ทึนทึก 3…มากกว่าแค่ “ขำๆ”
ทึนทึก 3…มากกว่าแค่ “ขำๆ”
อภิรักษ์ ชัยปัญหา
เสียงหัวเราะที่เกิดจากการชมงานศิลปะการแสดงนั้น…มีหลายระดับ
ละครบางเรื่องดูเดี๋ยวนั้น ขำเดี๋ยวนั้น จากนั้นก็ไม่เหลืออะไรไว้ในความทรงจำของเราเลย
แต่กับบางเรื่อง…หลังจากขำไปแล้ว อะไรบางอย่างกลับมาเดินเล่นอยู่ในใจของเราไม่ยอมไปไหน…
ช่วงนี้ผมไปดูละครขำ ๆ ติด ๆ กันหลายเรื่อง นัยว่าชีวิตต้องการอาการ “ขำ” เพื่อมาเจือความ “ขื่น” ที่ข้นคลักไปทุกอณูขณะนี้.. สารภาพว่าทุกเรื่องทำให้ผมขำได้หมดเลย…แต่บางเรื่องเท่านั้นที่แทรกตัวอยู่ในความทรงจำของผมได้…ผมมานั่งคิด ๆ ว่าอะไรกันที่ส่งผลปฏิกิริยาเคมี ชีวะ ฟิสิกศ์ เช่นนั้นกับตัวผมในลักษณาการดังกล่าว …ปุ๊บเดียวผมก็ได้คำตอบว่า เพราะละครบางเรื่องนั้น นอกจากนำเสนอความขำแล้ว วิธีการเล่าเรื่องของเขามันยังถึงขั้นที่เรียกได้ว่างานศิลปะการละครในแบบ “สุขนาฏกรรม” (comedy) มากกว่าเป็นแค่ show เรียกเสียงหัวเราะเป็นจุด ๆ (งานบางชิ้นเรียกตัวเองว่าละคร แต่ผมกลับเห็นเป็นแค่โชว์ ในขณะที่งานบางชิ้นเขาบอกว่าเป็นแค่โชว์ แต่ผมเถียงขาดใจว่า ไม่คุณเป็นละคร !)
ทึนทึก 3 One Night in Tokyo ! ของค่ายดรีมบ๊อกซ์ ผลงานการกำกับการแสดงของสุวรรณดี จักราวรวุธ และเขียนบทละครโดยนักเขียนบทละครเวทีอาชีพหญิงที่มากประสบการณ์มากว่า 20 ปี อย่างดารกา วงศ์ศิริ เป็นงานที่มุ่งสร้างความขำอีกชิ้นที่ผมกล้าเรียกว่า เป็น“ละคร” ได้อย่างเต็มปากกว้าง ๆ ของผม
ละครซีรีย์ เน้นสถานการณ์เพื่อสร้างความตลกขบขัน (situation Comedy : sit com) นั้น ตัวละครต้องแข็งแรง และมีเสน่ห์ เพราะเมื่อเรากำหนดสถานการณ์อะไรขึ้นมา แล้วจับตัวละครที่แข็งแรงและมีเสน่ห์เหล่านั้นลงไป พวกเขาก็จะสามารถโลดแล่นไปได้อย่างมีชีวิตชีวาได้อย่างวิเศษ
ตัวละครน่ารักแบบแปลก ๆ จากทึนทึก ก็เช่นกัน…เพราะความน่ารักของตัวละครกลุ่มนี้แท้ ๆ จึงทำให้ทึนทึกเดินทางมาได้ไกลถึง 3 ภาค (ภาคแรกเล่นปี 2535 ภาค 2 ปี 2551) ….คราวนี้เขามีธีมหลักเกี่ยวกับญี่ปุ่น ๆ เสียด้วย (เรื่องนี้เล่นก่อนเหตุการณ์สึนามิ)
เรื่องย่อ ๆ ในภาคนี้เริ่มต้นที่เหล่าเพื่อน ๆ ไฮโซแต่ทึนทึกกลุ่มนี้ (อัจราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ ผอูน จัทรศิริ วราพรรณ หงุ่ยตระกูล ศิรินุช เพชรอุไร ) ไปรวมตัวกันที่บ้านเพื่อนสาวนักเขียน (ธิติมา สังขพิทักษ) สาวคนเดียวในกลุ่มที่ได้สละโสดไปกับ หมง (พล ตัณฑเสถียร) หนุ่มต่างชนชั้นของพวกเขา และได้พบกับเพื่อนเก่าอดีตสาวใช้ที่ตอนนี้รวยมากอย่าง กระแต (กนกวรรณ บุรานนท์) ระหว่างที่ทุกคนกำลังสนุกสนานอยู่นั้น จู่ ๆ กูรูแอนดี้ (เมทนี บูรณศิริ) ก็พา โคอิเขะ เด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง (โชโกะ ทานิกาวา) โผล่มาบอกว่า ชายพอ (วสันต์ อุตตมะโยธิน) หนุ่มโสดคนเดียวในกลุ่ม ซึ่งไม่มีทางที่จะไปทำใครท้องได้นั้น เป็นพ่อของเด็กคนนั้น..เมื่อปฏิบัติการย้อนรอยความทรงจำกลับไปที่คืนนั้น ณ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 19 ปีก่อน…กลายเป็นวิธีเดียวที่จะพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ได้…เรื่องราวโกลาหลชวนหัวจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง…
ค่ายดรีมบ๊อกนั้นมีลายเซ็นคือการทำละครตลก แบบสะอาด ๆ ขายฝีมือการแสดง ภายใต้บทละครที่คมคาย มักหยิบจับเรื่องราวฮอท ๆ ในสังคมมาหยิกแกมหยอกไว้ในเรื่องเสมอ ทึนทึกก็เช่นกัน เราได้เห็นตัวละครสนุกที่จะหัดใช้ภาษาแบบวัยรุ่น รวมทั้งภาษาที่ใช้ในโลกไซเบอร์ การล้อเลียนสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองของไทยในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งการที่พวกเขาชอบอัพเดทรูปลง facebook และคุยกันผ่านโปรแกรมนี้ แม้ว่าจะนั่งอยู่ในสถานที่เดียวกัน (น่ารักไหมครับ เวลาที่เราเห็นเออ..คุณลุงคุณป้า เขาพูดและทำอะไรที่มัน in trend )
แม้ว่าปัจจุบันวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ คนดูจะได้เห็นและรู้สึกชินแล้วจากละครในทีวีประเภทเดียวกัน…แต่ความเหนือชั้นก็อยู่ตรงที่ชั้นเชิงทางศิลปะในการเล่าเรื่องในแบบ “ละครเวที” (ที่มีเสน่ห์แตกต่างจากการเล่าเรื่องผ่านสื่ออื่นๆ ) และมุมมองต่อโลกและชีวิตที่ผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงซ่อนไว้ในงานของตน
หากมองอย่างผิวเผิน ทึนทึก 3 ก็เป็นแค่ผลงานเอามันส์เรื่องหนึ่งเท่านั้น..แต่ถ้าลองตีความลงไปในระดับ อนุภาค (motif) ที่ละครจงใจใช้จงใจเล่า ไม่ว่าจะเป็นอาการคลั่งอินเตอร์เนทของตัวละคร หรือการตัดสินถูกผิดเฉพาะจากข้อมูลที่ตนเองได้รับรู้ รวมไปถึงการแก้ปัญหาด้วยการให้ตัวละครนักเขียนใช้จินตนาการลองเล่าเรื่องใหม่จากข้อมูลชุดเดิม..แล้วก็พบว่า เรื่องที่เราเคยเชื่อนั้นกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ….อนุภาคแบบนี้มีความหมายใต้บรรทัดแน่ๆ
เป็นไปได้ไหมว่าละครขำ ๆ อย่างทึนทึก ภาคนี้ไม่ได้ต้องการแค่สร้างเสียงหัวเราะจากผู้ชมเท่านั้น หากแต่ต้องการส่งสารอะไรบ้างมายังผู้ชม ซึ่งก็คือเพื่อนร่วมสังคมเดียวกับตัวศิลปินด้วย นั่นคือการพยายามเตือนผู้ชมว่าในโลกที่เราต่างพึ่งพาอินเตอร์เนทและเคารพ “ข้อมูล” ที่ลอยตัวอยู่ในโลกไซเบอร์ราวกับเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์นั้น มันอาจไม่ได้ให้ “คำตอบ” ที่แท้จริงก็ได้ หากเราได้ลองใช้วิจารณญาณ (เหมือนกับที่ตัวละครนักเขียนได้ใช้) ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจว่า ข้อมูลที่เรียงตัวเป็น “เรื่องเล่า” เหล่านั้น..บางทีก็สามารถเล่าได้อีกหลายแบบและก็พาไปสู่คำตอบอีกหลายแบบด้วยเช่นกัน…
จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง ก็คือการเลือกวิธีแก้ปัญหาของตัวละคร ขั้นแรกคือการกำหนดให้ตัวละครชายพอ และคนอื่น ๆ ยอมรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน จากนั้นพวกเขาก็ช่วยกันกลับไปค้นหา “สาเหตุ” ของปัญหานั้น (ใครคือพ่อของโคอิเขะกันแน่?) และเมื่อได้คำตอบแล้วทุกคนต่างก็ยอมรับกับ “ความจริง” ที่ได้ค้นพบ แล้วก็ใช้ชีวิตกันต่อไป…
บางทีการยอมรับความจริง เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน กลับไปค้นหาต้นตอของเรื่องราว เพื่อขจัดความไม่รู้ หรือ รู้ไม่จริง อาจเป็นทางออกของการแก้ปัญหาชีวิตระดับบุคคล หรือปัญหาระดับสังคมก็เป็นได้
นอกจากความสนุกของทีมนักแสดงที่ปล่อยของกันเต็มที่แล้ว ความฉลาดในการออกแบบฉาก (วิรัตน์ ภู่นภานนท์) แสง (ฉลาดเลิศ ตุงคะมณี) และเครื่องแต่งกาย ที่น้อยแต่มาก ก็ทำให้ละครเรื่องนี้มีเสน่ห์ในแบบ..นี่แหละ… ดรีมบ๊อกซ์!
ข้อที่น่าสังเกตคือ งานแบบทึนทึกนั้นถูกใจแฟน ๆ ของค่ายแน่ๆ สังเกตได้จากเสียงหัวเราะและการปรบมือให้การแสดงเป็นระยะ ๆ ซึ่งจับน้ำเสียงได้ถึงการ “เชียร์” สุดใจ แต่ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่สมบูรณ์แบบของความเป็นวรรณกรรมการละคร อาจทำให้ผู้ชมรุ่นใหม่ “เข้าไม่ถึง” ไปบ้าง (ผมพยายามสังเกตกลุ่มวัยรุ่นที่ไปดู แล้วพบว่า หลายครั้งที่พวกเขาหันมามองหน้ากันงง ๆ ว่าคุณน้า คุณลุง คุณ ป้า เขาขำอะไรกัน) ดังนั้นจึงน่าสนใจว่า ในผลงานเรื่องต่อไป ดรีมบ๊อกซ์จะมีวิธีเล่าเรื่องแบบไหนที่จะทำให้ผู้ชมกลุ่มนี้ ซึ่งต่อไปจะโตขึ้นมาแทนที่แฟนกลุ่มเดิม “อิน” ไปกับละครได้มากขึ้น
อย่างน้อย ผมก็อยากให้พวกเขามาดูละครตลกแล้วได้อะไรที่มากกว่า “แค่ขำ ๆ” ติดตัวกลับไปด้วยอีกหลาย ๆ เรื่อง
(ที่มา : คอลัมน์ Reporter Theatre นิตยสาร Madame Figaro ฉบับ เดือน พฤษภาคม 2554)