่างไม่ลังเล พร้อมกับคิดว่าน้องชายของเธอคงเพี้ยนไปแล้ว

ไลโอเนลยังไม่หยุดกับการตามหาต้นตอของตัวเอง เขาไปคาดคั้นถามหาประวัติโคตรเหง้าตระกูลจากพ่อแม่ ซึ่งทั้งสองก็ยอมรับว่ารุ่นปู่ของเขามีเชื้อสายโปแลนด์จริงๆ และไลโอเนลยังทำให้เรื่องราววุ่นวายขึ้นไปเมื่อเขาเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับอีวา จนในที่สุดไลโอเนลจึงประกาศว่าแต่งงานกับเธอ ทั้งที่เขาเป็นเกย์มาทั้งชีวิต!

ทั้งหมดที่ว่าเป็นเพียงครึ่งแรกของหนังเรื่องนี้ แต่เราก็สังเกตถึงความคมคายบางอย่างของ Stealth ได้ นั่นคือ การเปรียบเปรยถึงความสับสนในเรื่อง ‘ชาติพันธุ์’ และ ‘เพศสภาพ’ คู่กันไป ผ่านทางตัวละครของไลโอเนล กล่าวคือ นอกจากไลโอเนลจะพยายามเปลี่ยนตัวเองจากชาวสวิตเซอร์แลนด์เป็นโปแลนด์แล้ว เขายังเปลี่ยนเพศสภาพของตัวเองจากเกย์ไปเป็นผู้ชายที่ชอบกับผู้หญิงด้วย

สองประเด็นนี้ทำให้ Stealth น่าสนใจและแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ปกติแล้วในเรื่องของชาติพันธุ์หนังส่วนใหญ่มักพูดถึงความขัดแย้งที่มีมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็น อิสราเอล-ปาเลสไตน์, เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ หรือ ไทย-พม่า แต่ไม่ค่อยพบหนังที่พูดถึงเรื่องเช่นนี้ในการค้นหาระดับปัจเจก (แต่ก็มีความสากลไปพร้อมกัน) เท่าไรนัก ส่วนในเรื่องของเพศสภาพ ถ้าพูดเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ก็มักจะเป็นการเปลี่ยนจากผู้ชายเป็นเกย์ (หรือการ come out) การเปลี่ยนแปลงทางเพศสภาพของไลโอเนลจึงเป็นการสวนทางกับหนังส่วนใหญ่

Stealth ยังแสดงทัศนคติสมัยใหม่เรื่องเพศสภาพ โดยพ่อแม่ของไลโอเนลนั้นไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจใดๆ ทั้งสิ้นที่ลูกชายของตนเป็นเกย์ (ภาพยนตร์ไทยเรื่อง A Moment in June หรือ ‘ณ ขณะรัก’ มีตัวละครพ่อในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งนับเป็น ‘เรื่องใหม่’ สำหรับวงการหนังไทย) แถมพวกเขาไม่ว่าอะไรด้วยซ้ำที่ลูกชายจะเปลี่ยนมาชอบผู้หญิง หรือจะตามล่าหาชาติพันธุ์โปแลนด์ของตัวเอง มีเพียงพี่สาวอย่างลูซีเท่านั้นที่คอยคัดค้านทุกสิ่งที่ไลโอเนลทำ

อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญที่ต้องขบคิดคือ ไลโอเนลช่วยเหลืออีวาอย่างจริงใจ หรือแท้จริงแล้วเธอเป็นเพียงหนึ่งใน ‘ความลุ่มหลง’ ที่เขามีต่อโปแลนด์เท่านั้น เพราะในฉากที่ไลโอเนลประกาศจะแต่งงานกับอีวา พี่สาวของเขาก็สุดจะทนและสติแตกในที่สุด ลูซีพยายามคาดคั้นให้ไลโอเนลพูดคำว่ารักต่อหน้าอีวา แต่เขาได้แต่อ้ำอึ้ง และถึงแม้ไลโอเนลจะอ้างความชอบธรรมว่าจะแต่งงานกับอีวาเพื่อช่วยให้เธออยู่ในสวิตเซอร์แลนด์อย่างถูกกฎหมาย แต่มันก็คล้ายกับว่าไลโอเนลต้องการครอบครองเธอในฐานะ ‘วัตถุจากโปแลนด์’

ครึ่งหลังของ Stealth พลิกผันแบบเหนือความคาดเดาเล็กน้อย เมื่อลูซีเข้าไปสงบสติอารมณ์ในรถ ไลโอเนลเข้าไปปลอบเธอ แต่ยังไม่ทันจะพูดอะไร ลูซีก็ตัดสินใจบึ่งรถออกไปทันที และที่ประสาทแตกเข้าไปอีกก็คือ เธอตัดสินใจขับรถไปโปแลนด์! ราวกับจะประชดน้องของตัวเองว่าไหนๆ ก็อยากรู้นักใช่มั้ยว่ามีโคตรเหง้าอยู่ที่โปแลนด์หรือเปล่า ว่าแล้วจะพาไปพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาเสียเลย

จากนั้นหนังมีพล็อตเพิ่มขึ้นมาอีกส่วนคือ การสำรวจความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างพี่สาว-น้องชายอย่างลูซีและไลโอเนล หนังบอกกับเรากลายๆ ว่าแม้ลูซีจะมีงานการที่มั่นคง มีสามีที่ดี แต่เธอกลับดูไม่มีความสุขในชีวิต อนุมานได้ไม่ยากว่าที่เธอกระฟัดกระเฟียดใส่น้องชายอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะอิจฉาในวิถีชีวิตอิสระชนิด ‘อยากทำอะไรก็ทำ’ ของไลโอเนลนั่นเอง

เมื่อตัวละครหลักทั้งสองขับรถไปถึงโปแลนด์ บรรยากาศของหนังก็เปลี่ยนไปทันที จากภาพสีสันสวยนวลตาในช่วงแรก กลับกลายเป็นเมืองที่เย็นชา รกร้าง เต็มไปด้วยบรรยากาศแบบยุโรปตะวันออกและซากปรักหักพังของยุคหลังคอมมิวนิสต์ หนังยังเพิ่มความตึงเครียดไปอีกเมื่อลูซีและไลโอเนลพยายามช่วยเหลือหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกชายฉกรรจ์ทำร้าย แต่กลายเป็นว่าคนแปลกหน้าทั้งสองหันมาตบตีสองพี่น้องเสียแทน ไลโอเนลพูดกับพี่สาวอย่างหน้าตาเฉยว่า “นี่อาจจะเป็นวัฒนธรรมของพวกเขา” แต่นี่แหละคือการตบหน้าไลโอเนลอย่างจังว่า “เอ็งน่ะไม่รู้จักโปแลนด์เอาเสียเลย”

กระนั้นหนังก็ไม่ได้ให้ภาพโปแลนด์เลวร้ายเกินไปนัก ถัดมาไลโอเนลและลูซีได้พบกับ แสตน (มิคาล รูดนิคกี) นักศึกษาชาวโปแลนด์ที่พูดฝรั่งเศสได้ แสตนพาทั้งสองไปพักที่บ้าน และพาพวกเขาไปรู้จักกับวัฒนธรรมที่แท้จริงของโปแลนด์ ทั้งอาหารการกิน เหล้า หรือกระทั่งผับบาร์สไตล์โปแลนด์

ไลโอเนลหยุดเรื่องการตามหาบรรพบุรุษชาวโปแลนด์ไว้ชั่วคราว พร้อมกับที่หนังกลับมาใส่ใจเรื่องเพศสภาพอีกครั้ง โดยไลโอเนลกับแสตนตกหลุมรักกันและมีเซ็กส์กันในที่สุด ดังนั้นข้อสรุปในเรื่องเพศสภาพจึงได้ความว่าไลโอเนลไม่อาจก้าวข้ามไปสู่การเป็นไบเซ็กชวลได้ สุดท้ายแล้วเขากลับสู่รากเหง้าทางเพศสภาพของตนเองคือความเป็นเกย์เต็มรูปแบบ ในฉากนี้เราจะเห็นไลโอเนล แสตน และลูซี นอนอยู่บนเตียงเดียวกันโดยไม่ขัดเขิน ลูซีดูจะพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่มาก จึงอาจมองได้ว่าการที่เธอพยายามขัดขวางการแต่งงานของไลโอเนลกับสาวชาวโปแลนด์ ก็เพราะเธอรู้ถึง ‘เนื้อแท้’ ของน้องชาย

ถึงตรงนี้เราสามารถสังเกตได้ว่า Stealth มีลักษณะความเป็นโลกาภิวัตน์อยู่สูงทีเดียว ทั้งในแง่ของประเทศ/เชื้อชาติ ดังเช่น ชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่มีเชื้อสายโปแลนด์, คนโปแลนด์ที่หนีเข้าไปในสวิต หรือหนุ่มโปแลนด์ที่ดันพูดฝรั่งเศสได้ และในแง่ของความโลกาภิวัตน์ทางเพศที่เล่าผ่านไลโอเนล ผู้ซึ่งแปรผันไปมาระหว่างการเป็นเกย์, ผู้ชายที่ชอบพอผู้หญิง, ไบเซ็กชวล และการกลับมาเป็นเกย์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันอย่างมากที่แนวโน้มของผู้ถือสัญชาติหรือเพศสภาพที่ ‘มากกว่าหนึ่ง’ จะมีมากขึ้น

หนังกลับมาที่เรื่องของชาติพันธุ์อีกครั้ง เมื่อสองพี่น้องตัดสินใจลาจากแสตน และมุ่งหน้าไปค้นหาประวัติที่หอจดหมายเหตุประจำเมือง ความสัมพันธ์ของลูซีและไลโอเนลกำลังดีขึ้นแท้ๆ แต่ก็เกิดเหตุเลวร้ายขึ้น เมื่อรถของทั้งสองถูกขโมยไป (สิ่งที่เสียดเย้ยมากคือ คนที่ขโมยรถไปเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์) ลูซีสติแตกอีกครั้ง เธอถึงกับเอาดินยัดใส่ปากไลโอเนล พร้อมกับตะโกนไปว่า “กินเข้าไปสิ นี่ไงดินของโปแลนด์ อยากเป็นคนโปแลนด์นักไม่ใช่เหรอ”

หลังจากที่ออกผจญภัยมานาน ลูซีก็อยากกลับบ้านแทบขาดใจ เดาได้ว่าเธอเริ่มคิดถึงความปลอดภัยมั่นคงที่เคยอยู่จนเคยชิน (ครอบครัว งาน และคนรัก) แต่ไลโอเนลยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เขายังคงมุ่งมั่นในภารกิจของเขาต่อไป จนในที่สุดไลโอเนลจึงขอร้องให้พี่สาวร่วมเดินทางกับเขาต่อ โดยให้สัญญาว่านี่จะเป็นความพยายามครั้งสุดท้าย

ผลออกมาเหนือความคาดหมายทีเดียว เพราะนอกจากลูซีจะตกลงแล้ว เธอยังจัดการเดินเข้าตลาดมืดไปปลอมแปลงเอกสารสำคัญให้ไลโอเนลชนิดเสร็จสรรพ ลูซีบอกว่าเธอเห็นวิธีการพวกนี้จากที่ทำงานจนชินชา นี่อาจเป็นมุกแดกดันอีกมุกหนึ่งของหนัง เพราะดูเหมือนลูซีจะทำงานในหน่วยงานของรัฐ

ทั้งสองกลับเข้าไปที่หอจดหมายเหตุอีกครั้ง และคราวนี้โชคก็เข้าข้างพวกเขา ไลโอเนลได้พบกับญาติของเขาโดยบังเอิญที่นั่น (ทั้งคู่สังเกตกันและกันจากนามสกุลที่มีร่วมกัน) สองพี่น้องไปพักอาศัยที่บ้านของชายผู้นั้น รับฟังเรื่องราวของครอบครัวในฝั่งของโปแลนด์ หยิบกระดาษขึ้นมาวาดแผนผังวงศาคณาญาติ และในที่สุดจิ๊กซอว์ที่เขาต่อกันมานานก็เสร็จสมบูรณ์

จากเรื่องเล่าของญาติ ไลโอเนลได้รับรู้ว่าบรรพบุรุษชาวโปแลนด์ของเขาตายในสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากม้าของเขาถูกระเบิดของพวกนาซีและพลัดตกน้ำไป โชคร้ายที่ขาของเขาติดพันกับบังเหียนม้า ชายผู้นั้นจึงพลอยจมน้ำตายไปด้วย (ภาพม้าจมน้ำเป็นฉากเปิดของหนัง และปรากฏขึ้นมาเป็นระยะ) เรื่องเล่าชุดนี้มีความน่าสนใจเพราะมันซ้อนการเสียดสีไว้ถึงสองชั้นด้วยกัน กล่าวคือ หนึ่ง-ความตายของบรรพบุรุษไม่ใช่การตายแบบวีรบุรุษเอาเสียเลย และสอง-มันเป็นการหลอกด่านาซีและความเลวร้ายของสงครามอย่างแนบเนียน เพราะด้วยสงครามนี่เองที่ทำให้ตระกูลของไลโอเนลส่วนหนึ่งต้องหนีไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ และทำให้เขาต้องพลัดพรากจากญาติอีกฝั่งหนึ่ง

การคลี่คลายในประเด็นของชาติพันธุ์ ทำให้หนังมีความน่าสนใจในเชิงอุดมการณ์ (ideology) ที่เหมือนจะขัดแย้งกันในตัว โดยในขณะที่ประเด็นเพศสภาพในหนังมีความเป็น ‘ซ้าย’ หรือเสรีนิยมสุดขั้ว แต่ลักษณะของการยึดติดในชาติพันธุ์ของตัวเองกลับเอนเอียงไปทางแนวคิดแบบ ‘ขวา’ หรืออนุรักษ์นิยม

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจบอกว่าการกระทำของไลโอเนลเป็นขวาอย่างเต็มปาก เพราะเขาหลงใหลในชาติพันธุ์ดั้งเดิมของตัวเองด้วยมุมมองแบบตื่นตาตื่นใจ (exotic) มิใช่ความภูมิใจใน ‘ชาติ’ ที่หล่อหลอมอุดมการณ์สำเร็จรูปมาแล้ว หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ ถึงไลโอเนลจะรู้ว่าตัวเองมีเชื้อโปแลนด์อย่างแท้จริง แต่เขาก็อาจไม่ใด้ภูมิใจในสิ่งนั้นแม้แต่นิดเดียว หากแต่เป็นการเอาชนะความสงสัยใคร่รู้ของตัวเอง

หนังยังดูเหมือนจะเชิดชูแนวคิดแบบเก่าอีกรูปแบบหนึ่งคือเรื่องของ ‘คุณค่าของความเป็นครอบครัว’ (Family Value) โดยเฉพาะในฉากที่ไลโอเนล ลูซี และญาติช่วยกันต่อเติมแผนผังต้นไม้ของครอบครัว ที่หนังถ่ายทอดออกมาราวกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

แต่ความคิดที่ว่าก็ถูกค้านในฉากสุดท้าย หนังเกิดการหักมุมอีกครั้ง เมื่อไลโอเนลตัดสินใจกลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์ แต่ลูซีกลับเลือกที่จะอยู่โปแลนด์ต่อ ทั้งที่อุตส่าห์ตามหาครอบครัวที่โปแลนด์จนเจอ แต่ท้ายสุดแล้วไลโอเนลก็เลือกจะลาจากพวกเขา และกลับไปสู่โลกเดิมของตนเองอีกครั้ง มีความเป็นไปได้ว่าไลโอเนลจะไม่ได้กลับไปเพื่อพ่อแม่ของเขา เพราะตลอดทั้งเรื่องเราเห็นว่าเขาอยู่กับแฟนหนุ่มตลอดเวลา ไลโอเนลเป็นลูกประเภทที่จะกลับไปหาพ่อแม่เฉพาะวันคริสต์มาสเท่านั้น (ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของครอบครัวมสมัยใหม่)

หนังยังซ้อนเรื่องการค้านคุณค่าทางครอบครัวผ่านตัวละครของลูซี ในฉากที่เธอบอกกับน้องชายว่ากำลังตั้งท้องด้วยน้ำเสียงประหวั่นพรั่นพรึง นั่นคือ ลูซีไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับการใช้กำเนิดชีวิตนัก นอกจากจะไม่กลับไปหาครอบครัวที่สวิตเซอร์แลนด์แล้ว ลูซียังปฏิเสธการสร้างครอบครัวกับสามีด้วย (หนังบอกเป็นนัยกับเราว่าเธออาจไม่ได้รักเขาเลย) ส่วนการเลือกอยู่กับญาติที่โปแลนด์นั้นก็นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่าเธอมองพวกเขาในฐานะครอบครัว ที่พักพิงใจ หรือจุดเริ่มต้นแห่งใหม่กันแน่

นอกจากจะนำเสนอเรื่องของความสับสนเป็นหลักแล้ว Stealth ยังมีความสับสนของแนวคิดและอุดมการณ์อยู่ในตัวของมันเอง พร้อมกับการทิ้งท้ายคำถามไว้มากมาย เหล่านี้เองที่เป็นเสน่ห์สำคัญของหนังเรื่องนี้ เพราะนี่คือหนังที่เหมาะสมกับยุคสมัยแห่งความวุ่นวายอย่างปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

และยุคสมัยประเภทนี้เอง ที่เราต้องการหนังที่ตั้งคำถามกับเรา ถึงแม้ว่าเราอาจจะตอบมันไม่ได้ทันที หรือไม่มีวันตอบมันได้ก็ตาม

ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ Reel World/Real World นิตยสาร “ละครยามเช้า” ฉบับที่ 1 สิงหาคม-กันยายน 2552 (เป็นนิตยสารเกี่ยวกับละครเวทีแจกฟรี หากสนใจรับนิตยสาร อีเมลติดต่อไปได้ที่ yamchao_editor@hotmail.com)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *