Yojimbo ภาพยนตร์แนวคาวบอยตะวันตกของ คุโรซาวะ อากิระ
ที่มาภาพ http://farm2.static.flickr.com/1393/1422423380_1cda4aa0e0.jpg
อรพินท์ คำสอน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ม.ค. 2554) ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ครบรอบวันเกิด 100 ปี ของ คุโรซาวะ อากิระ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก งานเทศกาลครั้งนี้ เจแปนฟาวน์เดชั่น และโรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิร์ล ซีเนม่า จัดฉายภาพยนตร์ที่เป็นผลงานของ
คุโรซาวะ จำนวน 25 เรื่อง ให้ชมฟรี ที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิร์ด ซีเนม่า ชั้น 7 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ตั้งแต่วันที่ 6 – 19 มกราคม 2554
แม้ว่า Yojimbo จะสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 แล้วก็ตาม แต่เนื้อหาของภาพยนตร์ก็ยังสื่อความกับผู้ชมในยุคปัจจุบันได้ (ผู้อ่านที่ไม่ใช้ชาวญี่ปุ่นมีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษให้) ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนถึงสังคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในสมัยก่อนผ่านเรื่องราวของนักดาบฝีมือฉกาจที่เข้ามาปั่นหัวเจ้าพ่อของสองแก๊งใหญ่ประจำถิ่นที่ต่างฝ่ายต่างปกป้องผลประโยชน์ของตน แต่ยังมีบางมุมที่แฝงเรื่องราวความเป็นหนังคาวบอยตะวันตกไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากต่อสู้ ที่มักจะเป็นลานกว้างๆ ให้คู่ต่อสู้สองฝ่ายประจันหน้ากัน และมีลมพัดผ่าน ใบไม้แห้งปลิวตามระลอกของกระแสลม ก่อนที่คู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายจะลงมือต่อสู้กัน
ความโดดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกประการหนึ่งคือ เทคนิคการถ่ายทำ แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นภาพยนตร์ขาว-ดำ ที่ถ่ายทำมานานแล้ว แต่ความงามของมุมกล้อง ความคมชัดของการถ่าย และการศิลปะการถ่ายทำที่ “เล่น” ระหว่างแสงกับเงา ทำให้พบว่าหลายๆ ฉากในภาพยนตร์สวยไม่แพ้ภาพถ่ายชั้นเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นฉากเคลื่อนไหว ทั้งฉากการต่อสู้ หรือแม้กระทั่งฉากเพลิงไหม้ในโรงเก็บไหม ก็สามารถถ่ายเปลวเพลิงที่กำลังลุกโชนออกมาได้อย่างสวยงาม ราวกับเปลวไฟนั้นมีชีวิต หรือว่าภาพนิ่งที่สะท้อนบรรยากาศของเรื่อง ที่สะท้อนภาพชนบทของญี่ปุ่น เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะคุโรซาวะประกอบอาชีพจิตรกรก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งพรสวรรค์และความสามารถนี้เองที่ช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดภาพที่สมจริงบนแผ่นฟิล์ม
นอกจากนี้ การสะท้อนอุปนิสัยใจคอของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ผ่านตัวละครในเรื่อง นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่คุโรซาวะนำเสนอผ่านผลงานของเขาเสมอมา ในเรื่องนี้จะพบความเห็นแก่ตัวของเจ้าพ่อที่ต่างฝ่ายต่างคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง โดยไม่สนใจศีลธรรมและความถูกต้อง ในขณะที่ตัวเอกของเรื่องกลับเป็นผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อพิทักษ์ความถูกต้อง เที่ยงธรรมของสังคมที่ไร้ระเบียบเช่นนี้ไว้ และท้ายที่สุดก็สามารถขจัดความเลวร้ายไปจากสังคมได้
เมื่อได้ชม Yojimbo จบจนก็ไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดคุโรซาวะจึงเป็นผู้กำกับที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์เก่าถ่ายทำมานานครึ่งศตวรษ แต่ก็สื่อความข้ามยุคและข้ามวัฒนธรรมได้ ขณะเดียวกันเรื่องราวยังคงความสนุก ชวนติดตาม และครบรส คือมีทั้งตลก ตื่นเต้น และ หม่นเศร้า จึงไม่แปลกใจเลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีผู้สนใจเข้าชมอย่างเนืองแน่น ที่ต้องพูดเช่นนั้นเพราะในวันนั้นที่นั่งในโรงเต็มทุกที่ และยังมีผู้สนใจจำนวนหนึ่งพร้อมใจที่จะนั่งที่นั่งเสริม และนั่งบริเวณบันไดของโรงภาพยนตร์ด้วย ซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่มีทั้งคนไทย คนญี่ปุ่น และชาวตะวันตก ในปริมาณเท่าๆ กัน
ด้วยเหตุนี้จึงอยากเชิญชวนผู้ที่ยังไม่เคยชมภาพยนตร์ที่กำกับโดยคุโรซาวะ อากิระ น่าจะที่หาโอกาสไปชมสักครั้ง เพราะเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้เหลือเวลาอีก 3 วัน และเหลือภาพยนตร์ในชมอีกเพียง 3 เรื่องเท่านั้น ซึ่งจะจัดฉายทุกวันในเวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถขอรับบัตรเข้าชมฟรี 1 คนต่อ 1 ใบ 30 นาที ก่อนเวลาฉายแต่ละเรื่อง
——————————
ถ้าจะดูหนังเรื่องนี้ให้ถึงแก่นจริงๆ ควรหาหนังอีกสองเรื่องมาดูควบคู่กันไปด้วย คือ Shane ของจอร์จ สตีเวนส์ (ฉากเปิดเรื่องเทียบกันได้ช็อตต่อช็อตเลย) และ High Noon ของเฟรด ซีเนมานน์
ผู้วิจารณ์บอกว่าฝากขอบคุณด้วยครับ และจะพยายามไปหามาดูตามที่แนะนำ
โครงเรื่องคลับคล้าย A fisful of dollars more แสดงนำโดย คลินต์ อีสต์วูด ครับ