fin : ความย้อนแย้งของศิลปินแนวทดลอง

fin : ความย้อนแย้งของศิลปินแนวทดลอง

อภิรักษ์  ชัยปัญหา


หลายครั้งที่เรามักได้ยินว่า ศิลปินสร้างงานโดยไม่ได้แบกทฤษฎีทางศิลปะเอาไว้ หากแต่นักวิชาการและนักวิจารณ์ต่างหากที่มาจำแนกผลงานของพวกเขาในภายหลังว่าควรจัดให้อยู่แนวคิดทฤษฎีใด…ประเภทไหน..ผมก็เคยเชื่ออย่างนั้น

 

จนกระทั่งศิลปะการแสดงร่วมสมัยของไทย ค่อยๆ เดินออกจาก Performing Art มาสู่ Performance Art  มากขึ้นเรื่อย ๆ  ศิลปินกลุ่มหนึ่งจึงกระโจนตัวไปสู่การสร้างสรรค์ที่เน้นรูปแบบการแสดงที่แปลกใหม่ เพื่อต่อต้านรูปแบบการแสดงตามขนบเดิม  ทั้งนี้เพราะเบื้องหลังการสร้างสรรค์งานที่ใช้รูปแบบการแสดงในลักษณะเช่นนี้ มักมีนัยของการต่อต้าน    “ชุดความคิด” เดิมของงานศิลปะในยุคก่อนหน้า (อะไรคือความงามที่แท้จริง ความสามัญที่สุดก็สามารถงามได้)  และมักจะนำมาใช้วิพากษ์วิจารณ์ “ชุดความคิด”  หรือ “วาทกรรม” ที่ครอบงำผู้คนในสังคมอยู่ (อุดมคติของศิลปะในยุคก่อนหน้าเป็นเพียงผลผลิตที่สร้างขึ้นเพื่อรับใช้อำนาจของชนชั้นปกครอง)   แน่นอนงานเหล่านี้มักมีความเป็นนามธรรมสูง และดูยาก

 

ศิลปินกลุ่มนี้จึงมักให้ความสำคัญกับการ “อธิบาย” ความคิดของตัวเองในการสร้างงานชิ้นหนึ่ง ๆ   หรือบางครั้งถึงกับออกมาคุยกับผู้ชมโดยตรง  และถือว่าการออกมาพูดกับผู้ชมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงาน (นักวิจารณ์ที่นิยมการเสพงานแล้วตีความจากงานของศิลปินบางส่วน จึงอาจค้อนคอสะบัด ที่จู่ๆ ศิลปินก็ลุกขึ้นมาอธิบายงานของตัวเอง ซึ่งนับเป็นการแย่งหน้าที่ของนักวิจารณ์ไป)  งานในลักษณะที่เน้น “ความคิดของศิลปิน”  มากกว่าสุนทรียะทางศิลปะแนวเดิม เราอาจจัดให้อยู่ในกลุ่มงานที่เรียกว่า Conceptual Art (เห็นไหม ผมก็อดจัดกลุ่มให้ไม่ได้อยู่ดี) ซึ่งมักนำงานศิลปะหลาย ๆ แนวมาใช้รวมกันเพื่อสื่อ “แนวคิด” อะไรบางอย่างที่ศิลปินรู้สึกหรือ “อิน” อยู่ ณ ขณะนั้น มายังผู้ชม  ซึ่งในระยะหลัง ๆ นี้ ศิลปินไทยในแนวนี้ที่ผมยกย่องว่าพัฒนางานของตัวเองจนลงตัวทั้งในด้าน “แนวคิด” ที่ลุ่มลึกและมีวุฒิภาวะ  และ “รูปแบบ” ที่มีความงามอย่างร่วมสมัย  ได้แก่  พิเชษฐ  กลั่นชื่น  และ ธีระวัฒน์  มุลวิไล  สองศิลปินที่เรียนรู้และทดลองสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขามากว่าสิบปี

 

fin ผลงานลำดับที่ 2 ของ วสุรัชต อุณาพรหม ก็เป็นอีกผลงานหนึ่งที่นำเสนอตัวเองว่าเป็นงานในกลุ่ม Conceptual Art ด้วยเช่นกัน วสุรัชต ใช้วิธีทำงานในฐานะ Director ที่เขาเชื้อเชิญศิลปินที่สนใจงานศิลปะคนละแขนง (การแสดงสด  ศิลปะจัดวาง  โมชั่น กราฟฟิค เอนิเมชั่น และวิดีโอ อาร์ต )ให้มาสร้างชิ้นงานตามโจทย์ที่เขามอบให้ แล้วเขาก็จะทำหน้าที่เลือกและนำมาร้อยเรียงจนออกมาเป็นการแสดงสด อีกทีหนึ่ง

 

แนวคิดที่ fin อยากพูดถึงนั้น  เขาต้องการพูดเรื่องทัศนคติและจินตนาการเรื่องเพศ ระหว่างเพศหญิงและเพศชาย โดยมีประเด็นว่า การที่ชายหญิงจะ “ถึงฝั่งฝัน”  (หรือ fin  ซึ่งเป็นแสลงย่อมาจากคำว่า finish ที่แปลว่าสำเร็จ) ได้นั้น จำเป็นไหมที่ต้องมีการ “รวมกันเป็นหนึ่งเดียว” ทุกครั้ง จากการแสดงสดที่เน้นการแสดงแบบฟิสิคัล เธียร์เตอร์ สลับกับละครพูด เป็นพื้น โดยมีสื่อศิลปะประเภทอื่นมาเป็นเครื่องขับเน้นภาวะของตัวละคร  เราจับน้ำเสียงของ fin ได้ว่า กำลังเล่าเรื่อง “เข้าข้างผู้หญิง”  และมีหลายฉากสั้น ๆ ที่เป็นการเสียดสี “ความเป็นชาย”  พอสมควร รวมทั้งละครจงใจให้เส้นเรื่องที่ว่าด้วยภาวะจำยอมและความทุกข์ทรมานของตัวละครหญิงเป็นหลัก โดยที่ผู้ชายทำหน้าที่เป็นเพียง “ตัวละครแบบฉบับ” ในสายตาของผู้หญิงเท่านั้น (โชคดีที่นักแสดงหญิงสองคน  ฟาริดา  จิราพันธุ์ และ ภาวิณี สมรรคบุตร ใส่ชีวิตและมิติให้กับตัวละคร จนทำให้ละครกลมขึ้นมาบ้าง)

 

เมื่อผมได้รับเชิญให้เข้าไปในโรงละคร Democrazy Theatre Studio แถวๆ บ่อนไก่  สิ่งที่เห็นคือ “ศิลปะจัดวาง”  ที่อยู่กลางห้อง  โดยที่ไม่มีเก้าอี้ให้คนดู  คนดูมีสิทธิ์จะเลือกนั่งพื้น หรือ ยืน หรือ เดิน ก็ได้  นัยว่าเป็นการเตรียมผู้ชมให้ทราบว่า นี่ไม่ใช่ “ละคร” ในแบบขนบเดิม ๆ ที่คุณเคยดูมา  งานดีไซน์ค่อย ๆ ถูกปล่อยออกมาทีละชุด โดยเริ่มจาก โมชั่น กราฟฟิคที่พยายามจะพูดถึงด้านมืดของเทพนิยายเรื่องซินเดอร์เรลล่า  แล้วหลังจากนั้นนักแสดงก็ค่อย ๆ ออกมาแสดงเรื่องราวเป็นฉากสั้น ๆ ที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่สามารถนำมาประกอบสร้างให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ อีกราวชั่วโมงเศษ

 

ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้คือ “การดีไซน์” ที่เล่นกับความงามแบบ Pop Art ที่ดูเหมือนว่าศิลปินแต่ละคนจะปล่อยของในเชิงทักษะการนำเสนออย่างเต็มที่   “ภาพตื่นตาตื่นใจ”  (spectacle) กลายเป็นจุดเด่นที่สุดของงานชิ้นนี้ ซึ่งผมเชื่อแน่ว่าสำหรับผู้ชมชาวไทยที่เติบโตมากับ Social of Spectacle แล้ว (ลิเก  งานอีเวนท์ทางประเพณีที่ทุกอย่างเน้นความใหญ่ มิวสิคัลแบบเน้นมวลชน) จะต้องชอบงานชิ้นนี้มากแน่ๆ  ซึ่งผมก็คิดว่าในแง่นี้ก็ควรชื่นชมเหล่าศิลปินที่มาร่วมงานกันในครั้งนี้จริง ๆ

 

แต่ในฐานะงานที่ประกาศตัวว่าเน้นที่ “แนวคิด”  แล้ว งานชิ้นนี้อาจแทบไม่ส่งพลังใด ๆ ออกมายังผู้ชมให้ตั้งคำถามหรือคิดต่อในประเด็นที่ศิลปินต้องการสื่อแต่อย่างใด  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ “เนื้อ” ที่เล่าออกมานั้นเป็น “สูตร” ที่รู้กันอยู่แล้วมากเกินไป  และ เป็นการมองที่ “แบน” มากเกินไปและอิงกับมโนทัศน์สิทธิสตรีในแบบตะวันตกจ๋า…ซึ่งมันสวมได้ไม่พอดีกับสภาพสังคมไทยมากนัก….(มีพี่ผู้หญิงแสนเก๋ของผมคนหนึ่งไปดูแล้ว ถามว่าศิลปินเคยมีเพศสัมพันธ์บ้างไหม   แล้วเขารู้จักผู้หญิงไทยจริง ๆ ไหม  เขารู้หรือไม่ว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบ “รวมกันเป็นหนึ่ง” นั้น มันเป็นการ “กอดกัน” อย่างหนึ่งของชายหญิงที่ให้ความรู้สึก “ถึง” มากกว่าที่ละครพยายามจะลุกขึ้นมาปลุกระดมให้เลิกปฏิบัติ)

 

งานชิ้นนี้จึงมีอาการที่เรียกว่าย้อนแย้งตนเองอยู่มาก  กล่าวคือ ศิลปินเลือกที่จะฉีกขนบในการเล่าเรื่อง แต่ก็ยังใช้สูตรการเล่าเรื่องแบบต้น กลาง จบ อยู่ดี  หรือในด้านประเด็นที่ต้องการตั้งคำถามกับ “วาทกรรม” จองจำเรื่องเพศ ในที่สุดศิลปินก็ใจไม่แข็งพอและให้จบแบบสุขนาฏกรรม (ละครเลือกให้เรื่องจบที่ฝ่ายชายยอมที่จะเริ่มเรียนรู้มุมมองของผู้หญิง  ซึ่งสำหรับผมแล้วมันอุดมคติและเทพนิยายมากจน อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไม fin เริ่มต้นได้อย่างน่าสนใจ แต่ทำไมจบแบบนี้…และงานพามาถึงตอนจบแบบนี้ได้อย่างไร)

 

บางที  หากศิลปินทำงานกับความคิดที่คมคายและลุ่มลึกมากพอ หรืออย่างน้อยก็ให้ทันกับทักษะทางด้านรูปแบบที่ตนมีอยู่ ผมก็เชื่อว่างานชิ้นต่อ ๆ ไปของศิลปินกลุ่มนี้น่าจะ “ลงตัว” ได้ในที่สุด  มุมมองต่อโลกและชีวิตนั้น “ ไม่มีสูตร”  ตายตัว  ศิลปินต้องเป็นนักสังเกตชีวิต เรียนรู้และสังเคราะห์เอาเองด้วยสายตาพิเศษที่ตนมีอยู่  ทฤษฎีต่าง ๆ นั้นเป็นเครื่องมือที่อาจช่วยให้ศิลปิน “มองเห็น” โลกและชีวิตในแง่มุมที่แปลกใหม่ไปกว่าเดิม และพาไปสู่การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นพลังทางปัญญา มากกว่า การให้ค่าในเชิงเทคนิค แต่เพียงอย่างเดียว

 

ผมจดชื่อพวกคุณไว้ในกลุ่ม “ศิลปินที่น่าจับตา” แล้วนะครับ

 

ที่มา : Madame Figaro ฉบับเดือน มิถุนายน 2554

 

 

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *