รายงานย่อการเสวนาในหัวข้อ “จากห้องเรียนศิลปะเก่าสู่ห้องเรียนออนไลน์กับการดำรงอยู่ของการวิจารณ์”
“จากห้องเรียนศิลปะเก่าสู่ห้องเรียนออนไลน์กับการดำรงอยู่ของการวิจารณ์”
อรพินท์ คำสอน
ในช่วงเย็นถึงค่ำในวันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2556 ที่ The Reading Room ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมฟังเสวนาหัวข้อ “จากห้องเรียนศิลปะเก่าสู่ห้องเรียนออนไลน์กับการดำรงอยู่ของการวิจารณ์” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต” โดยมีวิทยากรร่วมอภิปราย 3 คน คือ ผศ.ดร. เถกิง พัฒโนภาษ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ชัยยศ อิษฎ์วรพันธ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอาจารย์นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และดำเนินรายการโดย อาจารย์วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
จากประสบการณ์การวิจารณ์งานของนิสิตนักศึกษาในชั้นเรียน ทำให้วิทยากรทั้งสามคนเห็นข้อจำกัดและความแตกต่างระหว่างการวิจารณ์ในชั้นเรียนกับการเปิดกลุ่มวิจารณ์ในสื่ออินเทอร์เน็ตว่ามีหลายสาเหตุ ประการแรก คือ การลดบรรยากาศความเครียดระหว่างกัน เพราะการวิจารณ์กันโดยตรงอาจทำให้รู้สึกอึดอัด ทำให้ไม่กล้าที่จะพูดอะไร ซึ่งต่างจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต ประการที่สองคือ การช่วยตอกย้ำข้อมูล เพราะผู้สอนช่วยนิสิตนักศึกษาด้วยการสรุปประเด็นการสอนของตนลงเผยแพร่ในสื่อสังคม ประการที่สาม คือ การให้คำปรึกษา แนะนำ หรือกระตุ้นให้ทำงาน โดยที่ในบางรายวิชาได้มีการจัดตั้ง “กลุ่ม” ออนไลน์ สำหรับให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำนิสิตนักศึกษานอกเวลาเรียน และประการสุดท้าย คือ การให้ข้อมูลในเชิงองค์ความรู้ เพราะการเสวนากันในกลุ่มชั้นเรียนศิลปะบางกลุ่มมีร่องรอยหรือมีลิงก์ต่างๆ ที่สามารถจะตามเข้าไปหาความรู้เพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี วิทยากรต่างยอมรับว่าสำหรับการเกิดกลุ่ม (group) ในเฟซบุ๊กที่ทำอยู่ในขณะนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่ ไม่อาจเรียกว่าได้ผลทั้งหมด อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งในด้านของการวิจารณ์ที่พยายามสอนนิสิตนักศึกษาอยู่ตลอดเวลาคือ ไม่มีครูคนใดสอนได้หมด และสิ่งที่พยายามสอนลูกศิษย์คือการกระตุ้นให้ช่างสงสัย รู้จักหาข้อมูล สนใจไปหาเองจริงๆ ท้ายที่สุดแล้วสามารถเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะไม่มีผู้ใดสามารถบอกได้ว่าจะเชื่อมโยงกันอย่างไร เนื่องจากเงื่อนไขของแต่ละคนต่างกัน
การเสวนาในครั้งนี้มิได้กล่าวถึงเฉพาะในประเด็นการวิจารณ์ในชั้นเรียนและการเปิดกลุ่มวิจารณ์ในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังมีการกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจในวงการศิลปะและการวิจารณ์ศิลปะในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพและปริมาณการวิจารณ์ศิลปะในสื่อลายลักษณ์ของสังคมไทย วิทยากรเห็นว่าคุณภาพของการวิจารณ์ศิลปะลดลง เนื่องจากวงการศิลปะของไทยมีขนาดไม่ใหญ่นัก ผู้ที่เขียนวิจารณ์ส่วนใหญ่มักรู้จักกับศิลปินเป็นการส่วนตัว จึงเลือกเขียนวิจารณ์แง่บวกมากกว่าแง่ลบ และมีการพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะกันทางความคิดกัน ซึ่งต่างจากในอดีต ขณะเดียวกันการวิจารณ์ศิลปะยังขาดหรือไม่มี “ศัตรูในจินตนาการ” ในความหมายของกระแสและแนวคิดทางศิลปะที่ชวนให้ต้องวิพากษ์และต่อต้าน ซึ่งอาจจะเป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้เกิดการวิจารณ์ได้เป็นอย่างดี แต่ในแวดวงศิลปะไทยมีแต่ศัตรูที่มีตัวตนจริง ความขัดแย้งจึงมิใช่ความขัดแย้งทางปัญญาความคิด แต่เป็นความขัดแย้งส่วนตัว ในขณะที่นักวิจารณ์ศิลปะในต่างประเทศบางประทศจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาก เช่น นักวิจารณ์ศิลปะใน The New York Times แต่ในสังคมไทยกลับมีการส่งผู้ที่อ่อนอาวุโสที่สุดไป “ทำข่าว” ศิลปะ จึงไม่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมีสาระ ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังเกิดปรากฏการณ์ของการวิจารณ์ศิลปะในสื่อสิ่งพิมพ์ที่น่าสนใจอยู่บ้าง เช่น การมีบทวิจารณ์ศิลปะที่เข้มข้นจริงจังในนิตยสารอ่าน และมี “แฟน” ที่ติดตามและชื่นชอบจำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าติดตามต่อไปว่าผลผลิตที่เกิดจากการอ่านนิตยสารในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบในรูปแบบใดบ้างหรือไม่
สำหรับการวิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตและใน “สื่อสังคม” (social network) นั้น วิทยากรทุกคนเห็นพ้องกันว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นเวทีใหญ่สำหรับผู้วิจารณ์ศิลปะ “หน้าใหม่” ซึ่งพบว่ามีงานดีๆ เป็นจำนวนไม่น้อย และด้วยมิติพิเศษของสื่ออินเทอร์เน็ต คือ “ไฮเปอร์เท็กซ์” (hypertext) และ“เรียลไทม์” (real time) ซึ่งคุณสมบัตินี้เองอาจช่วยให้ “ศัตรูในจิตนาการ” ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะอินเทอร์เน็ตมีศักยภาพกระตุ้นให้เกิดการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ที่สูงมาก แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่ค่อยพบในสังคมไทย นอกจากนี้การวิจารณ์ศิลปะในปัจจุบันยังมี “ลำดับศักดิ์” ซึ่งบทวิจารณ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์นับว่ามีศักดิ์สูงกว่าบทวิจารณ์ที่เผยแพร่ในสื่ออินเทอร์เน็ต แต่เชื่อว่าในอนาคต “ลำดับศักดิ์” เหล่านี้จะลดลงอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะการก่อร่างสร้างตัวในโลกของอินเทอร์เน็ตเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้บางคน “หล่อข้ามคืน” หรือมีชื่อเสียงในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งต่างจากในระบบของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องอาศัยเวลา ทั้งเวลาในการเสพงาน เวลาในการแสวงหาความรู้ เวลาในการกลั่นกรอง และเวลาของการสร้างเนื้อสร้างตัวที่นานกว่าจะได้โอกาสตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจารณ์ ซึ่งอาจมิใช่อาศัยฝีมือเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับทัศนคติของบรรณาธิการด้วย
ในแง่ที่ว่าการเรียนการสอนวิจารณ์ศิลปะส่งผลต่อการสร้างนักวิจารณ์อาชีพหรือไม่ อย่างไรนั้น วิทยากรบางคนเห็นว่าการวิจารณ์ศิลปะดีขึ้น เพราะมีหลักสูตรและอาจารย์สอนการวิจารณ์ศิลปะอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม มีนักศึกษาบางคนที่มีศักยภาพในการวิจารณ์ที่สูงมาก แต่ต้องไปประกอบอาชีพอื่นแทน เพราะการเขียนวิจารณ์ได้ค่าตอบแทนไม่พอเลี้ยงชีพ หากมีนิตยสารมากขึ้น นักศึกษาก็สามารถออกไปประกอบอาชีพเป็นนักวิจารณ์ศิลปะได้มากขึ้น ในอีกแง่หนึ่ง หากจะเผยแพร่งานวิจารณ์ในสื่ออินเทอร์เน็ตแต่เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่จะสามารถที่จะทำงานวิจารณ์ที่มีคุณภาพในวงการศิลปะได้ เพราะในสังคมไทยยังมีกรอบเรื่อง “การเกรงใจผู้ใหญ่” อยู่มาก ในขณะที่วงการวิจารณ์ภาพยนตร์และวรรณกรรมก้าวหน้าไปไกลกว่านี้มาก ผู้เขียนเห็นว่าในประเด็นนี้อาจต้องพิสูจน์กันต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพ
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับวงการศิลปะนั้น วิทยากรตั้งข้อสังเกตว่าวงการของไทยไม่ใส่ใจที่จะสร้างมโนทัศน์ (concepts) หรือแม้แต่ศัพท์แสง (vocabulary) ที่สามารถอธิบายความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ของศิลปะได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปรับแก้ ศิลปะของไทยในยุคปัจจุบันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศิลปะตะวันตก ในขณะเดียวกันการรับรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศส่วนใหญ่จะได้รับเฉพาะแรงกระตุ้น โดยผู้รับไม่ได้สัมผัสกับต้นแบบทั้งหมดอย่างถูกต้องแท้จริง จึงไม่เป็นไปในลักษณะของการสัมผัสตัวงาน แม้แต่ในรูปของการผลิตซ้ำ (reproduction) สำหรับการรับรู้ความเคลื่อนไหวในด้านการวิจารณ์และทฤษฎีศิลปะยังไม่มีความชัดเจนว่าก้าวหน้าไปเพียงใดหรือไม่
ทั้งนี้อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะนำไปสู่ “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” ที่แข็งแกร่งนั้นยังมองไม่เห็นชัด โอกาสใหม่ที่โลกอินเทอร์เน็ตเปิดให้ทำให้เกิดงานวิจารณ์ที่มีคุณภาพเป็นรายๆ หรือเป็นครั้งคราว งานบางชิ้นคุณภาพสูงมาก แต่ยังไม่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มีเอกภาพและยังขาดความหนักแน่น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปัจจัยของเวลา ซึ่งหมายถึงความรวดเร็วของการสื่อความเชิงวิจารณ์ การแลกเปลี่ยนทัศนะวิจารณ์ และการรับรู้โดยทั่วไป อย่างไรก็ดี การวิจารณ์ต้องไม่ได้ปรารถนาเพียงเพื่อมุ่งสร้างความเจ็บปวด และจากประสบการณ์ของต่างประเทศพบว่า ศิลปินต่างประเทศที่ดีและเข้าใจที่จะพัฒนาตนเองได้อย่างไม่หยุดยั้ง มักเป็นผู้รู้จักใช้ประโยชน์จากคำวิจารณ์อยู่ตลอดเวลา จึงถือได้ว่าการวิจารณ์เป็นวัฒนธรรมที่ต้องพัฒนาต่อไป
วิทยากรทั้ง 3 ท่านเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมีความสามารถในการแสดงออกด้วยภาษาสูงมาก ทั้งชัดเจนและลึกซึ้ง มีการให้ความเปรียบอย่างเหมาะสม และให้ตัวอย่างจากประสบการณ์จริงที่ชวนคิด อีกทั้งมีประสบการณ์จากทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะประสบการณ์จากญี่ปุ่นน่าสนใจยิ่ง อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเทชิมะ (Teshima Art Museum) ภาพยนตร์เรื่อง “Nemuru otoko” หรือ “Sleeping Man” และ งานเก่าของทะดะโอะ อันโด (Tadao Ando) วิทยากรดูจะเล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยที่โครงการฯ ได้ทำต่อเนื่องมา จึงรับเชิญและเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี สามารถให้ข้อมูลที่มีเนื้อหาสาระสูง นอกจากนี้ วิทยากรแต่ละคนยังมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของทฤษฎีศิลป์อย่างลึกซึ้ง แต่ก็มิได้อ้างทฤษฎีในแบบการบอกเล่าหรือท่องบ่นทฤษฎีของนักคิดตะวันตกคนนั้นคนนี้ หากแต่มีจุดยืนของตน จึงสามารถแสดงความคิดเห็นต่อชิ้นงานศิลปะและศิลปกรรมโดยทั่วไปได้อย่างหนักแน่น ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวช่วยอธิบายและขยายพรมแดนความรู้ให้กับผู้ฟังได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ฟังที่เป็นคนนอกวงการศิลปะสามารถเข้าใจสิ่งที่วิทยากรนำมาอภิปรายได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
จะขอยกคำกล่าวสรุปการเสวนาในช่วงท้ายของศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ ที่แสดงความรู้สึกที่ได้ฟังการเสวนาในวันนี้ โดยขออนุญาตนำประสบการณ์จากวงการดนตรีมาใช้ด้วยการอ้างคำพูดของนักไวโอลินของโลก Lord Yehudi Menuhin ที่กล่าวถึงนักไวโอลินเอกชาวรัสเซียคือ David Oistrakh ว่า “I would have loved to study with him” ซึ่งอาจารย์เจตนาก็คิดในทำนองเดียวกันว่า อยากจะได้มีโอกาสได้เป็นศิษย์ของอาจารย์ทั้งสามท่านนี้