Bride and Prejudice – Jane Austen + Bollywood = ดาวพระศุกร์!!!??

Bride and Prejudice – Jane Austen + Bollywood = ดาวพระศุกร์!!!??

 

it ซียู

(เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เขียนด้วยความไร้สาระอย่างมากๆๆๆๆ ครับ ใครพบว่ามัน “ฝืด” จนเกินจะทน ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ)

ความจริงได้ดูเรื่องนี้นานแล้วครับ ประมาณอาทิตย์นึงเห็นจะได้ แต่ด้วยความขี้เกียจส่วนบุคคล จึงไม่มีโอกาสเขียนถึงซักที
…….. แต่วันนี้ เห็นว่าเป็นโอกาสอันดี เพราะว่าตัวหนังได้ลาโรงไปเรียบร้อยแล้ว (ฉายแค่สองโรง แถมฉายอาทิตย์เดียว แล้วก็หายไปเลย!) เลยขอเขียนถึงให้หลายคนเจ็บใจเล่น (ฮา!)
หมายเหตุ: คาดว่าดีวีดี จะออกในเร็ววันนี้ โดยเจบิ๊กส์ครับ
หมายเหตุ2: นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้นนะครับ + บอกเล่าเนื้อเรื่องบางส่วนของหนัง

 

กำกับโดย : Gurinder Chadha
แสดงนำ: Ashwariya Rai, Martin Henderson

 

—– “น้ำเน่า” ——-

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ก็ดูท่าว่าความเป็น “น้ำเน่า” นั้นจะไม่วันเสื่อมมนต์ขลังไปได้ง่ายๆ สังเกตได้จากไม่ว่าจะก้าวเดินไปทางไหน ก็ต้องเห็นคนเปิดละครจำพวก “ระเบียงรัก” , “แม่อายสะอื้น” ทุกทีไปสิน่า (รวมถึงผมด้วย 555)

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความเป็น “น้ำเน่า” นั้นจะมีเค้าร่างและร่องรอยให้เห็นแค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพราะแม้กระทั่งในโลกตะวันตกอย่างประเทศผู้ดีอังกฤษเอง ก็ไม่สามารถเลี่ยงสิ่งๆ นี้ได้พ้น โดยเฉพาะนิยายคลาสสิกของเธอคนนี้ “เจน ออสเตน”

“เจน ออสเตน” เป็นนักเขียนหญิงที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องยาวมาถึงต้นศตวรรษที่ 19 เรื่องราวในหนังสือของเธอส่วนใหญ่แล้วมันก็พอๆ กับนิยาย “น้ำเน่า” แบบบ้านทรายทองของคุณ ก. สุรางคนางค์นั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหญิงสาวที่ต้องทิ้งเอาคำว่า “ความรัก” ไว้เบื้องหลัง แล้วปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามขนบ ธรรมเนียม จารีตหรือกรอบที่สังคมสมัยนั้นวางไว้, เรื่องของความรักต่างชนชั้น ต่างยศฐาบรรดาศักดิ์, หรือจะเป็นเรื่องพ่อแง่แม่งอนของพระเอก นางเอก ที่อ่านๆ ไป ก็อดลุ้นไม่ได้ว่าเมื่อไหร่จะลงเอยกันได้ซะที

และยิ่งเป็นนิยายเล่มนี้ด้วยแล้ว ยิ่ง “เน่า” ได้ใจเหลือเกิน เพราะมันมีองค์ประกอบทุกอย่างที่หนังน้ำเน่าควรจะมี นิยายเล่มนั้นก็คือหนังสือที่มีชื่อว่า Pride and Prejudice 

Pride and Prejudice นอกจากมันจะเป็นผลงานชิ้นแรกของออสเตนแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่านี่คือ “ผลงานชิ้นโบแดง” อีกชิ้นหนึ่งของเธอก็ว่าได้ ด้วยความที่มันมีส่วนผสมระหว่างเรื่องราว “น้ำเน่า” , เรื่องราว “ความรัก” และอาจรวมไปถึงเรื่องของ “การวิพากษ์” สังคมได้อย่างลงตัวที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อเรื่องจะ “เน่าสนิท” เพียงใด แต่ ทุกคนต่างก็พร้อมยอมใจ ตกอยู่ในบ่วงของเรื่องราวประโลมโลกอันสามานย์เหล่านี้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด อันจะเห็นได้จาก ไม่ว่ากาลเวลาจะผันผ่านไปนานเพียงใด ร่องรอยของความเป็น Pride and Prejudice ก็ยังคงมีให้เราเห็นได้อยู่ตลอดเวลา

– ทั้งเวอร์ชันละคร BBC ที่ฮิตติดตลาดเมื่อกว่า 10 ปีก่อน
– หรือจะเป็นเวอร์ชันสาวบริดเจ็ทรูปร่างอ้วนตุ้ยนุ้ย ของเฮเลน ฟีลดิ้ล ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Pride and Prejudice มาเต็มๆ (ไม่ว่าจะเป็นตัวบริดเจ็ท ที่เทียบเคียงได้กับอลิซาเบท เบ็นเน็ต, มาร์ก ดาร์ซี กับ ฟริทซ์วิลเลียม ดาร์ซี, และแดเนียล คลีฟเวอร์ กับนายจอร์จ วิคแคม)

และมาในพ.ศ. นี้ ผู้กำกับกูรินเดอร์ ชาดา (เจ้าของผลงานน่ารักอย่าง Bend It Like Beckham) ก็ขอมีเอี่ยวกับโปรเจกต์ “น้ำเน่า” ที่สร้างขึ้นจากนิยายคลาสสิกของเจน ออสเตนเรื่องนี้ด้วยอีกคน แต่การมาครั้งนี้ของ ‘ความรักระหว่างสาวลิซซี่ เบ็นเน็ต กับมิสเตอร์ดาร์ซี่’ ถ้าจะมาแบบธรรมดาๆ เห็นที คงจะเสียเชิงของผู้กำกับสายเลือดอินเดียคนนี้เป็นแน่ เธอจึงขอ ‘ทำเปรี้ยว’ ยกเอา Pride and Prejudice มาปัดฝุ่นแปลงโฉมเสียใหม่ — แปลงเรื่องราวความรักแบบผู้ดีอังกฤษ ให้กลายมาเป็นความรักเฮฮาแบบบอลลีวู้ด และเปลี่ยนชื่อเป็น Bride and Prejudice เสียเลย!

ซึ่งเมื่อทุกอย่างต้องกลายมาเป็นภารตะจ๋า หลายๆ อย่างในบทประพันธ์ดั้งเดิมจึงได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีกลิ่นอายแบบอินเดียๆ ด้วย อาทิเช่น สถานที่แบบเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ ก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเมืองเล็กๆ ในอินเดียอย่างอัมริตสาร์ หรือจะเป็นชื่อตัวละครอย่างสาวอลิซาเบ็ท เบ็นเน็ต หรือมิสเตอร์ฟริทซ์วิลเลี่ยม ดาร์ซี ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับท้องเรื่องมากขึ้น จนกลายมาเป็นละลิตา กับวิล ดาร์ซีในที่สุด (ว้าว!)

………………………………………………..

หนังเปิดตัวที่เมืองอัมริตสาร์ ที่นี่ คือเมืองเล็กๆ ในประเทศอินเดีย ที่นี่คือเมืองที่เรียกได้ว่าเป็น “บ้านนอก” ขนานแท้ของประเทศอันสับสนแห่งนี้ และที่นี่ก็คือ จุดเริ่มต้นของเรื่องราว “การคลุมถุงชน”

เริ่มตั้งแต่งานแต่งงานครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น นั่นก็เกิดมาจากการ “คลุมถุงชน” แต่ยังไม่พอ เพราะญาติฝ่ายเจ้าสาวอย่างนางบัคชีที่มีลูกสาวสวยๆ ถึงสี่คน อย่างเจย่า, ละลิตา, ลัคกี้ และมายา ก็ได้ตระเตรียมแผนการ “คลุมถุงชน” ไว้ให้กับลูกสาวของเธอเช่นกัน ….ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มต้นกันที่พี่สาวคนโตอย่างเจย่าก่อน กับเป้าหมายแรก — “บัลราช” นักธุรกิจหนุ่มชาวอินเดียจากลอนดอน – ซึ่งก็ดูเหมือนว่าห่วงของนางบัคชีจะหมดไปหนึ่งเปลาะอย่างง่ายดาย เพราะเพียงแค่เจย่าและบัลราชได้พบเจอกันครั้งแรก ทั้งคู่ก็เกิดอาการปิ๊งๆ กัน ตกหลุมรักกันเข้าให้แล้ว …..สำเร็จไปแล้วหนึ่ง 😀

คราวนี้ ก็ถึงตาลูกสาวคนรองอย่าง “ละลิตา” ถูกเชือดบ้าง แต่ทว่า…ดูท่าทางลูกสาวคนนี้จะไม่ “ง่าย” เหมือนพี่คนโตเสียแล้วสิ เพราะละลิตา เป็นหญิงหัวก้าวหน้า ที่หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของตนเสียเหลือเกิน แม้เธอจะแอบมีใจเล็กๆ ให้กับมิสเตอร์ดาร์ซี นักธุรกิจหนุ่มหน้าตาดีชาวอเมริกัน เพื่อนของบัลราช แต่ด้วย “อคติ” ก็สามารถมาปิดบังเธอ ให้มองไม่เห็นความดีงามใดๆ ที่มิสเตอร์ดาร์ซีมีอยู่เลย เธอปฏิเสธมิตรภาพที่นายดาร์ซีหยิบยื่นให้เพียงเพราะเห็นว่าเขาก็เป็นแค่ไอ้กันคนหนึ่งที่เที่ยวดูถูกคนเอเชียไปทั่ว แถมยิ่งพอได้พูดคุยกับไอ้กันคนนี้มากเข้า “อคติ” นั้นก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ (พอๆ กับความรักที่ก็มีให้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นแหละ เข้าทำนองยิ่งเกลียด ยิ่งรัก:D) แต่เอาเถอะ มิสเตอร์ดาร์ซี ไม่ใช่เป้าหมายของนางบัคชี เพราะโคลี หนุ่มอินเดียผู้ไปได้ดิบได้ดีในอเมริกาต่างหากที่มารดาอย่างนางบัคชีเลือกให้

แล้วคราวนี้ละลิตาจะทำอย่างไร?
ยอมทำตามสิ่งที่แม่หาให้
หรือลดทิฐิมานะที่มี แล้วทำตามใจปรารถนาของตน?

………………………………………………..

เพียงพล็อตสั้นๆ แค่นี้ คิดว่าหลายท่านคงเดาได้ว่าเรื่องราวจะจบลงเช่นไร กับเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความบังเอิญ, จงใจ และจุดอ่อนด้านเนื้อหามากมาย เรียกได้ว่า มันช่าง “เน่า” ได้ใจเสียเหลือเกิน อย่างไรก็ตามยิ่ง “เน่า” มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นภาระหนักอึ้งของคนทำหนังมากขึ้นเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องคอยพยายามตามอุดรูโหว่เหล่านั้นให้หมด ไม่ให้ใครมาครหาได้ว่า “หนังของเราไร้แก่นสาร เป็นหนังตลาดเกรดต่ำ” ซึ่งก็อาจทำได้ด้วยการดัดแปลงเนื้อเรื่องให้ซับซ้อนขึ้น เข้มข้นขึ้น เพิ่มแง่มุมความมีมิติของทั้งตัวละคร และสิ่งประกอบรอบข้าง (วัฒนธรรม, ชนชั้น) ให้ดูจริงจังมากขึ้น เป็นต้น

แต่ผู้กำกับที่เติบโตมาท่ามกลางสองวัฒนธรรมอย่าง ‘ชาดา’ กลับเลือกที่จะแตกต่าง ด้วยการทำหนังให้ออกมาเป็นแนว musical – comedy

เอ… แล้วอย่างนี้สาระแบบเจน ออสเตนจะยังอยู่รึเปล่าน้า? ถ้าสงสัย งั้นเราลองมาดูกันครับ

………………………………………………..

Pride and Prejudice เมื่อนำมารวมกับความเป็น Bollywood ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ Bride and Prejudice ที่มีจุดสนใจหลักๆ อยู่เพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ “ว่าที่เจ้าสาว” คนนี้ อย่าง “ละลิตา”

“ละลิตา” ดูเผินๆ แล้ว ชื่อของเธอช่างคล้ายกับ “ละลิต” ในเรื่อง Monsoon Wedding เสียเหลือเกิน (ภาพยนตร์ฝีมือผู้กำกับหญิงสายเลือดอินเดียอีกคนหนึ่งอย่าง มิร่า แนร์) แต่นั่นก็คงได้เพียงแค่ “คล้าย” ในเรื่องชื่อเท่านั้น เพราะรูปโฉม ความคิดความอ่านของเธอทั้งสองคนกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

………..ขณะที่ละลิตคือผู้หญิงที่เข้าใจและยอมรับกับประเพณี “การคลุมถุงชน”
แต่ละลิตากับตรงข้าม เพราะเธอคือตัวแทนของหญิงสาวอินเดียสมัยใหม่ที่ไม่ใส่ใจกับ “ขนบและมารยาทของสังคม” แม้คนรอบข้างจะเห็นดีเห็นงามกับการคลุมถุงชน

……“แม่ไม่ได้รู้จักกับพ่อมาก่อน แต่แต่งๆ ไป มันก็รักกันเองแหละ” นางบัคชีกล่อมลูกสาวเธออย่างนี้

แต่มีรึ ที่หญิงหัวสมัยใหม่ อย่างเธอจะยอมเชื่อ เธอไม่สน “คติ” เก่าคร่ำคร่าเหล่านั้นหรอก เพราะเธอเห็นว่า “ความรัก” สิที่ต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด หากไม่มีความรัก ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตามมาจะต้องล่มสลายเป็นแน่! – ทั้งชีวิตสมรสและลูกที่จะเกิดขึ้นตามมา

เมื่อพิจารณาดูความคิดของตัวละครตัวนี้แล้ว คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ละลิตา คือหญิงที่มีความเห็นเอนเอียงไปทาง “สตรีนิยม” (Feminism) อย่างเห็นได้ชัด ……ท่ามกลางกระแสโลกปัจจุบัน หญิงหัวก้าวหน้าส่วนใหญ่ ต่างก็ต้องการมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายทั้งนั้น แม้กระทั่งยัยซาแมนท่า ใน Sex and the City ก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้น กับพฤติกรรมการชักชวนให้ผู้หญิงออกไปหาความสุขอย่างที่ผู้ชายส่วนใหญ่เค้าทำกัน เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถบ่งบอกถึงบทบาทเชิงรุกทางด้านเพศของเธอให้กับสตรีได้อย่างดีทีเดียว
— เพราะอะไรน่ะหรือ ถึงทำให้แนวคิดหรือลัทธินี้เกิดขึ้น? ถ้าให้ตอบสั้นๆ ก็คงเป็นเพราะพวกเธอเหล่านั้นต่างเห็นพ้องตรงกันว่า “ความเป็นหญิงนั้นต่างก็มีคุณค่าไม่ด้อยไปกว่าความเป็นชายเลย!”

เช่นเดียวกัน ละลิตาเธอก็มีความคิด ความอ่านแบบเดียวกับนักเฟมินิสต์เหล่านั้น — ผู้หญิงไม่ได้ตกเป็นวัตถุทางเพศของใคร ฉะนั้น เหตุใด ผู้หญิงจึงต้องถูกบังคับ “คลุมถุงชน”? ฉะนั้น เหตุใดผู้หญิงต้องตกอยู่ในภาวะผู้ถูกกระทำ ? และนี่ก็คือสิ่งที่ละลิตาได้สะท้อนออกมาให้พวกเราเห็นกันอย่างชัดเจน

เธอปฏิเสธที่จะแต่งงานกับนายโคลี หนุ่มอินเดียผู้ไปได้ดิบได้ดีในอเมริกา คนที่มารดาเลือกให้ ด้วยอ้างว่า “ความรัก” ต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด ด้วยอ้างว่านายโคลีไม่มีคุณสมบัติใดๆ เหมาะสมกับเธอเลย และนี่แหละ ด้วยความที่เธอเป็นคนไม่ยอมใคร ด้วยความที่เธอเป็นคนไม่ปฏิบัติตามขนบ ธรรมเนียม และด้วยความที่เธอมีพฤติกรรมสวนกับกระแสหลักของสังคม เลยทำให้ใครต่อใครหลายคนมองเธอว่า เธอช่าง “หยิ่งจองหอง” “ทะนงตน” (Pride)เสียเหลือเกิน

…….ซึ่งเมื่อสาวจองหองคนนี้ต้องพบปะกับพ่อหนุ่มดาร์ซี นักธุรกิจหนุ่มที่ก็มี “ความหยิ่งทะนงในศักยภาพของตัวเอง” ด้วยเหมือนกัน มันก็เลยยิ่งทำให้สาวน้อยละลิตาเกิด “อคติ” (Prejudice)ขึ้นมากับมิสเตอร์ดาร์ซีโดยไม่รู้ตัว
……แม้ว่าเธอจะแอบมีใจให้เล็กๆ กับเขา
……แม้ว่าลึกๆ แล้ว เขาก็เป็นคนที่น่ารักคนหนึ่ง
แต่ด้วยอคติที่บังตา เลยทำให้ไม่ว่าพ่อดาร์ซี จะเหลียวหน้า แลหลังยังไง สาวน้อยละลิตาของเราก็ไม่มีวันยอมตกหลุมพรางของเขาเป็นแน่ ยิ่งเธอเห็นว่าเขาเตรียมล่าอาณานิคม (Colonialism) รอบสองกับการมาตระเวนฮุบโรงแรมในเมืองท่าของอินเดียอย่างโกอาด้วยแล้ว มันก็ยิ่งทำให้ “อคติ” ที่มีอยู่เพิ่มทวีคูณมากขึ้นไปเรื่อยๆ

“คนอเมริกัน มันก็ได้แค่ซื้อโรงแรมพวกนี้เป็นสวนสนุกเท่านั้นแหละ”
อเมริกันมันก็ไอ้พวกชาติเกิดใหม่ที่เที่ยวดูถูกวัฒนธรรมเก่าแก่ของใครต่อใครว่า Exotic ได้ใจเหลือเกิน (แปลก ประหลาด ป่าเถื่อน) เวลามาเที่ยวที ก็ยังกับมาดูช้าง ดูม้าในสวนสัตว์!

แต่ด้วย “อคติ” ที่บังตานี่แหละ บางทีมันก็ได้ก่อให้เกิดผล(ที่เกือบ)ร้าย อย่างไม่น่าเชื่อ — การที่เธอมีอคติต่อมิสเตอร์ดาร์ซีนั้น ได้ส่งผลให้เธอ ‘พร้อมเสมอ’ ที่จะอยู่ข้างใครก็ตามที่เป็นคู่อริกับเขา อาทิเช่น นายจอห์นี่ วิคแคม จอมกะล่อน เป็นต้น ซึ่งนั่นก็เกือบนำพาให้เธอและครอบครัวไปสู่หายนะครั้งยิ่งใหญ่ กับชายแปลกหน้าที่เคยทำผู้หญิงท้องมาแล้ว!

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า “อคติ” นี้จะมีอยู่แค่เฉพาะละลิตาเท่านั้น เพราะดูเหมือนว่าตัวผู้กำกับชาดาเอง ก็มีอคติกับ America ประเทศที่มีความฝันแบบ American Dream นี้อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสีผ่านลักษณะของมิสเตอร์ดาร์ซี หรือแบบแสบๆ คันๆ กับนายโคลีคนนี้

มิสเตอร์โคลี คือ ผลผลิตความคิดความฝันแบบ American Dream อย่างแท้จริง เขาคือ “เหยื่อ” ของความฝันที่ปรารถนาที่จะไปถึง “ความพร้อมด้านภาพลักษณ์” — ภาพลักษณ์หรือ Image อันสวยหรูคือสิ่งสูงสุดที่เขาปรารถนา (แบบตัวละครที่รับบทโดยแอนเน็ท เบนนิ่ง ใน American Beauty นั่นแหละครับ) อันจะเห็นได้จาก การที่เขาพยายาม “อวด” ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของภายนอก ทั้งบ้านพักสุดหรู อยู่ใจกลางแอลเอ ใกล้ๆ กับเบฟเวอรี่ ฮิลล์แหล่งที่พักดาราคนดัง หรืออะไรต่อมิอะไรที่สรรหาจะยกมาพูดได้

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เขาคือชายผู้ยึดติดกับวัตถุนิยม อยู่ในโลกทุนนิยม / บริโภคนิยมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ซึ่ง Culture และ Sub – Culture เหล่านี้ ต่างก็ได้หล่อหลอม ทำให้รูปทรงของความเป็นมนุษย์ในตัวนายโคลี “บิดเบี้ยว” ไปอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการกินมูมมาม มารยาททราม หรือสิ่งอื่นๆ อันไม่พึงประสงค์อีกมากมาย (ตามเนื้อเพลงข้างท้ายเลยครับ)

แต่ใช่ว่าชาดาจะมอง American Dream เลวร้ายไปเสียทุกประการ เพราะอย่างน้อย มันก็คือสิ่งๆ หนึ่งที่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจของคนๆ นึงให้อยู่ได้ โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร อย่างตัวนายโคลี ที่แม้จะมีมารยาททรามเพียงใด แต่เขาก็ยังพอมีอะไร “ดีๆ” อยู่บ้างน่า (ถ้าตัด “อคติ” ออกไป) ไม่อย่างนั้น “จันทรา” เพื่อนรักของละลิตาคงไม่ยอมแต่งงานกับเขาเป็นแน่……

………………………………………………..

หนังโดยรวมเต็มไปด้วยความสนุกสนานแบบบอลลีวู้ดทุกประการ ทั้งการเต้น การร้อง สามารถทำได้ “ถึง” เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การที่ชาดาพยายามผสานเอาสาระและความสนุกสนานเข้าไว้ด้วยกัน กลับกลายเป็นยาพิษให้กับหนังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหน มันก็ไม่สามารถไปด้วยกันได้เลย!

การที่หนังเน้นหนักไปทาง “บอลลีวู้ด” ทำให้หนังออกอาการ “อ้ำอึ้ง” และ “ไม่ชัดเจน” ทุกครั้งในการวิพากษ์เนื้อหาเหล่านี้ (เหมือนได้เพียงแค่ “แตะๆ” ประเด็น แต่ไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียด) อีกทั้งหนังยังมีจุดบอดสำคัญอีกหนึ่งจุด นั่นก็คือ การที่หนังเปิดตัวมาอย่างหวือหวา จริงอยู่ที่สามารถกุมคนดูไว้ได้อย่างอยู่หมัด แต่ในทางตรงกันข้าม มันกลับกลายเป็นสิ่งที่ “ฆ่า” หนังในส่วนที่เหลือไปอย่างน่าเสียดาย เพราะช่วงถัดจากความสนุกสนานในครึ่งแรก หนังเทน้ำหนักไปกับการเล่าเรื่องซึ่งยังทำได้ไม่ค่อยถึงนัก (เน่าได้ไม่สุด แทบไม่ซึ้งไปกับเรื่องพ่อแง่แม่งอนของละลิตากับดาร์ซีเลย, ประเด็นหลายๆ ประเด็นโดนความสนุกสนานกลบความสำคัญไปหมด) ตัดสลับไปมากับการร้องเพลง เลยทำให้ผลออกมากลายเป็น “หนังน่าเบื่อเป็นพักๆ และสนุกเป็นพักๆ” สลับไป สลับมา อารมณ์ของคนดู (อย่างผม คนอื่นไม่เกี่ยว อิอิ) เลยสะดุดลง ไม่ต่อเนื่องและไม่ราบลื่นเท่าที่ควร

แต่ก็เอาเถอะ ดูไปดูมาก็อดฮาไปกับฉากร้องเพลงแบบบอลลีวู้ดไม่ได้ ที่ทำออกมาได้ “เก๋” ถึงใจเหลือเกิน กับการออกแบบท่าเต้น (Choreography) ประหลาดๆ (แต่น่ารัก) , กับดนตรีที่ผสานเอากลิ่นอายของภารตะเข้าไว้ด้วยกันกับดนตรีสมัยใหม่อย่างลงตัว ทั้งดนตรีที่มีกลิ่นอายของแร็พ, ฟังค์ หรือการใช้นักร้องประสานเสียงในโบสถ์ (Choir) มาช่วย ทำให้ภาพรวมของดนตรีทั้งหมด ดูทันสมัย ไม่เชย และเข้าขั้นกลมกล่อมเลยทีเดียว นอกจากนี้ แม้หนังจะออกมาแนวบอลลีวู้ดร่วมสมัย แต่ “ชาดา”เองก็ไม่ลืมที่จะใส่ฉากคลาสสิกของหนังบอลลีวู้ดดั้งเดิมอย่างฉากความฝัน หรือ ฉากชุดส่าหรีเปียกน้ำลงไปด้วย ทำให้คนที่ชอบหนังแขกหลายคนไม่ผิดหวัง

เสียดายอยู่อย่างเดียว ตรงไม่มีร้องเพลงข้ามเขานี่แหละ หงุดหงิดจริงๆ นะเนี่ย!! (อิอิ)

เอาเป็นว่า ดูกัน “ขำๆ” ละกัน ^ – ^


 

นี่เป็นเพลงที่ผมชอบมากที่สุดในเรื่องนี้ครับ — ไม่มีชีวิต ถ้าไม่มีเมีย

No life, Without wife

(เอื้อเฟื้อคำแปลโดยพี่ธนัชชาคนสวยครับ :D)
4-1. นายโคลีหัวใจเปลี่ยวจากลอสแองเจลิส
4-2. มาเมืองปันจาบหาคู่ชีวิต
4-3. เขามีกรีนการ์ดบ้านใหม่ มีเงินใช้เป็นฟ่อน
4-4. ร่วมอนาคตเป็นแฟนกับแม่สาวเนื้อแน่น
4-5. เธอจะได้เดินทางไปกับเขา
4-6. ยิ้มรับเมื่อเขากลับบ้าน ถามไถ่วันนี้เป็นไง
4-7. เขาอยากให้เธออยู่เคียงข้างยามอิ่มและอด
4-8. โถ นายโคลี เขาไม่มีชีวิต ถ้าไม่มีเมีย
4-9. ไม่มีชีวิต
4-10. ถ้าไม่มีเมีย
4-11. โอ้ เย เย เย เย
4-12. ไม่มีชีวิต
4-13. ถ้าไม่มีเมีย
4-14. โอ้ เย เย เย
4-15. โอ้ เย เย เย
4-16. ฉันไม่ต้องการผู้ชายที่ผูกฉันไว้
4-17. ทำสิ่งที่เขาสั่งตอนที่ฉันอยู่ใกล้
4-18. ฉันไม่ต้องการผู้ชายหยาบคายคุยโว
4-19. ต้องการเมียสวยไว้ให้เขาดูโก้
4-20. ฉันไม่ต้องการผู้ชายที่ไร้อารมณ์ขัน
4-21. เล่านิยายคุยโม้ว่ามีเงินสารพัน / จริงเหรอ
4-22. ฉันไม่ต้องการผู้ชายที่เลือกเก้าอี้ที่ดีที่สุด
4-23. กินอะไรก็ไม่ปิดปาก
4-24. ฉันไม่ต้องการผู้ชายที่ดื่มสุรา
4-25. ทิ้งจานเลอะอาหารไว้ในอ่างล้างจาน
4-26. ฉันไม่ต้องการผู้ชายที่เป็นลูกแหง่แม่
4-27. หัวล้านนิสัยแย่อ้วนเกินพอดี
4-28. ฉันไม่ต้องการผู้ชายที่สมองไม่มี
4-29. โถ นายโคลี / ไง นายโคลี
4-30. เขาอาจจะเก่งบนเตียง
4-31. “โคลีวู้ด”
4-32. ไม่มีชีวิต
4-33. ถ้าไม่มีเมีย
4-34. โอ้ เย เย เย เย
4-35. ไม่มีชีวิต
4-36. ถ้าไม่มีเมีย
4-37. โอ้ เย เย เย
4-38. โอ้ เย เย เย
4-39. สิ่งที่เธอต้องการ ไม่สำคัญอีกต่อไป
4-40. ทันทีที่เธอแต่งงานและพร้อมจะไป
4-41. เป็นคู่ตุนาหงันเข้ากันเหมือนนมกับน้ำผึ้ง
4-42. เธอทำอาหาร เขาก็จะทำเงิน
4-43. ทุกวันจะเป็นเหมือนเดิมตามที่เขาวางแผน
4-44. ลืมสิ่งที่เธอต้องการ นายโคลีเท่านั้นที่เป็นเจ้านาย
4-45. ไม่มีชีวิต
4-46. ถ้าไม่มีเมีย
4-47. โอ้ เย เย เย เย เย
4-48. ฉันต้องการผู้ชายที่มีจิตวิญญาณ
4-49. คนที่มีความเท่าเทียมและไม่บงการ
4-50. ฉันเพียงต้องการผู้ชายที่ดีและสมาร์ท
4-51. ฉลาดเปรื่องปราชญ์จิตใจกว้างขวาง
4-52. ฉันเพียงต้องการผู้ชายที่กล้าเสียน้ำตา
4-53. เพื่อกอดฉันไว้ในเวลานิทรา / อุ๊ยเหรอ
4-54. ฉันเพียงต้องการผู้ชายที่โรแมนติก
4-55. คนที่จัดหาเวทีและขอฉันเต้นรำ
4-56. ฉันเพียงต้องการผู้ชายที่ตอบแทนกัน
4-57. พูดคุยกัน ไม่ใช่แค่อย่างนั้น
4-58. ฉันเพียงต้องการผู้ชายที่มีจิตวิญญาณเสรี
4-59. กุมมือฉันเดินท่องโลกไปด้วยกัน
4-60. โอ้ เย
4-61. ไม่มีชีวิต
4-62. ถ้าไม่มีเมีย
4-63. โอ้ เย เย เย เย เย
4-64. ไม่มีชีวิต
4-65. ถ้าไม่มีเมีย
4-66. โอ้ เย เ ย เย
4-67. โอ้ เย เย เย
4-68. เสียใจนะคุณโคลี คุณคงยังไม่ใช่
4-69. หัวใจฉันวางไว้ให้คนอื่น โปรดจงเข้าใจ
4-70. ผู้ชายคนนั้นที่ชะตากำหนดให้ฉันพบเจอ
4-71. และอุ้มฉันลอยขึ้นจากพื้น
4-72. เวลานี้ฉันเริ่มฝันว่ามันจะเป็นอย่างไร
4-73. ที่จะเป็นเจ้าสาวชุดขาวในแดนไกล
4-74. มีบ้านหลังเล็กๆ ในชนบท
4-75. และใช้ชีวิตในแผ่นดินของพระราชินี

หมายเหตุ: 
– อ่านเรื่องเจน ออสเตนและ Bride and Prejudice ได้เพิ่มเติมที่หนังสือ Pulp ปก The Ring 2 ครับ
– http://www.imdb.com/title/tt0361411

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *