สรุปประเด็นการเสวนา “ขึ้นเขียง” ทวีวัฒน์ กำเนิดเพ็ชร และไพบูลย์ โสภณสุวภาพ กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์

สรุปประเด็นการเสวนา “ขึ้นเขียง”

ทวีวัฒน์ กำเนิดเพ็ชร และไพบูลย์   โสภณสุวภาพ กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ 

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2554  เวลา 15.00 -17.00 น. 

ณ  ห้อง 501  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

————————-

 

 

ผู้นำการเสวนาครั้งนี้คือ  อาจารย์อภิรักษ์  ชัยปัญหา การเสวนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 30 -40 คน   ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

  1. 1.       ประวัติและความเป็นมาของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”

คุณทวีวัฒน์ กำเนิดเพ็ชร เล่าว่าก่อนหน้าที่จะมี “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” โดยส่วนตัวก็ทำงานอยู่กับคณะละครหลายๆ คณะอยู่แล้ว โดยเริ่มเข้าสู่แวดวงละครเวทีจากการทำงานร่วมกับพี่บิ๊ก ดำเกิงและเข้าอบรมการแสดงจาก “คณะละคร 28” และร่วมก่อตั้ง “Act Art”  ร่วมงานกับคุณวรรณศักดิ์ ศิริหล้า (กั๊ก) “ดอกไม้การบันเทิง” และเคยร่วมงานกับคุณดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์  ก่อนที่คุณดำเกิงจะก่อตั้ง  “New Theatre Society”  และในช่วงประมาณปี 2546-2547  ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ โดยใช้ละครและกระบวนการศิลปะการละครเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา และรู้สึกว่าเพศศึกษากับการละครมีมิติที่เชื่อมโยงกันได้  จึงอยากที่จะทำในประเด็นนี้ต่อไป  จากนั้นก็ได้หารือร่วมกับอาจารย์ไพบูลย์และผู้ร่วมงานขณะนั้นว่าจะสร้างกลุ่มละคร โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” เพราะเชื่อมั่นเรื่องการเรียนรู้ว่าจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ในที่นี้ คำว่า“บาง” หมายถึงที่รวมของชุมชน  ของคน และ “เพลย์” (play) หมายถึง “ละคร” และ “เล่น”

อาจารย์ไพบูลย์เสริมว่าโดยส่วนตัวเป็นอาจารย์สอนละครตั้งแต่เรียนจบ ทำงานละครเวทีอยู่แล้วและใช้ชีวิตอยู่กับละครเวที   พอมารวมตัวกันครั้งแรกนั้นมีจุดเริ่มต้นว่าเราอยากมีคณะละครที่เชื่อมมายังแนวทางของการเรียนรู้  และเผอิญว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้มาทำงานร่วมกันคือการสร้างการเรียนรู้ของเยาวชนเกี่ยวกับเพศวิถีศึกษาผ่านละคร ซึ่งมันคือการเรียนรู้ชีวิตในมิติที่รอบด้านที่เกี่ยวข้องกับคน  และเราก็เชื่อว่าละครคือการเรียนรู้ชีวิตผ่านการลงไปทำละคร  จึงคิดว่าน่าสนใจ  ดังนั้นในปลายปี 2547 จึงตั้งกลุ่มขึ้นมา มีสมาชิกหลักที่อยู่ตอนนี้ 3 คน อีกคนคือคุณอุษาวดี  สุนทรเกตุ ซึ่งเดิมตั้งกลุ่มแถวรามคำแหง   ต่อมาเมื่อย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยบูรพาจึงตั้งกลุ่มอยู่ที่ บางแสน จังหวัดชลบุรี บางเพลย์จึงอยู่บางแสน อาจารย์ไพบูลย์คิดว่าการมีพื้นที่ตั้งของคณะละครเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะทำให้มีพื้นที่สร้างงานและทดลองงานที่ชัดเจน ซึ่งตอนนั้นเชื่อมั่นว่าไปอยู่ในชุมชนบางกะปิ   ก็ควรที่จะต้องทำอะไรเพื่อชุมชนบางกะปิด้วย

อาจารย์อภิรักษ์ขอให้ขยายความคำว่า “แนวทางของการเรียนรู้” ของกลุ่มว่าเป็นอย่างไร   อาจารย์ไพบูลย์ตอบว่า แนวคิดการเรียนรู้เป็นฐานคิดหลักในการทำงานของกลุ่มตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่มละคร การเรียนรู้น่าจะต้องเป็นการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวบุคคล ผ่านประสบการณ์และวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเราสนใจใช้ศิลปะการละครเพื่อสร้างการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่จะทำทุกครั้งเมื่อทำละครคือจะสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อเชื่อมโยงนักแสดงให้เข้าใจในสิ่งที่จะเล่า โดยจะออกแบบกระบวนการเพื่อการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ การเข้าใจจึงไม่ใช่การเข้าใจเฉพาะตัวบทละครเท่านั้น แต่เป็นการหลอมรวมประสบการณ์ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แล้วนำมาพัฒนาเป็นบทละคร   และในบางครั้งนักแสดงของเราก็สร้างการเรียนรู้บางอย่างให้กับเราด้วย

  1. 2.       ผลงานของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”

คุณทวีวัฒน์และอาจารย์ไพบูลย์เปิดวีดิทัศน์และสรุปผลงานที่ผ่านมาของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” โดยแยกผลงานออกเป็น 2 กลุ่มคือ

2.1     ผลงานที่แสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ  มีดังนี้

2006          “Sex and the City”  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากที่ฟิตเนสเริ่มเข้ามาในสังคม ณ ช่วงเวลานั้น  และมีโอกาสได้เข้าเป็นสมาชิก และรู้สึกว่าที่แห่งนั้นเป็นพื้นที่ส่วนตัว  จึงเสนอให้เรื่องเกิดขึ้นในมุมหนึ่งของฟิตเนส  และนำเสนอในมุมมองของเรื่องเพศ และเรื่องการใช้ชีวิตของคนในเมือง

“เจี๊ยวจ๊าว & จุ๋มจิ๋ม ภาค 2”  ซึ่งก่อนหน้านี้มีภาคแรกแล้ว  โดยให้เจี๊ยวจ๊าวแทนผู้ชาย  จุ๋มจิ๋มแทนผู้หญิง และในเรื่องก็นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพ (Gender)   เรื่องเอดส์

2007                 “หนูจ๋ากับตุ๊กตาผ้า” ละครเรื่องนี้ไม่ได้คิดรูปแบบไว้  เพราะว่าในปีนั้นไม่ได้ตั้งใจจะสร้างละครเพื่อที่จะส่งงานเทศกาลละครฯ โดยเฉพาะ  แต่ละครเรื่องนี้เน้นรูปแบบที่อยากให้คนดูมีส่วนร่วมกับละคร  และกลายเป็นพื้นที่ที่เด็กสามารถเข้ามาร่วมเล่นกับเราได้  ต่อมาละครเรื่องนี้นำไปแสดงที่เวทีเด็ก  ในงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ

ในเรื่องนี้จะให้เด็กร่วมตามหาว่าตุ๊กตาผ้ามาอย่างไร  เพราะช่วงนั้นกระแสรายการ “กบนอกกะลา” เป็นที่สนใจ จึงนำวิธีการดังกล่าวมาใช้  ซึ่งเด็กก็สนุกที่ได้ร่วมตามหาที่มาของงตุ๊กตาด้วย  เพราะมีการย้อนไปเจอช่างตัดผ้า  คนทอผ้า    เรื่องนี้มีตัวละครที่มีสองด้าน  คือ ผู้ชาย  กับผู้หญิง   ในประเด็นนี้อาจารย์พรรัตน์ ดำรุงได้ให้คำแนะนำไว้ว่า  ถ้าจะทำละครเด็กก็ควรที่จะสื่อให้ชัด ไม่ควรใช้ตัวละครตัวเดียวเล่นเป็นตัวละครทั้งสองเพศ  เพราะเด็กจะสับสน

2008                “เจี๊ยวจ๊าว & จุ๋มจิ๋ม ภาค 3” เน้นเรื่องการใช้ชีวิตของวัยรุ่นในโรงเรียน  และการใช้ชีวิตร่วมกันของเยาวชนหญิงชายในวัยนักศึกษา  ความหลากหลายทางเพศ  การจัดการความสัมพันธ์กันระหว่างแฟนที่เป็นคู่รักกันในช่วงวัยเรียน

2009                “ฝูงมนุษย์กับ Mr. Wing”  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากบทประพันธ์ของอาจารย์ช่วง  มูลพินิจ เรื่องฝูงมนุษย์  เรื่องสั้นของคุณจิมมี่ เหลียว และบทกวีเรื่อง ชนชั้นกลาง ของคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งทำให้รู้สึกถึงความหมายและคุณค่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม  จึงนำแรงบันดาลใจนี้มาสร้างเป็นละครว่า  มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะฝัน  มีสิทธิ์ที่จะบิน  แต่ว่าเราจะบินไปที่ใด   ซึ่งนำเสนอโดยการใช้รูปแบบการอ่าน   การเคลื่อนไหว  และทดลองนำศิลปะหลากหลายสาขามาผสมกัน  ทั้งดนตรีที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อประกอบการแสดง งานดนตรีเริ่มต้นจากการที่ให้เด็กทดลองทำ เมื่อนำมาส่งก็เห็นว่าการแสดงของเขาสามารถนำมาเชื่อมต่อกับการแสดงเรื่องนี้ได้  Mr. Wing  เป็นตัวละครหลักในเรื่องที่แสดงถึงทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคนในสังคมที่ต้องดิ้นรน  ขณะเดียวกันก็ต้องถามตัวเองว่า  เราจะเดินไปทางใดดี  เดินตามกระแสที่เป็น หรือว่าควรที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ “มันควรจะเป็น”  และเมื่อลุกขึ้นมาแล้วจะบินไปที่ใด  นั่นคือสิ่งที่อยากจะถามว่า “มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะบิน…..บินไปไหน”

2010          นอกจากนี้  ยังนำการแสดงเรื่องนี้ไปแสดงอีกหลายครั้ง  ทั้งที่งานประชุมวิชาการจิตปัญญาศึกษาจัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดล  และพบว่าทุกครั้งที่แสดงจะมีการปรับไปตามพื้นที่ที่แสดง  แต่ทว่าโครงเรื่องหลักยังคงอยู่

2011                 “แม่ข้าว”  เป็นเรื่องของจิตวิญญาณแม่ข้าวที่หายไป  ในเรื่องนี้ต้องชวนนักแสดงฝึกฝนร่างกาย เพราะสนใจทำphysical theatre ทุกคนต้องใช้ร่างกายในการแสดงอย่างเต็มที่  การทำงานครั้งนี้มีการเรียนรู้ประเด็นบางอย่างในแง่ของ “แม่ข้าว”  คือถ้านักแสดงของเรารู้สึกเกี่ยวกับข้าว เข้าใจจิตวิญญาณข้าว  เขาก็จะรู้สึกเช่นกันว่าจิตวิญญาณเกี่ยวกับข้าวหายไปนั้นสำคัญอย่างไร  เราพาเขาไปดูข้าว  พาไปคุย ไปดู และพบรูปพระแม่โพสพที่ทำจากฟาง ที่ตั้งอยู่เฉยๆ  แต่ทำให้เรารู้สึกว่ามีชีวิตจริงๆ  ตอนนั้นพานักแสดงไปสนทนาร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในการฝึกซ้อมก็สนุกกับการค้นหากิจกรรมมาทำกับนักแสดง มีการให้กินข้าว สูดดมกลิ่นข้าว ก็คิดว่านักแสดงน่าจะต้องรู้สึกอะไรบ้าง

คุณทวีวัฒน์ยอมรับว่าที่จริงแล้วสิ่งที่จุดประกายให้ทำเรื่องนี้คือ  ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับข้าวใน นิตยสาร ฅ คน  ซึ่งทำให้ย้อนคิดว่าอยากจะกลับไปสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับข้าว  การแสดงในครั้งนี้เริ่มต้นมาจากความอยากที่จะพูดเรื่องข้าว  แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ มาเอง  จนลงตัวที่ความเป็นไทย  และคิดว่าน่าจะต้องมีดนตรี   อาจารย์ไพบูลย์เสริมว่าครั้งแรกคิดจะใช้ซอแค่ตัวเดียว  จากนั้นนักดนตรีก็เสนอว่าน่าจะมีดนตรีมากชิ้นกว่านี้  จนในที่สุดก็ใช้วงดนตรีทั้งวงบรรเลงดนตรีสด และขับร้องเพลงไทยเดิมประกอบการแสดง physical theatre ครั้งนี้  ทั้งนี้  เหตุผลสำคัญที่การแสดงครั้งนี้เป็นโปรดักชั่นใหญ่เพราะว่า  การทำงานเริ่มต้นที่ว่าใครสนใจจะเล่นมาฝึกด้วยกัน  ท้ายที่สุดเมื่อเขามาซ้อมแล้วก็ตัดยาก เพราะแต่ละคนก็ต่างมีความตั้งใจทั้งนั้น   จากการทำงานเรื่อง “แม่ข้าว” แล้วก็โยงไปในเรื่องอื่นๆ ด้วย  เพราะแม่ข้าวผูกพันกับแม่น้ำ  ซึ่งปีนี้ตั้งใจว่าจะทำเรื่องแม่น้ำ  และสรุปการทำงานของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  ว่าจะเริ่มจากที่คุณทวีวัฒน์เป็นผู้สร้างสรรค์บทขึ้นมา  จากนั้นก็ใช้การทดลองเป็นตัวนำ ทั้งสำหรับนักแสดงและนักดนตรี

 

2.2    ผลงานนอกเทศกาลละครกรุงเทพ  มีดังนี้

2007          “ที่ชอบ ที่ชอบ”  ละครเรื่องนี้ทำตั้งแต่ตอนที่อาจารย์ไพบูลย์ยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต  และไปแสดงที่ศูนย์สังคีตศิลป์  ธนาคารกรุงเทพฯ  ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”   ที่ดัดแปลงบทมา  เพราะส่วนใหญ่คุณทวีวัฒน์จะเป็นผู้เขียนบทเองทั้งหมด  ในเรื่องนี้เป็นการเดินทางไปหาที่ที่ชอบ ที่ที่ใช่ของแต่ละคน เป็นที่ที่มีคุณค่าของคนแต่ละคน

2008          “See Me as Who I am” เป็นเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจจากการไปเข้าร่วมโครงการศิลปินลุ่มน้ำโขง (Mekong Creative Communities : Arts for Advocacy Fellowships 2008) จัดโดย PETA (Philippine Educational Theater Association)  ที่ประเทศกัมพูชา  โดยต้องสร้างชิ้นงานขึ้นมาจากแรงบันดาลใจ ตอนนั้นเรารู้สึกกับประเด็นการอยู่ร่วมกับผู้ได้รับเชื้อ HIV ความสัมพันธ์ของคน “มองฉันอย่างที่ฉันเป็น” เล่นกับฉัน อยู่กับฉันเพราะฉันคือฉัน หลังจากนั้นก็นำงานชิ้นนั้นกลับมาทำอย่างเต็มรูปแบบที่ประเทศไทยแสดงที่บ้านบางเพลย์ รามคำแหง ตั้งใจให้คนในชุมชนรามคำแหงได้ดู  อาจารย์ไพบูลย์เห็นว่าการไปอบรมกับ PETA นั้น เขาจะให้เราใช้สัญชาตญาณในการทำละคร  คือถ้ารู้สึกกับประเด็นใด  เราควรที่จะทำเรื่องนั้น  โดยไปดูว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราสนใจ

“มหานคร 2008”  ทำขึ้นเพื่อแสดงเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์  ขณะที่กลุ่มยังอยู่กรุงเทพฯ ก็ตั้งใจว่าจะให้ “มหานคร” กับ  “เจี๊ยวจ๊าว” เป็นซีรี่ส์ของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  แต่พอย้ายไปอยู่ชลบุรีก็เลยไม่ได้ทำละครมหานครต่อ แต่ทำเรื่องเจี๊ยวจ๊าว

2009          “มหานคร 2552”  เรื่องนี้แสดงที่ห้องประชุม  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร   และ  “เจี๊ยวจ๊าว & จุ๋มจิ๋ม ภาค 4”  แสดงที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี

2010          “สายน้ำ  ชีวิต  ความหวัง”  เป็นการแสดงชุดล่าสุด  ได้แรงบันดาลใจมาจากการทำงานที่คลิตี้  จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งมีปัญหาเรื่องแม่น้ำมีสารตะกั่วปนเปื้อน  และเรื่องนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ทำเรื่อง “แม่น้ำ” ที่จะส่งเข้าร่วมเทศกาลฯ ปีนี้  อาจารย์ไพบูลย์กล่าวว่าการที่ได้เข้าไปร่วมกับชุมชนคลิตี้  เพราะว่าไปพบพี่คนหนึ่งที่รถไฟฟ้าแล้วเขาชวนว่าสนใจทำหรือไม่  เขาจะลงไปทำเรื่องคลิตี้  ซึ่งเขาเล่าว่าเป็นชีวิตของคนในหมู่บ้านที่โดนตะกั่วสามสิบปีมาแล้ว  และไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ  จนสารตะกั่วเข้าไปอยู่ในร่างกายของเขา  พี่คนนั้นถามว่าจะไปทำให้คนในชุมชนของเขาเรียนรู้วิถีชีวิตของเขาได้หรือไม่  โดยส่วนตัวรู้สึกกับประเด็นนี้จึงไปทำ  และตั้งใจว่าสิ่งหนึ่งที่จะทำคือไม่ใช่ภาพการประท้วง  แต่หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่รู้ว่าในน้ำของเขามีอะไรเกิดขึ้น  เขาจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร   จึงใช้กระบวนการละครค่อยๆ ทำให้เขาคิดขึ้นมา  ขณะเดียวกันก็คิดด้วยว่าทำอย่างไรให้คนในหมู่บ้านรู้ว่าละครคืออะไร  ดังนั้น  การลงไปทำครั้งนี้จึงมี 2 วัตถุประสงค์ คือการใช้ละครสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น และนำเสนอความเป็นจริงในชีวิตความเป็นอยู่ให้พวกเขาทราบ  ประเด็นที่สองคือ  ถ่ายทอดรูปแบบการแสดงที่เรียกว่าละคร  และเมื่อเดือนที่แล้วก็นำเด็กๆ ที่หมู่บ้านคลิตี้มาแสดงละครที่หอศิลป์ฯ และก็มาเล่นด้วยสำเนียงของเขา

  1. 3.       การทำงานของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”

อาจารย์อภิรักษ์ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าจะจำแนกงานของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” จะมี 2 ลักษณะ คือ หนึ่งเป็นการแสดงละคร  และสองคือเป็นกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ เช่น ค่ายอบรม  คุณทวีวัฒน์ยอมรับว่าหลักๆ ที่ทางกลุ่มทำคือละครกับกระบวนการเรียนรู้  ส่วนใหญ่จะเป็นค่ายและการอบรม  ซึ่งกลุ่มไม่สามารถอยู่ได้จากละคร  แต่สามารถอยู่ได้จากการทำค่าย  ทำอบรม เพราะมีทั้งอบรมเยาวชนและอบรมคุณครู  ซึ่งจะมีงานพวกนี้ค่อยๆ เข้ามา  และเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ  ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยออกไปหางานเองเลย  จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีงานประเภทนี้เข้ามาเรื่อยๆ  ซึ่งรายได้จากการทำค่ายและอบรมนี้สามารถทำให้ทำละครได้เรื่อยๆ

อาจารย์ไพบูลย์เสริมว่าตอนที่กลุ่มละครยังอยู่กรุงเทพฯนั้น  มีเจ้าหน้าที่ประจำ 2 คน มาทำหน้าที่ประสานงานเพราะมีงานมาเรื่อยๆ แต่พอย้ายไปจังหวัดชลบุรีก็ต้องหยุดชั่วคราว แต่ถ้าเป็นงานละครก็เริ่มต้นจากตัวเอง  และบางทีก็มีคนหยิบยื่นพื้นที่ให้มาเล่น  ฉะนั้นงานของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” จึงมีงานเข้ามาเรื่อยๆ

อาจารย์อภิรักษ์อยากทราบว่างานที่มีผู้เสนอให้ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” ทำนั้น  ทางกลุ่มเคยปฏิเสธบ้างหรือไม่  หรือว่ารับทำหมดทุกเรื่อง  คุณทวีวัฒน์ยกตัวอย่างละครเรื่อง “เจี๊ยวจ๊าว & จุ๋มจิ๋ม”   นั้น  เขาเข้ามาเพราะว่าเราคือ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” ที่ทำเรื่องนี้อยู่  เพราะฉะนั้นเรื่องอื่นๆ ถ้าไม่ “โดน” เราก็ต้องหารือกันก่อน

นอกจากนี้ อาจารย์อภิรักษ์อยากทราบว่าการทำละครที่มีประเด็นเพื่อเผยแพร่ความรู้หรือว่าละครรณรงค์นั้น  ศิลปินทำเพียงแค่ตอบโจทย์ขององค์กรทุนหรือว่าศิลปินมีโอกาสได้ถ่ายทอดและนำเสนอความคิดของศิลปิน  อาจารย์ไพบูลย์คิดว่าประเด็นนี้น่าจะต้องถามคนดูที่เคยดูงานแล้วรู้สึกว่านี่เป็น “ละครประเด็น” หรือไม่ เพราะว่าโดยส่วนตัวก็มีประเด็นหนึ่งที่ค้างอยู่ในใจว่า “จริงหรือที่ทำละครแบบนี้แล้วเป็นละครประเด็น”  หรือนำละครไปสร้างประเด็น  แต่ไม่ใช่ละครที่ทำเพื่อศิลปะ  เพราะอันที่จริงละครเหล่านั้นก็เป็นละครที่นำเสนอเนื้อเรื่องเรื่องหนึ่งที่เราอยากจะถ่ายทอด   แต่ถ้าเรื่องที่ไกลจากความสนใจมากๆ ก็จะไม่ทำ  ด้วยเหตุนี้  ส่วนใหญ่จึงทำละครที่เกี่ยวกับเรื่อง “เพศวิถีศึกษาเพราะเป็นเรื่องชีวิตของมนุษย์”

ในแง่นี้  คุณทวีวัฒน์ยกตัวอย่างว่า ละครเรื่อง “เจี๊ยวจ๊าว & จุ๋มจิ๋ม”  ไม่ใช่ว่าคุณทวีวัฒน์เขียนบทเพื่อให้นักแสดงเล่น  แต่ว่านักแสดงทุกคนที่เล่นละครเรื่องนี้ต้องมาสนทนากันเพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่จะสื่อสาร  ซึ่งมีทั้งการอบรม  ทำกิจกรรม  หรือบางครั้งก็พาไปดูงาน  พาไปเข้าค่ายก่อนที่จะผลิตเป็นละครเรื่อง “เจี๊ยวจ๊าว & จุ๋มจิ๋ม”  ตั้งแต่ภาค 1 ถึงภาค 4  หรืออย่างเรื่องล่าสุดที่ทำคือ “แม่ข้าว” ก็พานักแสดงไปสร้างความรู้สึกและความเข้าใจในเรื่องที่เขาจะแสดง  ไม่ใช่ว่าผู้เขียนบทรู้สึกในเรื่องนี้คนเดียวแล้วให้เขาแสดงตามใจเรา  แต่จะมีขั้นตอนพานักแสดงไปเรียนรู้ในเรื่องที่เขาจะทำก่อน  ซึ่ง “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  จะมีขั้นตอนอย่างนี้ทุกครั้งที่ทำละคร

ทั้งนี้  อาจารย์อภิรักษ์อยากทราบว่า “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” ที่ได้รับเชิญให้ไปทำละครหรือไปทำค่ายต่างๆ นั้น  ทางกลุ่มเองได้เรียนรู้อะไรจากการที่ได้ไปร่วมทำงาน  คุณทวีวัฒน์ยอมรับว่าทางกลุ่มเรียนอยู่อย่างมากจากการไปเข้าร่วม โดยยกตัวอย่างงานชิ้นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการกับองค์กรแพธ(องค์การเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุขประจำประเทศไทย –  Path)  ซึ่งองค์กรแพธเป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องสุขภาพและผลักดันเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน 43 จังหวัดทั่วประเทศ  และมีโครงการหนึ่งที่ทาง “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” รับผิดชอบ คือ “โครงการ Up to Me” ซึ่งทำภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่งชื่อว่า “ทางเลือก” และนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและคุณครู เรื่อง ท้องพร้อม ไม่พร้อมและแนวคิดเพศศึกษา เมื่อได้เสวนาและจัดกระบวนการก็ได้เห็นความคิดหลากหลายของครู  ซึ่งก็ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ไปด้วย  เพราะได้พบทั้งคุณครูที่เป็นมุสลิม คุณครูที่เป็นคริสต์ ซึ่งมีทัศนะเรื่องการท้องและการทำแท้งที่แตกต่างกัน   จึงคิดว่าเป็นเรื่องที่คนอื่นน่าจะมีโอกาสได้รู้ด้วย  เพราะแต่ละคนต่างก็เสนอทัศนะตามความเชื่อของเขา  ซึ่งความเชื่อของแต่ละคนก็ไม่ผิด  จึงเห็นว่าเรื่องเหล่านี้น่านำมาถ่ายทอดเป็นละครออกสู่สาธารณชนในวงนอกด้วย  แต่เดิมคิดว่าจะส่งละครเรื่อง “Up to Me” เข้าร่วมงานเทศกาลละครกรุงเทพครั้งนี้ด้วย  แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจส่งเรื่องเดียว คือ “แม่น้ำ”  และเรื่องนี้จะเก็บไว้แสดงในโอกาสต่อไป

อาจารย์ไพบูลย์เสริมว่าเวลาที่ได้ทำงานลักษณะนี้ก็จะมีเรื่องราวใหม่ๆ ที่เราเกี่ยวข้อง  และก็จะนำเรื่องราวเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นเนื้อเรื่อง  และการทำงานกับองค์กรแพธ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนนี้ก็ดีที่ว่าเขาจะมีกิจกรรมเพื่อสร้างเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ และการทำงานอย่างมีส่วนร่วม  และทำให้เราตระหนักมากขึ้นว่าการสร้างการมีส่วนร่วมนั้นเป็นอย่างไร  คิดมากขึ้นว่า โครงการที่คิดเสร็จแล้วก็ดึงคนโน้นคนนี้มาร่วมนั้น ถือว่าเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมหรือไม่  และเมื่อเข้ามาร่วมทำงานกับองค์กรแพธ ก็ทำให้เกิดมุมมองในการทำงานที่กว้างขึ้น งานที่ทำด้านการสร้างการเรียนรู้ทำให้เราโตขึ้น เติบโตจากการทำงาน เช่น การที่ได้มีโอกาสทำงานกับกรมพินิจในการ “ถอดบทเรียนครูช่างที่เข้าไปทำงานละครกับเยาวชนในสถานพินิจ”  คือกรมพินิจฯ ชวนไปถอดบทเรียน เมื่อได้รับโจทย์ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรดี  ในที่สุดก็นำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับองค์กรพัฒนาและจากการที่ได้เคยจัดกระบวนการด้านเยาวชน มาใช้ในการทำงาน  ในขณะเดียวกันการได้ทำงานถอดบทเรียนยังทำให้เราได้เรียนรู้จาก “ครูช่าง” ว่าการใช้ละครในกรมพินิจฯ ตามแบบฉบับครูช่างเป็นอย่างไร  กระบวนการในการดำเนินการเป็นอย่างไร  จึงเห็นว่าเราก็เติบโตจากการทำงานด้วยเช่นกัน เพราะทำให้เราชัดเจนและเปิดโลกของเรามากขึ้น

อาจารย์อภิรักษ์เห็นว่าประเด็นนี้น่าสนใจ เนื่องจาก “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” เป็นศิลปินที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสกับคนนอกชุมชนศิลปินด้วย ทั้งกลุ่มนักวิชาการ นักพัฒนาชุมชน  จนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง  จึงอยากทราบว่ามีภาคีหรือองค์กรที่ทำงานร่วมด้วยแล้วเกิดความประทับใจที่ช่วยให้ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” เปลี่ยนวิธีคิดบ้างหรือไม่

อาจารย์ไพบูลย์ตอบว่าองค์กรแพธ  เพราะสิ่งที่ได้จากองค์กรนี้คือเขาไม่ทิ้งกัน คือพอทำงานร่วมกันก็ไม่ใช่เป็นการลงเฉพาะงาน  แต่เดิมเรามีความรู้เฉพาะละครเท่านั้น  แต่เมื่อไปทำงานร่วมกับเขาแล้ว  เขาก็ชวนเราไปเรียนรู้อย่างอื่นที่นอกเหนือจากละคร เช่น การพัฒนาเยาวชนเชิงบวก การจัดการเรียนรู้ การออกแบบกระบวนการ วิธีการทำงานกับคน หากมีการนำมาปรับใช้กับเครือข่ายละครก็น่าสนใจ  โดยเฉพาะการอบรมหรือทำ workshop  เพราะการทำงานขององค์กรนี้ไม่ได้เรียนรู้แค่วิธีการ แต่ต้องไปเรียนรู้ในเรื่องเนื้อหาที่กำลังจะทำด้วย ก็จะช่วยให้เข้าใจลึกซึ้งถึงสิ่งที่จะถ่ายทอดเพิ่มขึ้น

  1. 4.       ความสัมพันธ์ระหว่าง  กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” กับงานเทศกาลละครกรุงเทพ

คุณทวีวัฒน์เล่าว่า “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” ไม่ได้เริ่มเข้าร่วมงานเทศกาลละครกรุงเทพด้วยการส่งละครเข้าร่วม แต่เริ่มจากทำงานเป็นทีมงานจัดเทศกาลก่อน  โดยเข้ามาร่วมตั้งแต่ปีแรกๆ แต่เป็นการเข้ามาแวะเวียนแบบไปๆ มาๆ  เพราะว่าช่วงนั้นมีพี่ๆ ที่ทำกลุ่มละครด้วยกันจะเป็นแกนที่เข้าไป  โดยส่วนตัวอาจจะยังไม่ได้เข้าร่วมเต็มตัว  แต่ก็เห็นว่าเทศกาลฯ นี้โตมาอย่างไรตั้งแต่ปีแรก

อาจารย์ไพบูลย์เล่าว่ารู้จักกับคุณทวีวัฒน์ในขณะที่ไปเป็นนักแสดง และคุณทวีวัฒน์เป็นผู้ช่วยกำกับ  ที่มาของคนในกลุ่มนี้ก็จะรู้จักกันแบบนี้  แต่ที่มาเข้าร่วมเทศกาลละครกรุงเทพนั้น  ปีแรกคือปี 2545 เข้ามาในฐานะนักแสดงให้คุณธีรวัฒน์ มุลวิไล เรื่อง Crying Century พอปี 2547 ก็เข้ามาทำงานฝ่าย program director ในกับเทศกาลละครกรุงเทพ ต่อจากนั้นเมื่อรวมกลุ่มกันตั้ง “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” และส่งงานเข้าร่วมเทศกาลละครกรุงเทพ ประมาณปี 2549

สำหรับละครที่ส่งมาแสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพนั้น  อาจารย์ไพบูลย์ยอมรับว่าลักษณะของเวทีมีผลต่องานด้วย  เพราะต้องการให้ตัวงานสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้  เช่น ขณะที่ทำ “หนูจ๋ากับตุ๊กตาผ้า”  ช่วงนั้นต้องการชวนให้เด็กๆ ขึ้นมาค้นคว้าอะไรบางอย่างด้วยตัวของเขาเอง  ถ้าแสดงที่เวทีกลางก็จะเป็นเรื่อง “ฝูงมนุษย์กับ Mr. Wing”  และ “แม่ข้าว”  เป็นเรื่องที่อยากทำและอยากสื่อสารกับคนเมือง  และคนเมือง ณ ที่ตรงนั้น  บางคนอายุมากแล้ว  เขาอาจจะย้อนคิดกลับไปว่าเขาต้องดิ้นรนในท่ามกลางสังคมเมืองอย่างไร  จำนวนคนดูและลักษณะของคนดูมีผลต่อรูปแบบของการแสดง   เพราะว่าการเล่นที่เวทีกลางจะต้องสร้างการแสดงแบบใดที่สื่อสารกับคนดู  ซึ่งส่งผลต่อสิ่งที่จะอยู่บนเวทีว่า จะทำอย่างไรให้การแสดงของเราสื่อสารกับคนดู  ณ เวทีกลางได้   จึงมีผลต่อรูปแบบที่จะใช้ในการแสดง  ซึ่งจะใช้ละครพูดอย่างเดียวไม่ได้  เพราะเคยแสดงเรื่องที่ผูกเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ  แต่ด้วยตัวเวทีที่เป็นพื้นที่เปิด  จึงเปิดโอกาสให้คนดูสามารถที่จะลุกขึ้นไปตอนใดก็ได้  สิ่งนี้จึงมีผลต่อวิธีการนำเสนอว่าจะใช้รูปแบบใดในการที่จะให้คนดูตามดูงานต่อไปเรื่อยๆ จนจบเรื่อง

คุณทวีวัฒน์เสริมว่าเมื่อไปดูการแสดงที่เวทีกลางทุกๆ วันก็จะเป็นแรงที่ทำให้เห็นว่าคณะละครแต่ละคณะก็มีการพัฒนาของตนเอง และเริ่มชัดเจนในทิศทางของตนมากขึ้น  ซึ่งก็ส่งผลต่อตัวเองว่าจะต้องชัดเจนกับงานที่ตนเองทำมากขึ้น  เช่น  งานของคุณนิกร เรื่อง ใจยักษ์  เป็นโปรดักชั่นที่เหมาะกับเวทีและเป็นรูปแบบที่นำเสนอก็ไปไกลจากสิ่งที่ได้เคยเห็นคุณนิกรทำมา  ก็ส่งผลต่อตัวเองว่าอยากผลิตงานที่ต้องใช้ความพยายามและความตั้งใจมากขึ้น  เข้าใจเนื้อหาของตัวเองมากขึ้นว่าเราอยากพูดอะไร อยากสื่อสารอะไร  หรืองานของคุณธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ) ก็เห็นว่าเริ่มมีการแสดงเดี่ยวของตนเองที่เวทีกลาง และมีผู้ชมเป็นจำนวนมาก  จึงเห็นพัฒนาการของกลุ่มสามัญที่เติบโตและชัดเจนในแนวทางของเขามากขึ้นเรื่อยๆ  ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” ก็น่าจะชัดเจนและเห็นแนวทางของตัวเองได้ด้วย   ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าตั้งแต่ช่วงแรกๆ ก่อนที่ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” จะเข้ามารับหน้าที่เป็นผฝ่ายจัดการงานเทศกาลฯ  ในปี 2008 หลังจากปีนั้นก็ไม่ค่อยได้ชมละคร เพราะว่าย้ายไปอยู่ชลบุรี   อาจารย์ไพบูลย์เสริมว่าเมื่อมีโอกาสได้ชมพี่ๆ แสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพก็เป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองกลับไปฝึกฝน หรือว่าไปซ้อมเพื่อแสดงบนเวทีให้ได้

 

  1. 5.       การบริหารจัดการสมาชิก  ทิศทาง และความคาดหวังในอนาคตของกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”

คุณทวีวัฒน์กล่าวว่าขณะนี้สมาชิกของ  “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” สมาชิกหลักจริงๆ มี 3 คน  คือ อาจารย์ไพบูลย์  คุณอุษาวดี  และตนเอง  ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ จะเป็นการหาไปเรื่อยๆ จากการทำละคร  และจากการทำอบรม  ซึ่งจะค่อยๆ ชวนกันเข้ามา  ค่อยๆ สนทนากัน  ทำงานไปด้วยกัน และมีการเวียนเข้าเวียนออกตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

อาจารย์อภิรักษ์เห็นว่าแต่เดิม “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์” บริหารจัดการในรูปแบบของบริษัทคือมีพนักงานที่มีเงินเดือนประจำ แต่เมื่อย้ายไปที่บางแสน  ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานในแต่ละโปรเจค  จึงอยากทราบว่ายังมีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินประจำอยู่หรือไม่  อาจารย์ไพบูลย์ตอบว่าขณะนี้การทำงานจะเป็นในลักษณะเมื่อมีงานก็จะชวนผู้ที่สนใจมาทำงานร่วมกัน  ก็จะมีน้องบางคนมาร่วมงานด้วยโดยไม่ได้เงินเดือน

คุณณัฐพัชญ์  วงศ์เหรียญทองเห็นว่าการดำเนินงานของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  หากมองในลักษณะความเป็นองค์กรก็ดูเหมือนว่านักแสดงในกลุ่มก็จะเป็นแบบชั่วคราว  คือไม่มีงานประจำที่เป็นงานประจำจริงๆ ของกลุ่มเอง  จึงสงสัยต่อไปว่าเมื่อละครจบลง  นักแสดงเหล่านั้นได้ไปต่อยอดทางด้านการแสดงต่อไปหรือไม่  และที่ว่ามีคนเวียนเข้าเวียนออกนั้นมีลักษณะอย่างไร  เช่น  เวียนออกไปแล้วไม่กลับมาเลย  หรือว่าเวียนออกไปแล้ววันหนึ่งก็กลับมา   จึงเกิดการตั้งคำถามว่า ณ วันนี้ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งก็ผ่านมา 7 ปีแล้ว  ถึงเวลาหรือยังที่จะตั้งรากฐานเพื่อพัฒนาให้กลุ่มละครของตนไปสู่การมีรากฐานและบุคลากรที่มากพอและชัดเจนขึ้น  เพื่อจะเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างงานได้อย่างต่อเนื่องได้

อาจารย์ไพบูลย์อธิบายว่าที่กล่าวว่ามีสมาชิกหลัก 3 คนนั้น  หมายความว่าสามคนนี้ตัดสินใจที่จะทำกลุ่มไปตลอด  โดยทำละครเป็นอาชีพหลัก  แต่คนอื่นที่เป็นนักแสดงนั้น  บางครั้งก็จะเป็นว่าหากเราอยากทำงานกับนักแสดงคนใดก็จะติดต่อให้เขามาเล่นให้  ซึ่งจะมีทั้งนักแสดงที่เป็นรุ่นพี่และนิสิตนักศึกษา  แต่เป้าหมายในการทำละครหนึ่งเรื่อง  ทางกลุ่มก็อยากที่จะสร้างคน  โดยสร้างผ่านการทำละครเรื่องนั้นๆ  ซึ่งตลอดมาก็มีความคาดหวังลึกๆ ว่าอยากให้เขาอยู่กับเรา  แต่ในช่วงหลังๆ ก็ไม่คาดหวัง เพราะว่าโดยธรรมชาติที่คิดว่าอาจจะเป็นปัญหาร่วมกันของกลุ่มละครส่วนใหญ่คือ  เมื่อจบละครเรื่องหนึ่งก็จะมีสมาชิกเหลือบ้างบางคน  สิ่งนี้คือวิธีการจัดการในเรื่องของนักแสดง    หากถามว่าสมาชิกเหล่านั้นเมื่อละครจบแล้วไปทำอะไรบ้าง  บางคนก็เป็นอานิสงส์ของเขาเอง  ซึ่งต่างคนก็ต่างเติบโตไปในทิศทางของตน  บางคนก็เป็นอาจารย์  บางคนก็ไปทำงานอีกสายหนึ่ง  โดยนำวิธีการจัดการบางอย่างที่ได้จากเราไปใช้   เหล่านี้คือทิศทางที่พวกเขาเลือก  ส่วนความคิดหวังในกลุ่มเมื่อได้หารือกันแล้วก็คิดว่าไม่เป็นไร  เพราะอย่างกลุ่ม “มะขามป้อม” ผ่านมาแล้ว 30 ปีก็อาจจะมีนักแสดงที่เคยร่วมงานเมื่อออกไปเผชิญโลกมาแล้ว 10 ปีก็กลับเข้ามา  หรือว่าเมื่อเขามาเป็นอาสาสมัครแล้วเขาไปเติบโตทางของเขา  และเมื่อใดก็ตามที่เขาตั้งหลักได้แล้วว่าเขาจะมาทำงานด้านนี้อีก  อย่างน้อยเขาก็เลือกกลับมาทำคน สองคน หรือสามคน  นั่นคือวิธีการที่เรากำลังคิด และขณะนี้ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  เพิ่งตั้งมาเพียง 7 ปี  ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่ยังน้อยเกินไป  เพราะว่าผู้ที่เข้ามาร่วมงานกับเรานั้น  เขายังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านชีวิต  ดังนั้นหน้าที่ของเราคือ  เมื่อเขาเข้ามาทำโปรดักชั่นทุกครั้ง  จะทำอย่างไรให้เขาเกิดแรงที่จะใช้ชีวิตหรือแรงที่จะเรียนรู้ในมุมมองอื่นของการใช้ชีวิตไปพร้อม ๆ กันโดยผ่านการทำละครร่วมกัน  ซึ่งเขาจะรับหรือเรียนรู้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง

คุณทวีวัฒน์เสริมว่าเหตุผลอีกประเด็นหนึ่งคือเดิม “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  อยู่ที่กรุงเทพฯ มา 5 ปี ก่อนที่จะย้ายไปที่บางแสน  จึงส่งผลต่อความต่อเนื่องในเรื่องการบริหารจัดการด้วย  จะพบว่ายังมีน้องที่ยังมีความสัมพันธ์กันดีอยู่  แต่ด้วยระยะทางที่ห่างกัน  จึงไม่มีโอกาสได้ร่วมมือกันทำงาน  แต่ก็ยังมีแนวโน้มว่าจะมีโอกาสร่วมมือกันในอนาคตต่อไป  ทั้งนี้   ความคาดหวังต่อไปคือการทำให้เกิดคน  แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็จะลดความคาดหวังลงมา  แล้วค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เพราะว่าบางทีแนวทางที่เลือกใช้อาจจะไม่ตรงกับความคาดหวังซึ่งกันและกันก็ได้  จึงอาจต้องมาเรียนรู้กันเพื่อที่เราจะได้เลือกเขาและเขาก็จะได้เลือกเราด้วย    อาจารย์ไพบูลย์เสริมว่าเมื่อมีงานชิ้นหนึ่ง  หน้าที่ของเราคือการส่งผ่านและชวนกันมาทำงาน  เราตั้งเป้าหมายว่าเราอยากได้นักแสดงที่เก่งและที่ฝึกมาด้วยกัน  ซึ่งอาจจะเหลือปีละคน  และโดยส่วนตัวที่เป็นอาจารย์  ผู้ที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาหรือเป็นลูกศิษย์

สำหรับอนาคตของ  “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  นั้น  อาจารย์ไพบูลย์ก็ยังเชื่อมั่นในแนวทางของละครเพื่อการเรียนรู้ที่ฝึกนักแสดงอย่างจริงจัง  จึงเชื่อมั่นว่ากลุ่มนักแสดงของกล่มต้องมีแน่นอน  ซึ่งความพิเศษของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  นั้น ไม่เพียงแต่ว่าจะแสดงได้เท่านั้น  แต่ยังสามารถที่จัดการเรียนรู้บางอย่างหรือสร้างการเรียนรู้ให้คนอื่นได้   และลักษณะพิเศษนี้ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ใช้ในการเลือกคนเข้ามาในกลุ่มด้วย  เพราะในการจัดกระบวนการเพื่อทำงานกับเยาวชนบางครั้งไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยงเท่านั้น  แต่ต้องทำหน้าที่ชวนสนทนาในประเด็นบางอย่างได้   ในแง่นี้อาจจะเกินความคาดหวังของคนทำงานละคร  แต่คนที่ทำงานกับ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  ต้องเป็นทั้งนักแสดงและนักพัฒนาด้วย

คุณดวงใจ  หิรัญศรีเห็นว่าการสร้างกลุ่มของ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  เป็นกระบวนการที่เป็นธรรมชาติมาก  และน่าจะยั่งยืนกว่า  ซึ่งอาจจะมีปริมาณนักแสดงไม่มากนัก  แต่ว่าเมื่อคนที่เลือกแล้วก็จะอยู่นาน  จึงอาจต้องใช้เวลาในการสร้างไปเรื่อยๆ   คุณทวีวัฒน์เสริมว่าตอนที่ตั้งกลุ่ม “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  ครั้งหลังสุด  โดยส่วนตัวหวังว่าคนจะต้องเพิ่มมากขึ้น  และมีคนเห็นมากขึ้น  อาจารย์ไพบูลย์ยืนยันว่า “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  เลือกที่จะไม่ใช้วิธีการสร้างพันธะสัญญากับนักแสดงว่า “เมื่อเข้ามาแล้วต้องเล่นกับกลุ่มนี้เท่านั้น”  เพราะเข้าใจบริบทของผู้ที่เข้ามาว่า เขากำลังค้นหาแนวทางบางอย่างของเขาอยู่  ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าเราก็กังวลในเรื่องนี้เช่นกัน  เพราะเราก็อยากให้คนอยู่และร่วมทำงานกับเรา  แต่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดไปทำไม  เพราะว่านี่คือชีวิตของเขา

อาจารย์เจตนาเสริมว่าสนใจในประเด็นที่ว่าอยากจะให้มีการเกาะกลุ่มกันถาวรหรือไม่  และจากที่ติดตามการเสวนา “ขึ้นเขียง” มาหลายครั้ง และติดตามกลุ่ม “ละครผอม” ก็พบว่ามีสิ่งที่ “ละครอ้วน” ไม่มี  นั่นก็คือ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น” และความพึงพอใจที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกัน  ที่อาจจะมีความผิดพลาดบ้าง  เรียนรู้จากคนอื่นบ้าง  แต่ท้ายที่สุดก็สามารถค้นพบตัวเอง  จึงต่างจากกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ใน “สถาบัน” เพราะละครที่มีมาจากสถาบันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย  กล่าวคือจะมีความรู้ที่รอบด้าน  มีหลักสูตรที่จะสอนเทคนิค  เรื่องที่เป็นศิลปะ  การออกเสียงเป็นอย่างไร  การแสดง  การออกท่าทางเป็นอย่างไร    สิ่งนั้นได้เปรียบจริงอยู่  จึงอยากเสนอว่าให้มองอย่างนี้ว่า  สถาบันเขาอยู่ของเขาแล้ว  เมื่อเราเข้าไปอยู่กับเขา เขาไม่ได้หวังว่าเราจะเอาอะไรมาให้เขา  แต่เขาหวังว่าเราต้องเรียนจากเขาอย่างที่เขาต้องการให้เราเป็น   ในตะวันตกคนที่เรียนละครและฝึกออกมา  ถ้าจะหางาน  ก็จะไม่หางานในกลุ่ม “ละครผอม”  แบบนี้  เพราะว่าเขาถูก “ปั้น” มาแล้วในรูปแบบหนึ่ง  เขาก็จะหางานจากโรงละครที่เป็นสถาบันอยู่แล้ว  จึงเป็นการเดินสถาบันหนึ่งไปอีกสถาบันหนึ่ง  อาจจะต้องปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย  แต่ว่าโอกาสที่จะได้ค้นหาตัวเองนั้นน้อยกว่าที่จะเรียนผิดเรียนถูกเองระหว่างทาง  จึงเห็นว่าจุดนี้อาจจะเป็นจุดที่ทำให้ละครของเรามีชีวิตชีวาก็ได้

นอกจากนี้  อาจารย์เจตนาก็ยอมรับว่าตั้งแต่ดูละครของเบรชคท์ (Bertolt Brecht) แม้แต่ที่แสดงในโรงละครของเบรคชท์เอง  แต่ยังเล่นไม่ดีเท่ากับที่ PETA เล่นละครเรื่อง “วงกลมคอเคเซียน”  ซึ่งแสดงนานมาเกือบ 20 ปีแล้ว  การแสดงครั้งนั้นใช้ฉาก ใช้ลีลา และใช้เครื่องแต่งกายทั้งหมดเป็นคนฟิลิปปินส์ที่เกาะมินดาเนา  ซึ่งใช้ผู้แสดงไม่มากและสลับกันเล่น  แต่ว่าคนพวกนี้ทุกคนรู้ว่าละครจะไปทางใด  หมายความว่าเป็นละครที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้กำกับ  แต่เป็นละครที่คล้ายๆ กับว่าเขาได้สนทนากันมาแล้ว  และเขาก็ทำเรื่องอื่นๆ มา อย่างที่มีผู้กล่าวถึงวิธีการทำละครของ PETA  ว่าถ้าจะทำเรื่องเกี่ยวกับสลัมก็ไปดูสลัม  จึงเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมกันทีละเล็กทีละน้อยเป็นกระบวนการสร้างสรรค์  พอถึงขั้นที่จะมาเล่นละครคลาสสิก  ซึ่งเป็นละครที่มีตัวบทที่ตายตัว  ก็จะง่ายมาก  เพราะเขาเป็นคณะมาแล้ว และเป็นผู้ที่คิดได้  จึงเป็นนักแสดงที่ระดับสติปัญญาสูงกว่าที่ผู้กำกับบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้   ในแง่นี้ อาจารย์เจตนาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้หนักว่าละครในบ้านเราควรจะเป็นไปในแนวทางนั้นหรือไม่  เพราะถ้าเข้าไปหาสถาบันที่มีอยู่แล้ว  และเราเข้าไปเปลี่ยนเขาไม่ได้  โดยส่วนตัวเห็นว่าตั้งแต่มีภาควิชาการศิลปะการละครในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว  ละคร “น้ำเน่า” ก็ยิ่งเน่ากว่าเดิม  นั่นเป็นเพราะว่าเราไม่สามารถเป็นตัวของเราเองได้  เมื่อเราเข้าไปอยู่ในนั้น  เราถูกกำกับด้วยสถาบันนั้น  ที่มุ่งแสวงหากำไร  มุ่งสร้างรสนิยม และมุ่งปลุกสัญชาตญาณใฝ่ต่ำ

ด้วยเหตุนี้  อาจารย์เจตนาจึงเห็นว่ากลุ่มละครเหล่านี้ควรอยู่กันไปอย่างหลวมๆ แล้ววันหนึ่งเมื่ออายุสักห้าสิบก็จะเกิดความอิ่มเอิบใจว่า “ทำไมเรายังไม่ตาย ทำไมเรายังอยู่ได้”  เพราะว่าคนก็ไป  และคนก็มา ขอให้มีพลวัตนี้ที่เกิดขึ้นจากที่คนไปและคนมา  เพราะว่าเมื่อเขาไปแล้ว  เขาอาจจะไปสร้างอะไรใหม่ที่ดีกว่าครูก็ได้  และตรงนั้นก็จะเป็นความชื่นใจของคนที่เป็นครู  เพราะฉะนั้นควรรักษากระบวนการที่หลวมๆ เช่นนี้ไว้ต่อไป  ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ยอมแพ้ในเรื่องคุณภาพด้วย

 

  1. 6.       อภิปรายทั่วไป

ผู้ดำเนินรายการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาซักถาม“กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  โดยเริ่มจากอาจารย์เจตนาที่ขยายความในประเด็นเรื่อง “คนดู” ว่าล่าสุดที่ไปชมละครที่คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงเรื่อง “แมคเบธ” ซึ่งเป็นละครที่นำเสนอในโทนมืด  และใช้แสงอย่างเดียว  เพื่อต้องการจะตรึงผู้ชมให้ได้  และต้องการให้ผู้ชมชมทุกบททุกตอนอย่างไม่วอกแวกไปทางใดเลย ซึ่งอาจารย์เจตนาเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ใช่วิสัยของละคร   และละครเชกสเปียร์เรื่องนี้  เขาพยายามนำมาเล่นให้ดูเหมือนในสมัยเชกสเปียร์   และจากประสบการณ์ที่มีโอกาสชมละครที่เล่นในลักษณะนี้ที่เป็นการเล่นกึ่งกลางแจ้งที่โรงละคร The Globe Theatre ที่สร้างใหม่ในลอนดอน    โดยสร้างเป็นวงกลม  ตรงกลางไม่มีหลังคา  ก็พบว่าพวกนักแสดงในยุคนี้เองก็ปรับตัวลำบาก  นักแสดงแสดงไม่ได้  เพราะว่าเสียงไม่ดังพอ  ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ฝึกมาให้เล่นการแจ้ง  และจากประสบการณ์ที่ได้ไปชมการแสดงที่จัดแสดงในโรงละครแห่งนี้นั้นเรื่องหนึ่งพบว่า  จากนักแสดงสิบกว่าคนมีนักแสดงที่พูดและฟังได้ยินเพียงแค่สองคนเท่านั้น  นอกจากนี้ยังเห็นว่าละครเชกสเปียร์ตรึงคนดูด้วยวิธีการต่างๆ  แม้จะเป็นเรื่องที่โหดร้ายอย่างเรื่อง “แมคเบธ”  ซึ่งต้องมีฉากฟันดาบ  และฉากฟันดาบตอนสุดท้ายที่การแสดงของคณะอักษรศาสตร์ตัดออกไปนั้น  เนื่องจากใช้ระบบคิดคนละระบบกัน  แต่เดิมฉากฟันดาบตอนท้ายนั้นจะใช้เวลานานมาก  และสุดท้ายจะตัดและโยนหัวแมคเบธลงมา  จะเห็นได้ว่าคนในสมัยก่อนแปลกมาก  เพราะสามารถรับอะไรที่ละเมียดก็ได้  และรับอะไรที่โหดร้ายก็ได้  ตามประวัติศาสตร์พบว่าจะมีบางวันที่ละครคนมาดูน้อยมาก  เนื่องจากวันนั้นมีการประหารนักโทษ  โดยการตัดหัวที่ Tower of London  คนส่วนใหญ่ไปดูการตัดหัวนักโทษ  เพราะถือว่าการตัดหัวเป็นมหรสพอย่างหนึ่ง  จะเห็นได้ว่าในด้านหนึ่งละครเชกสเปียร์ก็มีความสูงส่ง  เพราะมีเนื้อหาชวนให้คิดในเชิงปรัชญา  แต่ขนบการดูละครและการเล่นละครนั้นหลากหลายมาก  สำหรับการแสดงของไทยนั้น  การที่จะพยายามดึงให้คนสนใจการแสดงของเราในทุกวินาทีนั้นเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้  ในประเด็นนี้  อาจารย์บรูส  แกสตันเคยบอกว่าในฐานะที่เขาเป็นคนต่างชาติจึงไม่เคยเห็นอะไรที่เหมือนงานวัดของไทย  ที่กลุ่มมหรสพเล่นเรื่องนี้ก็อยู่ตรงนี้  ขณะที่อีกกลุ่มก็เล่นติดกัน  ซึ่งเสียงการแสดงต่างๆ ประสานกันไปหมด  แต่คนดูกลับไม่รู้สึกว่าถูกรังควาญซึ่งกันและกันเลย  เขาอยากดูเรื่องนี้เขาก็ดูเรื่องนี้  พอดูไปสักพักหนึ่งก็อาจจะลุกออกไปซื้ออ้อยควั่นแล้วกลับมาดูตามเดิม  เพราะฉะนั้นละครที่ปิดโรงละครแล้วเล่นแบบโดยไม่ให้ใครพูดเลยนั้นเป็นขนบของฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 17  ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการแสดงใดที่เหมือนอย่างที่เราต้องการ คือทุกวินาทีจะต้องดึงดูดความสนใจผู้ชมไว้ให้ได้  ในเรื่องของการคิดเทคนิคต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจผู้ชมนั้นก็มีมานานแล้ว  ในละครเชกสเปียร์ก็มีทั้งเพลงและการฟันดาบ

นอกจากนี้  อาจารย์เจตนายังให้ความเห็นเกี่ยวกับ “ละครประเด็น” ว่าเป็นศัพท์ละครภาษาฝรั่งเศส คือ  “pièce à these”   หมายถึงละครที่ต้องการจะสื่อประเด็นบางอย่าง  แต่ในที่สุดความหมายนี้กลายเป็นความหมายในเชิงลบว่า “ละครน่าเบื่อ”  เพราะว่าเป็นละครที่ตั้งใจจะมาสั่งสอนคนดู  ดังนั้น  “ละครประเด็น” ในต่างประเทศจึงมีความหมายในทางลบ  อาจารย์เจตนาเห็นว่าไม่ควรที่จะแบ่งประเภทแบบนั้นเลย  แต่ถ้ามีประเด็นก็ควรที่จะแฝงอยู่ในเนื้อของละครเรื่องนั้น   มากกว่าที่จะขึ้นเวทีไปแล้วมุ่งที่จะสั่งสอนว่าควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้  ซึ่งจะทำให้คนไม่ดู  โดยเฉพาะคนไทยไม่ชอบให้ใครมาสั่งสอน  ด้วยเหตุนี้  กระบวนการละครจึงควรคิดหลวมๆ ไว้ก่อนน่าจะดีกว่าที่จะดึงเข้าไปอยู่ในกฏเกณฑ์  ทั้งนี้เห็นว่าควรตั้งใจว่าจะทำได้สองอย่าง  คือ หนึ่งตั้งเข็มไว้ก่อน  แต่ในขณะเดียวกันเมื่อทำไปนานๆ มีความคิดที่ผุดขึ้นมา  เมื่อความคิดผุดขึ้นมาก็ต้องใช้ความคิดนั้นให้เป็นประโยชน์  และน่าประทับใจที่ “กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์”  ทำได้ทั้งสองอย่าง  ซึ่งการทำแบบนี้จึงเป็นการทำที่มีประโยชน์

คุณณัฐ นวลแพง เสริมในประเด็นเกี่ยวกับ “ละครประเด็น” และ “ละครอาร์ต” ว่าจากที่มีประสบการณ์คล้ายกันคือได้ไปร่วมกับ PETA (Philippine Educational Theater Association)   ที่ฟิลิปปินส์  ในปี 2005 ซึ่งเขาใช้คำว่า “Advocacy Play” และตามประวัติจะพบว่า PETA ก็เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับ “มะขามป้อม” ซึ่ง “มะขามป้อม” ก็ไปทำละครกับชุมชน  ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันคือทำประเด็นขึ้นมาเพื่อที่จะสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย และมีการเสวนาหลังละครแสดงจบ  เพื่อกระตุ้นความคิดต่อคนในชุมชนว่าจะทำอย่างไรต่อไป  จึงคิดว่ามุมมองที่อาจารย์ไพบูลย์กล่าวถึงนั้นน่าจะเป็นรูปแบบของการแสดงที่ละครจุดประเด็นในลักษณะนี้  คือเมื่อแสดงเสร็จจะมีการเสวนาหลังการแสดง  เพื่อนำประเด็นที่มีในละครมาเสวนากับกลุ่มเป้าหมายว่าเกิดอะไรขึ้น  หนทางจะดำเนินต่อไปและจะแก้ไขอย่างไร   เพราะว่าโดยส่วนตัวเคยทำละครในลักษณะนี้เหมือนกัน และเคยไปแสดงทัวร์ที่เชียงใหม่และภาคใต้  ละครเรื่องนั้นเป็นละครความร่วมมือกับศิลปินจากเวียดนามจึงนำละครไปแสดงทัวร์ที่เวียดนามด้วย  ซึ่งเป็นการแสดงเรื่องเดียวกันต่างกันที่ว่าแสดงในเมืองไทยก็พูดภาษาไทย  แสดงที่เวียดนามก็พูดภาษาอังกฤษ  นอกจากนี้  นักแสดงที่เล่นละครก็ต้องรู้และเข้าใจสิ่งที่ตนเองกำลังนำเสนอด้วย  บางครั้งอาจต้องไปลงภาคสนามยังสถานที่จริง  ดังเช่นในกรณีที่ได้ไปร่วมกับ PETA ที่ฟิลิปปินส์  เขาก็พาไปสลัมเพื่อที่จะหาประเด็นมาทำละคร ทั้งกำกับและเล่นให้ผู้ให้ทุนชม  ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายๆ กับที่ “มะขามป้อม” และละครหลายๆ กลุ่มของประเทศเราทำอยู่ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ  จึงต่างจาก “ละครอาร์ต”  ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า “ละครอาร์ต” มักจะเป็นละครที่เมื่อแสดงจบแล้วจะไม่มีการเสวนากัน  แต่จะมีการแสดงความคิดเห็นตามเฟซบุ๊ก   อาจารย์อภิรักษ์เสริมว่าขณะนี้ “มะขามป้อม” กำลังทำ “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง”  และใช้กระบวนการเช่นนี้อบรมเยาวชนอยู่ด้วย

อาจารย์ไพบูลย์เห็นว่าการแสดงละครเพื่อให้คนเรียนรู้ประเด็นต่างๆ ในลักษณะนี้  ไม่ว่าจะมีการเสวนาหลังละครเลิกหรือไม่  หรือว่าจะเป็นการใช้กระบวนการในการสร้างการเรียนรู้ก่อนหน้านั้น คิดว่าสิ่งนั้นก็คือรูปแบบของละครที่ทำขึ้นมา  เช่น “Advocacy Plays” ที่เมื่อการแสดงจบก็มีการระดมความคิดในเชิงนโยบายขึ้นมา ซึ่งมีต้นกำเนิดมาหลายแบบ  คือมีทั้งที่คนดูๆ แล้วเสวนาประเด็น  หรือรวบรวมประเด็นก่อนที่จะเล่น  หรือมีกระบวนการบางอย่างที่จะสร้างเนื้อเรื่องขึ้นมา  หรือไม่สร้างเนื้อเรื่อง  ทำเพียงแค่วางโครงเรื่องแล้วนำมาเล่น  ลักษณะเช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของกลุ่มละครนั้นๆ ซึ่งคิดว่าเราอาจจะไม่ต้องเรียกว่าเป็น “ละครประเด็น” ก็ได้  เพราะละครก็ต้องมีประเด็นที่ต้องนำเสนออยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังเห็นว่ากระบวนการของการเป็นนักแสดง  การทำความเข้าใจตัวเรื่องหรือเข้าใจบทก็มีอยู่แล้ว  เพียงแต่ว่าจะเจาะไปมากน้อยเพียงใด  หรือว่าทำแล้วเป็นวิถีชีวิตของเขาหรือไม่  เพราะว่าเมื่อเล่นละครเรื่องหนึ่งจบก็มีการซึมซับประเด็นอยู่แล้ว ดังนั้นจึงคิดว่าไม่ต่างกัน

อาจารย์อภิรักษ์เสนอความเห็นเชื่อมโยงจากประเด็นที่อาจารย์เจตนาเสนอว่า  ถ้าละครประเด็นตามความหมายของฝรั่งเศสนั้นจะเป็นลบ  แต่ว่าละครที่นำเสนอไม่ได้เป็นเช่นนั้น  และละครไม่ควรเป็นการสั่งสอนคนดู  แต่ควรแทรกไว้ในเนื้อหา  ซึ่งเรียกร้องกลวิธีการเล่าเรื่องและกลวิธีการนำเสนอผ่านศิลปะการเล่าเรื่องนั้น  จึงชวนให้นึกถึงการเสวนาในงานเทศกาลละครฯ ครั้งหนึ่งที่อาจารย์รัศมี  เผ่าเหลืองทองร่วมการเสวนาครั้งนั้นด้วย  ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าละครในแนวนี้มักจะขาดคุณค่าทางศิลปะ  จึงอยากทราบว่าอาจารย์ไพบูลย์มีความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร  อาจารย์ไพบูลย์ตอบว่า  โดยส่วนตัวเห็นว่าหากทำละครเรื่องหนึ่งก็จะค้นหาวิธีการในการเล่าเรื่องและวิธีการในการสื่อสารเพื่อให้สิ่งที่ต้องการสื่อสารปรากฏออกมา สิ่งสำคัญอยู่ที่การเลือกสรรอย่างมีศิลปะที่เหมาะสมกับละคร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนทำละครแต่ละคนว่าจะเลือกวิธีการใด  อาจารย์อภิรักษ์เสริมว่าการนำเสนอละครเรื่องหนึ่งมิใช่เฉพาะการเล่าเรื่องเท่านั้น   แต่ยังมีการสื่อสารอารมณ์บางอย่างไปพร้อมกันด้วย

นอกจากนี้  คุณดวงใจกล่าวว่าเห็นถึงพัฒนาการในวงการละครว่า  ในเทศกาลละครกรุงเทพ  ผู้ที่ทำละครส่วนหนึ่งก็เป็นแค่นักศึกษาที่เริ่มจากไม่เชี่ยวชาญในการทำละครเท่าใดนัก  การทำละครเรื่องหนึ่งก็เป็นเพียงแค่ทำ  ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าคุณค่าทางศิลปะก็อาจจะยังไม่ถึงขั้นของครู  แต่ก็ยังเห็นว่าในละครเหล่านั้นก็มีคุณค่าทางศิลปะแฝงอยู่  และเมื่อคนทำละครคนนั้นทำต่อไปเรื่อยๆ  ก็จะค่อยๆ พัฒนาคุณค่าทางศิลปะเหล่านั้นไปพร้อมกันด้วย  จึงเห็นว่าหากคนทำละครมองย้อนกลับมาที่ตนเองและผลงานที่ผ่านมา และพยายามตีโจทย์ให้ได้ก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยพัฒนางานของตนได้

 

นางสาวอรพินท์  คำสอน

ผู้สรุปการเสวนา

———————————

 

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *