ภาพสะท้อนจากนิทรรศการ ปลุกผี (Primitive) ทรรศนะบางประการจากงานศิลปะจัดวาง โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
ชล เจนประภาพันธ์ / 2012
ในขณะที่ภาพยนต์ของอภิชาติพงษ์ ได้สร้างกระแสของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ คุณภาพของตัวผลงานเอง รางวัล เนื้อหาของภาพยนต์ที่เปิดปลายไว้ให้ถกเถียง หรือแม้แต่บางสิ่งบางประเด็นที่ขนานคู่กับ เหตุบ้านการเมือง ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คน สังเกตได้จากการชมผลงานของเขาก็คืออุปมาของ “ผี” กับ “พื้นที่” ที่เกินกว่าคำอธิบายจะเข้าถึงได้ (แต่กลับปรากฏเป็นภาพได้) ขณะที่เรามีความเชื่อเรื่องผี ความฝัน เวลา และการดำเนิน ชาติภพอย่างเป็นลำดับขั้น ซึ่งอย่างไรก็ตามภาพยนต์ยังนับว่าเป็นกระบวนการที่ผูกพันธ์อยู่กับระบบเวลา และคงไม่ สามารถแยกออกจากสิ่งนี้ได้ หากในทางกายภาพของการสร้างภาพยนต์ เรายังต้องพึ่งพากระบวนการที่เรียกว่า “การบันทึกและตัดต่อ” โดยธรรมชาติของภาษาภาพยนต์ไม่เคยปล่อยให้เวลาดำเนินเป็นเส้นตรง แต่การจัดวางเหตุการณ์ และเวลาที่ทับซ้อนอย่างไร้ระเบียบต่างหากที่เป็นเป็น “ระบบ” ของการทำภาพยนต์
กระบวนการทางเวลา โดยเฉพาะในนิทรรศการ “ปลุกผี” ยิ่งชี้ให้เห็นโครงสร้างซึ่งแตกออกมาจากกิ่งก้านใบของ ข้อมูลหลักที่อภิชาติพงษ์ใช้สร้างภาพยนต์ การผลิต footage ออกมาหลายๆ ชุด เป็นธรรมชาติของการทำภาพยนต์ ซึ่งกระบวนการการจัดการข้อมูลดิบเหล่านี้ เมื่อคิดย้อนกลับในเชิงกระบวนการ เราพออนุมานได้ว่าอภิชาติพงษ์ได้ปล่อยให้ footage เหล่านี้ทำงานด้วยการสลับ การปรับ ตัด ยึดโยงเรื่องราวขึ้นใหม่ในบางมุมมอง นี่อาจเป็นกระบวนการที่คล้ายคลึง กับการทำงานของความฝัน และหากไม่เป็นการตีความอย่างเกิน เลยนัก ภาพยนตร์เป็นกระบวนการหนึ่งของการสร้าง “ผี” ที่ถูกทำให้สอดคล้องต้องกัน กับกระบวนการตีความที่ได้รับการผูกโยงเข้ากับตรรกกะอย่างประหลาดๆ อย่างการทำนายฝัน ซึ่งในบริบทการทำนาย การสร้างตัวตนของสิ่งที่มองไม่เห็น หรือถ้าหากเห็นก็ต้องไม่ใช่การมองด้วยตรรกะแบบปกติ (เช่น เดียวกับการ “ระลึกชาติ” ที่เป็นอุปลักษณ์เกี่ยวข้องกับเวลาในภาพยนต์เอง) หากผีคือการเตือนไม่ให้ “ลืม” นิทรรศการ “ปลุกผี” อาจเรียกได้ว่าเป็นเชิงอรรถ ของภาพยนต์ลุงบุญมีฯ ซึ่งเป็นภาคขยายจาก “ชาติ” อื่นๆ ของตัวภาพยนต์หลัก “ปลุกผี” จึงทำหน้าที่ในการต่อเติมความทรงจำ และชี้ให้เห็นอุปลักษณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยภาพจำนวนมาก สอดประสานกันไป อย่างต่อเนื่อง
ในยุคเริ่มแรกแน่นอนว่าภาพเป็นสิ่งที่มาก่อนเสียง (หรือเสียงยังไม่ถูกค้นพบในภาพยนตร์) ซึ่งในบางแง่บางมุม ภาพยนต์ใบ้จึงกลับตอบโต้ ตอบสนอง หรือแม้กระทั่งตอบโจทย์ของความเป็นภาพยนตร์ได้อย่างชัดเจน เสียงได้กลายเป็น สิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาจนเราไม่อาจเรียกว่าเป็นส่วนเกิน ได้แล้วในปัจจุบัน ไม่เพียงแค่นั้น การลำดับเวลาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การสร้างเรื่องราวที่น่าเชื่อถือ และการรับชมภาพยนต์ในยุคสมัยนี้ ไม่มีใครต้องการหรือยินดีนักที่จะต้องอยู่กับความฝัน แบบภาพยนตร์ยุคเก่า การไม่สามารถกำหนดเรื่องราว ขนาด ขอบเขตทางเวลาของภาพยนต์ได้ โดยเฉพาะเวลาที่ไม่ได้ เดินด้วยตรรกกะของโลกความเป็นจริง นี่อาจเป็นสิ่งที่พอสันนิษฐานได้ว่า แม้ภาพยนต์จะเดินมาถึงจุดที่จะสามารถเนรมิต ให้มีภาพ มีเนื้อหาที่เหนือจริงเกินจินตนาการเพียงใด แต่มนุษย์ก็ไม่อาจจะยอมรับที่จะให้ภาพยนต์ต้องย้อนกลับไปมี อำนาจในการควบคุมพื้นที่ และเวลาของตัวเองได้อย่างเสร็จสรรพ ซึ่งนี่อาจจะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย และ “เหนือจริง” เสียยิ่งกว่าการทำเทคนิคพิเศษต่างๆ ในภาพยนต์ยุคปัจจุบัน แต่ในนิทรรศการ “ปลุกผี” ไม่ว่าจะเป็น ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า การร่วมสร้างยานอวกาศของชาวหมู่บ้านนาบัว ผีที่เดินมาและสลายไปกับดวงไฟ ฯลฯ จอภาพมากมาย นำเสนอเรื่องราวไร้สาระที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ในนิทรรศการ สิ่งเหล่านี้กลับดึงดูดให้ผู้ชมกลายเป็นผู้สังเกตการณ์และสามารถ ลำดับ ร้อยเรียงเหตุการณ์เองได้ราวกับการไปเที่ยวงานวัด ที่เรียกร้องเพียงให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปดูในทรรศนะ นี้ การชมภาพยนต์ของอภิชาติพงษ์ จึงสวนทางกับคำกล่าวที่ว่าต้อง “ปีนบันไดดู” ในทางกลับกัน เราอาจจะต้องปีนปันได กลับลงมา เพื่อชมภาพยนต์ที่ปล่อยให้ผีเข้ามาสิงสู่ได้อย่างอิสระ
——————————-