Flu-fool คือความเจ็บ ที่พูดไม่ได้

นางสาว วศินี  เตชะพานนท์
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Flu-fool คือความเจ็บ ที่พูดไม่ได้

            “ศิลปะมันต้องมีความหลากหลาย ต้องสะท้อนสังคม ไม่ว่าจะแปลกแหวกแนวขนาดไหนก็ต้องมี “แก่น” เรื่อง ผมหวังว่าวันหนึ่งจะมีกลุ่มคนที่ชอบเสพและตีความ “สาร” ในงานละครของเรา”

ธีระวัฒน์ มุลวิไล

                จากคำพูดดังกล่าวของคุณธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คาเงะ(ชิโยะ)” ซึ่งเป็นผู้กำกับละครเวทีเรื่อง Flu-fool คำกล่าวของเขานั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวคิดและมุมมองในการทำละครเวทีของเขา เขามองว่าละครเวทีเป็นศิลปะที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสังคมในปัจจุบันขณะได้ โดยสารจากละครนั้นจะต้องมีแก่นของเรื่องที่จะสื่อไปถึงผู้ชม แต่ก็มียังมีช่องว่างเพื่อให้ผู้ชมได้เกิดการตีความจากการแสดงผ่านทาง Physical movement ที่เขาหลงใหล จนได้เข้ามาทำในกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ได้ฝึกฝนความสามารถ และสั่งสมประสบการณ์ จนได้ก่อตั้งกลุ่มบีฟลอร์ (B Floor Theatre) ขึ้น เพื่อการสานต่อเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างการแสดง Physical movement ที่สะท้อนสังคม

                จากละครเวทีเรื่อง Flu-fool ซึ่งเป็นงานการแสดงทวิภาค โดยภาคแรกนั้นคือเรื่อง Flu O Less Sense และภาคที่สอง Fool Alright เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้ดูทั้งสองภาคที่ผ่านมาแต่ข้าพเจ้าคิดว่าเรื่องราวของทั้งสองภาคดังกล่าวคงไม่พ้นไปจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสะท้อนให้เห็นถึงสังคมไทยที่อยู่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของข้อมูลที่คนในสังคมไม่รู้ว่าตนจะเชื่อเสียงทางไหนดี เป็นความป่วยไข้ของคนในสังคมที่กลายเป็นโรคประหลาดที่ระบาดผ่านการกระจายโดยสื่อต่างๆที่เข้ามาครอบงำความคิดของคน จนเกิดปรากฎการณ์บางอย่างขึ้นในสังคม ที่ยากต่อการเยียวยา

แต่จากการแสดงในครั้งนี้ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า มีเนื้อหาที่แรงมากขึ้นกว่าเดิม จากการได้ฟังนักวิจารณ์หลายท่านที่ได้มีการเปิดการสัมมนาหลังจบการแสดงรอบวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ก็ได้มีนักวิจารณ์พูดกันว่า ผู้กำกับมีความกล้าที่นำเรื่องเช่นนี้มาพูดต่อสาธารณชน คำพูดนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องกลับมาย้อนนึกถึงเนื้อหาของละครเรื่องนี้อีกครั้ง จากในตอนแรกคิดแค่เพียงเป็นการสะท้อนภาพการเมืองในช่วงหลังที่การก่อตั้งคณะราษฎร์ แต่ความจริงแล้วเหตุการณ์ต่างๆของเรื่องนั้นมีความลึกซึ้งมากกว่าการแสดงให้เห็นถึงภาพการเมืองการปกครอง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นต่างเป็นความจริงที่เกิดจากความคิดของผู้กำกับที่คนปกติทั่วไปไม่สามารถที่จะพูดถึงได้ ซึ่งเป็นความเจ็บแรกหลังจากได้รับรู้เรื่องราวผ่านทางละครของละครเรื่องนี้  ความเจ็บปวดนี้เป็นความเจ็บปวดที่ไม่อาจพูดออกมาได้ แม้แต่คิดยังไม่อยากคิด คงเป็นเพราะสังคมไทยถูกหล่อหลอมมาให้อยู่ภายใต้ระบอบที่ไม่อาจจับต้องหรือตำหนิติเตียนได้ ทำให้เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยถูกเปิดเผยออกมาสู่สาธารณชนหรืออาจจะเคยมีคนที่คิดแต่ก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะด้วยการปกครองที่อยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์ที่ปลูกฝังให้คนในชาติเห็นว่าเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องภายในนี้เป็นสิ่งที่ต้องห้ามและไม่อาจจาบจ้วงได้ เราได้เรียนรู้แต่สิ่งที่ดีงามซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่เราเคยได้เห็นมาตั้งแต่วัยเยาว์ กลายเป็นสิ่งละเอียดอ่อนต่อการนำเสนอที่เมื่อได้นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ออกมาแล้วจะมีทั้งคนที่รับไม่ได้หรือคนที่เพิกเฉยและคนที่นำไปคิดต่อเหมือนกับข้าพเจ้า แต่เรื่องนี้ก็เป็นเพียงการนำเสนอถึงความวุ่นวายต่างๆที่สุดท้ายประชาชนก็มาทำร้ายประชาชนด้วยกันเอง โดยเบื้องหลังนั้นก็คือสิ่งที่ทุกคนต่างมองว่าเป็นสิ่งที่ดีงามและแตกต้องไม่ได้นั่นเอง ถือได้เป็นอย่างยิ่งว่าผู้กำกับมีความกล้าที่นำเรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้นำเสนอสู่สาธารณชนเป็นอย่างยิ่ง แต่ท้ายที่สุดแล้วการตีความจากคนดูก็เป็นสิ่งสำคัญที่มาขัดเกลาความหมายของเรื่องให้เป็นไปในทางที่คนดูเข้าใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว อาจจะมองได้หลายแง่มุมเช่นผู้หญิงที่นั่งรถเข็นเข้ามาพ่นทับคำประกาศของคณะราษฎร์คนนั้นคือผู้หญิงที่มาจากตะวันตก หรืออาจจะเป็นผู้หญิงที่มาจากเบื้องบนจริงๆซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ชมที่ต้องตีความกันต่อไป แต่ข้าพเจ้าคิดว่า สารจากเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้กำกับถ่ายทอดออกมาอย่างไม่อ้อมค้อมและมีความตรงไปตรงมา จนบางทีกลายเป็นการนำความคิดของผู้ชมให้เป็นไปตามผู้กำกับมากเกินไป

            ความเจ็บประการที่สองคือจากการนำเสนอการแสดงบนเวที จากการที่เริ่มเรื่องมานั้นมีการใช้เพลง “อายแสงนีออน” เป็นเพลงเปิดเรื่องและมีการฉายโปรเจคเตอร์ประกอบบนเวทีที่เป็นแสงสีต่างๆทำให้มีความน่าสนใจ จนกระทั่งมีการเริ่มแสดง ที่มีการฉายโปรเจคเตอร์และมีการแสดงไปพร้อมกัน รวมถึงการฉายภาพเกิดขึ้นถึงสามจุดบนเวทีคือ ด้านข้างสองจุดและยังมีบริเวณพื้นที่ข้าพเจ้าคิดว่ามากเกินไป จนทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะชมการแสดง เพราะไม่รู้จะไปโฟกัสกับจุดไหนดี ยิ่งฉากที่นักแสดงมีการเล่นกับอุปกรณ์ประกอบการแสดง และฉายโปรเจคเตอร์เข้าไปด้วยแล้วนั้น ทำให้เกิดความงุนงงต่อการมองภาพบนเวทีการแสดงเป็นอย่างมาก ยิ่งในช่วงที่มีการปล่อยควันและที่นั่งของข้าพเจ้าอยู่ใกล้กับบริเวณปล่อยควันที่มีการเปิดพัดลมตลอดเวลาทำให้นอกจากจะมีความหนาวเย็นมากเกินไปแล้วเวลาที่มีการปล่อยควันออกมาความสนใจต่างๆที่กำลังดูบนเวทีนั้นได้เปลี่ยนเป็นการต้องนั่งปัดควันออกจากการมองเห็นและการสูดดม สมาธิจากการชมละครเวทีจึงเปลี่ยนเป็นความทรมานจากอุปกรณ์ประกอบฉากแทน ทำให้ขาดความต่อเนื่องจากการชมละคร

เพลงอายแสงนีออนที่เข้ามาในตอนเริ่มเรื่องนั้นกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่จนจบเรื่อง จากการใช้หลอดไฟนีออนที่ลอยมาจากด้านบนทั้งๆที่รู้ว่ามันเป็นสิ่งจอมปลอม แต่ก็อยากที่จะได้ลองสัมผัสถึงมันเป็นเสมือนการเฉลยเรื่องตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องมากเกินไป การเคลื่อนย้ายโต๊ะต่างๆที่ให้นักแสดงเป็นคนยกเองตั้งเองและเล่นเองเป็นสิ่งที่มีความเหมาะสมและน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะจากตอนแรกที่ได้เข้าไปชมนั้นไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะมี back stage มาจากทางไหนอย่างไร จนเมื่อได้ชมไปเรื่อยๆทำให้ได้เห็นถึงการเคลื่อนไหวบนเวทีที่มีความต่อเนื่อง เพราะรู้สึกว่าทุกอย่างล้วนมีความไหลลื่น เป็นภาพที่ชวนให้มองตลอดเวลาการแสดงและแสดงให้เห็นว่ามีการฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี เพราะไม่ค่อยมีการพลาดเวลาทำการแสดง การเคลื่อนย้ายโต๊ะไปถึงบริเวณจุดที่ต้องวางลงทำได้โดยไม่ต้องมีการขยับเขยื้อนเป็นครั้งที่สอง พูดได้ว่าเป็นการจับวางที่กระฉับกระเฉง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และการฝึกซ้อมนี้อาจจะเป็นที่มาของการที่นักแสดงมีพลังในการแสดงมาก เป็นพลังที่ถ่ายทอดออกมาจากการแสดงจนคนดูรู้สึกได้ว่า นักแสดงมีการฝึกฝนมาเป็นอย่างหนัก จึงทำให้เกิดความแข็งแรงและแข็งแกร่งตลอดการแสดง เนื่องจากการแสดงมีระยะเวลานาน นักแสดงหลักมีเพียงหกคนและการแสดงที่ใช้ร่างกายเคลื่อนไหวเพื่อแทนคำพูดตลอดระยะเวลาการแสดงนั้น สามารถทำออกมาได้จนจบเรื่อง น่าชื่นชมศักยภาพของนักแสดงเป็นอย่างยิ่ง ที่สิ่งนี้กลับทำให้คนดูรู้สึกเจ็บปวดและเหนื่อยไปกับลีลาและท่วงท่าที่นักแสดงได้แสดงออกมา และเป็นความเจ็บที่เกิดจากการแสดงของนักแสดง ยิ่งมีการบาดเจ็บของนักแสดงที่มีการชนกับฉาก ทำให้รู้สึกเป็นความเจ็บอีกอย่างหนึ่งที่พูดไม่ออกจริงๆ ในใจคิดแต่ว่าเป็นห่วงนักแสดง ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรมากรึเปล่า แต่ก็ยังต้องนั่งชมและการแสดงก็ยังคงต้องมีต่อไป ทำให้จากความสุนทรีกลายเป็นความอึดอัดที่อยากให้ละครนั้นจบลงอย่างรวดเร็ว มากกว่าการที่อยากจะนั่งชมต่อไปอย่างเพลิดเพลินและไม่รู้สึกอะไรไปกับความเจ็บปวดของนักแสดง

ความเจ็บปวดประการสุดท้ายคือความเจ็บปวดของความรู้สึกหลังจากการที่ได้เข้ามาชมละครเรื่องนี้คือ ด้วยเนื้อหา ที่เสียดสีสังคมในปัจจุบันอย่างแท้จริง ถึงแม้จะมีการอิงประวัติศาสตร์แต่ประวัติศาสตร์เหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยความที่คนไทยต่างก็ไม่เคยได้รับรู้เพราะมัวแต่ไปสนใจในสิ่งที่ไร้แก่นสาร เช่นการดูละครโทรทัศน์ที่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ที่ในที่สุด มือมืดที่เข้ามาก็สามารถทำให้ประชาชนโอนอ่อนไปตามความคิดความอ่านของเขาได้ ทำให้รู้สึกว่าเป็นการต่อว่าผู้ชมให้รู้สึกมีความเจ็บและให้ลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง กับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เกิดจากการเพิกเฉยของเราจริงหรือไม่? หรือสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเพราะเราเป็นเพียงประชาชนคนตัวเล็กที่ไม่มีปากเสียง ไม่สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนอะไร จนกลายเป็นการทำให้เกิดการมองว่าละเลยที่จะมีส่วนในการช่วยเหลือประเทศให้รอดพ้นวิกฤติ หรือสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ได้ถูกขีดเส้นมาแล้วเหมือนกับเหตุการณ์ในอดีต ที่ไม่ว่าจะทำเช่นไร ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าก็ย่อมมีอำนาจในการตัดสินใจหรือลงมือทำมากกว่าอยู่ดี โดยที่ประชาชนในประเทศต่างก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และนำมาเก็บอยู่ภายในจิตใจและสุดท้ายก็ปล่อยให้เป็นไปตามกาลเวลา ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก หรือละครเรื่องนี้จะบอกให้เรารับรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับมุมมองตัวเราเองเสียใหม่ว่าเรานั้นก็มีหน้าที่ที่มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคม เพื่อสังคมที่อาจจะดีขึ้นบ้างก็เป็นได้ ซึ่งผู้ที่ไปชมต้องนำมาคิดต่อว่า จะต้องดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร จะเชื่อตามที่ผู้กำกับตีความจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนำมาเชื่อตามที่ผู้กำกับบอก หรือมีความคิดที่แตกต่างและนำมาต่อยอดให้เกิดการพัฒนาในตัวเอง แต่สำหรับตัวข้าพเจ้านั้นเมื่อดูจบแล้วรู้สึกเจ็บจนไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งเฉยเหมือนกับที่ผ่านมาได้ มีความรู้สึกอยากจะศึกษาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ไม่ว่าจะมีอำนาจมากล้นเพียงใด ก็มีความรู้สึกอยากจะมองทุกอย่างให้มีความเป็นกลางและถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครที่เป็นคนดีและบริสุทธิ์อย่างไม่มีมลทิน ทำให้ต้องกลับมาคิดและพิจารณาเรื่องราวทุกอย่างด้วยการใช้มุมมองที่กว้างขึ้น พยายามที่จะดึงตัวเองออกมาจากภาพลักษณ์และการปลูกฝังเดิมๆที่เคยมีมา ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าผู้ชมท่านอื่นมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไรหรือไม่หลังจากที่ได้ชม แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

สำหรับการแสดงที่เกิดขึ้นนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าไม่สมควรที่จะมีการใช้ภาษาญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดง ถึงแม้ว่าจะเป็นการแสดงที่จะนำไปแสดงที่ญี่ปุ่น แต่ ณ ขณะที่แสดงนี้เป็นการแสดงให้คนไทยและไม่มีชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาดูเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องมีภาษาญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้คนไทยที่ไปชมเปรียบเสมือนกลุ่มผู้ชมทดลองที่ลองให้เป็นคนญี่ปุ่นมาชมมากกว่าการแสดงให้คนไทยกันเองชม รวมถึงในตอนจบของเรื่องนั้น ก็ยังไม่เข้าใจถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงนำเอาต้นไม้ที่มีกระถางเข้ามาเกี่ยวข้องในการแสดง เนื่องจากทุกอย่างในเรื่องนั้นมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต มีแสงนีออนที่เป็นความหวังของผู้คนแต่ก็ไม่มีชีวิตอยู่ดี แต่เมื่อมีต้นไม้ที่เป็นสิ่งมีชีวิตเข้ามาทำให้รู้สึกกระชากความเป็นเอกภาพของภาพในละคร

จากแนวคิดในการทำละครของผู้กำกับท่านนี้กับผลงานละครเรื่อง Flu-fool เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับข้าพเจ้าได้ว่าเป็นการสะท้อนสังคมและมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาความคิดของผู้ชมได้เป็นอย่างดี ผสมผสานกับแนวการแสดงที่ใช้ร่างกายเล่าเรื่องราวต่างๆ ซึ่งผู้กำกับสามารถนำเสนอผ่านออกมาให้ผู้ชมได้รับรู้สารได้ แต่สุดท้ายก็ต้องนำมาตีความตามความเข้าใจของผู้ชมแต่ละคนเอง


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *