ที่รัก : เวลา สถานที่ การเดินทาง และความทรงจำ

ที่รัก : เวลา สถานที่ การเดินทาง และความทรงจำ

เวลาและสถานที่

พื้นที่ใกล้เชิงเขา ชายหนุ่มขับมอเตอร์ไซค์เก่าคันหนึ่งวนแล้ววนเล่าตามท้องไร่อันแห้งแล้ง ขับช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ในพื้นที่เดิมเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง แม้ฝุ่นแดงลอยฟุ้งตลบอบอวล

มอเตอร์ไซค์ยังคงสำรวจพื้นที่อย่างยาวนานก่อนที่เขาจะถึงที่หมายในบ้านไม้ เขามองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยสายตาทอดอาลัย สะอื้นไห้อย่างไม่อาจฝืนความรู้สึก

“ที่รัก” เป็นผลงานกำกับของ ศิวโรจน์ คงสกุล อดีตผู้กำกับหนังสั้น ที่เลือกทำหนังขนาดยาวเรื่องแรกโดยได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตพ่อแม่-ครอบครัวของตนเองมาถ่ายทอด และเขาสามารถสร้างบรรยากาศที่โอบล้อม และวิธีการบอกเล่าสิ่งที่เราคุ้นชินให้ออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

เราอาจแบ่งช่วงเวลาของหนังได้เป็น 3 ช่วง และดำเนินด้วยบรรยากาศที่ต่างกัน มันเริ่มต้นอย่างเชื่องช้ายาวนานชั่วกัปกัลป์ สร้างบรรยากาศอันแปลกแยก ถัดมาเป็นช่วงเวลาอันสว่างไสว รื่นรมย์ งดงาม อันว่าด้วยความรักของ วิทย์(วัลลภ รุ่งจำกัด) และก้อย(น้ำฝน อุดมเลิศลักษณ์) และปิดท้ายด้วยความเปลี่ยนแปลงสร้างความรู้สึกอันวุ่นวาย และชวนอึดอัดผ่านชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่ง

หากเรียงเรื่องตามเวลาแล้วจะได้เป็นอนาคต อดีต และปัจจุบันตามลำดับ แต่หนังเลี่ยงการอธิบายที่ชัดเจน ให้คล้ายดังเส้นบางๆ ที่เกี่ยวร้อยมันเอาไว้ ดังเช่นฉากต้นเรื่อง เมื่อชายหนุ่มพบสถานที่อันปรารถนา ริมคลองแห่งหนึ่ง เขาขึ้นเรือยืนมองทุกสิ่งอย่างหวลรำลึก ก่อนที่จะค่อยๆ ก้มตัวหลบลง และถูกกลืนหายกลายเป็นฉากพลอดรักกันของ ก้อย และวิทย์ โดยฝ่ายหญิงได้รับคำชวนมาเยี่ยมลพบุรี บ้านเกิดของฝ่ายชายในฐานะคู่รักที่เริ่มจะมาเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

การเล่นกับช่วงเวลาที่โดดเด่นอีกประการคือเมื่อถึงคราวเฉลยอะไรบางอย่าง ศิวโรจน์เลือกที่จะตัดฉากเหล่านั้นทิ้งไป ซึ่งลดการเร้าอารมณ์ และ อาจสร้างความคลุมเครือสำหรับผู้ที่ใคร่รู้รายละเอียดต่างๆ อย่างชัดเจน หากก็ช่วยทำให้ความรักของวิทย์และก้อยไม่ใช่เพียงความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง รายละเอียดหลายประการในบทภาพยนตร์ช่วยทำให้เราสามารถรู้สึกได้ว่านี่คือเรื่องราวความรักสามัญที่อาจเกิดกับคู่รักทุกคู่บนโลกใบนี้

ศิวโรจน์เจตนาให้ช่วงเวลาของคนทั้งคู่ดังกล่าวเป็นห้วงความรักอันแสนบริสุทธิ์ที่มนุษย์สักคนหนึ่งควรได้เคยสัมผัสสักครั้ง มันสงบ งดงาม เรียบง่าย และกลายเป็นเหมือนสิ่งที่พวกเขาสามารถจดจำได้ไปตลอดชีวิตแม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว แม้มันจะเป็นเหตุการณ์อันแสนธรรมดาที่เราพบเห็นได้ทั่วไปก็ตาม ตั้งแต่การหยอกเย้าพูดชวนหัว, นั่งล้อมวงกินข้าวกับครอบครัวฝ่ายชาย, ทำกิจกรรมเล็กๆ ร่วมกัน, ตระเวณเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ในวันหยุดพักผ่อน, หาโอกาสพูดคุยสารทุกข์สุขดิบเล็กๆ น้อยๆ ของกันและกัน, ไปจนถึงพัฒนาความสัมพันธ์ของเขาและเธอสู่ห้วงอารมณ์และสัมผัสหวามไหว

ความรักไม่ได้มีเฉพาะที่เกี่ยวกับ วิทย์ และก้อย เท่านั้น หากเรายังได้เห็นประสบการณ์ความรักของใครหลายคน อาทิ ป้าของวิทย์ที่มานั่งกินเหล้าทุกคืน ภายหลังจากลูกและสามีเสียชีวิต ความผูกพันต่ออากงและอาม่าของก้อยที่รำพึงรำพันว่าท่านทั้งสองคนได้ไปพบกันที่สวรรค์ และแม้แต่หนึ่งในสถานที่ซึ่งทั้งคู่แวะชมอันเป็นสถานที่ๆ มีอยู่จริงอย่างเขาวงพระจันทร์ ในจังหวัดลพบุรีเอง ก็มีตำนานเรื่องเล่าการก่อเกิดอันแสนพิสดารว่าด้วยยักษ์ตนหนึ่งนามท้าวกกขนาก ซึ่งถูกพระรามแผลงศรปักอก จนกระเด็นมาตกที่เขาลูกนี้ นางนงประจันทร์ลูกสาวยักษ์เหาะตามมา แต่ช่วยพ่อไม่ได้จึงตรอมใจตายตามไปด้วย

เมื่อหนังจบ สถานที่อันร้างไร้ผู้คนซึ่งชายคนดังกล่าวตระเวณไปโดยรอบก็แปรเปลี่ยนมีความหมายพิเศษ เราไม่สามารถมองถนนลูกรัง ต้นไม้โดยรอบ บ้านไม้เก่าๆ หรือลำคลองเป็นเพียงสถานที่เปล่าๆ ได้อีกต่อไป รวมถึงสถานที่ทุกแห่งต่างก็ล้วนมีความทรงจำ มีตำนาน เรื่องเล่าของผู้คนต่างๆ ปรากฎอยู่ต่างกันออกไป

และดังเช่น พื้นเพ เชื้อชาติและภูมิลำเนาอันแตกต่างของทั้งวิทย์ และก้อยเองกลวิธีทางภาพยนตร์ของเขาจึงช่วยทำให้ปราศจากกรอบเวลาและสถานที่มาเป็นตัวกำหนด

การเดินทาง กับความทรงจำ

อย่าเหมือนน้ำค้างพราวพร่างใบพฤกษ์
พอยามดึกเหมือนดั่งจะดื่มกินได้
พอรุ่งสางก็จางหายไป
รู้แน่แก่ใจ ได้แต่ระทมชีวี

(เพลง “ที่รัก” คำร้อง: สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ / ทำนอง : สมาน กาญจนะผลิน)

ในเนื้อเพลงซึ่งกลายเป็นชื่อเรื่องของหนัง อาจเป็นการเป็นเปรียบเปรยที่ขัดแย้งในตัวเอง มนุษย์เปรียบความรักที่ไม่จีรังยั่งยืนกับวัฏจักรธรรมชาติ หากมนุษย์เองกลับต้องพบกับความไม่เที่ยงพรากจากกันไปทุกคู่ เราจึงได้พบเห็นว่ามนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

น่าสนใจยิ่งที่เพลงนี้ที่เนื้อร้องท่อนดังกล่าว ครูเพลงสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ได้นำแนวคิดมาจากวรรณคดีเก่าของไทย เรื่องจันทโครพ ที่ต่อว่านางโมรา

อย่างไรก็ตาม “ที่รัก” ตามชื่อเรื่อง อาจตีความได้หลายอย่างมากกว่าเนื้อเพลงดังกล่าว มันเป็นได้ทั้งความหมายของ คนรัก, สถานที่ซึ่งพบรัก หรือเหตุที่ทำให้คนสองคนรักกัน คำถามดังกล่่าวได้ถูกตั้งให้กลายเป็นประเด็นสำคัญได้ไกลและลึกจนน่าฉงน

ในอดีตศิวโรจน์มีงานเด่นๆ อย่าง “เหมือนเคย”(2549 – รางวัลวิจิตรมาตรา และอีก 2 รางวัลจากการประกวดภาพยนตร์สั้น มูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 11) ว่าด้วยความรักของตายายที่คนหนึ่งป่วยเป็นอัลไซเมอร์ และ “เสียงเงียบ”(2550 – ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติโครงการ “แด่พระผู้ทรงธรรม”) เล่าการเดินทางตามหาเสียงบางอย่างของชายหนุ่มช่างบันทึกเสียงภาพยนตร์ และ “ที่รัก” ยังเกาะเกี่ยวประเด็นที่เคยปรากฎในผลงานก่อนหน้าของเขานั่นคือ “ความทรงจำ” และ “การเดินทาง”

ในหนังที่เล่าอย่างเนิบช้า เราได้เห็นการเดินทางทั้ง 3 ช่วงสำคัญ ตั้งแต่ชายหนุ่มผู้ตระเวณขับมอเตอร์ไซค์ในสถานที่ร้างไร้ผู้คน ก้อยกับวิทย์ซึ่งขับมอเตอร์ไซค์ และในช่วงท้ายแม้มอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวจะจอดนิ่งสนิท ก้อยในช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังดำเนินชีวิตต่อไปด้วยพาหนะอื่นๆ หรือแม้แต่ลูกชายของเธอเอง เราก็ยังได้เห็นความพยายามที่จะหัดลองขับรถยนต์ด้วยความปรารถนาอยากเดินทางเพื่อไปไกลจากสถานที่เดิมๆ

ไม่ใช่แค่เพียงการเดินทางภายนอกเท่านั้น หากหนังยังแสดงให้เห็นถึงการเดินทางภายใน ตั้งแต่การพูดถึงคนตายไปจนถึงภพหน้าตลอดทั้งเรื่อง

การเดินทางในหลายๆ จุดประสงค์นั้นเป็นสิ่งที่เสมือนเพื่อหาคำตอบต่อคำถามที่ว่าแท้จริงมนุษย์เกิดมาทำไม ? ส่วนหนึ่งเราคงไม่สามารถปฏิเสธแรงขับจากความกลัวที่ว่าท้ายที่สุดมนุษย์ทุกคนก็ต้องตายจากโลกนี้ไป ที่คู่ขนานไปพร้อมๆ กับความรู้สึกอยากหลุดพ้นจากห้วงของความทุกข์ในสิ่งซึ่งยังตัดไม่ขาด อันเกิดมีในมนุษย์ทุกผู้คน

ความรักอาจไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์ที่สุด หากมันก็สะท้อนปรากฎบนผลงานที่มนุษย์แต่ละสมัย ผ่านการทำซ้ำดังบทกลอนในจันทรโครพ ได้กลายเป็นเพลงที่รัก หรือบทกลอนในพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ซึ่งหนังยังได้นำมาใช้ประกอบในฉากหนึ่งก็เป็นที่จดจำถูกนำมาถ่ายทอดจนถึงทุกวันนี้

ทั้งหมดอาจเรียกว่ามันคือตะกอนแห่งความทรงจำที่แสดงออกความรู้สึกต่างๆ ส่งมายังรุ่นสู่รุ่น ต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางครั้งมันกลายเป็นเรื่องเล่า บางครั้งเป็นประสบการณ์ฝังจำของคนในครอบครัว บางครั้งมันพร่าเลือนไม่ชัดเจน ดังฉากจบที่ฉายภาพเงาสลัวกรอบรูปบนผนังติดภาพคนในครอบครัวที่เสียชีวิตรุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งเราสามารถเห็นได้ในทุกบ้าน เมื่อดูจบผู้เขียนนึกถึงความหมายใหม่ของความรักที่ทำให้เกิดความทรงจำ และการเดินทางที่ยาวนานของมนุษย์ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน และมันจะดำเนินต่อไปในอนาคตของข้างหน้า

อาจกล่าวได้ว่าการเดินทางภายใน หรือความทรงจำคือเครื่องมือสำคัญของมนุษย์ที่ช่วยทำให้ความรักล่องลอย อบอวล และคงความหมายในการมีอยู่ แม้ร่างกายจะดับสูญสิ้น

ความรักของ วิทย์ และก้อย ในช่วงเวลานั้นจึงยังประทับอยู่ตลอดไป แม้มันจะเกิดขึ้น และจบลงภายในช่วงสั้นๆ ก็ตาม

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *