อวสานของประวัติศาสตร์ศิลป์

อวสานของประวัติศาสตร์ศิลป์

ฮันส์ เบลทิง

 

เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วถึงอวสานของประวัติศาสตร์ศิลป์ อวสานของทั้งศิลปะและวิชาการการศึกษาทางศิลปะ  กระนั้นทุกครั้งที่อวสานที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้มาถึงก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ  อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆยังคงดำเนินต่อไป และปรกติแล้วมันก็มักจะเป็นไปในทิศทางใหม่โดยสิ้นเชิง  ทุกวันนี้ศิลปะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในปริมาณที่น้อยลง ในทางวิชาการก็ยังคงมีการศึกษาอยู่เช่นกัน  แม้จะมีความกระตือรือร้นน้อยลงและมีความกังขาในศาสตร์ของตัวเองมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา  สิ่งที่เป็นปัญหาหนักก็คือ มโนทัศน์ของคำว่า “ประวัติศาสตร์ศิลป์” ที่มีความเข้าใจร่วมกันเป็นสากล ซึ่งเป็นมโนทัศน์ที่สนองต่อศิลปินและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ในทางที่แตกต่างกันมาเป็นเวลานาน  ศิลปินในทุกวันนี้มักปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระแสที่กำลังดำเนินไปใน ประวัติศาสตร์ ของศิลปะ  ในแง่นี้พวกเขากำลังแยกตัวเองออกจากขนบทางความคิดอันมีรากมาจากศิลปินเองนั้นคือ       ประวัติศาสตร์ที่เริ่มจาก จอร์จิโอ วาซาริ Giorgio Vasari ในหลายด้านขนบทางความคิดนี้ก็ เพื่อ ศิลปินด้วยกันเอง ขนบซึ่งได้เตรียมการและกำหนดกฎเกณฑ์พื้นฐานไว้ให้ศิลปิน ต่อมาอีกนาน จึงเพิ่งจะมีนักประวัติศาสตร์ศิลป์เกิดขึ้นมาบนเวทีแห่งนี้ ณ วันนี้ หากนักประวัติศาสตร์ศิลป์ไม่ยอมรับแบบแผนของประวัติศาสตร์ ซึ่งพวกเขาไม่ได้คิดขึ้นมาด้วยตัวเองแล้ว พวกเขาก็จะหลีกเลี่ยงหน้าที่ในการสร้างแบบแผนใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่สามารถจะทำได้ ทั้งศิลปินและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ต่างสูญเสียศรัทธาต่อกระบวนการที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นเป้าหมายตามธรรมชาติของประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าในทางศิลปะไปแล้ว กระบวนการนั้นก็คือการที่จะต้องมีคนๆหนึ่งทำและถูกอธิบายโดยคนอื่นๆ

ความงุนงงสับสนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียใจ เพราะเหตุว่า มันสามารถกระตุ้นศิลปินไปสู่เป้าหมายใหม่ และสามารถกระตุ้นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ไปสู่คำถามใหม่ได้  สิ่งซึ่งดูเหมือนว่ามีความชอบธรรมในตัวเองมานาน แต่ขณะนี้กลับทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งแปลกประหลาดขึ้นมาได้แก่ การสร้างข้อผูกพันกับมโนทัศน์ที่ว่าด้วย “ประวัติศาสตร์” อันเป็นสากลของศิลปะ ซึ่งมโนทัศน์นี้ครอบคลุมทุกอย่างเอาไว้หมด แต่การกล่าวแสดงความเห็นต่อ  มรณกรรมของประวัติศาสตร์ศิลป์ แน่นอนว่าไม่ใช่การทำนายถึงอวสานของศาสตร์สาขาวิชา               ประวัติศาสตร์ศิลป์ ประเด็นของเราก็คือ การสลัดให้หลุดออกจากแบบแผนของการอธิบายถึงศิลปะในแบบที่เป็นประวัติศาสตร์  การสลัดให้หลุดออกจากแบบแผนมักจะบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติ แต่ก็ไม่ค่อยให้ผลที่ชัดเจนนัก แบบแผนเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในรูปแบบต่างๆมากมายของ      ประวัติศาสตร์  นักประวัติศาสตร์ศิลป์อธิบายถึงศิลปะราวกับว่ามันเป็นระบบอิสระที่ไม่ขึ้นกับอะไร และประเมินค่าได้ด้วยเกณฑ์ภายในระบบของตัวเอง มนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ดัง    กล่าวจะมีก็เป็นเพียงศิลปินเท่านั้น หรือมากกว่านั้นก็เป็นแค่ผู้อุปถัมภ์

ประวัติศาสตร์ศิลป์แบบเก่าต้องประคับประคองตัวเองไว้ในวิกฤตการณ์ครั้งแรก เมื่อเผชิญกับกลุ่มอะวองการ์ด Avant-garde1 ที่ประกาศตัวเป็นศัตรูกับขนบของศิลปะที่ผ่านมา และก่อตั้งแบบแผนแห่งประวัติศาสตร์ของตัวเองขึ้น หลังจากนั้นประวัติศาสตร์ของศิลปะก็ต้องประสบกับวิกฤตการณ์อีกสองครั้งที่มาบรรจบกันเข้า ทำให้เกิดแบบแผนที่มีนัยถึง “ความก้าวหน้า” เมื่อดูผิวเผินแบบแผนทั้งสองก็อาจมีความคล้ายคลึงกัน แต่ในเนื้อหาที่แท้จริงแล้วค่อนข้างแยกออกจากกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเหตุการณ์นี้ยังคงรักษาความศรัทธาต่อการมีอยู่ของ “ศิลปะ” ไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ศิลปะดังกล่าวไม่ได้ถูกเสนอเป็นภาพด้านเดียวอีกต่อไป มันถูกอธิบายแยกส่วนในฐานะที่เป็นช่วงเวลาสมัยใหม่และก่อนสมัยใหม่ ดังนั้นคำอธิบายด้วยเนื้อหาทางประวัติศาสตร์จึงใช้การไม่ได้อีกต่อไป  ณ จุดนี้เองที่อาจก่อให้เกิดแนวร่วมขึ้น ความล้มเหลวนี้เป็นแต่เพียงเผยให้เห็นถึงการดำเนินไปของสองเหตุการณ์ที่พัฒนาการของศิลปะยังคงอยู่รอดได้ด้วยความเข้าใจกันเองในหมู่ของศิลปิน และด้วยการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกันของนักวิจารณ์ แต่ในทางวิชาการแล้ว ศาสตร์สาขานี้กำลังค้นหาแบบแผนวิทยาในตัวมันเองด้วยความสิ้นหวัง

ผลของความสับสนสามารถที่จะผลักดันให้เกิดพลวัตที่สร้างสรรค์ขึ้นได้  หากเพียงแต่เหตุที่ผลักดันนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะเราได้มาถึงจุดที่คำถามเกี่ยวกับความหมายและหน้าที่ของศิลปะจะถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อมันอยู่ในบริบทที่กว้างออกไปกว่าประสบการณ์ทางศิลปะทั้งของอดีตและปัจจุบัน  ศิลปินในทุกวันนี้ได้รวบรวมทั้งศิลปะแบบอดีตและศิลปะสมัยใหม่เข้าไว้ในภาพเดียวกันเมื่อเขามองย้อนสำรวจกลับไป แต่พวกเขาเว้นที่จะมองศิลปะทั้งสองในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นมรดกที่ทิ้งไว้เป็นปัญหาให้เผชิญหรือเพื่อให้ปฏิเสธ  ในทำนองเดียวกัน ขอบเขตระหว่างศิลปะวัฒนธรรม และประชาชนที่สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นก็กำลังถูกท้าทาย  เครื่องมือที่ใช้ในการตีความของประวัติศาสตร์ศิลป์แบบเก่าถูกขัดเกลาอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งมันใช้การไม่ได้อีกต่อไป และในสาขาวิชาซึ่งยุ่งอยู่กับการจัดลำดับเวลาและรายการข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ไม่มากก็น้อยนั้น กลายเป็นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติเลย  การข้ามพรมแดนระหว่างศิลปะและสังคม หรือ “ภูมิหลัง” ทาง     วัฒนธรรมที่ศิลปะนั้นเกิดขึ้น ต้องการเครื่องมือและเป้าหมายในการตีความที่ต่างออกไป มีเพียงทัศนคติที่เป็นความคิดค้นหาทดลองเท่านั้นที่มีท่าทีว่าจะได้คำตอบใหม่ๆ  แม้ผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ยังคงไว้ซึ่งความถูกต้องทางวิชาการ แต่พวกเขาก็สามารถให้คำตอบใหม่ๆได้เพียงน้อยนิด เพราะพวกเขาทำตัวเหมือนนักปรัชญาปฏิฐานนิยมที่ยึดมั่นเชื่อถืออย่างเหนียวแน่นเฉพาะแต่เพียงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น หรือเหมือนกับผู้ชำนาญเฉพาะทางที่ปกป้องสาขาวิชาของเขาไว้อย่างหวงแหน และจะต่อต้านคนอื่นๆว่าเป็นพวกไม่รู้จริงไม่รู้ลึก

ณ วันนี้ ศิลปินได้ร่วมกับนักประวัติศาสตร์ศิลป์ในการคิดทบทวนใหม่ต่อบทบาทหน้าที่ของศิลปะ และกำลังท้าทายต่อขนบของศิลปะที่อ้างเอาความชอบธรรมที่เป็นเอกเทศในทางสุนทรีย์ ศิลปินที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเคยเข้าไปศึกษาผลงานฝีมือชั้นครูชิ้นเยี่ยมในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ปัจจุบันพวกเขาเข้าไปเผชิญกับประวัติศาสตร์ทั้งมวลของมนุษยชาติใน           บริทิซมิวเซียม และรับรู้เอาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมแห่งอดีต  ในกระบวนการนี้ได้กลายเป็นการตระหนักถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของเขาเอง  ความสนใจทางมานุษยวิทยากำลังมีอิทธิพลเหนือความสนใจที่จำกัดเฉพาะในทางสุนทรียศาสตร์ ความคิดแบบอดีตที่ว่า ศิลปะและชีวิตเป็นสิ่งตรงกันข้ามและไม่อาจเข้ามารวมกันได้นั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยสาเหตุที่ว่า ศิลปะได้สูญเสียความมั่นคงในฐานะที่เป็นแนวหน้าไปเสียแล้วเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆที่ใช้ภาพ และใช้ภาษาในการสื่อสาร  และน่าจะเป็นที่เข้าใจว่ามันเป็นเพียงหนึ่งในระบบของการเสนอและการอธิบายโลกที่มีอยู่มากมายหลากหลาย  สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ได้เปิดไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ แต่ก็นำปัญหาใหม่มาสู่ศาสตร์สาขาวิชาซึ่งเคยสร้างความชอบธรรมในการแยกสิ่งที่กำลังศึกษา อันได้แก่ศิลปะออกจากขอบเขตขององค์ความรู้และการทำความเข้าใจความหมายของศาสตร์สาขาอื่น

นี่ไม่ใช่การเสนอแนะว่า นักประวัติศาสตร์ศิลป์จะต้องละทิ้งผลงานศิลปะที่เคยเป็นเป้าหมายเบื้องต้นของการค้นหาของพวกเขา และไม่ใช่การเสนอว่าพวกเขาจะต้องหยิบยืมความรู้จากประวัติศาสตร์ทางสังคมวิทยา หรือจากสาขาวิชาอื่นใดที่พวกเขาควรจะหาให้กับตัวเอง บทบาทของศิลปะในสังคมและคุณลักษณ์ของศิลปะแต่ละชิ้นซึ่งหมายถึงสถานะของมันที่เป็นภาพหรือความเป็นรูปเป็นร่างของมันนั้น เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา  ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าควรแก่ความสนใจทางวิชาการอยู่แล้ว และยิ่งคู่ควรแก่การศึกษากว่าที่เคยเป็นมาเสียอีก  บทบาทของศิลปะในสังคมของเรา อย่างน้อยตามที่ปรากฏชัดเจนอยู่ในขนบของมัน ก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนพอๆกับวิถีทางที่มันจะดำเนินต่อไป ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ พวกเราไม่ได้เดินมุ่งไปข้างหน้าในหนทางแคบๆของประวัติศาสตร์ศิลป์ในทิศทางเดียวอีกต่อไปแล้ว  แทนที่จะเป็นเช่นนั้นพวกเราได้ใช้ช่วงเวลาหยุดพักชั่วขณะหนึ่ง เพื่อทบทวนตรวจสอบถึงความเหมาะสมและสถานะอันหลากหลายของศิลปะในศตวรรษที่ผ่านๆมาและในยุคของสมัยใหม่  ศิลปินปัจจุบันกำลังคิดทบทวนถึงงานของตัวเขาเอง และทบทวนถึงความอยู่รอดที่เป็นไปได้ของสื่ออย่างจิตรกรรมและประติมากรรมในแสงสว่างแห่งมรดกทางประวัติศาสตร์ของศิลปะ ส่วนนักประวัติศาสตร์ก็กำลังทดสอบแบบแผนในการบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ศิลป์ในลักษณะที่ต่างออกไป ซึ่งไม่ใช่       ประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการที่ปราศจากความท้าทาย แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีทางออกใหม่ๆให้แก่ปัญหาใหม่ที่ว่าด้วย อะไรทำให้เกิด “ภาพลักษณ์” และอะไรที่ทำให้เชื่อแน่ได้ว่า ภาพนั้น “เป็นความจริง” ณ เวลาขณะที่มันเกิด  ในท้ายที่สุด ปัญหาที่ว่าด้วยสถานะของสมัยใหม่ที่เผชิญหน้ากับศิลปะร่วมสมัยกำลังต้องการความสนใจอย่างกว้างขวางจากศาสตร์สาขาวิชานี้ ไม่ว่าเราจะเชื่อในแนวคิดหลังสมัยใหม่หรือไม่ก็ตาม

ณ สถานการณ์ปัจจุบันของประวัติศาสตร์ศิลป์ในฐานะสาขาวิชาหนึ่ง และภาวะที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ของศิลปะในแง่ที่เป็นปรากฏการณ์ย่อมทำให้เราไม่อาจได้มาซึ่งคำตอบโดยง่าย การริเริ่มให้มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างจริงจังถึงปัญหาที่ดูพื้นๆสำหรับนัก            ประวัติศาสตร์ศิลป์ทั่วไป ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งจำเป็นเสียยิ่งกว่าการเสนอกรอบขั้นตอนใหม่ในการศึกษา  อันที่จริง สิ่งที่ข้าพเจ้าพยายามหลีกเลี่ยงอย่างที่สุดก็คือ “ระบบ” ใหม่ หรือระบบใดระบบหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลป์  ในทางตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเชื่อว่า ณ วันนี้มีเพียงการยืนยันที่ยึดถือไว้ได้ชั่วครั้งชั่วคราว หรือแม้แต่ยึดถือไว้เพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยังคงความเป็นไปได้อยู่  ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าอาจจะตัดสินด้วยพื้นฐานที่มีจากภาษาเยอรมัน ซึ่งอาจดูเป็นข้อด้อยในสายตาของผู้อ่านภาษาอังกฤษ แต่นี่ก็อาจยืนยันได้ว่า แม้ในโลกที่เรียกว่าไร้พรมแดนแล้วก็ตาม จุดยืนของ    ปัจเจกชนแต่ละคนก็ยังคงหยั่งรากลึกและจำกัดอยู่ในขนบทางวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจง และนี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความเชื่อมั่นส่วนบุคคลในทางศิลปะมากยิ่งขึ้นไปอีก  อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ประเด็นของข้าพเจ้าที่จะกล่าว ณ ที่นี้…

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล

 

แปลจาก Hans Belting : The End of the History of Art ?, 1984 ; Art History and Its Methods, London, Phaidon Press, first published 1995, pp. 293-295.

 

ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมัน Das Ende der Kunstgeschichte,       München, 1984 หลังจากนั้นอีก 10 ปี ฮันส์ เบลทิง นำกลับมาเขียนใหม่และขยายความออกไป ใช้ชื่อหนังสือว่า Das Ende der Kunstgeschichte. Eine Revision nach zehn Jahren, München, 1994 เขาได้เพิ่มเติมบทที่ว่าด้วยสถาบันศิลปะ ณ ปัจจุบัน และได้บันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่พึงสังเกตในประวัติศาสตร์ศิลป์ในโลกของสื่อใหม่ และมีบทหนึ่งที่อุทิศให้กับปีเตอร์ กรีนอเวย์ Peter Greenaway ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษ  ข้อความที่คัดมานี้ ตัดตอนมาจากบทนำในฉบับแรกที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ The End of the History of Art?, translated by C.S. Wood, Chicago, University of Chicago Press, 1987, p.p. ix-xii.

 

บทวิเคราะห์


ฮันส์ เบลทิง (Hans Belting) เป็นศาสตราจารย์ด้านศิลปะและทฤษฎีสื่อที่สถาบันศิลปะชั้นสูงแห่งเมืองคาร์ลส์รูเฮอ เยอรมนี เป็นผู้ที่มีความสนใจและความรู้กว้างขวาง ได้สร้างงานทางวิชาการที่ครอบคลุมองค์ความรู้หลากหลายนับตั้งแต่ศิลปะมัธยสมัยมาจนถึงศิลปะร่วมสมัย เบลทิงไม่มองวิชาการด้านศิลปะอย่างแยกส่วน แต่เล็งเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างสรรค์ ประวัติศาสตร์ศิลป์ ทฤษฎีศิลปะ และการวิจารณ์ศิลปะ งานที่นำมาวิเคราะห์ในครั้งนี้จัดได้ว่ามีลักษณะที่พ้องกับแนวโน้มของวิทยาการตะวันตกในปัจจุบันที่พยายามจะชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงโดยกล่าวเป็นนัยถึงการสิ้นสุดของกระแสบางกระแส ในทางประวัติศาสตร์ก็มีงานชิ้นที่ได้รับความสนใจมากชื่อ”จุดสิ้นสุดแห่งประวัติศาสตร์” (The End of History and The Last Man ของ Francis Fukuyama:1992)  ในทางประวัติการละครก็มีหนังสือบุกเบิกของจอร์จ ชไตเนอร์ (George Steiner, The Death of Tragedy: 1961)[ดูสรรนิพนธ์และบทวิเคราะห์สาขาศิลปะการละคร] ในด้านของวรรณคดีศึกษาก็มีบทความที่โด่งดังมากของ โรลองด์ บาร์ธส์ (Roland Barths:1915-1980) ชื่อมรณะกรรมของผู้แต่ง(La Mort de l’auteur: 1968)[ดูสรรนิพนธ์และบทวิเคราะห์สาขาวรรณศิลป์] และในที่นี้เราก็จะได้รับรู้ถึงแนวคิดที่สำคัญในเรื่องของ”อวสานของประวัติศาสตร์ศิลป์” ข้อสังเกตทั่วไปของผู้วิเคราะห์ก็คือสังคมตะวันตกเหนื่อยหน่ายกับแนวคิดที่เดินเป็นเส้นตรงในรูปของวิวัฒนาการต่อเนื่อง ถึงจะมีขึ้นมีลง แต่ก็ยังเน้นถึงเอกภาพ ความต่อเนื่องและความเป็นสากลอยู่นั่นเอง ซึ่งแนวคิดที่ว่านี้ดูจะไม่ตรงกับสภาพความเป็นไปของสังคมปัจจุบัน และไม่พ้องกับแนวทางปฏิบัติของศิลปินร่วมสมัย

ความคิดหลักมีอยู่ว่า นักประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกนับตั้งแต่ จอร์จิโอ วาซาริ (Giorgio Vasari: 1511-1574) มุ่งที่จะสร้างงานประวัติศาสตร์ศิลป์ให้เป็นประวัติของงานสร้างสรรค์โดยมิได้ให้ความสำคัญต่อบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม อันถือได้ว่าเป็นผลงานส่วนรวมของสังคมมนุษย์ ถ้าจะยอมให้มนุษย์บางประเภทมีที่อยู่บ้างในกรอบของประวัติศาสตร์ศิลป์ ก็จะยอมให้แต่เพียงสองประเภทคือศิลปินกับผู้รู้(connoisseurs)เท่านั้น อันที่จริงแนวคิดดังกล่าวซึ่งรู้จักกันในนามของ “ประวัติศาสตร์ภายในของศิลปะ” (internal history of art)นั้น ครั้งหนึ่งเป็นจุดเด่นของการเขียนประวัติศาสตร์ศิลป์แนวตะวันตกที่มุ่งเน้นตัวงานและสไตล์ ทำให้นักวิชาการในสาขาอื่นๆ แสดงความปรารถนาว่า น่าจะลองนำวิธีการของประวัติศาสตร์ทัศนศิลป์ไปใช้กับสาขาอื่นๆบ้าง ดังเช่นในกรณีของนักวรรณคดีชาวเชกผู้โด่งดังคือ เรเน่ เวลเลก(René Wellek: 1903-1995)ซึ่งได้แต่ตั้งความปรารถนาไว้เป็นเชิงทฤษฎีเท่านั้น  แต่ไม่สามารถที่จะสร้างประวัติ          วรรณคดี”ภายใน”(internal history of literature)ขึ้นมาได้ ที่ให้ภูมิหลังโดยเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆมาในที่นี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า แนวความคิดที่เบลทิงพยายามจะล้มล้างนั้นเป็นกำแพงอันแน่นหนาที่นักวิชาการหลายสาขาต้องรวมพลังกันล้มล้าง

จุดยืนของเบลทิงอยู่ที่ว่าการแยกส่วนระหว่างศิลปะกับชีวิต(ในความหมายที่กว้างอันรวมไปถึงสังคมโดยทั่วไป และวิถีประพฤติปฏิบัติของคนสามัญธรรมดา)นั้น ไม่สะท้อนสภาพแห่งความเป็นจริง กล่าวอีกนัยหนึ่งงานศิลปะย่อมถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์อย่างมิอาจเลี่ยงได้ ถ้านักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ศิลป์อาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลง เบลทิงก็เสนอว่าน่าจะได้เรียนรู้จากกลุ่มศิลปินร่วมสมัยของเราเอง ดังข้อความที่เขากล่าวไว้ว่า “ศิลปินผู้ว่านอนสอนง่ายโดยสำนึกในหน้าที่ในอดีต มักจะเข้าไปศึกษางานชิ้นเอกที่รวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ (Louvre) ปัจจุบันพวกเขาเข้าไปเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ทั้งมวลของมนุษยชาติในบริติชมิวเซียม (British Museum)” นัยแห่งข้อสังเกตดังกล่าวก็คือว่า ขอบข่ายแห่งการรับรู้ของคนรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องขยายวงออกไปอย่างกว้างขวางมากทั้งในด้านของกาละและเทศะ นอกจากนี้คนรุ่นใหม่กลับมีความสำนึกเชิงประวัติศาสตร์สูงกว่าคนรุ่นเก่าเสียด้วยซ้ำ เพราะรู้ดีว่าตนยืนอยู่ ณ จุดใดในกระแสของประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้ปฏิเสธประสบการณ์อันกว้างขวางที่รับรู้และเล่าเรียนได้จากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประวัติศาสตร์ศิลป์จะยังติดอยู่กับรูปแบบเดิมอีกต่อไปมิได้ ประวัติศาสตร์ศิลป์จึงมิใช่กิจของการพินิจงานในอดีต แต่เป็นภารกิจร่วมสมัยของนักวิชาการยุคปัจจุบันที่จะต้องรู้จักตนเองในบริบทของโลกและสังคมร่วมสมัย และในขณะเดียวกันก็หยั่งรากกลับไปในอดีต ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับงานศิลปะและบริบททางสังคมวัฒนธรรม นักประวัติศาสตร์ศิลป์ยุคใหม่จึงมิอาจเลี่ยงการศึกษาศิลปะร่วมสมัยไปได้ และจำเป็นที่จะต้องสร้างความจัดเจนให้แก่ตนเองในเรื่องของการวิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยด้วย ประวัติศาสตร์ศิลป์แผนใหม่กับศิลปวิจารณ์จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ร่วมกัน

ถ้าจะมองไปในอดีตที่ไม่ไกลนัก เบลทิงก็คิดว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดความสำนึกใหม่เป็นผลงานของกลุ่มอะวองการ์ด (Avant-garde)ที่เรียกร้องว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ในช่วงก่อน”ยุคใหม่”(modernism)จำเป็นจะต้องแยกตัวออกมาจากการศึกษาศิลปะรุ่นใหม่นับแต่ยุคโมเดิร์นนิสม์เป็นต้นมา เบลทิงใช้คำว่าคิดใหม่(rethink)อยู่หลายครั้งโดยตอกย้ำว่าทั้งศิลปินเองและทั้งนักประวัติศาสตร์ศิลป์จำเป็นจะต้องคิดใหม่ ประเด็นบางประเด็นอาจยังไม่มีข้อยุติ หากเพียงแต่ตั้งคำถามที่สำคัญก็ถือได้ว่าเป็นการคิดใหม่แล้ว เช่นในประเด็นที่ว่าด้วยลักษณะของงานศิลปะอันรวมถึง”ความเป็นภาพ”(picturarity) บทบาทของศิลปะในสังคม หรือลักษณะการสะท้อนโลกแห่งความเป็นจริงด้วยงานศิลปะ ประเด็นเหล่านี้อาจจะไม่มีคำตอบที่เป็นสากลโดยไม่ผูกอยู่กับเงื่อนไขของกาละและเทศะ สิ่งที่น่าสรรเสริญในงานเขียนของเบลทิงก็คือ เขามีความอ่อนน้อมถ่อมตนพอที่จะยอมรับว่า คำตอบที่ได้อาจจะเป็นคำตอบชั่วคราวที่ขาดเอกภาพโดยองค์รวม แต่เขาก็คิดว่าเพียงแค่ได้อภิปรายโต้เถียงหรือมีวิวาทะต่อกันก็ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่ควรสนับสนุนแล้ว แม้ว่าเขาจะออกตัวว่า เขาเป็นคนเยอรมันและให้ข้อเสนอแนะจากฐานประสบการณ์เยอรมัน แต่เราก็คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าข้อคิดของเขาเป็นประโยชน์ต่อวงการประวัติศาสตร์ศิลป์และการศึกษาศิลปะในประเทศไทยด้วย  เช่น ข้อเรียกร้องให้นักประวัติศาสตร์ศิลป์ใส่ใจต่อศิลปะร่วมสมัย ข้อเสนอแนะที่ต้องการให้นักประวัติศาสตร์ศิลป์ทำหน้าที่ของการวิจารณ์พร้อมกันไปด้วย นั่นก็คือการเรียกร้องให้นักวิชาการพร้อมที่จะทำหน้าที่ประเมินคุณค่าศิลปะด้วยหลักวิชาและด้วยความเที่ยงธรรม ข้อคิดบางอย่างของเขาดูจะพ้องกับทิศทางการสร้างสรรค์ของศิลปะยุคใหม่ อันรวมถึงศิลปะร่วมสมัยของไทยด้วย ที่มิได้มุ่งเน้นความสำคัญและความคงทนถาวรของตัวงานศิลปะ หากแต่พึงพอใจกับการสร้างประสบการณ์ที่มีความเข้มข้น ในกรอบของกาละและเทศะอันจำกัด ประวัติศาสตร์ศิลป์จำเป็นจะต้องปรับตัวให้พร้อมที่จะศึกษาและวิจารณ์การสร้างสรรค์ของศิลปินร่วมสมัยได้ หาไม่แล้วการวิจารณ์ศิลปะก็อาจจะยังคงอยู่ในมือของผู้ที่รู้แต่เพียงครึ่งๆกลางๆต่อไป หรือไม่ก็เป็นการที่ศิลปินเองจำใจต้องอาสาตัวเข้ามาทำงานวิจารณ์ ทั้งๆที่รู้ดีว่าไม่อาจวางตัวเป็นกลางได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าได้นำบทข้อเขียนของเบลทิงไปพิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว เราคงจะได้แนวคิดที่จะปรับปรุงวิทยาการสาขาประวัติศาสตร์ศิลป์ของเราขึ้นมาด้วยก็ได้

 

เจตนา นาควัชระ: ผู้วิเคราะห์


1 ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในฝรั่งเศส  อะวองการ์ด Avant-garde มีความหมายถึงงานศิลปะของกลุ่มหัวก้าวหน้า ต่อมาคำนี้จึงมักใช้เรียกกระแสหรือความเคลื่อนไหวทางศิลปะของศิลปินกลุ่มต่างๆที่สร้างผลงานแหวกแนวออกไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 : ผู้แปล

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาทัศนศิลป์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *