‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ คู่แล่วสิบ่แคล่วบ่คลาดกันดอกน่อ

ลุงบุญมีระลึกชาติ’  คู่แล่วสิบ่แคล่วบ่คลาดกันดอกน่อ

**½ จาก ****

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com

ตีพิมพ์ในนิตยสาร FILMAX ฉบับที่ 38 / สิงหาคม 2553

ไม่น่าเชื่อเลยว่าหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘สัตว์ประหลาด!’ ได้เข้าร่วมประกวดและคว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เพียงระยะเวลาหกปี ผู้กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จะสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการหนังไทยได้อีกครั้งใน พ.ศ. นี้เมื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ได้รับคัดเลือกให้ร่วมประกวดอีกครั้งทั้งยังคว้ารางวัลใหญ่อย่างปาล์มทองคำมาครองได้อย่างน่าปิติยินดียิ่ง การคว้ารางวัลที่ถือเป็นที่สุดแห่งที่สุดของวงการหนังนานาชาติรางวัลนี้จึงนับเป็นการประกาศบารมีให้วงการหนังไทยได้อย่างดีว่าผลงานหนังจากประเทศนี้ก็มีอะไรน่าสนใจไม่แพ้หนังจากชาติอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ใครที่ได้ติดตามการประกวดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาบ้าง ก็คงพอทราบว่า รสนิยมการคัดเลือกหนังของเทศกาลนี้มิได้มุ่งเน้นความสมบูรณ์พร้อมในเชิงคุณภาพเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลย เพราะวิสัยทัศน์สำคัญของเทศกาลนี้กลับมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาความแปลกใหม่อันจะขยายพรมแดนแห่งศิลปะภาพยนตร์ให้ก้าวไกลออกไปมากกว่าจะใส่ใจกับความถูกต้องลงตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คานส์มักจะยักไหล่ไม่แยแสสนใจหนังคุณภาพชั้นเยี่ยมที่ทำออกมาตรงตามสูตรสำเร็จแบบเป๊ะ ๆ แต่กลับหันไปเทคะแนนให้กับหนังที่แปลกต่างไปด้วยน้ำเสียงและลีลาเฉพาะตัวชนิดไม่มีใครเคยคิดเคยทำมาก่อนเสียมากกว่า แม้ว่ามันจะมาพร้อมความบกพร่องที่หนักหนาสาหัสถึงขนาดไหนก็ตาม ที่ผ่านมาหนังที่ติดโผร่วมสายประกวดของเทศกาลแห่งนี้จึงมีให้เห็นทั้งหนังที่ถึงพร้อมทั้งทางด้านเนื้อหาความแม่นยำและลีลาอันโดดเด่นล้ำสมัย ไปจนถึงหนังที่หลายคนอาจมองว่าแย่อย่างบรรลัยถึงขั้นต้องโห่ไล่กันกลางโรงฉายเลยก็มี (แถมบางครั้งหนังที่ถูกโห่ไล่นี่แหละที่จะซิวรางวัลใหญ่จากคณะกรรมการไปด้วยซ้ำ) สำหรับ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ของอภิชาติพงศ์เรื่องนี้ก็นับเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงรสนิยมคานส์ที่ว่าได้เป็นอย่างดี เพราะถึงแม้ว่าหนังจะมีพลังจินตนาการและความสร้างสรรค์อันสุดแสนจะบรรเจิดถึงเพียงไหนแต่มันก็ยังแฝงไว้ด้วยความอ่อนด้อยที่ทำให้ตัวงานยังห่างไกลจากความถึงพร้อมกันอยู่พอดู การคว้ารางวัลปาล์มทองคำของ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ จึงอาจมิได้มีนัยยะที่จะบอกได้ว่า นี่คืองานที่ ‘ยอดเยี่ยม’ ที่สุดแห่งปี หากมันเป็นการแสดงการยอมรับว่านี่คืองานที่ ‘แปลกใหม่’ และ ‘น่าสนใจ’ มากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ชมที่ควรต้องหาโอกาสสัมผัสลิ้มลองพร้อมถกเถียงแลกเปลี่ยนมุมมองกันต่อไปว่าหนังมีดีในจุดไหนและยังมีส่วนใดที่ขาดตกบกพร่องอยู่อีกบ้าง

จริง ๆ แล้วภาพยนตร์เรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ นี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะชุด ‘ดึกดำบรรพ์’ หรือ ‘Primitive’ ที่อภิชาติพงศ์ได้จัดแสดงผลงานบางส่วนไปเมื่อปีกลายโดยมาปิดท้ายกันที่ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องนี้ ในส่วนโครงการศิลปะชุด ‘ดึกดำบรรพ์’ ก็เป็นการบันทึกความทรงจำจากการเดินทางท่องเขตแคว้นแดนอีสานอันเป็นถิ่นเกิดของผู้กำกับ ผ่านงาน video art, music video และ หนังสั้น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ของผลงานในโครงการนี้ก็จะเป็นการติดตามชีวิตของเหล่าเด็กหนุ่มรุ่นปัจจุบันของหมู่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ดินแดนประวัติศาสตร์อันเป็นจุดปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับทหารปราบปรามคอมมิวนิสต์ในเหตุการณ์เสียงปืนแตกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ พร้อมการปรากฏตัวของเหล่าทหารพราน ยานอวกาศที่ทำด้วยไม้ ลิงใหญ่ขนยาวดำ และลำแสงอสุนีบาต แต่สำหรับเนื้อหาของ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ นั้น อภิชาติพงศ์ ได้หยิบยืมมาจากหนังสือชื่อ คนระลึกชาติได้ โดย พระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเล่าเรื่องราวในชาติภพต่าง ๆ ของนายบุญมี ศรีกุลวงศ์ ผู้เคยเกิดเป็นนายพราน เป็นเปรต เป็นกระบือ และเป็นโค ก่อนจะเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งในชาตินี้ โครงเรื่องหลักของ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ จึงเป็นการตีความชีวิตของลุงบุญมีในมุมมองของอภิชาติพงศ์เอง โดยเขาได้เลือกเล่าในช่วงที่ลุงบุญมีกำลังล้มป่วยด้วยโรคไต และได้เดินทางกลับมายังบ้านกลางสวนพร้อม ‘เจน’ น้องสะใภ้ และ ‘โต้ง’ ชายหนุ่มต่างภาค โดยในระหว่างที่พวกเขากำลังรับประทานอาหารค่ำกันในคืนหนึ่งนั้น ‘ฮวย’ ผีภรรยาของลุงบุญมีที่ตายจากไปเมื่อ ๑๙ ปีก่อน และ ‘บุญส่ง’ บุตรชายของลุงบุญมีที่หันไปใช้ชีวิตเป็นลิงผีก็ได้หวนกลับมาหาลุงบุญมีอีกครั้งเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้เป็นสามีและบิดาในการเผชิญหน้ากับช่วงวาระสุดท้ายในชาติภพนี้กันอย่างอบอุ่น

แม้ว่าความตั้งใจเดิมของหนังและตัวโครงการจะมุ่งนำเสนอเรื่องราวจากท้องถิ่นพื้นที่อีสาน แต่เอาเข้าจริงแล้วเนื้อหาส่วนใหญ่ของ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ กลับมีความเป็นสากลที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมในวงกว้างได้ ไม่ว่าจะเป็นความคิดความเชื่อเกี่ยวกับ ผี วิญญาณ ภพชาติ ชีวิตหลังความตาย กระทั่งถึงความใกล้ชิดผูกพันของผู้ที่เคยอยู่ร่วมกันฉันคู่ชีวิต หากจะไม่นับการใช้สำเนียงอีสานในบทสนทนาและลีลาดนตรีพื้นถิ่นในบางช่วงแล้ว เรื่องราวของ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ก็ยังสามารถเกิดขึ้นในบริบทพื้นที่และวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปได้ อย่างไรก็ดีเนื้อหาในส่วนที่เหมือนจะเป็นหัวใจสำคัญของหนังกลับได้รับการถ่ายทอดผ่านบทสนทนาระหว่างตัวละครอยู่เพียงบางช่วงเท่านั้น นั่นคือฉากพูดคุยกันรอบโต๊ะอาหาร การระบายความในใจระหว่างลุงบุญมีกับผีนางฮวยในห้องนอน และเสียงบรรยายของลุงบุญมีก่อนจะสิ้นลมในถ้ำ ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องราวในส่วนเหล่านี้จะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระลึกชาติของลุงบุญมี ชีวิตหลังความตายของฮวย และการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตอันประหลาดพิสดารของบุญส่งอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วตัวบทก็ยังนำเสนอเนื้อหาในจุดนี้ได้อย่างไม่กระจ่าง หนังจึงยังคงทิ้งค้างคำถามไว้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของฮวย โดยเฉพาะทางเลือกในการไปเกิดใหม่หรือจะร่อนเร่ต่อไปเป็นสัมภเวสีว่าเธอมีสิทธิ์เลือกหรือไม่? และใครคือผู้ตัดสิน? เธอกลับมาหาลุงบุญมีในช่วงเวลานี้ได้อย่างไร? อะไรทำให้บุญส่งตัดสินใจใช้ชีวิตเป็นลิงผี? เรื่องราวเกี่ยวกับลิงผีที่พวกเขาเคยได้ฟังกันตอนเด็ก ๆ มีนัยยะอย่างไร? การระลึกชาติได้ของลุงบุญมีทำให้เขามองความเป็นมนุษย์ของตัวเองอย่างไรบ้าง? เขาจำประสบการณ์การตายจากชาติก่อน ๆ ได้ไหม? และที่สำคัญคือการได้เห็นตัวเองในชาติภพต่าง ๆ นั้นมันทำให้เขาเข้าใจความหมายของ ‘ความตาย’ ว่าอย่างไร? สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นหน้าที่ที่อภิชาติพงศ์ควรต้องนำเสนอออกมาในระดับกระจ่าง เพราะมันจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการไขปริศนาของรายละเอียดซ่อนนัยที่เขาอุตส่าห์แฝงไว้ในส่วนอื่น ๆ แต่จากตัวบทเท่าที่มีดูเหมือนอภิชาติพงศ์เองก็ยังขบประเด็นเหล่านี้ได้ไม่แตกเสียด้วยซ้ำ การนำเสนอในส่วนจุดใหญ่ใจความของหนังจึงยังอยู่ในระดับครึ่ง ๆ กลาง ๆ ราวกับเป็นเพียงบทฉบับร่างที่วางแนวคิดไว้อย่างคร่าว ๆ หากยังอ่อนเบาในส่วนรายละเอียดสำคัญอันจะทำให้สารรวมของหนังมีพลังในระดับพอเพียง

เมื่อเนื้อหาหลักของหนังยังขาดตรรกะที่ประจักษ์ชัด รายละเอียดเสริมล้อมอื่น ๆ ใน ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ จึงปราศจากหลักยึดใด ๆ ที่จะช่วยไขรหัสถอดความได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะในส่วนเนื้อหาที่ใส่เข้ามาราวเป็นการแสดงเหตุการณ์ในชาติภพอื่น ๆ ของลุงบุญมี อย่างการปลดเปลื้องพันธนาการของกระบือชื่อเขียวในฉากเปิด การแทรกนิทานเรื่องเจ้าหญิงกับปลาดุกในช่วงกลางเรื่อง รวมถึงภาพถ่ายของเหล่าทหารพรานกับการล่าลิงยักษ์ในช่วงท้าย ซึ่งหนังก็ไม่ได้อิงโยงอะไรใด ๆ ไว้กับเรื่องราวของลุงบุญมีเลย แม้กระทั่งรายละเอียดเนื้อหาที่เหมือนจะมีความเกี่ยวข้องอย่างฉากที่ป้าเจนเหยียบแมลงอย่างไม่ตั้งใจแต่กลับใช้ไม้ช็อตแมลงอย่างจงใจซึ่งอาจสะท้อนไปถึงประเด็นกฎแห่งกรรม การพาดพิงถึงเหตุการณ์ปราบคอมมิวนิสต์ของลุงบุญมี และกรณีผลประโยชน์จากเงินทำบุญงานศพที่บทหนังเหมือนจะขับเน้นออกมาอย่างเด่นชัด ก็ยังคงขาดเงื่อนมูลที่จะอนุมานต่อไปได้ว่าหนังกำลังถกถึงสิ่งเหล่านี้ในแง่มุมไหน ความกระจัดกระจายไร้การเชื่อมโยงจะปรากฏชัดขึ้นในส่วนสุดท้ายของหนังหลังพิธีศพของลุงบุญมี น่าฉงนที่เนื้อหาในส่วนนี้จะไม่มีการกล่าวถึงชีวิตหลังความตายของลุงบุญมีอีกต่อไป (หรือเขาอาจถูกทำให้อันตรธานไปโดยฝีมือของทางการ?) หากกลับไปให้ความสำคัญกับตัวละครพระโต้ง สีกาเจนกับสีการุ่งแทน แต่ด้วยความที่หนังไม่ได้เกริ่นปูมิติเชิงลึกของตัวละครเหล่านี้เอาไว้ล่วงหน้า พฤติกรรมร้อนผ้าเหลืองของพระโต้งรวมถึงบทบาทของสีการุ่งจึงโผล่เข้ามาในหนังแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ยิ่งต้องมาเจอกับฉากตัวละครแยกร่างที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรอันใดกับสารสำคัญของหนังด้วยแล้ว ก็ยิ่งชวนให้อดรู้สึกไม่ได้ว่าหนังดิ้นรนหาทางจบกันอย่างประดิดประดอยจนเลยเถิดไปหน่อยไหม เรื่องราวอันน่าประทับใจเกี่ยวกับชีวิตของลุงบุญมีจึงมีอันต้องอ่อนพลังลงไปด้วยจริตลีลาในการปั่นหัวคนดูอย่างน่าเสียดาย

แม้ว่าการนำเสนอประเด็นหลักอย่างการระลึกชาติของลุงบุญมีอาจยังทำได้ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก แต่หนังก็ยังมีประเด็นเสริมที่น่าสนใจและพอจะหยิบจับได้จากรายละเอียดส่วนอื่น ๆ จุดที่บทหนังเหมือนจะพาดพิงอยู่บ่อยครั้งก็คือการพบเนื้อคู่ที่อาจไม่ได้เกิดมาในสายพันธุ์เดียวกันในแต่ละภพชาติ ทั้งจากเรื่องราวของบุญส่งที่พบว่าคู่ชีวิตของตัวเองเกิดเป็นลิงผีจนในที่สุดเขาก็ต้องยอมกลายพันธุ์เพื่อจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันกับลิงผีเพศเมียที่เขารัก (เผลอ ๆ เขาอาจจะได้เจอ ชาร์ล็อตต์ แรมปลิง ผู้เคยตกหลุมรักลิงชิมแปนซีในหนังเรื่อง Max mon amour ของ นางิสะ โอชิมา ร่วมฝูงอยู่ด้วยก็เป็นได้) การพบเจอกันระหว่างเจ้าหญิงโฉมทรามที่ดันมาต้องศรกามเทพกับปลาดุกพูดได้ การหวนกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้งระหว่างคนกับผีในกรณีลุงบุญมีกับฮวย ความรักต่างเชื้อชาติระหว่างป้าเจนกับฮันส์ ไปจนถึงความรักแบบสามัญระหว่าง ‘จาย’ หนุ่มคนงานลาวกับผู้สาวร่วมชาติ รายละเอียดเสริมส่วนนี้เองที่อาจนำไปสู่ประเด็นการมองเห็นสรรพสิ่งมีชีวิตทั้งหลายคล้ายเป็นดวงวิญญาณที่มิได้มีองค์ธาตุอะไรต่างกันและวิญญาณเหล่านั้นก็อาจวนเวียนอยู่ในวัฏสังสารเปลี่ยนร่างผันอินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในแต่ละชาติภพ แต่หากเนื้อคู่ของใครบังเอิญมิได้เกิดมาในเหง้าตระกูลเดียวกันในชาติไหน การสมสู่ข้ามสายพันธุ์มันก็ควรต้องเกิดขึ้นได้เพื่อดำรงไว้ซึ่งสายใยแห่งบุพเพสันนิวาส แนวคิดอันบริสุทธิ์อันนี้เองที่ทำให้พฤติกรรมสัตว์สังวาสหรือ bestiality ของมนุษย์ที่เคยถูกวางกรอบไว้ให้เป็นเรื่องลามกวิตถาร กลายเป็นสิ่งสามัญที่ไม่ควรเห็นเป็นเรื่องผิดอะไร ฉากการร่วมรักกันระหว่างเจ้าหญิงกับปลาดุกอันลือลั่นใน ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ จึงนับเป็นการนำเสนอพฤติกรรมที่ว่านี้ในมุมมองใหม่ซึ่งอาจชวนให้เราต้องหวนกลับไปตีความฉากคล้าย ๆ กันระหว่างคนกับไก่ใน End of the Road (1970) คนกับกุ้งใน Multiple Maniacs (1970) คนกับกระต่ายใน Throw Away Your Books, Rally in the Street (1971) คนกับแกะใน Every Thing You Always Wanted to Know About Sex * But Were Afraid to Ask (1972) คนกับงูใน Devil in Miss Jones (1973) คนกับหมูใน Vase de noces (1974) คนกับหมาใน Ballad of Narayama (1983) หรือกระทั่งฉากชวนจั๊กจี้ระหว่างคนกับปลาไหลใน Conspirators of Pleasure (1996) กันใหม่เลยทีเดียว

ประเด็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสรรพสิ่งมีชีวิตนี้อาจอิงโยงไปสู่ฉากการคืนชีวิตในโถงถ้ำของลุงบุญมีที่ดูจะมีนัยยะย้อนถึงต้นตอของบรรพบุรุษแห่งมนุษยชาติอันอาจส่งทอดไปถึงหลักการ abiogenesis ที่อธิบายการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตจากสิ่งไร้ชีวิต เพราะหากลุงบุญมีจะสามารถระลึกชาติกลับไปยังจุดเริ่มต้นได้จริง ๆ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ล้วนมีวิวัฒนาการมาจากเซลล์ชีวภาพเดียวกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ภาพเขียนบนฝาผนังถ้ำก็อาจยังสื่อนัยยะไปถึงถ้ำอุปมาของเพลโตในหนังสือ อุตมรัฐ (Republic) ได้อีกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของการฉายภาพบนผนังถ้ำที่คล้ายคลึงกับการฉายหนังในปัจจุบัน ซึ่งก็ยังไปพ้องกับเรื่องความฝันในโลกอนาคตของลุงบุญมีที่ทางการสามารถทำให้คนในอดีตหายตัวไปด้วยการส่องไฟเพื่อนำความทรงจำต่าง ๆ ในอดีตและอนาคตของเขามาฉายขึ้นบนจอ (แนวคิดอันนี้ผู้กำกับอาร์เจนตินา เอลิซิโอ สุเบียลา เคยเล่าไว้ในหนังเรื่อง Don’t Die Without Telling Me Where You’re Going เมื่อปี ค.ศ. 1995 ซึ่งพูดถึงนักประดิษฐ์นวัตกรรมหนังในศตวรรษก่อนหน้าที่กลับชาติมาเกิดในยุคปัจจุบันแล้วพยายามสร้างเครื่องมือบันทึกภาพฝันจากจินตนาการและความทรงจำออกมาเป็นหนัง ซึ่งจะทำให้ผู้กำกับสามารถสร้างหนังได้โดยไม่ต้องถ่ายทำจริง ๆ) ฉากการอำลาโลกในโถงถ้ำของลุงบุญมีจึงอาจมิได้เป็นเพียงการแสดงพฤติกรรมยึดติดกับสถานที่ด้วยการย้อนวนเพื่อคืนชีวิต ณ จุดกำเนิด (ซึ่งตรงข้ามกับพฤติกรรมยึดติดกับสิ่งมีชีวิตอื่นของผีนางฮวย) หากมันยังสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าทางปัญญาและชีววิทยาของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้อย่างแหลมคมอีกด้วย

แต่ส่วนที่ดูจะชดเชยความบกพร่องในด้านการสื่อประเด็นของหนังได้อย่างทรงพลังจริง ๆ ก็คือความแม่นยำจัดเจนในเชิงการกำกับในแบบฉบับของอภิชาติพงศ์ ที่ยังสามารถคุมบรรยากาศในช่วงต่าง ๆ ของหนังให้ผู้ชมได้หลงตกอยู่ในภวังค์ได้อย่างชะงัดนัก เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของผู้กำกับหนุ่มไทยรายนี้ก็คือความสามารถในการนำเสนอภาพชีวิตดิบ ๆ แบบชาวบ้าน ๆ ด้วยจริตลีลาเชิงหนังอันอลังการที่ผสานรวมกันได้อย่างประหลาด โดยเฉพาะในส่วนผสมของความเป็น Sci-Fi ที่จะพบเห็นได้ในหนังทุก ๆ เรื่องของเขา ซึ่งอภิชาติพงศ์ก็ยังนำมาปรับเข้ากับบริบทแบบอีสาน ๆ ได้อย่างไม่ขัดเขิน เคล็ดลับสำคัญที่อภิชาติพงศ์นำมาใช้สร้างพลังความมหัศจรรย์ในหนังของเขาได้อย่างอยู่หมัดเลยก็คือการนำเสนอสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เหล่านี้อย่างหน้าตายราวกับว่าเรื่องประหลาดทั้งหลายแท้แล้วก็มิใช่อะไรที่น่าตื่นเต้นตรงไหน เมื่อความอัศจรรย์ในหนังไม่ได้ถูกผลักออกมาอย่างจงใจ มนต์เสน่ห์ของมันจึงเปล่งประกายได้อย่างเป็นธรรมชาติ จุดที่น่าสังเกตอีกอย่างในหนังเรื่องนี้ก็คืออภิชาติพงศ์ดูจะเล่นกับพื้นที่ความมืดความสว่างของภาพอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าโดยรวมแล้วหนังจะเน้นการถ่ายทอดบรรยากาศแบบขมุกขมัวหม่นสลัวอย่างแดนสนธยา แต่หลาย ๆ ฉากก็ยังมีการเล่นล้อกับองค์ประกอบของความมืด-สว่างได้อย่างน่าสนใจ ทั้งฉากภายในบ้านลุงบุญมีตอนที่โต้งกับจายช่วยกันจัดของซึ่งมืดมิดราวท้องถ้ำยามปิดหน้าต่างแต่กลับสว่างขึ้นในทันใดหลังใช้มือผลักเปิด การใช้แสงและเงาทับกึ่งกลางลำตัวของป้าเจนและลุงบุญมีแบบพอดีในยามเช้าบนพื้นถ้ำเพื่อแสดงภาวะก้ำกึ่งระหว่างความเป็นกับความตาย ไปจนถึงการถ่ายทอดความมืดในกุฏิพระที่ตัดกับความสว่างจากแสงนีออนของห้องพักโรงแรมกันอย่างต่างขั้ว นอกจากนี้อภิชาติพงศ์ยังมีการดัดแปลงโทนการเล่าอันหลากหลายสำหรับเนื้อหาในแต่ละส่วนช่วง ทั้งบรรยากาศชนบทแบบลูกทุ่งในฉากการหนีของกระบือ ลีลาละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ในนิทานเจ้าหญิงกับปลาดุก ความสดชื่นโปร่งสบายตามสไตล์หนังฝรั่งเศสในฉากเยือนสวน การถ่ายทอดเหตุการณ์ด้วยสไลด์ภาพนิ่งในฉากเล่าความฝันถึงอนาคตของลุงบุญมีที่ละม้ายคล้ายคลึงกับหนังเรื่อง La jetée (1962) ของ คริส มาร์เคอร์ ไปจนถึงกลิ่นอายในแบบภูธรของเหตุการณ์ในช่วงสุดท้าย แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนเหมือนกันที่ดูจะมีการใช้จริตลีลาเชิงหนังที่หนักมือเกินไปจนคล้ายเป็นการอุดช่องโหว่จากความอ่อนบางของส่วนเนื้อหา ทั้งการแอบใช้เสียงประกอบสังเคราะห์เพื่อจูงอารมณ์ผู้ชมกันอย่างโต้ง ๆ ในหลาย ๆ ช่วง หรือการสรุปจบนิทานเจ้าหญิงกับปลาดุกด้วยภาพการกระเพื่อมของมวลน้ำเพื่อเบนความสนใจไปจากความไร้มิติของตัวนิทาน เป็นต้น

ลูกเล่นอีกประการที่อภิชาติพงศ์มักจะนำมาใช้ในหนังของเขาอยู่เสมอก็คือการหวนย้อนไปอ้างอิงถึงผลงานเก่า ๆ ด้วยรายละเอียดต่าง ๆ อย่างจงใจ ใน ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ นี้เราจึงจะได้เห็นทั้ง ฉากขับรถ ตัวละครรุ่ง โรคผิวหนัง แรงงานต่างด้าว และการเอาตัวลอยบนผิวน้ำ จาก ‘สุดเสน่หา’ ตัวละครโต้ง ลุงระลึกชาติ ทหาร ภาพวิญญาณ ร้านอาหาร ลิงป่า และเปลญวนจาก ‘สัตว์ประหลาด!’ เสลี่ยง ถ้ำ และเครื่องถนิมพิมพาภรณ์จาก ‘หัวใจทรนง’ ตัวละครพระ วัฏจักรแห่งบุญบาป สไลด์ภาพถ่าย ป้าเจนกับหมา ฉากชงชา การรักษาพยาบาล และสารดีดีทีฆ่าแมลง จาก ‘แสงศตวรรษ’ ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้สำหรับผู้ชมที่ไม่เคยชมผลงานเรื่องอื่น ๆ ของอภิชาติพงศ์มาก่อนก็อาจไม่ติดใจอะไร แต่สำหรับใครที่ได้ชมผลงานของเขามาตลอดก็อาจเกิดความรู้สึกขึ้นมาได้ว่า สรุปแล้วหนังเรื่องนี้เป็นการระลึกชาติของใครกันแน่ระหว่างลุงบุญมีหรืออภิชาติพงศ์? สัดส่วนของการลงรายละเอียดมันถึงได้ต่างกันลิบลับถึงขนาดนี้ ทางที่ดีก็ขอแนะนำให้ตั้งชื่อหนังเสียใหม่เลยว่า ‘อภิชาติพงศ์ระลึกชาติ’ รู้แล้วรู้รอดไป คราวนี้จะหมกมุ่นอะไรยังไงจะได้ไม่มีใครกล้ามากระแนะกระแหนอีก!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *