กลไกทางสังคมของการผลิตงานศิลปะในประเทศไทย : ระบบอุปถัมภ์ และธุรกิจงานศิลปะ 2523-2541

กลไกทางสังคมของการผลิตงานศิลปะในประเทศไทย

: ระบบอุปถัมภ์ และธุรกิจงานศิลปะ 2523-2541

เวอร์จิเนีย เฮนเดอร์สัน

 

…เราอาจสรุปได้ว่า มีกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงจำกัดเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่โดดเด่นขึ้นมาในด้านการสร้างสรรค์และในระบบอุปถัมภ์งานศิลปะในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยภาคธุรกิจบางแห่งที่ยังคงอยู่รอดต่อไปได้ อาทิ ธนาคาร เป็นต้น รวมทั้งภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงาน วัฒนธรรม และคณะกรรมการตัดสินงานประกวดศิลปกรรมหลักๆของประเทศ (ซึ่งในคณะกรรมการแต่ละชุดมีรายชื่อกรรมการซ้ำซ้อนกันอยู่อย่างมาก) ตลอดจนศิลปินที่ได้ความนิยมจากสถาบันศิลปะหลักๆ รวมไปถึงภัณฑารักษ์ที่มีอยู่ไม่เกิน 3 คน…

 

…ในหลายช่วงเวลาที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์ไทย ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศโดยใช้เป็นรูปแบบในการสนับสนุนอำนาจของผู้ปกครอง เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจในแต่ละยุคสมัย รูปแบบทางวัฒนธรรมบางประการได้รับการสนับสนุน และแนวคิดที่นิยมกันในกลุ่มคนมีอำนาจซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในชนชั้นสูงก็มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการ      สร้างสรรค์และการรับรูปแบบทางศิลปะ ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของชาติทั้งในระดับองค์กรและระดับตัวบุคคล ศิลปะถูกใช้เพื่อแสดงความมั่งคั่งและการมีวัฒนธรรมต่อคนทั้งในและนอกประเทศ เพราะเหตุว่า แก่นของวัฒนธรรมและรูปแบบการแสดงออกทางสุนทรีย์มีที่มาจากการสั่งสมประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ เสี้ยวส่วนต่างๆในประวัติศาสตร์ได้ก่อรูปร่างให้แก่พัฒนาการทางศิลปะ จากจุดเริ่มต้นที่เป็นศิลปะของท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนสิ่งแวดล้อมที่อิสระจากการเมืองไปสู่สถานการณ์ในปี 2541…

จากความสัมพันธ์กับนานาชาติในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจะแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ของชาติที่ “ศิวิไลซ์” แล้วด้วยงานศิลปะ  ส่วนภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่อง “ความแปลกใหม่สำหรับชาวต่างชาติ (Exotic) ที่ถูกยกขึ้นมาเมื่อเร็วๆนี้ ก็ถูกรัฐบาลไทยนำมาใช้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้านั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นกุศโลบายป้องกันการคุกคามการล่าอาณานิคม และเป็นวิถีทางที่อิทธิพลของศิลปะยุโรปเข้ามาสู่งานศิลปะและวัฒนธรรมของไทย…

 

…แรงกดดันและแรงหนุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2500 –2510 มีผลกระทบในทางบวกต่อกิจกรรมทางศิลปะ มีการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นจากสถาบันทางวัฒนธรรมของนานาชาติ มีการก่อตั้งหอศิลป์พีระศรี และมีความต้องการงานศิลปะไทยในหมู่ชาวต่างชาติอย่างมาก การสนับสนุนของชาวต่างชาติในรูปของการให้รางวัลเป็นเงินทุนไปศึกษาดูงานในต่างประเทศเป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้แก่ศิลปินไทย พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการนำแนวคิด รูปแบบ และวิธีการของชาวต่างประเทศมาทำใหม่ การรื้อฟื้นคุณค่าในขนบของไทยกลับมาซึ่งได้รับการสนับสนุนในช่วงทศวรรษ 2510 เป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวของศิลปะไทยแนวประเพณีนิยมใหม่ ก็เป็นดั่งปฏิกิริยาต่อต้านกระแสของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ปรากฏอยู่ขณะนั้น

พัฒนาการทางเศรษฐกิจเป็นเหมือนการเติมพลังงานให้ธนาคารได้เติบโตขึ้น และทำให้ธนาคารมีอำนาจและมีความสนใจอุปถัมภ์งานศิลปะด้วยการสนับสนุนการประกวดศิลปกรรม รวมทั้งว่าจ้างศิลปินให้สร้างงานในแนวเรื่องเกี่ยวกับการเชิดชูราชสำนัก ศาสนา และความรักชาติ  การทำเงินและการทำบุญสลับสับเปลี่ยนกันเมื่อผลกำไรจากธุรกิจถูกนำมาใช้จ่ายในโครงการการกุศลอาทิ การสร้างและซ่อมบำรุงวัด หรือการสนับสนุนให้สร้างงานพุทธศิลป์ ในแง่นี้ก็เท่ากับเป็นการสร้างเกียรติคุณในฐานะผู้รักชาติ ผู้มีจริยธรรม และผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ในปลายทศวรรษที่ 2520 ยังคงมีชาวไทยจำนวนน้อยเท่านั้นที่สนใจศิลปะ  อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้นำไปสู่การคุกคามของแนวคิดวัตถุนิยม บริโภคนิยมในสังคมในเวลาต่อมา และกระตุ้นให้เกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ขึ้นในตลาดศิลปะ ด้วยการสร้างสถานะทางสังคมและด้วยการซื้อหาสินค้าหรูหราทำให้คนไทยกลุ่มใหม่ที่เป็น “ผู้รักศิลปะ” ยกฐานะตัวเองขึ้นจากชนชั้นกลางมาเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในสังคมชั้นสูงในเมือง ในกลุ่มผู้ชมงานศิลปะกลุ่มนี้ การมีชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่ก็ยิ่งกระตุ้นให้โหยหาอดีตแห่งขนบทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแห่งชนบทที่หายไป ซึ่งนี่เป็นแนวเรื่องที่นิยมกันมากในหมู่ศิลปินไทยบางคน

ในระบบตลาดที่มีการพัฒนาแบบทุนนิยม แนวคิดในการมองสิ่งต่างๆประหนึ่งสินค้ามีสูงมากขึ้น  งานศิลปะไทยได้รับการมองใหม่จากฐานะที่เป็นงานศิลปะ และเพื่อสักการะหรือทำเพื่อเก็บไว้ในที่ส่วนตัว มาเป็นงานที่อยู่ในบริบททางการค้าในที่สาธารณะและเพื่อความพึงพอใจในรูปของประโยชน์ด้านการตกแต่งสถานที่ แนวเรื่องของผลงานเหล่านี้จำนวนมากแสดงออกถึงลักษณะบางประการที่ต้องการสื่อให้เห็นถึง “ความเป็นไทย” โดยใช้แนวเรื่องและสัญลักษณ์จากพุทธศาสนา การขยายตัวของศิลปะไทยประเพณีโดยโลกธุรกิจได้แสดงให้เห็นเด่นชัด ดังตัวอย่างเช่น งานจิตรกรรมในวัดถูกใช้ในการโฆษณาสินค้าในโทรทัศน์ และการใช้ลวดลายรูปแบบของศิลปะไทยประเพณีมาตกแต่งร้านอาหารฟาส์ทฟูดแบบอเมริกันในกรุงเทพ ตลอดจนการใช้จิตรกรรมฝาผนังแบบที่วาดในวัดมาวาดประดับอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคาร การที่ตลาดทางธุรกิจเปิดตัวเข้ามาจัดการโลกศิลปะเช่นนี้ ความมั่งคั่งและแหล่งทุนได้แสดงบทบาทสำคัญต่อกระบวนการของศิลปะที่เป็นผลผลิตทางสังคม…

 

…ผลประการหนึ่งของพัฒนาการแบบทุนนิยมก็คือการเติบโตของแนวคิดแบบปัจเจกชนและศิลปินอิสระ ในอดีตที่ผ่านมา พ่อแม่ของเด็กอาจภาวนาขออย่าให้ลูกของตัวอยากเป็นศิลปิน เพราะกลัวว่าลูกของเขาต้องมีชีวิตอยู่อย่าง “ไส้แห้ง” แต่ในสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่มีการแข่งขันกันสูงในทศวรรษที่ 2520 และ 2530  สถานะภาพใหม่และโอกาสครั้งใหม่ได้เปิดออกสำหรับศิลปินไทย  จากอดีตที่ไม่มีการเซ็นชื่อลงในผลงาน เราได้เห็นความสำคัญของคนที่เซ็นชื่อลงในงาน และเห็นศิลปินไทยได้รับการยอมรับและกลายเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในปัจจุบัน  การสร้างหนทางในอาชีพซึ่งเตรียมโอกาสไว้แสวงหาเงินทองนี้ ก็มักจะหมายถึงการที่จะต้องอุทิศจิตวิญญาณเพื่อปรับให้เข้ากับความพึงพอใจของผู้อุปถัมภ์และผู้บริโภคในตลาด  ในกรณีของศิลปะไทย นี่อาจหมายถึงการตอบสนองความปรารถนาของผู้อุปถัมภ์ และผู้สะสมงานศิลปะที่หาผลงานไว้ประดับตกแต่งให้เกิดความบันเทิงใจ และเป็นหนทางที่ปลอดภัยที่สุดในการรักษารูปแบบประเพณีนิยม หรือทางสายกลางไว้สำหรับศิลปิน

ในขณะเดียวกัน การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันเป็นผลจากการรณรงค์เรื่อง“Exotic” และ “Amazing” ของรัฐบาลไทย ก็ทำให้เกิดความสนใจในศิลปะไทยแบบ “มาตรฐาน” เพิ่มขึ้น รสนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งถูกดึงดูดโดยตลาดงานศิลปะไทยเป็นทางเลือกที่ต่างไปจากเวทีศิลปะในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเหมือนกันไปหมด บางทีผู้ชมงานศิลปะชาวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจไม่ได้ตระหนักถึงภูมิหลังทางเชื้อชาติและไม่สนใจความหมายของสัญลักษณ์ ในแง่นี้ศิลปะไทยจึงได้รับความหมายใหม่ที่แตกต่างออกไปแก่ผู้รับกลุ่มใหม่  ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างกับผู้รับจึงมีความหมายมากขึ้นเป็นทวีคูณในแง่ของสัญลักษณ์และการแลกเปลี่ยนซื้อขาย

หากวิทยานิพนธ์ฉบับนี้แล้วเสร็จเมื่อ 8 เดือนก่อนหน้านี้ตามกำหนดเวลา ข้อมูลและการสรุปก็อาจจะแตกต่างออกไป เพราะในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนมานี้ มีความชัดเจนอย่างยิ่งว่า     ณ ขณะนี้ ความรุ่งเรืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว แหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับงานศิลปะก็เหือดแห้งลง ดังเช่น ผู้อุปถัมภ์ในโลกของศิลปะที่มีใจกว้างในอดีตที่ผ่านมา อาทิ ธนาคารกรุงเทพได้ลดการสนับสนุนนิทรรศการของศิลปินชาวเหนือผู้มีชื่อเสียง ซึ่งได้วางแผนไว้แล้วในเดือนมกราคม พ.ศ. 2541  จนกระทั่งมีการชักจูงด้วยการลงนามตกลงร่วมจัดกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อาจเป็นตัวอย่างที่ดีที่บ่งชี้ว่า นี่คือเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง จากการสัมภาษณ์หลายครั้งก่อนกลางปี พ.ศ. 2540 ได้สะท้อนวิสัยทัศน์ และแผนของโครงการในลักษณะที่ต่างออกไปจากปัจจุบันหากนำบทสัมภาษณ์เหล่านั้นมาเปิดเผยอีกครั้ง  ดังนั้นในบางแง่มุมการศึกษานี้ยังทันยุคสมัยอยู่บ้าง และหวังว่าจะมีการมองความเปลี่ยนแปลงนี้ในมุมกว้างขยายต่อออกไปอีก…

การตัดงบประมาณของรัฐบาลและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้การจัดองค์กรทางศิลปะจำเป็นต้องกระทำด้วยความละเอียดอ่อนถี่ถ้วนมากขึ้น มีความคิดริเริ่มด้านการตลาดมากขึ้น ใช้จินตนาการและความพยายามสร้างสรรค์ขยายวงออกไปให้ดำรงอยู่ได้ในโลกของความเป็นจริง  ในอดีตที่ผ่านมา วงการศิลปะได้รับการสนับสนุนจากคนใจบุญ แต่ขณะนี้มันไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วที่จะจำกัดวิธีการหาทุนด้วยการขอลงขันบริจาคจากผู้มั่งคั่งเป็นรายบุคคลหรือจากองค์กร   การจัดตั้งชมรมหรือโครงการต่างๆที่มีการหาสมาชิกและทำสินค้า อาทิ ผลงานภาพพิมพ์จำนวนจำกัดที่สั่งซื้อได้ทางไปรษณีย์ หรือไปรษณียบัตรศิลปะ เสื้อยืด และของขวัญอื่นๆ ฯลฯ ตลอดจนการเช่าพื้นที่แสดงงานศิลปะที่ผสมกับรูปแบบการจัดงานพบปะสังสรรค์กันเฉพาะกลุ่ม หรือใช้พื้นที่ร้านขายอาหารและกาแฟ หรือการจัดกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ ก็ควรจะถูกพิจารณารวมอยู่ในแผนด้วย  ไม่ใช่ในลักษณะแยกจัด แต่เป็นการรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานและหารายได้ การมุ่งความสนใจที่การแสวงหาทุนในด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ให้แก่ศิลปะ อาจเป็นสิ่งน่ารังเกียจสำหรับผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์บางคน แต่การเรียกร้องให้รัฐเพิ่มเงินทุนสนับสนุนแก่ศิลปะในช่วงเวลาแห่งความคับขันเช่นในขณะนี้ จะเป็นการเรียกร้องที่ไม่มีใครฟัง…

การประมูลทรัพย์สินของ 56 บริษัทไฟแนนซ์ที่ถูกปิดในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2541 อันประกอบด้วยงานศิลปะที่สำคัญๆจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกซื้อสะสมไว้ในยุคเฟื่องฟูช่วงทศวรรษที่ 2530  ผลงานศิลปะเหล่านี้เป็นหลักฐานที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ราคาที่มีการซื้อขายกันในอดีตอาจนำมาเปรียบเทียบกับราคาประมูลในปี พ.ศ. 2541  เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงในตลาดและการประเมินราคา ผลงานที่ถูกสะสมไว้นี้น่าจะมีการวิเคราะห์ในแง่ของรูปแบบและเนื้อหาที่เป็นที่นิยมตลอดจนสื่อและราคา  เมื่อพิจารณาว่า ผลงานเหล่านี้เป็นฝีมือของศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งอาจถูกประมูลซื้อไว้โดยนักสะสมชาวต่างชาติ และอาจไปตกอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ในต่างประเทศ ซึ่งมันอาจทำให้มูลค่าของ “สมบัติแห่งชาติ” นี้สูงขึ้น และอาจปลุกเร้ากระแสความรู้สึกชาตินิยมขึ้นด้วย เมื่อพิจารณาแง่นี้ก็น่าจะมีการศึกษาตรวจสอบดูอย่างละเอียดรอบคอบ การที่คริสตี้ Christies บริษัทค้างานศิลปะระดับนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลครั้งนี้ ก็อาจส่งผลที่นำศิลปะไทยไปสู่ตลาดค้างานศิลปะระดับโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อการยกระดับศิลปะไทย ศิลปินไทย และประเทศด้วย…

 

…คำกล่าวที่ว่า งานศิลปะที่ดีที่สุดย่อมเกิดขึ้นจากฐานะที่ลำบากยากแค้น อาจเป็นคำกล่าวที่จะต้องพิสูจน์กันในประเทศไทยภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ให้ความสนใจต่อการกำหนดทางด้านการเงินที่มีต่อเนื้อหาและผลผลิตทางวัฒนธรรมและศิลปะ ในขณะที่พิจารณาปัจจัยด้านความคิดอุดมคติควบคู่กันไปด้วย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างอุดมคติกับศิลปะไม่ใช่การถอดรูปออกมาจากแม่พิมพ์ ทฤษฎีของแนวคิดอุดมคติต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกนำมาปรับทอนให้ง่าย แต่เป็นแก่นที่ต้องใช้ในการวิเคราะห์ตีความผลงานศิลปะ โดยคำนึงถึงแนวเรื่องและเนื้อหา สารและนัยและสิ่งที่อยู่คู่กันระหว่าง ความเก่า – ขนบ กับ ความใหม่ – สัญลักษณ์สมัยใหม่ เรื่องทางโลกกับโลกทางธรรม และบริบทใหม่ทางสังคม ความเข้าใจทั้งหลายเหล่านี้จะต้องถูกหล่อหลอมรวมกันเข้า  การวิเคราะห์ในแง่ลึกทางสัญญะของระบบการแทนความหมายแบบไทย รวมทั้งระบบสัญลักษณ์ที่ถูกใช้ในการสื่อสารว่าเป็นอย่างไร และมีลักษณะอย่างไร ซึ่งสามารถอธิบายบริบททางประวัติศาสตร์และเงื่อนไขเฉพาะทางสังคมได้นั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า เนื้อหาและสาระในงานศิลปะถูกสร้างสรรค์ขึ้น และถูกชื่นชม หรือถูกตีความไปอย่างไร…

…การรณรงค์รื้อฟื้นวัฒนธรรมของรัฐบาลไทย  ซึ่งสนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนั้น อาศัยศิลปะไทยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นไทยในปัจจุบัน ยิ่งหนุนให้เห็นแนวคิดที่ว่า “เป็นคนไทยก็คือเป็นชาวพุทธ” และเป็นการตอกย้ำมโนทัศน์ของ มรดก เอกภาพ และสายเลือดเดียวกัน ที่ว่าด้วยเรื่องเอกลักษณ์ไทย แต่แทนที่จะพยายามอธิบายขยายความและรณรงค์เรื่องเอกลักษณ์ของความเป็นชาติโดยอ้างเอาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและศิลปะ มันอาจเป็นประโยชน์มากกว่าในการที่จะปรับรับวิสัยทัศน์ในการมองโลกระดับมหภาคในขณะที่โลกปัจจุบันนานาชาติกำลังเชื่อมโยงเข้าหากัน ซึ่งโลกาภิวัตน์ก็มีอยู่แล้วภายในประเทศในลักษณะของความเป็นอื่น ในคน วัฒนธรรม และประเด็นทางการศึกษาโดยทั่วไป ดังที่ปรากฏอยู่ว่ารูปแบบกิจกรรมทางวัฒนธรรมนั้นมีลักษณะผสมปนเปกันจนแยกไม่ออกและไม่แน่นอนตายตัว            ดังนั้นเราน่าที่จะสำรวจดูว่า เราผสมผสานกับคนอื่นๆอย่างไร มากกว่าที่จะพยายามชี้ชัดออกมาว่า เราแตกต่างกันอย่างไร

การศึกษาถึงเงื่อนไขและปัจจัยอันมากมายของผลผลิตทางวัฒนธรรม ซึ่งในที่นี้ก็คืองานศิลปะ ไม่ใช่ความพยายามที่จะพิสูจน์ว่า ผลงานเหล่านั้นจะถูกสร้างขึ้นในวิถีทางเดียวกัน ภายใต้แรงผลักดันเดียวกันเสมอ แต่มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกว่า มีปัจจัยมากมายที่เป็นองค์ประกอบของกระบวนการนี้…

 

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล

 

ตัดตอนแปลจาก บทสรุปในวิทยานิพนธ์ของ : Virginia Henderson. “The Social Production of Art in Thailand : Patronage and Commoditation, 1980-1998. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีการศึกษา 2540, หน้า 216-230.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทวิเคราะห์

บทวิจารณ์ชิ้นนี้ตัดตอนมาจากวิทยานิพนธ์ของ เวอร์จิเนีย เฮนเดอร์สัน ที่ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์กระบวนการด้านการค้า และระบบอุปถัมภ์ที่มีผลต่อการเติบโตของวงการศิลปะในประเทศไทย จะเห็นได้ว่างานเขียนชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาเฉพาะเจาะจงลงไปที่ตัวงานศิลปะ หรือเจาะจงศิลปินคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการศึกษาปัจจัย และเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆที่ส่งผลต่อผู้สร้างสรรค์และวงการทัศนศิลป์โดยตรง ความน่าสนใจในข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ที่การนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งที่คนในวงการศิลปะไทยเองไม่เคยวิเคราะห์เจาะลึกลงไปอย่างแท้จริง จึงทำให้ข้อเขียนชิ้นนี้มีความแตกต่างไปจากงานของนักวิจารณ์คนอื่น และความแตกต่างนี่เองที่ทำให้วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เป็นดั่งประตูที่เปิดให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของวงการศิลปะในประเทศไทยที่กว้างออกไปจากเดิม ถึงแม้ว่าผู้วิเคราะห์จะเป็นชาวต่างประเทศก็ตาม แต่เนื้อหาที่เธอนำเสนอก็มีคุณค่าควรแก่การนำมาพิจารณา

ข้อเขียนที่คัดมาในช่วงแรกเป็นการสรุปให้ผู้อ่านเห็นถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน ทิศทางในการสร้างสรรค์ และบทบาทของศิลปะที่มีในสังคม ด้วยการอธิบายให้ผู้อ่านเห็นว่า มีปัจจัยทางสังคมอยู่ 3 ประการที่ส่งผลกระทบต่อวงการศิลปะร่วมสมัยโดยตรง ประการแรก  อิทธิพลทางความคิดจากวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาในสังคมไทย ประการที่สองคือ กระบวนการทางการเมืองที่เข้าแทรกแซงกิจกรรมทางวัฒนธรรม และประการสุดท้ายคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในแง่ของการให้ความอุปถัมภ์งานศิลปะของรัฐและแหล่งทุนเอกชน เธอพยายามชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยทั้งหลายนี้ มีผลเสียอย่างไร ถ้าศิลปินไม่รู้เท่าทันหรือปล่อยตัวไปตามกระแส โดยเฉพาะการอุปถัมภ์ของแหล่งทุนที่ดูเหมือนจะให้การสนับสนุน แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับส่งผลในทางลบ เมื่อศิลปินมุ่งความสำเร็จไปในทางพาณิชย์มากกว่าคุณค่าของศิลปะ และหากคนในวงการทัศนศิลป์เองปล่อยให้ทิศทางของศิลปะถูกกำหนดโดยภาคธุรกิจมากเกินไป ย่อมไม่อาจช่วยให้ศิลปะในประเทศไทยพัฒนาไปได้ไกล ในขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะนำศิลปะมาใช้เพื่อจุดมุ่งหมายในการปลูกจิตสำนึกต่อความเป็นชาติและเชิดชูสัญลักษณ์ของความเป็นชาติภายใต้การสนับสนุนของรัฐและแหล่งทุน ก็ไม่อาจนำมาซึ่งผลสำเร็จในทางศิลปะได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้วิจารณ์เสนอภาพด้านลบของระบบอุปถัมภ์ในแง่มุมต่างๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอต้องการต่อต้านกลไกเหล่านี้  ในทางกลับกัน เธอยังชี้ให้เห็นว่า การเติบโตของ    วงการศิลปะก็ยังต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายที่ครบวงจร เพื่อผลักดันให้ศิลปินสามารถสร้างงานศิลปะออกมาสู่สังคมภายนอกได้  ดังนั้น ศิลปินจึงไม่ควรปฏิเสธภาคธุรกิจโดยสิ้นเชิง ทางออกที่เวอร์จิเนียพยายามจะเสนอก็คือ ศิลปินจำเป็นต้องวางบทบาทของตัวเองต่อภาคธุรกิจในระดับที่ไม่ถลำตัวจนถึงกับลดคุณค่าของการสร้างสรรค์ หากจำเป็นต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม บทวิจารณ์ชิ้นนี้จึงมิใช่เพียงแค่การวิเคราะห์โครงสร้างของวงการทัศนศิลป์ไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยชี้แนะทางออก

โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า การที่ผู้เขียนให้ข้อมูลเชิงภววิสัยที่เกี่ยวข้องกับวงการทัศนศิลป์ไทยในด้านต่างๆ และยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา มีส่วนช่วยให้ประเด็นการวิจารณ์ของเธอมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ข้อสรุปของเธอตอนหนึ่งที่ชี้ชัดว่า ศิลปะไทยในปัจจุบันถูกใช้เพื่อทางการค้ามากกว่าจะแสดงถึงศรัทธาดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา การกล่าวเช่นนี้อาจจะไม่ยุติธรรมกับศิลปินบางส่วนที่มีความจริงใจในการสร้างงาน แต่สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงก็มีปรากฏอยู่ในวงการศิลปะอยู่ด้วย แม้จะไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดก็ตาม นอกจากนี้ เธอยังทิ้งนัยสำคัญไว้อีกว่า การที่ศิลปะไทยถูกผูกติดอยู่กับสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นชาติ คงไม่เป็นคำตอบที่ดีที่สุด และคงไม่ใช่วิถีทางที่จะพาให้วงการศิลปะของไทยก้าวไปได้ไกล

บทวิจารณ์ชิ้นนี้นับได้ว่า มีคุณค่าต่อการศึกษาในแง่ที่ช่วยกระตุ้นให้วงการทัศนศิลป์ไทยได้ขบคิดหาวิธีการในการเติมเต็มปัจจัยที่ขาดไป และได้ช่วยแนะทางออกไว้บ้างแล้ว ผู้อ่านบางกลุ่มอาจเห็นว่า ข้อเสนอแนะของผู้เขียนยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร แต่เท่าที่เวอร์จิเนียเสนอมุมมองและข้อเท็จจริงด้านหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ ก็นับได้ว่าเธอได้กระตุ้นให้เกิดความคิดที่รอบด้านมากขึ้นในวงการศิลปะของไทยแล้ว

 

วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร : ผู้วิเคราะห์

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาทัศนศิลป์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *