เล่าเรื่องเมืองไทย : ว่าด้วยความมีโชคและความอับโชคของวงการเพลงไทยสากล

 

เจตนา  นาควัชระ

 

มรดกจากทางบ้านที่คลั่งเพลงสุนทรภรณ์ต่อเนื่องกันมาสามชั่วคน  ทำให้โลกของผมอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโลกปิด  และผมก็ได้ใช้ความคลั่งไคล้ของผมอาสาเข้าไปต่อสู้กับ UNESCO เพื่อให้ เอื้อ สุนทรสนาน ได้รับการยกย่องในระดับโลก  การจะมาแก้จุดบอดเอาเมื่อเข้าสู่ปัจฉิมวัยแล้วก็คงทำได้ไม่ง่ายนัก  ศรวณี  โพธิเทศ เป็นหนึ่งในบรรดานักร้องไม่กี่คนที่กระชากผมออกมากจากวังวนของสุนทรภรณ์ได้ (บ้าง)  เมื่อคราวที่ผมกับผู้ร่วมวิจัยในโครงการ “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย” ได้จัดการสัมมนา “มัณฑนา  โมรากุล วิชาการ” และการแสดง  “เบิกฟ้า มัณฑนา  โมรากุล” เราได้ตัดสินใจเชิญศรวณี  โพธิเทศ  มาขับร้องเพลง “ธรรมชาติกล่อมขวัญ”  (คำร้อง  แก้ว  อัจฉริยะกุล  ทำนอง  นารถ  ถาวรบุตร)  เพลงนี้เข้าใจว่าครูนารถแต่งขึ้นในสมัยที่ท่านยังร่วมงานอยู่กับวงดนตรีกรมโฆษณาการ  จึงเหมาเอาได้ว่าอยู่ในกลุ่ม “เพลงสุนทรภรณ์”  การขับร้องของศรวณี  เปรียบได้กับการเผยแสดงที่เป็นประสบการณ์อันลึกมากๆ สำหรับผม  ผมชอบพูดถึงการตีความเป็นเชิงของหลักการและทฤษฎีอยู่ตลอดเวลา  แต่การจะปรับเรื่องของทฤษฎีให้เป็นปฏิบัติ  หรือนำเอาทฤษฎีมาอธิบายการปฏิบัตินั้นไม่ใช่ของง่าย  การขับร้องของศรวณีในวันนั้น (วันที่16 พฤศจิกายน 2546) เป็นการตีความเพลงที่เปี่ยมด้วยอารมณ์สุนทรีย์  และด้วยความเข้าใจทางดนตรีที่ลึกซึ้งมาก  การร้องของเธอฉีกแนวออกมาจากนักร้องสุนทราภรณ์อย่างแน่นอน  เพราะกระเดียดไปในระดับที่เรียกว่ากึ่งอุปรากร  ด้วยการเปล่งเสียงที่หนักแน่น  มิได้เอื้อนเพียงเพื่อจะให้ได้ความหวาน  ศรวณีสมัครเข้ามาเป็นนักร้องดาวรุ่งของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์  แต่ก็ดูเหมือนครูเอื้อจะมิได้เห็นอัจฉริยภาพของเธอเพียงเท่าใดนัก  แนวร้องของเธอไม่ใช่แนวที่ครูเอื้อปฏิบัติด้วยตนเอง  หรือพร่ำสอนให้ศิษย์ส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติ   การที่เธอจากวงสุนทราภรณ์มาเสียแต่เนิ่นๆ  จึงดูจะเป็นการปลดปล่อยตนเองไปในทางที่จะเอื้อให้ได้ค้นพบตัวเอง  การแสดงคอนเสิร์ต “เพชรประดับเพชร” ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2553  เป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า  เธอได้ค้นพบตัวเองแล้ว  และการค้นพบตัวเองครั้งนี้ก็เป็นตัวบ่งชี้ทั้งความแข็งแกร่ง และความอ่อนด้อยของวงการเพลงไทยสากลของเรา

สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้  เป็นสิ่งที่ไม่น่าฟัง  แต่ก็มาจากใจจริง  นั่นก็คือว่านักร้องชั้นยอดของเราจำนวนหนึ่ง  ขาดเพลงร้องที่เอื้อต่อความถนัดและอัจฉริยภาพของเขาเอง  พูดภาษาชาวบ้านก็คือ นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ไม่ได้มีโอกาสร้องเพลงที่ดีที่สุดอันเป็นผลผลิตของวงการเพลงไทยสากล  และนักร้องระดับธรรมดาๆ กลับพลัดหลงเข้าไปในวงของนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่  จะมีใครที่โชคดีอย่าง รวงทอง  ทองลั่นธม  สักกี่คนที่ได้เพลงที่ดีที่สุด  ของนักแต่งเพลงที่ดีที่สุด  และนำไปร้องได้อย่างดีที่สุด  อะไรๆ จึงดีที่สุด  จนกระทั่งเจ้าตัวยังไม่ทราบว่าที่สุดของตัวอยู่ที่ไหน   ผมคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอ่ยถึงสวลี  ผกาพันธ์  นักร้องรุ่นพี่ของศรวณี  ซึ่งผมคิดว่ามีความสามารถในการร้องเพลงอยู่ในระดับแนวหน้าของเมืองไทย  แต่เราอดสงสัยไม่ได้ ว่าในหนึ่งพันเพลงที่เธอร้องนั้น  มีเพลงอมตะจริงๆสักกี่เพลง (ในขณะที่ครูเอื้อ และครูแก้ว  แต่งเพลงให้กับละคร “จุฬาตรีคูณ” ไว้เพียง 6 เพลง  แต่กลายเป็นเพลงอมตะไปทั้งหมด)  พระสยามเทวาธิราชบางครั้งก็หาได้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม

คอนเสิร์ตที่ศรวณี  โพธิเทศ จัดขึ้นด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2553  เป็นรายการแสดงดนตรีที่ผมต้องยกย่องว่ากอปรด้วยรสนิยมอันดี  มีความพอเหมาะพอดี ลงตัว  ไม่มาก  ไม่น้อย  เพื่อนนักร้องที่รักใคร่กันมาช่วยเธอด้วยความเต็มใจ  ความอบอุ่นบนเวทีจึงแผ่ลงมาสู่ผู้ดูผู้ชมข้างล่างให้ได้รับความอบอุ่นตามไปด้วย  และอดชื่นชมไม่ได้ว่า  วงการนี้เป็นวงการที่น่ายกย่อง  เพื่อนฝูงที่วัยล่วงเลยมามากแล้ว  ก็ตั้งใจมาร้องเพลงให้เธออย่างสุดฝีมือ  แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคทองของท่านเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว  รายการแสดงครั้งนี้จึงอาจจะเรียกได้ว่า “เงาแห่งความหลัง” (ชื่อเพลงสุนทราภรณ์ ที่มัณฑนา  และวินัย ร้องเอาไว้อย่างเพราะจับใจ)  ผมอยากจะพูดเลยไปจนถึงพิธีกร  ซึ่งเล่นมุกเล็กๆน้อยๆ หยอกเย้ากระเซ้าเพื่อนกันด้วยมิตรภาพ  ไม่ “เวอร์” เหมือนบางรายการ  ผู้ที่คุ้นเคยกับเพลงของศรวณีก็คงจะดื่มด่ำตามเธอไป  บางเพลงชวนให้คิดถึงอดีตอันเรืองรอง  คิดถึงรางวัลที่เธอได้รับ  และก็อดคิดถึงเคราะห์กรรมของวงการเพลงไทยสากลบ้านเราไม่ได้ว่า  เหตุใดจึงไม่มีนักแต่งเพลงร่วมสมัยในขณะนี้ที่แต่งเพลงให้กับนักร้องระดับแนวหน้าได้ร้องให้กับผู้ฟังร่วมสมัยได้ชื่นชมบ้าง  นักร้องอาวุโสบางท่านอดตอกย้ำไม่ได้ว่าที่มาในครั้งนี้ตั้งใจจะมาร้องเพลงไทย นั่นก็เป็นการเตือนสติกันว่า  นักแต่งเพลงและนักร้องยุคใหม่ที่พยายามจะทำภาษาไทยให้เป็นภาษาตะวันตกนั้น  ได้กลายเป็น “ลูกไม่มีพ่อ” ไปเสียแล้ว  เพราะจะขอเป็นไทยก็มีใครเขารับ (ยกเว้น  คณะกรรมการตัดสินผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น  ซึ่งกลัวตกยุค)  จะขอร้องแบบฝรั่งกับเขาก็เป็นได้แค่ “ฝรั่งขี้นก”  ครั้นจะไปร้องเพลงฝรั่งกับเขาบ้างก็ยังห่างไกลจากการเป็นตะวันตกมากนัก  รายการแสดงครั้งนี้อาจไม่ใช่ที่รวมเพลงที่ดีที่สุดขององคนิพนธ์แห่งเพลงไทย  แต่ก็มีความมั่งคั่ง  และมีความหลากหลายมาก  ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของเพลงที่ดีที่สุด  ถึงแม้ว่าจะร้องเพลงที่รองลงมาจากที่ดีที่สุด  แต่ก็ไม่เคยสุกเอาเผากิน  ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ วงดนตรีขนาดใหญ่  ที่มิได้ใช้แต่เครื่องลมทองเหลืองแต่เพียงอย่างเดียว  แต่มีไวโอลิน  โอโบ และฟลูตเพิ่มขึ้นมาด้วย  ซึ่งครูพิมพ์ปฏิภาณ  พึ่งธรรมจิตต์  เป็นผู้ควบคุมวง  บรรเลงได้อย่างน่าทึ่ง  มีการรวมตัวฝึกซ้อมมาอย่างดี  ต่างจากวงที่เป็นเจ้าของ (ลิขสิทธิ์)เพลงที่ดีที่สุดในทัศนะของผม  ซึ่งสิ่งแวดล้อมอันไม่เอื้ออำนวยได้ทำให้กลายเป็นวงดนตรีเฉพาะกิจไป  บรรเลงได้โดยไม่ต้องซ้อม  เพราะรู้ดีอยู่ว่าถึงอย่างไร  เพลงของตนก็เหนือเพลงของคนอื่น

ผมมาเล่าเรื่องเมืองไทยครั้งนี้  จากจุดเริ่มต้นที่มาจากความชื่นชมที่มีต่อศรวณี  โพธิเทศ  แต่ก็อดจะจบลงด้วยความรู้สึกซึมเศร้าไม่ได้ว่า  อะไรๆ ในบ้านเรา มันก็กลับตาลปัตรไปเสียหมด

————————————

 


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *