วิจารณ์ละครเวทีเรื่อง “FLU- FOOL”
วิจารณ์ละครเวทีเรื่อง “FLU- FOOL”
ริญรภัสร์ อริยกรวิจิตร์
ละครเวทีเรื่อง Flu-Fool เป็นละครที่นำเสนอเรื่องราวผ่านการเคลื่อนไหว ให้กระแทกโสตประสาททั้งภาพและเสียง มีการใช้มีเดียเพื่อเสริมความหมาย โดยมีช่องว่างให้ผู้ชมสามารถจิตนาการ แต่ก็ไม่เป็นกลางในการนำเสนอ และไม่มีความประนีประนอม ต้องยอมรับว่า คุณ ธีระวัฒน์ มุลวิไล ผู้กำกับการแสดงเรื่องนี้ มีประเด็นที่จะนำเสนออย่างชัดเจน และมีจุดยืนของตนที่แน่ชัด หากทุกท่านได้อ่านสูจิบัตรก่อนที่จะเข้ารับชมการแสดง ก็จะทำให้เข้าใจถึงโครงเรื่องที่ผู้กำกับต้องการจะนำเสนอ
ในสูจิบัตรได้เขียนข้อความสั้นๆเกี่ยวกับละครเวที ซึ่งเมื่อผู้เขียนได้อ่านก็ทำให้เข้าใจเรื่องราวได้ในระดับหนึ่งที่ว่า ผู้กำกับต้องการที่จะสะท้อนให้เห็นถึงประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเขียนเป็นสูตรดังนี้
“สำนึกความเชื่อ + ความเป็นตัวตน = เอกลักษณ์(เพิ่ง)ถูกสร้าง(ดั่งโฆษณาชวนเชื่อ)”
และยังได้ขยายความเกี่ยวกับเรื่องราวที่จะนำเสนอ เพื่อต้องการให้ผู้ชมคิดย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต และใช้เหตุการณ์เหล่านั้น สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน ผู้กำกับไม่ต้องการให้ผู้ชมถามหาแต่อนาคตที่เพ้อฝัน งมงาย จึงมีคำกล่าวในสูจิบัตรว่า “จงเฝ้ารอคอยอดีตจะพิพากษาปัจจุบัน….หวังว่าเวลาจะสำรอกความจริง…ได้บ้าง” สำหรับผู้เขียนแล้ว มีความเห็นว่า ผู้กำกับได้บอกกล่าวให้ผู้ชม ได้รับรู้ก่อนเข้าชมการแสดงว่า เรื่องราวที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นนั้น เป็นเรื่องราวที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และสิ่งเหล่านั้นควรส่งผลมาถึงปัจจุบัน แต่กลับถูกมองข้าม ผู้กำกับก็มีจุดยืนในประเด็นความคิดของเขาที่ต่อยอดมาจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต ผู้กำกับตอกย้ำจุดยืนนั้นว่า เป็นความจริงที่ประชาชนคนไทยในปัจจุบันควรจะได้รับรู้ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบ physical theatre หรือการใช้ร่างกาย การเคลื่อนไหวในการนำเสนอ และประกอบกับเทคนิคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น มีเดีย กราฟิก รวมไปถึงดนตรี ในการบอกเล่าเรื่องราว แทนที่จะใช้ภาษาพูดเพื่อบอกตรงๆ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ผู้กำกับสามารถที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในการตีความการใช้ Symbol ในการสื่อความหมายได้เป็นอย่างดี มีการสร้างสัญญะสำหรับละครเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทำให้ผู้ชมสามารถรับรู้ถึงสัญญะนั้นได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจง่าย เพราะไม่ใช่สัญญะที่เป็นสากล แล้วนำมาตีความอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นการสร้างขึ้นมาใหม่ และมีการใช้ซ้ำๆ ทำให้ผู้ชมเข้าใจ และตีความตามบริบทที่เกิดขึ้น ตามเหตุการณ์ต่างๆในแต่ละช่วง
การแสดงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ “Flu O Less Scene” และช่วงที่สอง คือ “Fool Alright” ซึ่งทั้ง 2 ช่วงมีการนำเสนอที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงแรกผู้กำกับใช้สัญญะในการนำเสนอ คือ “จาน” ที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทต่างๆที่ควรจะเป็น การดำเนินเรื่องในช่วงแรก เป็นการดำเนินที่มีกลเม็ดแพรวพราวมาก การใช้ Projector ในการยิงภาพให้เกิดบนพื้นเวทีตรงกลาง ให้เป็นสีสันต่างๆ ประกอบกับเพลง “อายแสงนีออน” ทำให้ผู้ชมเห็นถึงความสอดคล้องและไหลลื่นไปในทิศทางเดียวกันของเรื่อง ภาพที่ปรากฏนั้น มีการเคลื่อนไหวเล็กๆ แสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตของมัน และเชื่อมด้วยฉากที่เกิดขึ้นในสนามบิน ความวุ่นวาย โกลาหลที่เกิดขึ้น ผู้คนลากกระเป๋าเดินทางไปมา ภาพ 2 ฝั่งด้านข้างฉายเป็นตารางบินรอบบินต่างๆ และก็มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ราวกับว่าผู้โดนสารถูกจับกุม จากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง มีการใช้หน้ากากมาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง หากจะตีความแล้วนั้น ก็สามารถมองได้หลายแง่มุมว่า คนที่สวมหน้ากากนั้นเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง หรือเป็นการถูกครอบงำจากบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง เพราะหลังจากนั้น จะเห็นได้ว่า มีเหตุการณ์ที่หลอมรวมคนทุกคนเข้าด้วยกัน มีการร้องเพลง “สยามเมืองยิ้ม” และพูดถึงประเทศไทย
ในมุมมองของคนอื่น ที่มองประเทศไทยว่าเป็นเมืองแห่งรอยยิ้ม แต่ก็มีบุคคลที่พยายามพูดเป็นภาษาอังกฤษ สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ในมุมมองผู้เขียน มีความเห็นว่า ผู้กำกับต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวนี้ให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามารับชม
ให้ได้เนื้อหา หรือสาระของเรื่องที่ครบถ้วนเหมือนกับผู้ชมคนไทย ซึ่งในตอนหลังบุคคลที่ผู้ภาษาอังกฤษ ก็ถูกเปรียบเสมือนความแตกต่าง แปลกแยกที่เกิดขึ้นในสังคม จึงถูกกำจัดทิ้ง ผู้เขียนคิดว่า ผู้กำกับสามารถที่จะตอบโจทย์และนำมาประยุกต์ในการนำเสนอได้เป็นอย่างดี เหตุการณ์ตอนนี้ ทำให้ผู้กำกับสามารถส่งสารไปยังผู้ชมต่างชาติ และแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ความแตกต่างที่เกิดขึ้น โดยไม่ละทิ้งประเด็นของเรื่องที่จะนำเสนอ ราวกับสะท้อนไปยังสังคมไทยในสมัยก่อนที่ว่า บุคคลใด หรือกลุ่มใด ที่มีความเห็นไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่หรือผู้ที่มีอำนาจ ก็จะต้องถูกกำจัดทิ้ง ประกอบกับภาพของนักแสดงที่แสดงสีหน้าเศร้าและรอยยิ้มสลับกันไปมา เป็นอีกภาพหนึ่ง ที่สะท้อนให้ผู้เขียนคิดถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าว่า สยามเมืองยิ้ม ที่ประเทศไทยได้รับนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ คนไทยยิ้มให้กันอย่างจริงใจ หรือเป็นเพียงหน้ากากที่สวมใส่ให้กันและกัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นเล็กๆเหล่านี้ก็เป็นข้อสังเกตของผู้เขียนเอง แต่ในอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนขอ
ชื่นชมผู้กำกับ คือการไม่ใช่ภาษาพูดในการสื่อสาร เพราะจะเป็นการสร้างกรอบให้กับละครว่าจะต้องเป็นกลุ่มคนชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น การใช้ภาษาที่ไม่มีความหมาย ที่เรียกว่า “Gibberish” ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า เป็นสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ในการแสดงละครที่จะสะท้อนสังคม โดยไม่บอกตรงๆ เหมือนเป็นการสร้างโลกใหม่ สังคมใหม่ เพื่อที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยไม่ยึดหลักความเป็นจริง ทำให้ลดกรอบความเป็นไปได้ เพราะเมื่อผู้กำกับสร้างสังคม สร้างโลกใหม่แล้ว การที่ผู้กำกับจะนำเสนอสารให้แก่ผู้ชม จึงไม่ต้องอิงหลักเหตุผลของสังคมใดสังคมหนึ่ง หรือความสมจริง ทำให้มีการใช้ Symbol ที่เข้าใจตรงกันง่ายขึ้น และยังมีประเพณีที่สร้างขึ้นเอง แต่ทั้งนี้ ผู้กำกับก็สามารถที่จะนำเอาเรื่องราวความเป็นจริงมาสนับสนุนความคิดของตนที่จะนำเสนอได้ดี เป็นข้อดีที่ทำให้ผู้ชม ย้อนกลับมามองตัวเอง และคิดถึงสภาพสังคมของเมืองไทยในปัจจุบัน
ส่วนในช่วงที่สอง ขอยอมรับว่า ผู้เขียนไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะนำเสนอ อาจจะเป็นเพราะในช่วงที่สองนั้น แตกต่างจากช่วงแรกโดยสิ้นเชิง ไม่มีการใช้สัญญะอย่างต่อเนื่องเหมือนกับช่วงแรก มีเพียงการใช้เหมือนการเล่น
“ผีถ้วยแก้ว” ในช่วงต้น เพื่อเชื่อมกับข้อความที่ปรากฏทั้ง 2 ข้างของเวที เหมือนต้องการที่จะสร้างจุดเชื่อม แต่แล้วก็หายไป ไม่ได้คงสัญญะนั้นเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง เหมือนช่วงแรก หลังจากนั้นก็มีการต่อสู้เกิดขึ้น คล้ายๆเกมส์ของญี่ปุ่น และเกิดเป็น “อับดุล” เป็นสถานการณ์เหมือนการประมูลสินค้า โฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งในประเด็นของอับดุล ผู้เขียนคิดว่า เป็นเหมือนมุกตลกที่มีความยืดเยื้อ และไม่มีความน่าสนใจ ไม่เห็นถึงความสอดคล้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น คล้ายๆว่าผู้กำกับต้องการจะสร้างเสียงหัวเราะ หรือเพียงต้องการให้ผู้ชม มีส่วนร่วมกับการแสดง เหมือนเป็นการเชื่อมโยงการแสดงกับผู้ชมเข้าด้วยกัน แต่อาจจะเป็นเพราะพิธีการทั้ง 2 ที่คนหนึ่งพูดภาษาไทย และอีกคนแปลเป็นภาษาอังกฤษ ประกอบกับเสียงหวีดของไมค์ที่ดังก้อง จึงทำให้ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง การพูดแบบโฆษณาชวนเชื่อจนเกินไป แม้ว่าจะเกิดเสียงหัวเราะได้จริง แต่ก็ทำให้ผู้เขียนเกิดความคิดที่ว่า ผู้กำกับต้องการนำเสนอการแสดงในรูปแบบ physical theatre แต่เพราะเหตุใดจึงสร้างฉากนี้ขึ้นมา หรืออาจะเป็นเพราะผู้เขียนไม่เข้าใจกับสิ่งที่ผู้กำกับจะนำเสนอในช่วงหลัง หากคิดเคราะห์แบบการตีความแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของฉากก็คือ ความงมงายเกี่ยวกับพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่รู้จักอับดุล เพราะ อับดุล เหมือนเป็นเทพพระเจ้า ที่รู้ทุกเรื่อง ถามอะไรตอบได้หมด ซึ่งเป็นสโลแกนของตัวอับดุล ที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่ตัวผู้เขียนก็ยังมีข้อสงสัยที่ว่า ทำไมต้องนำเสนอในรูปแบบที่เป็นการประมูลสินค้า หลังจากนั้นก็เชื่อมฉากมาเป็นการสร้างสรรค์กระดาษ มีการวาดลวดลายเหมือนเป็นการเขียนคำประกาศของคณะราษฎร์ มีเครื่องทำลายหรือเครื่องย่อกระดาษลอยลงมาจากฟ้า มีคนนั่งบนรถเข็น และจบด้วยการยกต้นไม้ออกมา ราวกับต้องการบอกให้ผู้ชมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ เหมือนว่าผู้กำกับต่อการที่จะนำเสนอสารบางอย่าง ที่ดูเหมือนจะกลั่นกรองมาเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่ต้องการให้ผู้ชมรับสารเหล่านี้ไป สำหรับผู้เขียนเอง ผู้เขียนสามารถรับสารได้เพียงบ้างอย่างเท่านั้น อีกทั้งสารที่ได้รับก็ไม่แน่ใจว่าจะตรงกับผู้กำกับหรือไม่ แต่หากถามถึงความสวยงาม ที่เกิดขึ้นจากเทคนิคต่างๆที่ใช้ ต้องยอมรับว่าสวยงามมาก เป็นการใช้เทคนิคที่น่าสนใจ แต่จะดีอย่างไร หากผู้ชม ไม่เข้าใจถึงสารที่ผู้กำกับต้องการจะนำเสนอ จึงเป็นข้อสงสัยของผู้เขียนเองว่า ผู้กำกับนำเสนอเรื่องราวที่ไม่ชัดเจน หรือชัดเจนจนเกินไป จนทำให้ผู้รับสารไม่เข้าใจถึงข้อความที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ หรือตรงกันข้าม ผู้เขียน ไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทยอย่างชัดเจนและไม่แน่นพอ จึงทำให้ไม่เข้าใจถึงประเด็นที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะข้อผิดพลาดจากตัวผู้เขียน(ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ชมบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจ) หรือผู้กำกับก็ตาม สิ่งที่ต้องแก้ไข เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น อาจจะต้องมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับหรือผู้สร้างสรรค์งาน ที่จะต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ชมที่มารับชมหรือเสพย์งานของคุณ ผู้กำกับอาจจะต้องมอง หรือคิดถึงมุมมองของผู้ชมหลายรูปแบบ เพราะคงจะไปบังคับให้ผู้ชมทุกคนมีพื้นฐานความรู้เท่ากันไม่ได้ แต่ผู้สร้างสรรค์สามารถที่จะสร้างงาน เพื่อตอบสนองผู้ชม อาจจะเป็นการบอกผู้ชมหรือมีข้อเสนอแนะให้ศึกษาเรื่องราวที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อการรับชมก่อนที่จะมารับชมการแสดง หรือสร้างเรื่องราวที่เข้าใจง่ายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนเอง ก็เห็นใจ และเข้าใจผู้กำกับว่า การจะสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งให้ตรงใจ และให้ทุกคนเข้าใจหรือได้รับสารที่เหมือนๆกันนั้น เป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยก็ควรจะสร้างสรรค์ผลงานให้ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย หรือให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้มากที่สุด เพราะโดยพื้นฐานของแต่ละบุคคลนั้น ก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป อีกทั้งเรื่องราวนี้เป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งในมุมมองของผู้กำกับอาจจะมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่คนไทยทุกคนรับรู้กันดีอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงอาจจะมีกลุ่มคนที่สนใจในงานแสดงนี้ แต่ไม่ได้มีความรู้พื้นฐานที่แน่นพอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย อีกทั้งผู้กำกับยังนำเสนอความคิดของตนเอง ออกมากอย่างชัดเจน และไม่เป็นกลาง ตามที่ได้เขียนบอกในสูจิบัตร จึงอาจจะทำให้ผู้ชมไม่เข้าใจถึงสิ่งที่ผู้กำกับพยายามจะนำเสนอ แต่หากมองในการสร้างสรรค์งานผู้เขียนรู้สึกชื่นชมและยอมรับว่า ผู้กำกับมีความกล้า ที่จะถ่ายทอดมุมมองความคิดของตนเอง ซึ่งเป็นการเสี่ยงที่จะแสดงออกมาอย่างชัดเจนต่อประเด็นการเมือง แต่ผู้กำกับก็กล้าที่จะนำเสนอ นับว่าเป็นจุดยืนและจุดเด่นที่น่าสนใจ และหาได้ยากในวงการละครไทย อาจจะเป็นเพราะบริบททางวัฒนธรรมของสังคมไทย ในหลายๆอย่าง จึงไม่ค่อยมีบุคคลที่กล้าจะออกมาแสดงถึงสิ่งที่ตนเองคิด แม้ว่าจะมีความเชื่อที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย สักวันทุกคนก็จะรับรู้” แต่ก็เห็นในหลายๆเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า การพูดความจริงในบางครั้ง ก็สร้างภัยมาถึงตัว หากความจริงนั้น ขัดต่อกลุ่มคนที่มีอำนาจ หรือกลุ่มคนส่วนใหญ่ การจะเปลี่ยนแปลงความคิดของคน เป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนไม่ได้
ส่วนในเรื่องการแสดงของนักแสดง ต้องยอมรับว่า นักแสดงมีศักยภาพในการแสดงละครเรื่องนี้อย่างดีเยี่ยม
ตัวละครทุกตัวสามารถที่จะดึงคนดู และถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เพราะไม่มีการใช้ภาษาพูดที่เป็นภาษามนุษย์ แต่จะบอกว่าไม่มีเลยก็ไม่ใช่ เพราะมีบางฉากที่ใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษแต่ก็น้อยมาก ไม่ถึงครึ่งของการแสดง การแสดงส่วนใหญ่ เน้นการเคลื่อนไหว เน้นจังหวะรับส่ง แสดงให้เห็นถึงการฝึกฝน ความชำนาญ จนแทบจะไม่มีที่ติหรือจุดบกพร่อง หากจะมีก็เพียงแต่ข้อผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแสดง เช่น การโยนจานกระเด็นมาถึงผู้ชม หรือการแสดงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นห่วงความปลอดภัยนักแสดง แต่นั่นก็เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย อีกทั้งผู้เขียนรู้สึกชื่นชมนักแสดงชุดนี้เป็นอย่างมาก เพราะเรื่องราวที่นำเสนอ มีความซับซ้อนในตัวเอง แต่นักแสดงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ผ่านการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการส่ง React ให้กับนักแสดงคนอื่นๆ ก็แสดงได้อย่างน่าทึ่ง เพราะการใช้ภาษา Gibberish หรือภาษาต่างดาวที่ไม่ใช่ภาษามนุษย์ คล้ายกับการ Improvise คำพูดขึ้นมาเอง เหมือนเป็นการแสดงสด ที่นักแสดงจะต้องมีความสามัคคี มีสติ สมาธิในรับส่งอารมณ์ ผ่านการสื่อสารด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่คำพูด ที่เป็นตัวบท ทำให้เห็นว่า นักแสดงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกให้กันและกันได้เป็นอย่างดี ฉากที่ผู้เขียนประทับใจมาก เพราะมีการใช้การเคลื่อนไหว และเสียงจากการเคลื่อนไหวสร้างความหมาย ทำให้ผู้ชมได้รับสารที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของนักแสดง คือ ฉากที่นักแสดงแต่ละคน พยายามหมุนจานที่วางเกลื่อนกลาดอยู่เต็มพื้นให้หมุนตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงความพยายามของตัวละคร การไม่ท้อ ไม่ยอมรับต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พยายามที่จะให้จานหมุนอยู่ หรือมีชีวิตต่อไป จนเริ่มมีนักแสดงบางคนหยุด และก็ค่อยๆหยุดตามๆกันไป แม้ว่าจะไม่มีคำพูด ไม่เสียงบรรยาย มีเพียงเสียจานที่ค่อยๆหยุดหมุนและล้มลง ก่อให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกสะเทือนใจอย่างมาก และก็มีตัวละครตัวหนึ่งสวมหน้ากาก ออกมาพร้อมกับไม้ถูพื้นกวาดจานที่เกลื่อนอยู่ออกไป เหมือนเป็นการทำลายล้าง ทำความสะอาด ซึ่งมุมมองของผู้เขียน คือการล้างระบบ ให้เกิดระบบใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลง หากอิงประวัติศาสตร์ไทย ก็เหมือนเป็นการปฏิวัติ ซึ่งผู้กำกับกำกับออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ไม่จำเป็นต้องมีฉากฆ่ากันตาย แต่ก็สร้างความสะเทือนใจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับภาษาที่ว่า ทำไมภาพเหตุการณ์หลายๆอย่างที่ปรากฏบอจอ จะต้องมีภาษาญี่ปุ่น เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตอนฉายโปรเจกเตอร์ ก็มีตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นปรากฏขึ้น มีการใช้เพลง โจโจ้ซัง มาประกอบ ซึ่งในตอนแรกผู้เขียนคิดว่า แค่ต้องการนำมายกตัวอย่าง แต่ก็มีการนำเอาวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเข้ามาผสม
ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ตัวหน้ากาก ก็ได้รับความกระจ่างที่ว่า การแสดงนี้จะนำเอาไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผู้กำกับไม่ควรที่จะใช้เหตุผลนี้ เพราะมันไม่ได้มีน้ำหนักมากพอ และจะทำให้ผู้ชมเกิดข้อสงสัยว่า สรุปแล้วผู้กำกับต้องการจะนำเสนอสะท้อนสังคมไทย หรือว่าญี่ปุ่นกันแน่ อาจจะต้องมีการเชื่อมโยงที่สอดคล้องกว่านี้ อาจจะเป็นการนำเอาเหตุการณ์ของญี่ปุ่นบางอย่างที่คล้ายกับไทย มาผสมผสาน โดยไม่เน้นให้เห็นชัดว่าแสดงถึงประเทศญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นข้อเสนอแนะเล็กๆน้อยๆ ซึ่งการมีตัวอักษรภาพญี่ปุ่นปรากฏนั้น ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากนักต่อผู้ชม เพียงแต่เป็นข้อสะกิดใจเล็กๆน้อยๆ แต่ก็เป็นประเด็นที่ผู้กำกับไม่ควรมองข้าม
ส่วนในเรื่องเทคนิคที่ใช้ในการแสดง ยอมรับว่ามีความเป็นสมัยใหม่อย่างมาก มีเทคนิคที่น่าสนใจ ประกอบกับการเลือกจัดเวทีการแสดงให้ผู้ชมอยู่ทั้ง 2 ข้าง และมีการแสดงอยู่ตรงกลาง ทำให้ผู้ชม ได้มองเห็นภาพทั้งเวที ไม่มุมอับ หรือมุมที่มองไม่เห็น การใช้ทางเข้าออก เป็นทางเดียวกับการยิงภาพต่างๆ ก็เป็นการประหยัดพื้นที่ในการแสดงอย่างมาก กล่าวได้ว่าเป็นการจัดสรรพื้นที่การแสดงได้อย่างลงตัว ไม่ฟุ่มเฟือยในการสร้างฉากอลังการ การใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก น้อยชิ้นก็ทำให้ใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนฉากได้อย่างรวดเร็ว และไม่เสียเวลามาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นของการแสดงเรื่องนี้ คือการใช้เทคนิคพร้อมกันหลายๆอย่างทำให้ผู้ชม ไม่เข้าใจว่าจะต้องรับสารไหน สำหรับผู้เขียนเอง ผู้เขียนมีข้อสังเกตที่ว่า หากผู้กำกับต้องการจะให้ผู้ชมได้รับสารที่ตรงกัน ผู้กำกับจะนำเสนอภาพที่เกิดขึ้น ทั้ง 2 ฝั่งเหมือนกัน แต่หากผู้กำกับต้องการให้ผู้ชมเป็นคนเลือกที่จะรับสาร ภาพที่ปรากฏก็จะแตกต่างกัน เห็นได้ชัดเจน ในการฉายภาพ เสื้อเหลือง กับ
เสื้อแดง ผู้กำกับต้องการจะสื่อให้ผู้ชมเข้าใจว่า หากผู้ชมเลือกที่จะรับฟังข่าวสารข้างใดข้างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะถูกชัดจูงไปได้ง่าย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีในการนำเสนอให้เกิดการฉุกคิด ว่าจะเลือกรับสารไหน และผลที่ตามมาคืออะไร
แต่ในทางกลับกัน กลับทำให้ผู้ชมรู้สึก สับสนไม่รู้ว่าควรจะรับสารไหน จึงจะทำให้เข้าใจสิ่งที่ผู้กำกับนำเสนอ จึงอาจกลายเป็นว่า ผู้ชมไม่ได้รับสารอะไรเลย นี้ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งของผู้กำกับ ที่จะต้องแก้ไขให้เกิดความกระจ่าง และชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้เขียนเอง เรื่องราวที่ผู้กำกับนำเสนอผ่านละครเวทีเรื่อง Flu-Fool นี้ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมาก
แต่ถ้าหากจะให้แนะนำผู้ชมที่กำลังจะไปรับชม ผู้เขียนขอแนะนำให้ศึกษาความเป็นมาของประวัติศาสตร์ของไทย เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในอดีต เหตุการณ์สำคัญๆ อย่างเช่น ประกาศของคณะราษฎร์ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ฯลฯ น่าจะช่วยทำให้เข้าใจเรื่องราวที่ผู้กำกับต้องการจะนำเสนอได้มากยิ่งขึ้น แต่หากจะพูดถึงผู้กำกับ สำหรับการสร้างสรรค์งานใหม่ๆในอนาคต การที่มีจุดยืนเป็นของตัวเองในการนำเสนอผลงานเป็นสิ่งที่ดี ที่ความดำรงไว้ แต่หากมองในมุมมองของคนนอกวงการ คนรุ่นใหม่ ที่ต้องการจะเสพย์งานศิลปะ หรือเพิ่งจะก้าวเข้ามาในวงการละครนี้ การสร้างสรรค์งานที่คำนึงถึงกลุ่มคนเหล่านี้ น่าจะช่วยทำให้งานสร้างสรรค์ต่างๆของผู้กำกับมีความหลากหลายมากขึ้น และสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ เข้าใจ และอยากจะติดตามผลงานต่อไปในอนาคต หากพูดถึงงานแสดงครั้งนี้ผู้เขียนเองก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยที่แน่นพอ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่อาจจะไม่มีความรู้หรือไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ แต่มีความต้องการจะเสพย์งานศิลปะเหล่านี้ อย่างเข้าใจจริงๆ โดยการเข้าใจผ่านการนำเสนอ การชมการแสดง มากกว่า การบอกเล่า สรุปเป็นคำพูดความคิดรวบยอด ดังนั้นจึงต้องการที่จะให้ผู้กำกับเล็งเห็นถึงกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจ แต่ยังอ่อนประสบการณ์ และเมื่อเสพย์งานไม่เข้าใจ อาจจะรู้สึกท้อแท้ได้