บี.เอส.โอ บรรเลงสุนทราภรณ์ : จาก “ตื่นใจ” ไปสู่ “จับใจ” : เมื่อไรจะไปถึง “ครองใจ”

บี.เอส.โอ  บรรเลงสุนทราภรณ์ :  จาก “ตื่นใจ ไปสู่ “จับใจ” :  เมื่อไรจะไปถึง “ครองใจ

 

เจตนา  นาควัชระ

 

 

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

 

ใครก็ตามที่ชื่นชอบเพลงสุนทรภรณ์และคุ้นชินกับดนตรีคลาสสิกอยู่บ้างก็อดที่จะคิดไม่ได้ว่า  เพลงบางเพลงนั้นถ้าร้องออกมาเป็นแบบอุปรากรหรือกึ่งอุปรากร  และมีวงดนตรีซิมโฟนีขนาดใหญ่คลอไปด้วย  คงจะได้รสชาติที่ไม่แพ้ต้นฉบับที่ครูเอื้อและผู้ร่วมงานของท่านสร้างขึ้นมา  แม้แต่เพลงที่ครูเอื้อร้องเองด้วยลีลาแบบไทยที่ท่านถนัด เช่น “ยอดดวงใจ” นั้น  มีหลายตอนที่ชวนให้ร้องออกมาเป็นแนวตะวันตกได้  เช่นเดียวกับ “ยามรัก” ที่ ม.ร.ว. ถนัดศรี  สวัสดิวัตน์  เป็นผู้ร้อง ก็มีหลายช่วงหลายตอนที่เปิดทางให้ผู้ร้องแนวตะวันตกพาเพลงไปให้ถึงจุดที่ไพเราะกินใจผู้ฟังได้เช่นกัน   สมมุติฐานของผมแต่เดิมมาก็คือ  ครูเอื้อ  สุนทรสนาน เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาด้านดนตรีคลาสสิกตะวันตกมาอย่างลึกซึ้งในฐานะศิษย์ของพระเจนดุริยางค์ ที่โรงเรียนพรานหลวง  และก็ได้เล่นดนตรีในฐานะนักไวโอลินแนวหนึ่งอยู่ในวงดนตรีคลาสสิกของกรมศิลปากรอยู่ถึง  16 ปี  ซึ่งพระเจนดุริยางค์อีกเช่นกันเป็นผู้กำกับวง นอกจากนั้น  ความจัดเจนในด้านทฤษฎีดนตรี โดยเฉพาะในเรื่องของ ear training ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่ด้วยผลงานการจดเพลงไทยเดิมลงเป็นโน้ตสากล  อันจัดได้ว่าเป็นมรดกของชาติที่สำคัญที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้  ข้อสรุปของผมก็คือ ในขณะที่ครูเอื้อแต่งเพลงของท่านขึ้นมานั้น  ท่านคงจะได้ยินเสียงดนตรีคลาสสิกตะวันตกในโสตประสาทของท่านอยู่แล้ว  แต่ท่านไม่ได้มีโอกาสที่จะนำวงซิมโฟนีมาบรรเลงเพลงที่ท่านและเพื่อนร่วมงานของท่านแต่งขึ้นให้กับกรมโฆษณาการ  ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา  ซึ่งวงดนตรีกรมโฆษณาการเป็นวงดนตรีแจ๊สประเภทบิ๊กแบนด์ (big band)  แต่สำหรับวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์  และเวลาเล่นนอกกรอบของราชการก็จะใช้ชื่อว่า วง “สุนทราภรณ์” นั้น  เสียงที่เปล่งออกมาด้วยเครื่องเป่าในบางครั้งมีลีลาราวกับเครื่องสายของวงซิมโฟนี  ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในการสัมมนา  เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน   อันที่จริงครูเอื้อเองท่านก็ใช้ไวโอลินของท่านนำวงบิ๊กแบนด์ และก็สีไวโอลินคลอนักร้องของท่านตลอดมา

ความคิดที่จะได้เห็นการนำวงซิมโฟนีขนาดใหญ่มาบรรเลงเพลงสุนทราภรณ์อยู่ในใจพวกเรามานาน และพวกเราที่ไม่ใช่นักดนตรีก็พยายามที่จะชักชวนและผลักดันให้ผู้ที่เล่าเรียนมาทางดนตรีได้ทดลองฝีมือในการปรับเพลงสุนทราภรณ์เพื่อใช้บรรเลงกับวงดนตรีซิมโฟนีให้ได้  วงดนตรีกรมศิลปากรเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้  แม้จะยังทำไม่ได้เต็มรูปและเต็มที่  แต่ก็เป็นกำลังใจให้แก่นักร้องเป็นอันมาก  เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี  กล่าวไว้หลายครั้งว่า  เวลาที่ท่านร้องเพลงกับวงขนาดใหญ่ของกรมศิลปากร  ท่านจะได้รับกำลังใจที่ทำให้ท่านร้องได้อย่างสุดฝีมือ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์นรอรรถ  จันทร์กล่ำ  แห่งคณะศิลปกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นผู้ที่รับลูกในเรื่องนี้ไปคิดอย่างจริงจังและลึกซึ้งต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และก็ได้ทดลองบรรเลงกับ บี.เอส.โอ. มาแล้ว  ในการแสดงกลางแจ้งวันอาทิตย์ที่สวนลุมพินี  อาจารย์นรอรรถได้เปรียบนักดนตรีอื่นๆ มาก เพราะได้รับการศึกษาในด้านดนตรีคลาสสิกมาเป็นอย่างดี  เป็นนักไวโอลินที่สามารถเล่นคอนแชร์โต้ได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี (ผมเคยฟังอาจารย์นรอรรถเดี่ยวไวโอลินคอนแชร์โต้ของ Mendelssohn  ที่หอประชุมจุฬาฯ  เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว  และยังจำฝีมือของเขาได้อย่างดี) ในฐานะวาทยกร  อาจารย์นรอรรถคือหมายเลขหนึ่งของประเทศไทยในขณะนี้  (เรื่องของดนตรี  มิใช่เรื่องที่จะวัดกันด้วยใบปริญญา หรือรางวัลที่เก็บเกี่ยวมาจากที่ต่างๆ ) เขากำกับการบรรเลงงานของ Beethoven และของ Brahms ได้อย่างน่าประทับใจ  เหนือวาทยกรชาวไทยทั้งหมดที่ผมเคยฟังมา  นอกจากนั้น อาจารย์นรอรรถยังเติบโตมาในครอบครัวที่รักเพลงไทยสากล  โดยเฉพาะสุนทราภรณ์  ได้ซึมซับเพลงประเภทนี้มาตั้งแต่เด็ก  และตนเองก็ฝึกร้องเพลงทั้งไทยและสากลมาอย่างดี  ทุกครั้งที่พวกผมซึ่งทำวิจัยให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในเรื่องการวิจารณ์ดนตรี  จะเชิญอาจารย์นรอรรถมาร่วมเป็นทั้งวิทยากรและนักร้องด้วยทุกครั้ง  และพวกเราก็มีความมั่นใจว่า  ถ้าจะมีใครสักคนที่จะสร้างนวัตกรรมในการบรรเลงสุนทราภรณ์ด้วยวิถีของคลาสสิกตะวันตก  ก็คงจะไม่มีใครเหนือนรอรรถ  จันทร์กล่ำ

 

การที่ผมได้มีโอกาสร่วมรับรู้“เบื้องหลังการถ่ายทำ”  อันรวมถึงซีดีชุด BSO PLAYS SUNTARASPORN  และการแสดงคอนเสิร์ต 2 รอบในรายการ “บี.เอส.โอ. บรรเลงสุนทราภรณ์” ในวันที่ 18 มิถุนายน 2554 นั้น  ทำให้ผมเข้าใจดีว่า   การทำงานในลักษณะนี้ยากยิ่งเพียงใด  ต้องใช้ทั้งแรงใจ  แรงกาย  และความอดทนอย่างมหาศาล (โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวถึงว่าคนที่ไร้ฝีมือในทางดนตรีจะไม่มีวันที่จะทำงานเช่นนี้ได้สำเร็จ)  จากจุดที่เริ่มคิดมาถึงการสัมมนาสุนทราภรณ์วิชาการครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน  และการบรรเลงทั้งที่เป็นการอัดเสียง และการแสดงครั้งนี้ใช้เวลาถึง 5 ปี   อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงส่วนใหญ่มิใช่ประเด็นที่เกี่ยวกับดนตรีหรือวิชาการ  แต่เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดการ  อันรวมไปถึงธุรกิจและการเงิน  นักดนตรีที่ต้องมายุ่งใจและวุ่นใจกับเรื่องเหล่านี้ และยังรักษาสมาธิเอาไว้ได้  เพื่อที่จะทำงานให้ลุล่วงไปได้  ควรจะได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง  เขาไม่ได้มาโดดเดี่ยวแบบตัวคนเดียว  แต่มาเป็นหมู่คณะ  พร้อมที่จะทำงานที่ประณีต  ผมชื่นชมคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ที่ “กัดติด” งานที่คิดว่าควรทำไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างน่าทึ่ง

ในส่วนที่เกี่ยวกับการบรรเลงนั้น  สมมุติฐานที่ผมตั้งเอาไว้บางประการอาจไม่เป็นจริงตามที่คิดเอาไว้ในใจ  ประการแรก  ผมคิดว่าในระบบของสุนทราภรณ์ต้นแบบนั้น  นักร้องโดดเด่น  แต่วงดนตรีมีขึ้นมีลง ไม่อยู่ในระดับแนวหน้าเสมอไป  คือ แข็งที่นักร้อง  และอ่อนที่การบรรเลง  ผมจึงคาดเอาว่าเมื่อได้วงอย่างบี.เอส.โอ.มาบรรเลงแล้ว  ความแข็งแกร่งจะเกิดขึ้นทั้งในรูปของการร้องและการบรรเลงดนตรี  แต่ผลที่ออกมามิได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้โดยสมบูรณ์  คงจะต้องกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า  นักร้องบางคนที่ได้รับเชิญมาอัดเสียงและมาแสดงสดกับวงบี.เอส.โอ.นั้น  ไม่อยู่ในฐานะที่จะ “สู้”กับวงซิมโฟนีขนาดใหญ่ได้  ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับพลังเสียงแต่เพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจว่าต้นแบบคืออะไร  และศักยภาพของการเรียบเรียงใหม่คืออะไร  จนรายการแสดงเมื่อวันที่ 18 ใกล้จะจบลงแล้ว  ผมจึงหาคำตอบได้ว่าปัญหาอยู่ ณ ที่ใด  เมื่อนักร้องประจำของสุนทราภรณ์ คือ พรศุลี  วิชเวช  ออกมาร้องเพลง “รักบังใบ” ได้อย่างไพเราะจับใจและกินใจ  (ดังที่ทำได้อยู่เป็นประจำ  แต่เหตุไฉนถึงได้รับอนุญาตให้ร้องเพียงเพลงเดียว)    เธอเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้เรียนกับครูเอื้อโดยตรง  และครูเอื้อเคยกล่าวชมเธอไว้กับผม  วิธีการร้องของเธอเป็นแบบที่ครูเอื้อเองชอบ  เอื้อนได้อย่างละเมียด  ควบคุมเสียงได้อย่างแม่นยำ  ลีลาเหมาะกับเพลงไทยสากลที่แปลงมาจากเพลงไทยเดิม   เรียกได้ว่าการร้องของเธอเป็นมาตรฐานสูงสุดของเพลงสุนทราภรณ์ ณ ขณะนี้  แต่ผมก็อดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า  ในเมื่อเธอร้องเพลงในแนวที่ห่างไกลจากคลาสสิกตะวันตก  ปราศจากเสียงเต้น (vibrato) และก็ไม่เคยยืนอยู่หน้าวงซิมโฟนีขนาดใหญ่เช่นนี้  เหตุไฉนเธอจึงร้องเพลงได้กลมกลืนกับการเรียบเรียงใหม่ของอาจารย์นรอรรถได้ยอดเยี่ยมเช่นนี้  ในที่สุด  ผมก็ต้องงัดความรู้ทางอักษรศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว  โดยผมจำเป็นต้องยืมมโนทัศน์ทางภาษาศาสตร์มาใช้ว่า  เพลงสุนทราภรณ์นั้นอยู่ในระดับโครงสร้างลึก ใครที่ได้สัมผัสกับแก่นของเพลงสุนทราภรณ์ในระดับนี้มาแล้ว  ไม่มีวันจะต้องประหวั่นพรั่นพรึงกับปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่มีผู้สร้างขึ้นมาในระดับโครงสร้างพื้นผิว ซึ่งเราก็จำจะต้องรับว่า  นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในรูปของการนำวงซิมโฟนีมาบรรเลงในครั้งนี้อยู่ในระดับของโครงสร้างพื้นผิว  แต่ก็เป็นการปรุงแต่งใหม่ที่น่า “ตื่นใจ” ยิ่ง

สมมุติฐานที่สองของผมก็คือ  การร้องสดย่อมจะต้องถึงใจเราดีกว่าการอัดเสียง  เพราะนักร้องกับวงดนตรีน่าจะสร้างแรงดลใจให้กันและกัน  เมื่อหนึ่งเดือนที่แล้วมานี่เองที่ผมได้ไปฟังนักร้องชาวอิตาเลียนผู้เลื่องชื่อระดับโลก คือ  Cecilia  Bartoli ร้องเดี่ยวกับวงดนตรีบารอคจากเมืองซูริค  ในคอนเสิร์ตที่กรุงเบอร์ลิน  และผมก็ได้รู้ประจักษ์ขึ้นมาว่าการแสดงที่ยอดเยี่ยมนั้น  วงดนตรีเป็นตัวกระตุ้นให้นักร้องได้ร้องอย่างสุดฝีมือ และนักร้องก็กระตุ้นให้วงดนตรีแสดงได้อย่างสุดฝีมือเช่นกัน  แต่บี.เอส.โอ.ในการแสดงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ทำได้บ้าง  ทำไม่ได้บ้าง  เข้าใจว่าโอกาสที่นักร้องกับนักดนตรีได้ซ้อมร่วมกันคงน้อยเกินไป และยังไม่รู้จักกันดี  นวัตกรรมในบางรูปแบบ เช่นการลดจำนวนเครื่องดนตรีลงมาจนถึงระดับเชมเบอร์เพื่อเล่นคลอรวงทอง  ทองลั่นธมในเพลง “แสนเสียดาย” ซึ่งเธอเป็นผู้แต่งเนื้อร้องเองนั้น  ยังไม่ลงตัวนัก  เป็นการประหลาดที่ว่าการบรรเลงเพลงที่อัดเสียงไว้ในซีดีนั้น  แม้นักร้องกับวงดนตรีจะมิได้พบกันเลย  และเป็นการรร้องตามการบรรเลงที่อัดเสียงไว้ล่วงหน้า   แต่ผลที่ออกมากลับอยู่ในระดับที่น่าชื่นชม  เสียงวงดนตรีเช่นในเพลง “ศกุนตลา” และ “ฟ้าคลุ้มฝน”  กระหึ่มก้องกังวานเหนือการแสดงจริงมากนัก  ทฤษฎีทั้งหลายที่ผมตั้งไว้พังครืนลงไปในฉับพลัน  ทั้งหลายทั้งปวงนี้อาจเป็นเพราะวิศวกรด้านเสียงเข้ามาช่วยปรับแต่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นใช่หรือไม่

ถึงอย่างไรก็ดี  ไม่ว่าจะเป็นการแสดงจริงหรือการอัดเสียง  นักร้องรับเชิญบางคนก็แสดงความโดดเด่นออกมาอย่างปราศจากข้อกังขาใดๆ และการเรียบเรียงเสียงประสานหนุนให้เกิดการตีความใหม่ที่ทรงคุณภาพได้อย่างแน่นอน  จะขอยกตัวอย่างเพลง “ยามร้าง” อันเป็นเพลงที่รวงทอง  ทองลั่นธมร้องอัดเสียงเอาไว้เมื่อกึ่งศตวรรษมาแล้ว  และก็ตั้งมาตรฐานเอาไว้ที่สูงมากเช่นกัน  แต่สุภัทรา  โกราษฎร์ เข้าใจที่จะร้องเพลงนี้ในลีลาที่เป็นของตนเอง   ไม่ต้องการจะใช้กลเม็ดเด็ดพรายใดๆ  แต่ร้องอย่างตรงไปตรงมา  ยืนเฉยนิ่งอยู่หน้าไมโครโฟนที่ตั้งไว้ตายตัว  อันเป็นภาพที่ชวนให้ผมย้อนกลับไปคิดถึง Goddess ของผม คือ มัณฑนา  โมรากุล  เรียกได้ว่าสุภัทราไม่ใช้จริตในทางคีตศิลป์เลย  แต่ความนิ่งของเธอแปรสภาพเป็นความนิ้งในการร้องเพลง และนรอรรถก็แสดงฝีมือในการเรียบเรียงเพลงไว้ได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง  เพราะใช้กลุ่มเครื่องดนตรีด้วยความหลากหลาย  เช่น ให้ไวโอลินสอดเข้ามาเมื่อนักร้องเริ่มร้อง “ยามสาย”  เมื่อผ่านไปถึง “ยามบ่าย” ก็ใช้เครื่องสายเสียงต่ำดีดคลอไปในลักษณะที่เรียกว่า pizzicato  แต่คงไม่มีอะไรที่จะจับใจเราได้ยิ่งไปกว่าตอนจบ ซึ่งสุภัทราร้องแบบค่อยๆ ให้เสียงละลายหายไปอย่างเป็นธรรมชาติ  และวงแทรกตัวเข้ามาในเบื้องต้นด้วยเสียง French horn (ซึ่งฟังดูแล้วเป็นตัวบ่งบอกภาวะที่อยู่ห่างไกล  ราวกับว่าคนรักจากไปไกลแล้วและอาจจะไม่กลับมา)  แต่นรอรรถไม่ยอมให้เรามองโลกในแง่ร้าย กลับจบเพลงด้วยกลุ่มแตรทรัมเป็ตที่ทำให้เรารู้สึกสว่างขึ้นมาทันที  ราวกับว่าอรุณรุ่ง  และโลกผ่านพ้นจากความมืดไปได้แล้ว  สรุปว่าเพราะ “จับใจ”   เราจะพบการเรียบเรียงเสียงประสานที่ละเมียดขนาดนี้ได้บ่อยครั้งละหรือ

อีกเพลงหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ “เสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น”  ซึ่ง ธีรนัยน์ ณ หนองคาย เป็นผู้ขับร้อง  แก้วเสียงอันใสของเธอหาคนเปรียบได้ยาก  และการร้องแบบกึ่งอุปรากรของเธอก็ดูจะเหมาะกับการเรียบเรียงใหม่ของนรอรรถ  ซึ่งสะท้อนเสียงคลื่นได้อย่างหลากหลาย  อาจจะเริ่มต้นด้วยเกลียวคลื่นที่ไม่รุนแรง  แต่ในตอนกลางเพลง เราเกือบจะได้ยินเสียง“ทะเลบ้า”สอดเข้ามาด้วย  ธีรนัยน์เข้าใจที่จะปรับความงามของภาษาที่แพรวพราวด้วยสัมผัสในให้เป็นเสน่ห์ทางคีตศิลป์  แต่การร้องของธีรนัยน์ในวันที่ 18 มิถุนายนแตกต่างไปจากฉบับที่เธออัดเสียงไว้  ความเป็นนักแสดงของเธอมีผลต่อการร้องบนเวที  เพราะเธอจะใช้จุดเน้นเป็นตอนๆ และออกลีลาท่าทางไปด้วย  มีลักษฌะของการเปล่งคีตวลีที่อาจจะแบ่งเป็นช่วงเป็นตอนมาก  อาจเรียกเป็นภาษาดนตรีว่า over-phrasing  ซึ่งในฉบับที่เธออัดเสียงไว้นั้น  เธอร้องเรียบและละเมียดกว่าในการแสดงจริง  การร้องเพลงไทยในรูปแบบเพลงอุปรากรอาจมีปัญหาอยู่บ้าง  เพราะการเปล่งเสียงแบบตะวันตกมีผลต่อการออกเสียงสระและพยัญชนะบางตัวที่กลายเสียงเป็นภาษาตะวันตกไป  ประเด็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่เหล่านี้ไม่ได้ทำให้การตีความใหม่ของเธอตกต่ำไปแต่ประการใด  เพียงแต่ผู้ฟังกลุ่ม “สุนทราภรณ์นิยม”  คงจะมีข้อกังขาอยู่บ้าง  อันที่จริงบุคคลที่ผมอยากจะถามว่าคิดอย่างไรกับการตีความใหม่ของนักร้องรุ่นหลานก็คือศิลปินแห่งชาติ  รวงทอง  ทองลั่นธม  ที่ให้เกียรติมาร่วมร้องด้วยในการแสดงดนตรีครั้งนี้  ผมเดาว่าเธอคงจะดีใจที่เพลงที่เธอร้องเอาไว้เป็นตัวจักรสำคัญที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางคีตศิลป์ในครั้งนี้

ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดที่สุดในการแสดงในวันที่ 18 มิถุนายนก็คือเพลง “นวลปรางนางหมอง”  (นรอรรถทำตัวเยี่ยงครูเอื้อด้วยการร้องเพลงเองหลายเพลง)  แต่เพลงนี้เป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งของการตีความใหม่  ใช้การเรียบเรียงเสียงประสานที่ชัดเจนมากว่า  ต้องการเน้นความมีชีวิตชีวาของจังหวะแทงโก้  นรอรรถจึงร้องราวกับว่าเพลงนี้มิใช่เพลงเศร้า  แต่เป็นเพลงทำนองเดียวกับ “พรานล่อเนื้อ” (ซึ่งความจริงนรอรรถควรจะตัดสินใจร้องเสียเอง)  หรือ เพลง “อย่าใจน้อย”  เมื่อร้องจบลง  ต้องเรียกว่าโรงคอนเสิร์ตแทบถล่มทลาย  เพราะพระเดชพระคุณทั้งหลายลุกขึ้นปรบมือกันอย่างกึกก้อง  รวมทั้งแฟนเก่าของสุนทราภรณ์ทั้งหลายที่ลืมโครงสร้างลึกไปแล้ว  อีกครั้งหนึ่งที่ผมต้องยอมจำนนต่อโลกแห่งความเป็นจริงว่า  กลุ่มสุนทราภรณ์นิยมเองก็มิได้ฟังเพลงสุนทราภรณ์อย่างละเอียดเท่าใดนัก  ข้อวินิจฉัยของผมก็คือ  ทั้งการเรียบเรียงเสียงประสาน  และการร้อง  จัดได้ว่าเป็น “การตีความผิดที่โอ่อ่า” (grandiose misinterpretation) ซึ่งในบางครั้งอาจจะกลายรูปไปเป็นการตีความผิดที่ให้ความหฤหรรษ์ (hilarious misinterpretation) เสียด้วยซ้ำ  เพลงแทงโก้ของสุนทราภรณ์  โดยเฉพาะเพลงที่ครูเอื้อแต่งให้วินัย  จุลละบุษปะร้องนั้น  เป็นการจงใจเดินสวนกับต้นแบบของตะวันตก  คือนำเพลงลีลาร่าเริงและเร่าร้อนมาสื่อความคิดเชิงลึกที่เกี่ยวกับอารมณ์รัก  รวมทั้งความผิดหวังของผู้ที่สูญเสียคนรักไปแล้ว  ซึ่งมีตัวชี้วัดคือแก้มเธอที่หมองไปเสียแล้วด้วยมือชายอื่น  เนื้อเพลงคือตัวกำกับว่านักร้องจะต้องร้องแบบใด  และประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มัณฑนา  โมรากุล และรวงทอง  ทองลั่นธม เน้นอยู่ตลอดเวลาว่าครูเอื้อและครูแก้ววางรากฐานไว้เช่นนี้  วลีสุดท้ายที่ว่า “โอ้ใจจะขาดแล้วเอย” จำจะต้องร้องให้เห็นว่าชายผู้นี้เจ็บปวดรวดร้าวจนใกล้จะสิ้นลมปราณแล้ว  แต่การตีความของนรอรรถนั้นดูราวกับจะเป็นการบอกว่า  นักร้องได้รับมอบหมายให้มาแสดงละครฉากหนึ่งที่เน้นว่า  งานศิลปะคืองานศิลปะ อย่าไปคิดว่าเป็นชีวิตจริง  นักการละครอาจจะบอกท่านว่า  นรอรรถกำลังใช้ทฤษฎีของแบร์ทอลท์  เบรคชท์  (Bertolt Brecht)  ในขณะที่ผู้แต่งเนื้อร้องและผู้แต่งทำนองยังยึดอยู่กับทฤษฎีของสตานิสลาฟสกี้ (Stanislavsky) เรื่องนี้เราคงจะต้องทะเลาะกันต่อไปเพื่อความงอกงามของเพลงสุนทราภรณ์

จาก “รักบังใบ” มาสู่ “นวลปรางนางหมอง” การขับร้องเพลงสุนทราภรณ์ในครั้งนี้ก้าวไปไกลมาก  การตีความใหม่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง  แต่ผมก็จำจะต้องให้ข้อคิดฝากไว้กับศิลปินรุ่นใหม่ว่า  ต้องเจาะลงไปให้ถึงโครงสร้างลึกของงานอันยิ่งใหญ่นี้ให้ได้  งานครั้งนี้ไปถึงระดับตื่นใจและจับใจได้อย่างแน่นอน  แต่จุดหมายปลายทางที่แท้จริงของพวกเขาควรจะเป็นความทะเยอทะยานที่จะครองใจพวกเราให้ได้  และครองใจไปให้นานแสนนาน  ผมกำลังรอคอย บี.เอส.โอ. บรรเลงสุนทราภรณ์  ชุดที่ 2 และชุดที่ 3 อยู่

 

———————–

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *