ว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ (ภาคปฏิบัติ) : กรณีสาวน้อยชื่อ มัณฑนา โมรากุล

ว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ (ภาคปฏิบัติ) : กรณีสาวน้อยชื่อ มัณฑนา โมรากุล

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 อาจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ (ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาฯ) อาจารย์จุไรรัตน์ ลักษณศิริ (อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร) คุณอรพินท์ คำสอน (นักวิจัย และหัวหน้าสำนักงาน โครงการวิจัยการวิจารณ์) และผม ได้ไปกราบสวัสดีปีใหม่ คุณมัณฑนา โมรากุล ศิลปินแห่งชาติ และนักร้องหมายเลขหนึ่งของประเทศไทยเมื่อกึ่งศตวรรษที่แล้ว แม้จะอายุ 87 ปีแล้ว แต่ท่านก็ยังมีความจำเป็นเลิศ เล่าเกร็ดต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับยุคทองของเพลงไทยสากลให้เราฟัง

ท่านดูจะเป็นผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก เมื่อตอนอายุเพียง 20 ต้น ๆ ก็กล้าที่จะต่อกรกับหัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการในสมัยนั้น คือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน (ซึ่งยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นศิลปินระดับโลกไปแล้ว) ประเด็นมีอยู่ว่า คุณมัณฑนามีความเห็นว่า ความยิ่งใหญ่ของครูเอื้อไม่ได้อยู่ที่การร้องเพลง สาวน้อยมัณฑนามิได้เพียงแค่“คิดเอาไว้ในใจ”(ชื่อเพลงสุนทราภรณ์เพลงหนึ่ง!) แต่กล้าหาญถึงกับไปขอเพลงที่ครูเอื้อแต่งขึ้นมาเพื่อจะร้องเองนั้นมาให้เธอร้องเสีย หัวหน้าฯถึงกับสะอึกที่พบเด็กสาวที่กล้าแสดงวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์อย่างเปิดเผยถึงขนาดนั้น แม้จะเคืองอยู่บ้าง ครูเอื้อก็โอนอ่อนให้บางส่วน เราจึงได้ยินเพลง “กลิ่นราตรี” ฉบับแรกที่มัณฑนา โมรากุลเป็นผู้ขับร้อง ก่อนที่ครูเอื้อจะมาอัดแผ่นซ้ำด้วยการร้องด้วยตนเอง

มีนักฟังเพลงชอบพูดถึงครูเอื้อกับ Louis Armstrong ไปพร้อม ๆ กันว่า ถ้าไม่เป็นหัวหน้าวงละก็ จะมีโอกาส . . . ละหรือ อาจจะเป็นการพูดที่ไม่น่าฟังนัก

ขอท่านผู้รักดนตรีโปรดวินิจฉัยด้วยตนเองเถิด!

เจตนา นาควัชระ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *