ssms: เมื่อศิลปากรเริ่มรู้จัก “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม”

 SSMS: เมื่อศิลปากรเริ่มรู้จัก “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม”

 

                                                                                       เจตนา นาควัชระ

 มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นเจ้าภาพ (เรียกอย่างชาวบ้านว่า “เบ๊”) ในการจัดการฝึกอบรมนักดนตรีเยาวชนภาคฤดูร้อนหรือ Silpakorn Summer Music School (SSMS) ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8 แล้ว แต่เดิมจัดที่วิทยาเขตเพชรบุรี แต่ผลของน้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้วทำให้ต้องย้ายมาจัดที่กรุงเทพในปีนี้ การฝึกอบรมทุกครั้งจะจบด้วยการแสดงดนตรีด้วยวงซิมโฟนีขนาดใหญ่ ซึ่งดุริยางนิพนธ์ที่นำมาแสดงดูจะมีลักษณะท้าทายมากขึ้นทุกปี

รายการแสดงเมื่อคืนวันพุธที่ 11 เมษายน 2012 ที่หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำให้ผู้รักดนตรีคลาสสิกจำนวนไม่น้อยเคลือบแคลงสงสัยว่า หนูน้อยทั้งหลายซึ่งส่วนหนึ่งยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมจะสามารถบรรเลงเพลงยากๆ ที่ประกาศไว้ในโปรแกรมได้ละหรือ การแสดงจริงทำให้แฟนเพลงคลาสสิกของเราต้องอ้าปากค้างด้วยความตะลึงว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ครูผู้ฝึกสอนและวาทยกรจะทำให้เด็กกลุ่มนี้เล่นซิมโฟนีหมายเลข 5 ของ Dmitri Shostakovich ได้อย่างมีชีวิตชีวายิ่ง

ผมเคยดูวิเดโอการซ้อมซิมโฟนีบทนี้ ซึ่ง Leonard Bernstein เป็นผู้กำกับ London Symphony Orchestra โดยที่ท่านวาทยกรอัดอั้นตันใจกับนักดนตรีอาชีพเป็นอย่างมาก ถึงกับบริภาษออกมาว่า “The music is so passionate, but you are playing it like an exercise” (เพลงมันเร้าใจจะตายไป แต่พวกคุณเล่นราวกับกำลังทำแบบฝึกหัด) ประสบการณ์ที่เราได้รับจากหนูน้อยมหัศจรรย์ชาวไทยเหล่านี้ไม่เป็นเช่นนั้นเลย ผมเกือบจะอุทานออกมาว่า “Amazing Thailand!” แต่แล้วก็ต้องเติมเงื่อนไขเล็กๆ ต่อท้ายว่า “If properly guided by a Japanese conductor” นักดนตรีตะวันตกชั้นนำหลายคนที่พลัดหลงเข้ามาทำงานร่วมกับนักดนตรีไทยภายใต้การกำกับวงของ Maestro Yazaki ยอมรับว่า ในแง่ของการตีความเพลงคลาสสิกแล้ว เขาไม่มีอะไรด้อยกว่าวาทยกรที่โด่งดังอยู่ในวงการตะวันตกในขณะนี้เลย แต่สิ่งที่ Yazaki มี และวาทยกรอื่นๆ อาจไม่มี ก็คือ วิญญาณแห่งความเป็นครูเขาสามารถใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียวปรับการเล่นดนตรีของเด็กไทยขึ้นสู่ระดับอาชีพได้อย่างน่าพิศวง มหาวิทยาลัยศิลปากรทำถูกต้องแล้วที่ขอพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่คุณ Yazaki เมื่อปีที่แล้ว

 

สิ่งที่วาทยกรตะวันตกทั้งหมดที่เคยมากำกับวงในประเทศไทยทำไม่ได้ก็คือ การสกัดเอาศักยภาพของนักดนตรีไทยออกมารวมเป็นพลังทางคีตศิลป์ที่โดดเด่น ทั้งๆที่ในเชิงเทคนิคเรายังมีข้ออ่อนด้อยอยู่ไม่น้อย พูดอย่างตรงไปตรงมา Yazaki ไม่เคยดูถูกเรา ครูที่ดีต้องตัดความคิดที่ว่าด้วย “บัวใต้น้ำ” ออกไปจากสารบบของเขาโดยสิ้นเชิง (และผมเองก็ไม่เชื่อว่าเรื่อง “บัวใต้น้ำ” เป็นคำสอนของพระพุทธองค์)

สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาหลายครั้งก็คือ การบรรเลงเปียโนของผู้ชนะเลิศ ซึ่งปรากฏว่าอายุน้อยลงทุกปีทุกปี เมื่อสองปีที่แล้ว ผมทึ่งกับการบรรเลงของเด็กชายอายุ 12 ปี ในงาน Choral Fantasia ของ Beethoven สำหรับผู้ชนะเลิศในปีนี้อายุเพียง 11 ปี และบรรเลงเปียโน Concerto in D Major ของ Joseph Haydn ได้อย่างคล่องแคล่วน่าประทับใจยิ่ง ผมไม่ลังเลที่จะกล่าวว่าหนูน้อยมหัศจรรย์ผู้นี้มีบุคลิกภาพทางดนตรีที่เป็นของตนเอง เขาจะเติบโตต่อไปอย่างไรเราคงจะต้องเฝ้าดูกันไป

 

 

ผมไม่มีเนื้อที่ที่จะวิจารณ์การแสดงงานแต่ละชิ้นโดยพิสดาร แต่ก็อยากจะกล่าวโดยองค์รวมว่า มาตรฐานของวงดนตรีเฉพาะกิจวงนี้ ซึ่งประกอบด้วยนักเรียน-นักศึกษาเกือบทั้งหมด อยู่ในระดับที่น่าประทับใจ ทั้งนี้ ครูผู้ฝึกสอนบางคนลงมาเล่นในวงด้วย อันรวมถึงคณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ เราคงจะต้องยอมรับว่า การสอนดนตรีคลาสสิกตะวันตกในบ้านเราดีขึ้นตามลำดับ เพราะครูผู้สอนมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ได้ไปศึกษาดนตรีมาอย่างเข้มข้นในโลกตะวันตก ปัญหาของบ้านเราจึงมิได้อยู่ที่นักดนตรีและครูดนตรีเท่านั้น แต่อยู่ที่การสนับสนุน การจัดการ และความสนใจของผู้ฟังที่พร้อมจะสัมผัสกับมรดกทางศิลปะอันยิ่งใหญ่ของโลกตะวันตก หอประชุมมหิศรเต็มหรือเกือบเต็มทุกครั้งที่มีการแสดงดนตรีคลาสสิก และผู้ที่มาฟังดนตรีในครั้งนี้คงจะไม่ใช่แต่เฉพาะ คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย และญาติพี่น้องของหนูน้อยเหล่านี้ แต่รวมไปถึงผู้ที่รักในดนตรีคลาสสิกจำนวนหนึ่งซึ่งพร้อมที่จะมาให้กำลังใจกับเด็กไทยที่เอาจริงเอาจังกับศิลปะที่เรียกร้องความสามารถในระดับสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีผู้ให้คุณค่ากับ beatbox สูงกว่าเครื่องดนตรีที่เล่นยาก

คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แม้จะตั้งใหม่ได้เพียงสิบกว่าปี (ทั้งๆ ที่มีโครงการมาแล้วเมื่อสี่สิบปีก่อน) น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เพื่อนรวมงานในศิลปากรได้ เพราะครูอาจารย์ที่นี่พร้อมจะยอมเหนื่อยเพื่อทำกิจในด้านประสานงาน โดยมิได้มุ่งหวังที่จะฉวยโอกาสเฉิดฉายแผ่บารมีของตนเอง คนเก่งอยู่ที่ไหน เขาพร้อมจะไปเชื้อเชิญมา เด็กเก่งอยู่ที่ไหน ก็ได้โอกาสที่จะมาแสดงดนตรีกับวาทยกรระดับนานาชาติ ในการบรรเลงครั้งล่าสุดนี้ ผู้เรียนบางคนมาจากจังหวัดอันไกลโพ้นใกล้พรมแดนพม่า กลุ่มเครื่องลมทองเหลืองซึ่งโดดเด่นมากก็ประกอบด้วยนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนเตรียมฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดล งานนี้ศิลปากรเป็นผู้จัด แต่มิใช่เพื่อศิลปากร เป็นที่น่ายินดีว่า ศิลปากรเริ่มรู้จัก “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม” แล้ว

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *