สรุปประเด็นการเสวนา “ขึ้นเขียง” ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ New Theatre Society

สรุปประเด็นการเสวนา “ขึ้นเขียง” ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ New Theatre Society

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2554  เวลา 15.00 -17.00 น.

ณ  ห้อง 601  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

————————-

 

ผู้นำการเสวนาครั้งนี้คือ  คุณณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง การเสวนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 30 คน   ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  1. 1.       ประวัติความเป็นมาของ New Theatre Society และปรัชญาในการทำงาน

คุณดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ (บิ๊ก) แนะนำสมาชิกหลักของกลุ่มละครประกอบด้วย คุณปานรัตน  กริชชาญชัย (อิ๋ว)  คุณช่อลดา  สุริยาโยธิน (ออยล์)  คุณกฤษณะ  พันธุ์เพ็ง (หนุ่ม) คุณศิรเมศร์  อัครภากุลเศรษฐ์ (ศิระ)  คุณศุภฤกษ์  เสถียร (เบสท์)  คุณวิชย  อาทมาท  (น้องเบสท์)  จากนั้นคุณดำเกิงก็เล่าย้อนประวัติการตั้งกลุ่ม New Theatre Society  ว่าโดยส่วนตัวได้อยู่กับคณะละครมาหลายกลุ่มแล้ว และมีความพยายามที่จะตั้งคณะละครมาตลอดเป็นเวลาหลายปี  จนในที่สุดก็หมดศรัทธาในการตั้งกลุ่มละคร  จึงคิดว่าต่อไปถ้าจะทำละครก็จะรวมกันอย่างหลวมๆ  สบายๆ  ใครอยากทำก็ทำ  โดยจะไม่พยายามสร้างนโยบายและการจำกัดสไตล์การทำงานว่าต้องเป็นไปในแนวนั้นแนวนี้  แต่จะนำเสนอละครที่เราอยากกล่าวถึงหรืออยากนำเสนอ  หากกลุ่มเห็นพ้องด้วยก็จะทำเลย และก่อนที่จะมาเป็น New Theatre Society ในงานเทศกาลละครก็ยังไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อกลุ่มว่าอย่างไร  จึงใช้ชื่อตัวเองมาตั้งชื่อกลุ่มว่า “ดำเกิง” แต่ต่อมารู้สึกเขินที่ใช้ชื่อตัวเอง จึงคิดว่าจะใช้ชื่อ “invisible actor troupe”   จนมาถึงละครเรื่อง “Push Up” (ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ) จึงใช้ชื่อ New Theatre Society เป็นครั้งแรก  เพราะตอนนั้นตัวเองได้จัดทำ Workshop ด้าน Producer และการเขียนบทภาพยนตร์กับ Tifa โดยใช้ชื่อว่า “The New Film Society” จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ New Theatre Society  นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะไม่ใช้ชื่อคณะละครว่า troupe หรือ company  เพราะว่าเคยใช้คำว่า company แล้วไปขอสปอนเซอร์  เขาก็คิดว่าเป็นบริษัทจำกัด (company Ltd.)

จุดเริ่มต้นของการตั้งกลุ่มคือ คุณปานรัตนและคุณกฤษณะเป็นครูในสถาบันสอนการแสดง คือ โรงเรียนการแสดงบางกอกการละคอนมาก่อน  แล้วทั้งสองก็อยากจะทำละคร  จึงมารวมกันโดยกลุ่มเราได้บรรยายถึงการรวมกลุ่มไว้ใน Hi 5 ของคณะว่า “เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มครูละครคนไทยที่ร่ำเรียนวิชาการแสดงมาจากสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก”  เพราะว่าในกลุ่มมีทั้งคนที่เรียนจบมาจากทั้งอังกฤษและอเมริกา ซึ่งตอนแรกๆ ยังคุยกันเล่นๆ เลยว่าไม่น่าจะเรียกว่าคณะละคร แต่ควรจะเรียกว่าก๊วนละครนักเรียนเก่าอังกฤษมากกว่า  เพราะมีคนที่จบจากอังกฤษ 5 คน แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่ได้จำกัดว่าสมาชิกในกลุ่มจะต้องเรียนจบจากต่างประเทศ  แต่เป็นใครก็ได้ที่ชอบการทำละคร  และบางครั้งก็เชิญนักแสดงจากกลุ่มอื่นมาร่วมงานด้วย

คุณกฤษณะเสริมว่าในการแสดงของกลุ่มไม่ได้คิดเลยว่าเป็นการแสดงของอาจารย์หรือครูละคร  แต่เป็นงานของคนที่ชอบทำละครเพื่อเสนอให้คนอื่นได้ดู เช่นเดียวกับคุณศุภฤกษ์ที่ยอมรับว่าขณะที่มาซ้อมก่อนแสดงละคร  โดยส่วนตัวไม่เคยคิดว่าสมาชิกในกลุ่มคืออาจารย์  แต่คิดว่าการทำละครคือการเข้ามาแลกเปลี่ยน  เรียนรู้ และค้นหาไปพร้อมๆ กัน  และอาจารย์เหล่านี้ในขณะที่ทำละครก็ไม่ได้มาสั่งสอนว่าละครต้องทำแบบนี้  ต้องดำเนินตามสกุล (school) นี้ หรือมีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แต่การทำละครส่วนใหญ่ของ  New Theatre Society  จะเป็นการเข้ามาแล้วเจอโจทย์ไปพร้อมๆ กันมากกว่า

คุณปานรัตนในฐานะที่เรียนจบทางด้านการละครมาโดยตรงกล่าวว่าการทำละครของ  New Theatre Society ยังมีทฤษฎีทางการละครอยู่  เพราะว่าได้นำสิ่งที่เรียนมาใช้อย่างแน่นอน  แต่การนำทฤษฎีมาใช้นั้นไม่ได้ห้ามเปลี่ยน  ห้ามแตะต้อง  ทฤษฎีนั้นมีอยู่ในใจ   เมื่อมาเจอนักแสดงหรือว่าเจอสถานการณ์ในห้องซ้อมก็จำเป็นต้องปรับไปตาม “เคมี” ของนักแสดงเหล่านั้น  หรือว่าปรับไปตามสถานการณ์ ณ จุดนั้น  และโดยส่วนตัวก็ค่อนข้างจะต่อต้านความคิดที่เชื่อว่าห้ามทำอย่างนี้ เพราะทฤษฎีห้ามไว้  และยังเคยเจอผู้กำกับที่ยึดติดกับทฤษฎีอย่างมากด้วย  และในกรณีของคุณดำเกิงนั้นเป็นผู้ที่มีทฤษฎีในตัวอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่เคยนำทฤษฎีเหล่านั้นมาบังคับนักแสดงเลย  แต่จะให้อิสระกับนักแสดงมีความเป็นตัวของตัวเอง  ขณะเดียวกันก็มีกรอบยึดบางอย่างกำกับนักแสดงไปพร้อมกันด้วย  คุณดำเกิงเสริมว่าโดยส่วนตัวก็มีทฤษฎี  แต่การทำละครเรื่องหนึ่งๆ จะคำนึงถึงคนดูเป็นประการสำคัญ  โดยต้องพิจารณาว่าทำละครให้คนในกลุ่มใดดู  เพราะว่าขณะนี้ได้หลุดพ้นจากการทำละครให้เป็นตัวอย่างแบบในมหาวิทยาลัย  จึงไม่ได้เป็นการทำละครให้นักศึกษาดูว่าแนวคิดทฤษฎีสกุล (school) ต่างๆ มีลักษณะอย่างไร  ซึ่งการทำละครแบบนั้นก็ต้องเคารพตามต้นฉบับเดิม  แต่ขณะนี้  New Theatre Society  ไม่ได้มีภาระผูกพันในแง่นั้นเลย  และโดยส่วนตัวที่เดิมเป็นคนที่ทำละครโดยไม่ได้เรียนละครมาก่อน  แต่ทำละครก่อนแล้วค่อยไปศึกษาต่อทางด้านนี้  เพราะฉะนั้นการเรียนละครจึงเป็นการจัดระบบวิธีคิด  ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เคยทำมาอย่างมั่วๆ นั้น  แท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  ด้วยเหตุนี้  ในปัจจุบันการทำละครก็จะมีทฤษฎีอยู่ในใจ  แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้าที่พบในขณะที่ซ้อมละครมากกว่าจะเจออะไร แล้วเราจะแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไรมากกว่า

 

  1. 2.       ผลงานที่ผ่านมาของ New Theatre Society

คุณดำเกิงเล่าว่า  ละครเรื่อง “Push Up” (ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ)  เป็นละครเปิดตัวของกลุ่มเมื่อตัดสินใจใช้ชื่อว่า New Theatre Society  ซึ่งดัดแปลงมาจากอัตชีวประวัติของ Greg Louganis นักกระโดดน้ำโอลิมปิกชื่อดัง มาผสานกับโครงสร้างของบทละครเรื่อง Biography: a Game ฉบับปี 1984 ของ Max Frisch นักประพันธ์ชาวสวิส โดยดัดแปลงเรื่องราวและตัวละครทั้งหมดให้เป็นไทย  จากนั้นก็มีเรื่อง “คอย ก.ด. ซึ่งดัดแปลงมาจาก Waiting for Godot ของ Samuel Beckett ต่อด้วย “มหาบุรุษอยุธยา (Arms and the Man: the anti-romantic musical) ที่ดัดแปลงมาจากงานของ George Bernard Shaw  จากนั้นก็เป็นเรื่อง “แฮมเล็ต”  (Hamlet: the techno drama) เป็นการแสดงโซโล  “นางนาก เดอะ มิวเซียม” (Nang Naak the Museum)  “ช่อมาลีรำลึก” (Chormalee Rumluek) “หยุดฝันวันขังเธอ” (Freeze the Dream) “เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย”  “สุดทางที่บางแคร์”  (Sud Tang Ti Bangcar)  และ  ที่จะแสดงในงานเทศกาลละครปีนี้มี 4 เรื่องสั้นๆ ทั้งนี้ทางกลุ่มจะเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มทำงานในสไตล์ของตนเอง 

คุณกฤษณะกล่าวว่าโดยส่วนตัวเป็นคนชอบคิดอะไรโดยทันทีและอยากทำเลย  บางครั้งก็ออกมาทำละครของตัวเอง โดยไม่ผ่านการพิจารณาของกลุ่ม แต่ว่าก็จะได้รับคำปรึกษาจากทุกคนในการทำละครของตัวเองด้วย  ขณะที่คุณปานรัตนกล่าวถึงงานของตัวเองส่วนใหญ่จะกล่าวถึงประเด็นในบ้าน  ในครอบครัว เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย  ซึ่งมักจะถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิง  จนมีคนเข้าใจผิดว่าคุณปานรัตนเป็น
เฟมินิสต์  ซึ่งในที่นี้คุณปานรัตนยอมรับว่าจนกระทั่งทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจเลยว่าเฟมินิสต์ที่ว่านี้คืออะไร  เรื่องราวที่นำมาเสนอนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว  เพราะที่บ้านมีสมาชิกเป็นผู้หญิงจำนวนมาก  คุ้นเคยกับผู้หญิง และเข้าใจผู้หญิง  งานที่ทำออกมาจึงเน้นหนักในเชิงอารมณ์ (
sentimental) เช่น เรื่อง “สุดทางที่บางแคร์” 

ในขณะที่คุณศุภฤกษ์เล่าถึงที่มาของละครเรื่อง“เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย”  ที่ตนกำกับว่านำมาจากบทของคุณปานรัตนที่เอามาให้ดู  และตอนนั้นก็คิดว่าจะทำละครเรื่องอะไรที่สนุกไปแสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพ   ท้ายที่สุดก็ลงตัวด้วยความคิดที่ได้จากการหารือร่วมกับทุกคน  โดยมีไอเดียว่าจะทำละครที่ง่ายๆ สนุกๆ  เพราะด้วยบรรยากาศของงานเทศกาลฯ จึงไม่อยากให้ละครเครียดมากนัก  จึงมาสรุปที่เรื่องนี้ที่นำลักษณะของทุกคนมาเล่นเป็นตัวละครด้วยกัน  เพื่อให้มีความรู้สึกว่าสนุกในการซ้อมและสนุกในการเล่น  และด้วยละครเรื่องนี้เป็นผลงานที่กำกับชิ้นแรก  ซึ่งได้นักแสดงที่มีความสามารถมาเล่นให้ จึงเป็นเหมือนการช้อปปิ้ง  ในขณะที่นักแสดงเป็นผู้เสนอว่าจะเล่นอย่างนั้นดีหรือไม่  อย่างนี้ดีหรือไม่  ซึ่งตัวเองทำแค่ตัดสินใจว่าเอาแค่นี้พอแล้ว และกำหนดจังหวะของละคร หรือว่าเสริมเพิ่มขึ้นจากตอนที่ซ้อม

คุณดำเกิงยอมรับว่างานของ New Theatre Society   ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ได้โฆษณาสรรพคุณว่าเรื่องนี้ดีเด่นอย่างไร   แต่อยากให้คนมาดูแล้วรับรู้เองว่าเป็นอย่างไร   เพราะมักจะเก็บบางอย่างเอาไว้โชว์ในละครเท่านั้น  คนที่มาดูถึงจะเห็น   หรือบางครั้งหากผู้ชมบางคนเตรียมตัวมาอย่างดีก่อนดูละครของ New Theatre Society   เช่นจะมาดูเรื่อง “คอย ก.ด.” ก็กลับไปอ่านบทละครเรื่อง Waiting for Godot” เป็นบทละครชิ้นเอกของ Samuel Beckett  ก่อนที่จะมาดู  ก็จะพบว่าเรื่องที่แสดงกับเรื่องที่อ่านมานั้นไม่ตรงกันเลย  เช่นเดียวกันการที่บางคนชอบวิจารณ์ว่านักแสดงเล่น “ไม่เป็นตัวละครตัวนั้นเลย” นั้น  คุณดำเกิงก็มักจะมีข้อกังขาว่าผู้พูดรู้จักตัวละครเป็นการส่วนตัวหรืออย่างไร  เพราะถ้าเป็นตัวละครบางตัวที่ดัดแปลงมาจาก
นวนิยาย  ซึ่งผู้อ่านมีจินตภาพถึงตัวละครตัวนั้นแล้วมาเห็นคนอื่นที่ต่างจากเคยจินตนาการไว้เล่นเป็นตัวละครอังศุมาลิน จากเรื่อง “คู่กรรม”  ก็ยังพอเข้าใจได้

 

  1. 3.       ที่มาของบทละครของ New Theatre Society 

คุณปานรัตนยอมรับว่าบทละครทั้งหมดของ New Theatre Society  เป็นบทที่ดัดแปลงมา  เช่น บทสนทนาของ ”กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีแม่กับ…….ฉัน …”  ก็หยิบยืมมาจาก Joy Luck Club ประมาณ 50% หรือบางครั้งก็ยกนิทานที่เล่าอยู่ในนั้นมาทั้งเรื่องเลย  แต่โครงเรื่องไม่ใช่  คุณดำเกิงเสริมว่าบางครั้งเอามาแต่โครงเรื่อง  แต่ว่าเนื้อในนั้นไม่ใช่ของเดิม  อย่าง “นางนาก เดอะ มิวเซียม” ก็เอาโครงมาจากเรื่อง  Blithe Spirit ของ  Noel Coward

ในกรณีนี้   คุณณัฐพัชญ์ตั้งข้อสังเกตว่าการที่บทของ New Theatre Society  ส่วนใหญ่มีโครงมาจากเรื่องที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว  ซึ่งพอนำมาดัดแปลงเป็นบทไทยจึงง่ายที่จะทำและง่ายที่จะประสบความสำเร็จด้วย  คุณดำเกิงตอบว่าการทำละครของ New Theatre Society  ไม่ได้คำนึงถึงว่าเรื่องที่นำมาแสดงนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่  แต่เน้นว่าต้องรู้เรื่องและสนุกแน่ จึงมักจะนำเอามาแค่เค้าโครงเรื่อง หรือเอากระดูกหรือแก่นเรื่องมารื้อแล้วสร้างใหม่ และอะไรที่อยู่นอกเหนือโครงที่จะเล่า ก็ตัดทิ้งไป  ดังนั้น  คุณณัฐพัชญ์จึงสรุปว่างานของ   New Theatre Society  จึงเป็นการหยิบยืมและดัดแปลงมาจากเรื่องที่มีอยู่แล้ว และนำมาเสนอด้วยการใช้วิธีการเล่าเรื่องของตัวเอง  จึงอยากทราบว่าในอนาคต New Theatre Society  จะมีการสร้างบทของตัวเองหรือไม่  คุณดำเกิงตอบว่าการที่จะเขียนบทต้องอาศัยความนิ่งและต้องทุ่มเทอย่างจริงจัง  แต่ ณ ขณะนี้ชีวิตยังไม่นิ่งพอที่จะมีเวลาเขียน  และอันที่จริงก็มีพล็อตอยู่แล้วว่าอยากเขียนเรื่องนั้น  เรื่องนี้  แต่ตอนนี้ก็ทำได้แค่เก็บพล็อตและทำสรุปลักษณะตัวละครโดยสังเขปไว้  ซึ่งยังไม่รู้เลยว่าเมื่อไรจะนำเรื่องเหล่านี้มาทำละคร   อย่างบางเรื่องก็คิดเป็นภาพยนตร์  และอยู่มาวันหนึ่งก็มาทำเป็นละครเวทีได้  แต่เรื่องดัดแปลงทำได้เร็วกว่า  คุณกฤษณะเสริมว่าเรื่องการสร้างบทของ  New Theatre Society  นั้นยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญในขณะนี้  เพราะว่าสมาชิกที่มีอยู่ในขณะนี้ก็ไม่มีใครที่เป็นนักเขียน และโดยธรรมชาติของการทำงานของเรานั้น  มักเริ่มจากการที่อยากจะทำละครขึ้นมาเรื่องหนึ่ง แต่ละคนก็จะเสนอไอเดียออกมาว่ามีเรื่องนั้น เรื่องนี้  เรื่องโน้นน่าสนใจ  ซึ่งสามารถดึงออกมาใช้และอาจจะสะท้อนอะไรสักอย่างเกี่ยวกับสังคม  เกี่ยวกับสถานการณ์  หรือเกี่ยวกับเรื่องในครอบครัว   แต่ประเด็นเรื่องการเขียนบทนั้นยังไม่เคยคุยกันในกลุ่มเลย

 

  1. 4.       การทำงานของสมาชิกใน New Theatre Society 

คุณปานรัตนเล่าว่าไม่เคยมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างสมาชิกใน New Theatre Society  อย่างชัดเจน เพราะเริ่มมาจากคุณดำเกิงกำกับ  คนอื่นก็ช่วยทุกอย่าง  แต่หลังจากผ่านงานเทศกาลละครกรุงเทพ  หลายคนก็เริ่มบอกว่าไม่กำกับได้หรือไม่  เช่น  คุณศิรเมศร์  เพราะก่อนหน้านี้โดยส่วนตัวเคยมีความคิดว่าอยากให้ทุกคนได้ลองงานกำกับ  เพราะว่ามีโอกาสได้มาอยู่ในวงละครเวทีแล้วก็น่าจะมีงานของตัวเอง  คิดด้วยตัวเอง สร้างด้วยตัวเอง และได้กำกับเอง   แต่พอผ่านงานนั้นมา  หลายคนก็เริ่มค้นพบว่าไม่เหมาะกับตัวเองแล้ว  ตั้งแต่นั้นมาก็เลยไม่บังคับว่าจะต้องกำกับ  แต่ว่าหน้าที่บางอย่างก็เหมือนกับตายตัวอยู่แล้ว เช่น เรื่องเสียงก็จะเป็นหน้าที่ของคุณศุภฤกษ์และคุณวิชย  หรือคนประสานงานและจัดการก็ต้องเป็นคุณศิรเมศร์ เท่านั้น  เพราะคนอื่นทำไม่ได้   ก็จะเหมือนกลายเป็นหน้าที่ไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ยังเล่าต่อไปว่า  คุณดำเกิงมักจะพูดเสมอว่า  “ถ้ามีเรื่องจะเล่าก็เล่า”  ซึ่งเป็นคำพูดที่จุดประกายมาก  อาจเรียกได้ว่าเป็นคนที่สองที่เริ่มกำกับต่อจากคุณดำเกิง  เพราะมีอยู่วันหนึ่งไปอ่านบทละคร “Shirley Valentine” ของ Willy Russell (บทดั้งเดิม ได้รับรางวัล “Best Comedy” in the Laurence Olivier Awards 1998) จีงไปบอกคุณดำเกิงและก็ได้รับคำตอบว่า  “ถ้ามีเรื่องจะเล่าก็เล่า”  จึงเริ่มทำ “ช่อมาลีรำลึก”เป็นเรื่องแรก

คุณช่อลดาเสริมว่าการกำกับงานชิ้นแรกของตนก็เริ่มมาจากคำพูดนี้เช่นกัน “มีเรื่องที่อยากจะเล่า”  คือเรื่อง “Freeze the Dream”  ซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิงๆ ที่มีเงื่อนงำ และอกหักรักคุด  เจ้าชู้ไปเจ้าชู้มา  จึงได้ปรึกษากับคุณปานรัตนว่าชอบเรื่องนี้  และขอให้ช่วย  เพราะว่าเรื่องยาวมาก จึงขอให้ให้คุณปานรัตนช่วยดูแล  ช่วยแปลและทำบทให้  งานเรื่องนี้หนักมาก  เพราะว่าทุกคนอยู่งานเทศกาลละครกรุงเทพกันหมด  เหลืออยู่คนเดียวและต้องทำเองทุกอย่าง  ซึ่งก็ต้องยอมรับกำกับเป็นครั้งแรกก็กลัว แต่พอได้ทำก็มั่นใจว่าตัวเองมีสิ่งที่อยากบอก  จึงลงมือทำ   และผลงานเรื่องที่สองที่ทำคือ  “Broken Heart” เป็นงานสั้นๆ ของพวกเราสี่คนที่แต่ละคนก็มีเรื่องอยากบอก และตอนนั้นทุกคนอกหักกันหมด

คุณณัฐพัชญ์เห็นว่าการที่กลุ่ม New Theatre Society รวมกลุ่มกันเช่นนี้กลายเป็นโอกาสให้คนในกลุ่มได้มีงานเป็นของตัวเองด้วย  และทุกคนก็เป็นนักแสดงด้วย   คุณดำเกิงยอมรับว่าได้คุยกันในกลุ่มว่าไม่ว่าจะเลือกเรื่องอะไรมาทำ  แต่คนในกลุ่มต้องได้เล่น  เพราะว่าในความเป็นจริงนั้นมีเรื่องที่อยากทำเป็นจำนวนมาก  แต่การที่จะเลือกเรื่องใดมาทำนั้น  เราจะต้องดูทรัพยากรในกลุ่มก่อน และต้องมั่นใจว่าทุกคนต้องได้เล่นด้วย ถ้าไม่มีค่อยไปหานักแสดงจากนอกกลุ่ม   เพราะอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในงาน จะได้รู้สึกสนุก

 

  1. 5.       ความคิดเห็นของสมาชิกต่อการทำงานของคุณดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์

คุณณัฐพัชญ์สรุปผลงานของ New Theatre Society ที่กำกับโดยคุณดำเกิงมีหลายเรื่อง เช่น “Push Up” (ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ)  มหาบุรุษอยุธยา “แฮมเล็ต”  “นางนาก เดอะ มิวเซียม” ซึ่งงานของคุณดำเกิงส่วนใหญ่จะมีประเด็นทางสังคม หรือบางครั้งอาจเรียกได้ว่าเป็น “งานปากร้าย” ซึ่งมีประเด็นที่แรงและคม จนบางครั้งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการ “ตบหน้าสังคม” และมีลักษณะเฉพาะตัวในการเสนอมุมมอง  และยังได้ชวนสมาชิกคนอื่นของคณะแสดงทัศนะต่อการทำงานของคุณดำเกิงด้วย   โดยเริ่มจากคุณช่อลดากล่าวว่าโดยส่วนตัวไม่ใช่คนที่อยู่ฐานะคนละครโดยตรง  เพราะว่ามาในแนวร้องเพลงและได้ไปเรียนทางด้านละครเพิ่มเติม  และงานแรกที่ร่วมมงานกับคุณดำเกิงคือ ละครเพลงเรื่อง ซั่งไห่ ลิขิตฟ้าชะตาเลือด ที่มาสมัครคัดตัวนักแสดง  ก็ทำต่อมาเรื่อยๆ จนถึง ณ วันนี้  ต้องยอมรับว่าทั้งคุณดำเกิงและคุณปานรัตนสอนมา  ถ้าจะถามว่าสไตล์ละครของตัวเองเป็นอย่างไร  ก็ต้องบอกว่ายังมีกลิ่นอายของคุณดำเกิงอยู่  อาจจะเป็นเพราะว่าทำงานร่วมกันมาก  ประกอบกับได้เห็นผลงานของคุณดำเกิงและผลงานของอีกหลายๆ คน และได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของคุณดำเกิงจะมีดีไซน์และการกำกับที่ไม่เหมือนใคร  และยังมีไอเดีย “เก๋ๆ ” ในช่วงของการเชื่อมโยงแต่ละฉากของละครมาโดยตลอด 

คุณศุภฤกษ์เสริมในฐานะคนดูว่างานของคุณดำเกิงมีความสนุกในการดัดแปลง และจะรู้สึกคาดไม่ถึงขณะที่ดูงาน เพราะว่าจะมีอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ  ทั้งการเลือกใช้นักแสดง ซึ่งสามารถจะดึงศักยภาพของนักแสดงที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี  ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะเลือกใช้ศักยภาพที่นักแสดงมีได้อย่างน่าสนใจ  อีกทั้งการเลือกใช้การกำกับที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ในการแสดงและฉากต่างๆ หรือการดัดแปลงก็มีสิ่ง “เก๋ๆ” อยู่ตลอดเวลา  คือบางครั้งอาจแค่เลื่อนฉากหรืออุปกรณ์ประกอบฉากนิดเดียวก็สามารถเปลี่ยนฉากจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้  รวมทั้งการกำกับก็จะดูองค์ประกอบบนเวทีทุกอย่าง  จึงทำให้มีอะไรที่น่าสนใจอยู่ในละครเสมอ

นอกจากนี้  คุณศิรเมศร์เห็นว่าคุณดำเกิงจะเริ่มกำกับการแสดงโดยเริ่มจากสิ่งที่มีก่อนแล้วค่อยๆ เติมเข้าไปเรื่อยๆ จนเต็มขึ้นมา  จนบางครั้งผู้ที่แสดงด้วยก็ต้องบอกว่าทำไม่ไหวแล้ว  แต่ท้ายที่สุดก็จะเกิดความลงตัวขึ้นมา  และในงานหนึ่งๆ ก็จะมีความละเอียดค่อนข้างสูง  จึงต่างจากการทำงานกับคุณปานรัตน  เพราะว่าคุณดำเกิงจะค่อยๆ เติม  ในขณะที่คุณปานรัตนจะสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่คิดหรือเสนอไว้เลย  และถ้าสิ่งไหนไม่ได้ผลก็ค่อยตัดออก  คุณปานรัตนเสริมในประเด็นนี้ว่า  โดยส่วนตัวเห็นว่าเวลาทำงาน  คุณดำเกิงมีไอเดียที่บรรเจิดมากและไม่ใช่บรรเจิดทีเดียว  แต่บรรเจิดตลอดเวลาและสามารถกระจายไปได้อย่างมาก  บางครั้งการทำฉากเล็กๆ แค่ในร้านอาหาร แต่กลับมีไอเดียที่บรรเจิดอย่างมาก  บางครั้งคิดไปถึงว่าร้านแห่งนั้นไม่มีไฟ ก็สั่งให้ทุกคนไปเอาโคมไฟที่บ้านของตัวเองมา  และทุกคนก็ต้องไปหาโคมไฟมา    สำหรับจุดแข็งของคุณดำเกิงคือความกล้าที่จะใส่อะไรลงไปในละคร  เช่น  การให้คุณอรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ นางเอกเรื่อง“นางนาก เดอะ มิวเซียม” ตัดผมม้า และมีความมั่นใจในสิ่งที่ทำ  จนทำให้ทุกคนในคณะมั่นใจตามไปด้วย  ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำจะดูแปลกหรือไม่เคยเห็นมาก่อน  แต่มีบ้างที่ก่อนจะทำก็รู้สึกงงมาก เช่น การให้ไปเอาโครงเหล็กของเต้นท์มาสร้างเป็นพีรามิด  แล้วเอาหลอดไฟนีออนมาติดไว้ที่โครงเหล็กของเต้นท์  เพื่อทำเป็นฉากของละครเวที  และในขณะที่ซ้อมละครก็ไม่มั่นใจว่าจะใช้ได้จริง และมักเดินชนโครงเหล็กนี้อยู่ตลอดเวลาที่ซ้อม  เพราะในขณะนั้นยังมองไม่เห็นภาพรวมของละคร  แต่เมื่อแสดงจริงแล้วจึงพบว่ามันดี  ก็เริ่มมั่นใจความคิดของคุณดำเกิงตั้งแต่เรื่องนั้นมา  เพราะว่าถึงแม้จะไม่น่าเชื่อ  แต่ก็เป็นไปได้   ในขณะที่คุณกฤษณะเห็นว่างานของคุณดำเกิงถ่ายทอดความรู้สึกได้ดี  จนทำให้เข้าถึงตัวละครได้ดี

 

  1. 6.       ความสัมพันธ์ระหว่าง  New Theatre Society  กับงานเทศกาลละครกรุงเทพ

คุณดำเกิงเห็นว่างานเทศกาลละครกรุงเทพช่วยสร้างโอกาสให้ได้มาพบกับคนในแวดวงละคร  เพราะโดยส่วนตัวชอบสังสรรค์และพบปะผู้คนอยู่แล้ว  อาจเรียกได้ว่ารอบรรยากาศของงานเทศกาลฯ  เช่นเดียวกันการที่พวกเราขยันซ้อมก็เพราะว่าพวกเราเหงาและต้องการมาเจอกันมากกว่า  คุณปานรัตนเสริมว่าจริงๆ พวกเรารอคอยงานเทศกาลฯ  เพราะว่าเดิมรู้สึกแค่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย  แต่ว่างานเทศกาลละครเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเรามีตัวตน  เครือข่ายของเรามีตัวตน   จึงรอคอยว่าจะได้แสดงในงานหรือไม่  และโดยส่วนตัวยอมรับว่ารอคอยงานเทศกาลฯ และไม่เคยรู้สึกว่างานที่จะนำไปแสดงที่เทศกาลฯ เป็นแค่น้ำจิ้มเลย  แต่ว่าที่แสดงนั้นก็นับว่าเป็นงานสุดยอดชิ้นหนึ่งของเราด้วยเช่นกัน  เพราะว่าเราเลือกเท่าเทียมกับเรื่องอื่น  เพียงแต่คุณดำเกิงแนะนำว่างานเทศกาลมีบรรยากาศอย่างนั้นอย่างนี้  และอย่านำเอาเรื่องที่หนักไปแสดง  เพราะว่าขณะนี้กำลังทำละครเรื่องเกี่ยวกับความตาย  เมื่อซื้อบทมา  คุณดำเกิงก็แนะนำว่าให้เอาไปแสดงในปีหน้า

คุณณัฐพัชญ์ถามว่าเทศกาลละครกรุงเทพถือว่าเป็นพื้นที่การแสดงที่สำคัญสำหรับ New Theatre Society  หรือไม่  เมื่อเทียบกับการแสดงที่ M Theatre, Democracy Theatre Studio และ Crescent Moon Space   คุณดำเกิงตอบว่าโดยปกติเวลาทำงานไม่เคยแยกอยู่แล้วว่าเป็นงานเทศกาลฯ หรือไม่   แต่จะคิดแค่เพียงว่าจะเลือกเรื่องใดให้เหมาะกับเทศกาลฯ  โดยไม่คิดว่าเรายืนอยู่ได้โดยไม่มีเทศกาล หรือว่าเราต้องทำงานในเทศกาลเพื่อให้คนมาหาเรา   แต่คิดเพียงแค่ว่าถ้าเอาเรื่องนี้ไปเล่นในร้านอาหารก็ไม่น่าจะ “เวิร์ก”

คุณศิรเมศร์ยอมรับว่างานเทศกาลฯ  คนดูไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่เป็นแฟนคลับของ New Theatre Society  เท่านั้น  แต่เป็นคนทั่วไป  คนที่ไม่เคยรู้เลยว่ามีละครเวทีกลุ่มเล็กๆ อยู่  และมีหลายคนที่ติดตามผลงานของเราจากการได้ดูครั้งแรกที่งานเทศกาลฯ หรือการแนะนำกันแบบปากต่อปากต่อไป  รวมถึงนักศึกษาบางกลุ่มที่มาดูงานแล้วรู้สึกว่าดี และตามไปดูงานเรื่องอื่นๆ ของเราก็มีค่อนข้างมาก   คุณศุภฤกษ์เสริมว่าการเลือกเรื่องที่จะเล่นในงานเทศกาลนี่เป็นสิ่งที่ง่ายสุด  เพราะงานเทศกาลนั้นมีคนกลุ่มใหม่ที่ไม่รู้ว่ามีคนที่เคยดูละครมาก่อน  หรือว่าไม่เคยรู้ว่ามีคนที่เคยรู้ว่ามากลุ่มคนละครที่มาร่วมตัวกันเป็นเครือข่ายละครแบบนี้  เพราะฉะนั้นจะมีคนกลุ่มใหม่ๆ ที่เข้ามาดูละคร  ดังนั้น  ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งแรกที่เขามาเริ่มดูละคร และถ้าเป็นละครที่ดูไม่ยาก  เข้าใจได้ง่าย  เขาก็จะอยากดูละครต่อไป  ก็จะมีกลุ่มคนดูละครใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  ดังนั้นละครที่เราทำสำหรับงานเทศกาลอย่าง “เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย”  เป็นละครคอมมาดี้ที่ดูง่ายๆ  เมื่อดูแล้วเขาก็จะตลกร่วมไปกับเรา  เขาก็จะตามดูงานเรื่องอื่นๆ ของเราต่อไปด้วย

คุณณัฐพัชญ์ตั้งข้อสังเกตว่าการเลืองเรื่องของ  New Theatre Society  ในการนำไปแสดงในงานเทศกาลนับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะการที่ละครสนุกและเข้าถึงคนดูได้ง่าย จนมีคนดูหลายคนตามไปชมงานเรื่องอื่นๆ ของ New Theatre Society ต่อไป นับเป็นกระบวนการสร้างคนดูอย่างหนึ่ง  ซึ่งอาจจะเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มละครอื่นๆ ในการที่จะจัดการแสดงในงานเทศกาลฯว่ามีปัจจัยบางอย่างอื่นๆ ที่น่าคิด  เพราะว่าไม่ใช่ทำงานเพื่อแสดงในงานเทศกาลฯ แล้วจบ  แต่ในความเป็นจริงกลับมีผลต่อยอดต่อมาในการแสดงปกติของคณะละครนอกเหนืองานเทศกาลฯ ด้วย  จะเห็นได้ว่า New Theatre Society  ก็มีการแสดงในเทศกาลฯต่อเนื่องทุกปี  ขณะเดียวกันก็เริ่มมีแฟนคลับที่ติตดามงานต่อเนื่องด้วย  คุณศิระชี้แจงว่าบางครั้งกลุ่มคนที่มาดูงานในเทศกาลฯ ก็เป็นคนที่ไปชวนคนอื่นให้มาดูงานของ New Theatre Society  ต่อไป  อาจกล่าวได้ว่าขณะนี้ละครของ New Theatre Society  มีคนดูเกินครึ่งโรงขึ้นไป

นอกจากนี้  คุณปานรัตนยังเล่าว่าได้เคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้จัดงานเทศกาลละครอยู่ครั้งหนึ่ง  ซึ่งรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก และเข้าใจคนจัดงานปีต่อๆ ไปว่าเราจะไม่เรื่องมาก  และเราจะตรงเวลา  เพราะงานส่วนใหญ่ที่รับผิดชอบเป็นเรื่องของการจัดการผู้คนและองค์กรที่เขามาสนับสนุนเรา   ซึ่งต่างจากการทำละครที่เป็นการจัดการพื้นที่  และสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้ามาจัดการในส่วนนี้คือ การเรียนรู้การติดต่อกับคน  ซึ่งสามารถเอามาปรับใช้ในการทำงานต่อไปได้

 

  1. 7.       อนาคตของ New Theatre Society 

จากที่ผ่านมา  คุณณัฐพัชญ์อยากทราบว่ามีละครเรื่องใดของ New Theatre Society  ที่ประสบความล้มเหลวบ้าง   คุณปานรัตนยอมรับว่าละครเกือบทุกเรื่องถ้าไม่เกือบเท่าทุน ก็จะขาดทุน   จะเหลือก็แต่เพียงค่ารถให้กับนักแสดงเท่านั้น  และเพิ่งจะมีเงินต้นทุนเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ หลังจากละครเรื่อง “นางนาก เดอะ มิวเซียม” มา  เพราะปกติเวลาทำละครเรื่องหนึ่งก็จะใช้วิธีลงขัน  บางเรื่องที่ขาดทุนเพราะว่าลงทุนมากไป  นักแสดงมากเกินไป   และในช่วงหลังๆ พบว่าเรามีผู้ชมมากขึ้น และได้เงินค่าบัตรมากขึ้นจึงพอกับค่าใช้จ่าย  เพราะละคร 2-3 เรื่องหลังได้ค่าบัตรหลักแสน  ก็แปลกใจมาก  เนื่องจากเป็นโรงเล็ก  และนับตั้งแต่ทำละครมาก็ไม่เคยได้ค่าบัตรมากขนาดนี้  แต่พอหักค่าใช้จ่ายแล้วแบ่งกันก็ได้เป็นหลักพัน  เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ได้ค่าบัตรมากขนาดนี้  อาจเป็นเพราะว่าเราจะไม่ยอมให้ที่รอบแรกๆ ของเราว่าง  และการพูดต่อแบบปากต่อปากเป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้คนมาดูละครของเราเพิ่มขึ้น  จึงตั้งกฎไว้ว่ารอบแรกๆ ห้ามว่างและต้องให้รอบแรกๆเต็มไว้ก่อน  จะเชิญ  จะแจก จะเล่นเกมแจกบัตรก็ได้  เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยถ้าผู้ชมมาดูมีความสุข  สนุก และละครสื่อสารได้จนทำให้พูดต่อได้  ก็จะส่งต่อละครในรอบต่อไป  ต่อจากนั้นก็จะมีการโปรโมชั่นเรื่องบัตร  หรือบางครั้งก็จะได้คนดูมาจากคำวิจารณ์  โดยเฉพาะบทวิจารณ์ที่ให้เกรดเอ

ในขณะนี้การจัดการใน  New Theatre Society  ทุกคนก็ร่วมมือและช่วยกัน  ทั้งจัดการแสดง  แสดง  ทำประชาสัมพันธ์  ขายบัตร  ตลาด ในการจัดการแสดงนั้น  คุณดำเกิงเล่าว่าจะมีเรื่องของการ casting นักแสดงด้วย  อาจเรียกว่าเป็นการยืมระบบของช่องเจ็ดมาก็ได้  เพราะคนดูละครเวทีในปัจจุบันส่วนหนึ่งยังจะติดนักแสดงอยู่  ถ้ารู้ว่าเรื่องหน้าจะมาเจอคนนี้ๆ และสามารถนึกหน้านักแสดงคนนั้นออกก็จะตามมาดู

คุณณัฐพัชญ์อยากทราบว่าในอนาคต New Theatre Society จะรับคนเพิ่มหรือไม่  คุณดำเกิงกล่าวว่าก็เปิดโอกาสให้กับทุกคน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถมาอยู่ร่วมกันได้หรือไม่เท่านั้นเอง  สำหรับการมีโรงละครเป็นของตนเองนั้น  คุณดำเกิงมีความเห็นว่าใจหนึ่งก็อยากมีเพราะว่าจะสะดวกในการจัดแสดง และการซ้อม  แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากมีเพราะไม่อยากบริหาร  ทั้งๆ ที่ในใจก็มีรูปแบบโรงละครอยู่แล้ว  คุณณัฐพัชญ์ถามต่อไปว่าถ้ามีคนมารับจัดการในเรื่องของพื้นที่หรือโรงละครให้  New Theatre Society  จะพัฒนาไปได้ไกลขึ้นหรือไม่  หรือถ้าจุดนี้คือจุดที่ขาด  เหตุใดทางกลุ่มถึงไม่หาคนๆ นั้น  คุณปานรัตนรู้สึกว่าคนๆ นั้นหาได้ยาก  และเคยได้เสวนาเรื่อง “โรงละครโรงเล็ก” แล้วได้เสวนาเกี่ยวกับ “คนๆ นั้น”  ว่าเป็นคนที่จำเป็นจริงๆ แต่คนๆ นั้นหายาก  เพราะคนๆ นั้นต้องต้องเสียสละเวลามาทำอย่างมาก

นอกจากนี้  คุณณัฐพัชญ์กล่าวว่า New Theatre Society มีกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามชมผลงานในระดับหนึ่ง  จึงอยากทราบว่ามีวิธีการบริหารแฟนคลับอย่างไร   คุณศิรเล่าว่าเคยคุยกันเล่นๆ ว่าอาจทำเป็นบัตรดูละครทั้งปี แล้วใช้วิธีการประทับตราที่บัตรเอา  แล้วก็มีส่วนลดให้  10%   คุณปานรัตนเสริมว่าตอนนี้ก็มีแฟนเพจในเฟซบุ๊ก  แต่ว่ายังไม่ได้ทำกันอย่างจริงจัง  คุยกับเล่นๆ ว่าใครเป็นแฟนเพจ New Theatre Society  จะลดเลย 10%  คุณดำเกิงกล่าวว่าก็คิดกันไว้หลายๆ อย่าง เช่น การทำราคาบัตรเป็นขั้นบันได  เพราะว่าคนส่วนใหญ่ชอบดูละครในรอบท้ายๆ  เพราะคิดว่าการแสดงจะอยู่ตัวและสมบูรณ์แล้ว  จึงเปลี่ยนมาเป็นเพิ่มค่าบัตรในรอบท้ายๆ ให้แพงขึ้น  เหมือนเป็นค่าประสบการณ์  แต่ในความเป็นจริงก็คือการซื้อบัตรในราคาเต็ม  เพราะว่าในการชมรอบแรก ๆ ส่วนใหญ่จะลดราคาให้  จึงนำมาปรับโดยทำให้เห็นว่าราคาบัตรเป็นขึ้นบันได  เพื่อกระตุ้นให้คนตัดสินใจดู  เนื่องจากคนอยากดูมี  แต่ชอบไปออกันในรอบท้ายๆ  ก็ทำเช่นนี้ก็ประสบความสำเร็จพอสมควร   คือช่วยให้มีจำนวนผู้ชมในรอบแรกๆ เพิ่มขึ้น   แต่ก็ยังมีบางคนที่ยอมจ่ายแพงเพื่อดูรอบท้ายๆ เช่นกัน

คุณดำเกิงยอมรับว่าขณะนี้ New Theatre Society  ยังโตไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ก็ปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ  ถ้าสักวันหนึ่งเติบไปจนต้องมีพื้นที่สำหรับแสดงของตัวเองก็ต้องทำ  ถ้าจะเกิดรากฐานอะไรบางอย่างก็ให้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ  อย่าไปผลักดันมาก  เพราะยิ่งผลักดันก็จะยิ่งไม่มีความสุข ยิ่งมีเกณฑ์ก็ยิ่งไม่ตอบโจทย์ของความสุข  ตอนนี้โดยพื้นฐานของกลุ่มก็เป็นเหมือนกับว่าใครอยากทำอะไรก็ทำ  ใครมีความสุขก็ทำ และถ้าวันนี้เราทำงานตรงนี้  มีความสุข ก็โอเค  ทำไปเรื่อยๆ  แล้วถ้าวันหนึ่งมีคนให้พื้นที่โดยไม่มายุ่งกับเราเลย  ก็โอเค และจะจัดการเป็นขึ้นมาทันที

คุณกฤษณะเห็นว่ากลุ่มของเรามีลักษณะพิเศษ และเป็นสิ่งที่หนึ่งที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้คือความผ่อนคลายของเรา  สบายๆ เรื่อยๆ  ก็เลยไม่มานั่งกังวลว่าปีหนึ่งเราต้องโตเท่านั้นเท่านี้  และไม่มีการกำหนดว่าปีหนึ่งต้องมีงานกี่เรื่อง  แต่เป็นเหมือนเรามาเจอกัน  ทำละคร  สังสรรค์  จากนั้นก็แยกย้ายกันไปทำงานอื่นไป  สักพักก็กลับมาทำละคร  ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รอว่าจะต้องมีใครมาให้พื้นที่ด้วย  แต่เป็นเหมือนกับว่าถ้ามีก็ดี  ถ้าไม่มีก็อยู่ได้  และเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ ก็มีความเข้าใจกันเพิ่มขึ้น  หรือว่าบางคนก็มีหน้าที่บางอย่างเพิ่มขึ้น  อย่างคุณปานรัตนก็จะเป็นเหมือนพี่สาวของกลุ่มที่มีหน้าที่ปกครองรองจากคุณดำเกิง  ก็ช่วยทำให้พวกเราอยู่กันได้

คุณปานรัตนเล่าว่าขณะนี้มีสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มที่เพิ่งทำคือแผนการดำเนินงานรายปี (year plan)  แต่ตอนนี้ทำได้แค่แผนครึ่งปีเท่านั้น  ซึ่งจะเริ่มทำในปีหน้า   เพราะเมื่อปีที่แล้วมีงานทับซ้อนกันมาก เนื่องมาจากว่าฉันอยากทำก็เลยทำ  แต่ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะทำได้หรือไม่  คุณดำเกิงเห็นว่าควรทำเป็นแผนครึ่งปีก่อน เพราะการเลือกละครมาแสดงนั้นบางครั้งต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมด้วยว่า  ช่วงนี้เกิดเรื่องอย่างนี้ในบ้านเรา  ควรจะทำเรื่องแบบใด

คุณช่อลดากล่าวว่าสิ่งที่กลุ่มมีคือความผ่อนคลาย  และเมื่อไรที่ใครลุกขึ้นมาทำละคร  คนอื่นๆ ก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วย  เหมือนกับว่าทำอะไรได้ก็ไปทำ และอีกอย่างที่ชอบคือกลุ่มเรายกเอง  ขนเอง  ทำอะไรเอง  ไม่ต้องไปมองหาใคร  คือใครเห็นก็ทำเลย  ช่วยๆ และก็จะมีคนเชี่ยวชาญไปคนละด้าน  คือความสุขที่ได้ทำงานกับกลุ่มนี้คือพอเจอกันหรือว่าทำงานกันก็ไม่เคยเครียด  แต่จะคุยกันอย่างสนุกสนาน  และเมื่อไรที่มาเจอกัน  เมื่อนั้นไอเดียบรรเจิด  และโดยส่วนตัวก็เห็นว่าใครอยากเข้ามาก็เข้า เพราะตอนที่ตัวเองเข้ากลุ่มนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มเมื่อใดเหมือนกัน  เพราะเริ่มต้นนั้นเพิ่งกลับมา  พอกลับมาคุณดำเกิงก็ให้เล่นละคร  และคุณปานรัตนก็บอกว่าเรื่องต่อไปให้มาเล่น  เมื่อมารู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนกลุ่มไปเอง   คุณศิระเสริมว่าการที่กลุ่มจะโตไปกว่านี้หรือไม่  ก็ขึ้นอยู่กับว่าทุกคนจะมีแรงขับเคลื่อนไปได้มากเพียงใดมากกว่า  ซึ่งก็คงต้องดูกันต่อไป  โดยอาจจะเริ่มที่แผนครึ่งปี และอาจจะขยายเป็นแผนหนึ่งปี หรือแผนสองปีต่อไป

คุณศุภฤกษ์เห็นว่าการที่จะบอกว่ากลุ่มจะโตหรือไม่นั้น อาจจต้องพิจารณาก่อนว่าความหมายของคำว่าโตในที่นี้คืออะไร  เพราะความว่าโตอาจจะหมายถึงความว่าเราต้องมีพื้นที่  คนดูในปริมาณมาก   แต่ว่าการทำละครของเราอยู่บนพื้นฐานของการมาเจอกันแล้วมีความสุขที่จะทำ  แล้วความสุขอีกอย่างคือการที่มานั่งคุยกันว่าเราจะทำละครเรื่องอะไรต่อไปดี   อะไรคือเรื่องที่เราอยากทำ  เราอยากพูด หรือปีหน้าเราจะทำเรื่องอะไรดี   สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้กลุ่มเราอยู่กันได้มากกว่า และสิ่งที่โตขึ้นก็คือการทำให้เราได้เจออะไรที่ท้าทาย  ได้เจออะไรที่สนุกๆ  และก็มีความสุขที่จะทำต่อไป

คุณดำเกิงกล่าวงานงานของ New Theatre Society  มักจะนำมาจากบทละครอะไรก็ได้  แต่เป็นการนำเสนอความคิดใหม่ๆ ที่เราชอบ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีเด็กมาบอกก็ได้ว่าการทำละครแบบนี้ล้าสมัยแล้ว แต่ขณะเดียวกันระหว่างที่ทำงานก็จะคิดถึงคนดูอยู่ตลอดเวลา  และเหตุผลประการสำคัญที่อยากให้กลุ่มเป็นอย่างนี้คือเป็นธรรมชาติต่อไป  และจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยอยู่กับคณะละครมาหลายกลุ่มทำให้ไม่เชื่อในอุดมการณ์อันสูงส่ง  แต่เชื่อในตัวคนที่ทำมากกว่าว่าลักษณะเฉพาะของงานของกลุ่มจะเป็นอย่างไร  เพราะจากที่เคยอยู่ในกลุ่มของ “ยอดฝีมือ” ทางการละครของประเทศรุ่นแรกๆ  และในกลุ่มนั้นก็จะเน้นเสมอว่าต้องมีความเป็นมืออาชีพ  ซึ่งต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้   และหากมีคนรุ่นใหม่จะทำละครก็อนุญาตให้ทำได้  แต่ต้องลงท้ายชื่อว่าจูเนียร์เท่านั้น  ซึ่งคุณดำเกิงรู้สึกว่าเหตุใดถึงต้องมากดคนรุ่นใหม่อย่างนี้ด้วย  และขณะนั้นมีคนรุ่นเดียวกันคุยกันขณะที่กำลังแต่งหน้ากันอยู่ที่หลังโรงก็ถูกตวาดว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพ  เพราะนักแสดงมืออาชีพต้องไม่คุยกัน และต้องสวมเป็นตัวละครตัวนั้นก่อนหน้าที่การแสดงจะเริ่มมานานแล้ว  การกระทำเช่นนี้นับเป็นการทำลายความมีชีวิตชีวาของนักแสดง  คุณดำเกิงคิดว่าขณะที่บทละครที่บรรดายอดฝีมือเหล่านี้เลือกมาทำแต่ละเรื่องต่างก็กล่าวถึงความเป็นมนุษย์  แต่ความเป็นมนุษย์ในคณะละครล้มเหลวเช่นนี้แล้ว  จะทำคณะละครในลักษณะนี้ไปทำไม  และคณะละครเหล่านั้นในปัจจุบันก็เลิกทำละครไปแล้ว  เมื่อเห็นสภาพบรรยายเช่นนี้ในคณะละคร  จึงไม่อยากให้อนุชนรุ่นหลังที่ตามเข้ามาทำละครไม่ควรอยู่ในสภาพอย่างนั้น จึงไม่อยากให้เจอในสิ่งที่ตัวเองประสบมา

 

นางสาวอรพินท์  คำสอน

ผู้สรุปการเสวนา

———————————

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *