ประเด็นที่น่าสนใจจากการสัมมนา เรื่องสุนทราภรณ์วิชาการ ครั้งที่ 2 “จากดนตรีคลาสสิก : เส้นทางของสุนทราภรณ์”

ประเด็นที่น่าสนใจจากการสัมมนา เรื่องสุนทราภรณ์วิชาการ  ครั้งที่ 2

“จากดนตรีคลาสสิก : เส้นทางของสุนทราภรณ์”

 

อรพินท์  คำสอน

 

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่  16 มิถุนายน 2554 มีการจัดการสัมมนา เรื่อง “สุนทราภรณ์วิชาการ  ครั้งที่ 2”  ในหัวข้อ  “จากดนตรีคลาสสิก : เส้นทางของสุนทราภรณ์” ณ หอประชุมใหญ่  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  กรุงเทพฯ  การสัมมนาในครั้งนี้ทำให้มองเห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของเพลงสุนทราภรณ์ในช่วงกึ่งศตวรรษได้ชัดเจนขึ้นในหลายแง่มุม

 

  1. 1. “มรดกสุนทราภรณ์  ภาค 2”

ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ ในการแสดงปาฐกถนานำชี้ให้ถึงความหมายของคำว่า “มรดก”   ตามความเห็นของเกอเธ่ (Goethe) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันที่กล่าวว่า “สิ่งใดที่เจ้ารับเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ  จงศึกษามันเสียให้ถ่องแท้ก่อน  แล้วเจ้าก็จะได้ครอบครองมัน” วิธีหนึ่งของการศึกษาเพลง
สุนทราภรณ์ในแนววิชาการนั้นได้เริ่มกระทำมาแล้วตั้งแต่การจัดการสัมมนาสุนทราภรณ์วิชาการ ครั้งที่ 1  (2532)  ก่อนหน้านั้น  อาจารย์เจตนาได้เขียนบทความลงในวารสารธรรมศาสตร์ (มี.ค. 2527) ชื่อว่า “มรดกของสุนทราภรณ์” พอสรุปประเด็นได้ว่า  การบรรเลงเพลงสุนทราภรณ์คุณภาพตกลงไป  จึงเรียกร้องให้คนนอกวงสุนทราภรณ์เข้ามาร่วมขับร้องและบรรเลงเพลงสุนทราภรณ์  ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็มีศิลปินหลายคนและวงดนตรีหลายวง  เช่น  นัดดา  วิยะกาญจน์  วงแกรนด์เอ็กซ์ ฯลฯ แต่สิ่งที่ขาดอีกประการหนึ่งคือการจัดระบบของเพลงสุนทราภรณ์  เพราะไม่มีผู้ใดทราบว่าเพลงแต่ละเพลงแต่งในช่วงเวลาใด

อาจารย์เจตนากล่าวว่าการนำเพลงสุนทราภรณ์มาศึกษาอย่างเป็นวิชาการนั้น   ผู้ศึกษาต้องรวบรวมประสบการณ์และสกัดประสบการณ์เหล่านั้นออกมาเป็นข้อสรุปรวมทั่วไป  เป็นวิชาการ หรือเป็นทฤษฎีให้ได้  ซึ่งประสบการณ์เหล่านั้นได้มาจาก 2 ทาง คือ ประสบการณ์จากผู้สร้างงาน คือ ผู้บรรเพลงและผู้ร้อง  เช่น ครูเอื้อมักจะเน้นอยู่เสมอว่าไม่ควรร้องเพลงของท่านโดยใส่อารมณ์มากเกินไป  ถ้าเพลงใดที่มีเนื้อเพลงเศร้าอยู่แล้ว  ก็ไม่ต้องบีบเสียงให้เศร้า  หรือคุณมัณฑนา  โมรากุล มักจะเน้นเสนอว่าก่อนที่จะร้องต้องศึกษาเนื้อเพลงให้ถ่องแท้เสียก่อน จากนั้นจึงค่อยไปศึกษาทำนองเพลง แล้วจึงนำทำนองกับเนื้อร้องมาประสานกัน  ประสบการณ์าที่สองคือ ประสบการณ์ของผู้รับ ซึ่งจะมาจากผู้ที่ชอบฟังและวิเคราะห์เพลงจนสามารถที่จะจับหลักการบางอย่างได้   นอกจากนี้เห็นว่าสิ่งที่น่าเสียดายที่สุด คือ ครูเอื้อไม่ได้ถ่ายความรู้เรื่องการแต่งเพลงไว้ให้กับผู้ใด  นั่นอาจเป็นเพราะเพื่อนร่วมงานของท่านทุกคนแต่งเพลงได้  และการสอนการแต่งเพลงที่มีในปัจจุบันอยู่นั้น  จะสอนได้เฉพาะเทคนิคเท่านั้น  ไม่สามารถสอนวิธีที่จะจับแรงดลใจที่จะแปรเป็นอารมณ์เพลง  หรือการให้อารมณ์แปรสภาพออกมาเป็นทำนองเพลงได้

ทั้งนี้  อาจารย์เจตนาเห็นว่าการสัมมนาครั้งนี้ทำให้เห็นว่าเพลงสุนทราภรณ์จะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้  จะต้องทำให้กว้างออกไปและก้าวหน้าไปมากกว่านี้  ในครั้งนี้จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่นำความสุดยอดของคลาสสิกตะวันตกและคลาสสิกของไทยมาผสานกัน  โดยอาจารย์เจตนาได้ยกตัวอย่างเพลงสนุทราภรณ์ที่นำมาเรียบเรียงใหม่โดย วงเยื่อไม้ คือ “ปาหนัน” และ การนำมาเรียบเรียงใหม่โดยอาจารย์นรอรรถ  จันทร์กล่ำ และบรรเลงโดยวง บี.เอส.โอ คือ  “เสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น”  “ยามร้าง” และ “นวลปรางนางหมอง”

สำหรับหัวข้อการสัมมนาที่ใช้ชื่อว่า “จากคลาสสิกสู่คลาสสิก”  นั้น  อาจารย์เจตนาเห็นว่าคลาสสิกในที่นี้มีทั้งสิ้น 4 แบบ  คลาสสสิกแรก คือ เพลงไทยเดิม  ซึ่งครูเอื้อและเพื่อนร่วมงานของท่าน ไม่ว่าจะเป็น ครูเวส  สุนทรจามร  และครูสริ  ยงยุทธ ก็มีความจัดเจน  เพราะได้รับมอบหมายให้จดเพลงไทยเดิมเป็นโน้ตสากล  คลาสสิกที่สอง  คือ เพลงคลาสสิกตะวันตก  เพราะเป็นสิ่งที่ครูเอื้อเล่าเรียนมาจากโรงเรียนพรานหลวง และเล่นไวโอลินแนวหนึ่งอยู่ในวงคลาสสิกตะวันตกของกรมศิลปากรนานถึง 16 ปี  คลาสสิกที่สาม คือ เพลงไทยสากล ที่นำความเป็นคลาสสิกของทั้งเพลงไทยเดิมและเพลงคลาสสิกตะวันตกมาผสานกันได้อย่างลงตัว และพัฒนาไปถึงจุดสุดยอดในเวลาเพียง 20 ปีโดยครูเอื้อและคณะ  และ คลาสสิกที่สี่ คือการนำเพลงไทยสากลของสุนทราภรณ์ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของเพลงไทยสากลมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่เป็นเพลงคลาสสิกตะวันตกและบรรเลงโดยวงซิมโฟนีออร์เคสตรา

 

  1. 2. “นวัตกรรมเพลงสุนทราภรณ์”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์  นรอรรถ  จันทร์กล่ำ  แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมของเพลงสุนทราภรณ์เกิดจากการมีของเดิมที่ดีและเป็นคลาสสิกอยู่แล้ว  และนำมาปรับใหม่โดยไม่ให้ซ้ำทั้งตัวดนตรี การเรียบเรียง การใช้รูปแบบของวงดนตรี และการร้อง  ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะต้องผ่านกระบวนการใคร่ครวญและคิดอย่างมาก และอีกประการหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ลักษณะเด่นของเพลงสุนทราภรณ์คือ เครื่องเป่าที่เล่นด้วยเสียงเบา  หากผู้ที่ไม่เข้าใจในลักษณะเด่นข้อนี้มาทำเพลงสุนทราภรณ์ใหม่โดยเพิ่มเสียงเครื่องเป่าในดังขึ้นมากๆ ก็จะทำลายความเป็นสุนทราภรณ์ไปอย่างน่าเสียดาย  ด้วยเหตุนี้ งานนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังหรือไม่ก็ได้   แต่งานนวัตกรรมที่ดีที่สุดคืองานที่มีความสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์ที่คนส่วนใหญ่รับได้และชื่นชอบ  และที่ดีที่สุดคือต้องเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกวัย  ทั้งที่ชื่นชอบอยู่แล้ว   รวมทั้งผู้ที่เพิ่งเคยฟังเป็นครั้งแรกด้วย  ทั้งนี้   อาจารย์นรอรรถจะเปิดตัวอย่างเพลงที่นำเพลงสุนทราภรณ์ไปปรับใหม่  และถือว่าเป็นนวัตกรรมเพลงสุนทราภรณ์  ไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลง “ดาวล้อมเดือน” ของวงแกรนด์เอ็กซ์  ที่ต้นฉบับเป็นแทงโก้  แต่นำมาทำใหม่เป็นดิสโก้ เพลง “ปลูกรัก” ของ  อ๊อด  คีรีบูน  ผลงานของดนุพล  แก้วกาญจน์ ในชุด “ที่สุดสุนทราภรณ์” การร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ “จุฬาตรีคูณ” แบบโอเปร่าของคุณสมบัติ เมทะนี  ซึ่งเพลงนี้นับเป็นแรงบันดาลใจและเห็นศักยภาพของดนตรีคลาสสิกในเพลงสุนทราภรณ์จนทำให้อาจารย์
นรอรรถนำมาคิดต่อยอด  เพลง “อ้อมกอดพี่” ที่ใช้กีต้าร์ตัวเดียวคลอเสียงร้องของคุณธีร์  ไชยเดช  และเพลง “ปรัชญาขี้เมา”  ในชุด Eclectic Suntaraporn  ทำเพลงโดยคุณนรเศรษฐ  หมัดคง  ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ดนตรีและสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา   นับเป็นนวัตกรรมสูงสุดของสุนทราภรณ์ในความคิดของอาจารย์นรอรรถ  เพราะแนวเพลงเป็นแนวอิเล็กทรอนิกส์  คือใช้เครื่องไฟฟ้าทั้งหมด  และมีการ
“สแคซแผ่น”แทรกเป็นระยะ  และเอาบางส่วนของเสียงร้องและดนตรีดั้งเดิมแบบสุนทราภร์มาแทรกไว้เป็นระยะๆ  ลักษณะเช่นนี้คล้ายกันการทำเพลงของวง The Beatles อาจารย์นรอรรถเห็นว่าเพลงสุนทราภรณ์มีช่องทางที่จะนำไปทำใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างหลากหลาย ดังเช่นที่เสนอตัวอย่างไว้ข้างต้นแล้ว

นอกจากนี้  อาจารย์นรอรรถยังให้ข้อคิดสำหรับผู้ที่จะนำเพลงสุนทราภรณ์ไปทำใหม่ว่า  ผู้ที่ทำต้องมีความรักต่อเพลงที่ทำ  เคารพในตัวงาน  และมีความศรัทธาในงานชิ้นนั้น  ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ประเภทของดนตรี  เช่น ดนตรีจริง หรือ ดนตรีเสียงปลอม  การเรียบเรียงเสียงประสาน ที่จะอิงต้นฉบับบางส่วนและเพิ่มขึ้นใหม่บางส่วน หรือว่าจะเรียบเรียงใหม่ทั้งหมด   และในการร้อง  นักร้องก็ต้องเข้าใจทั้งอารมณ์เพลง  ความหมายของเพลง และประโยคเพลง

 

3.   “ไม่ใกล้ไม่ไกล : เยื่อไม้  ศิษย์สุนทราภรณ์”

คุณทรงวุฒิ  จรูญเรืองฤทธิ์  ศิษย์รุ่นแรกของโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี  ชี้ให้เห็นว่าการจะนำงานของสุนทรภรณ์ไปทำใหม่นั้นอย่างน้อยผู้ทำต้องเข้าใจแก่นของเพลงสุนทรภรณ์ให้ดีเสียก่อน  คุณทรงวุฒิเล่าว่าตอนที่เริ่มทำวงเยื่อไม้ก็เริ่มคิดว่าใช้ใช้วงดนตรีในลักษณะใด  เพราะโดนส่วนตัวไม่ชอบดนตรีที่เป็นเครื่องไฟฟ้า เนื่องจากมีเสียงที่กระด้างเกินไป  และหากจะใช้วงบิ๊กแบนด์ (Big Band)   เหมือนวง
สุนทราภรณ์ก็ขาดทุนที่จะทำ  ในขณะนั้นได้นึกถึงคำพูดของครูใหญ่ (สมาน  นภายน) ว่าเดิมสุนทราภรณ์เป็นวงขนาดเล็ก  มีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น  จึงยึดการทำวงแบบสุนทราภรณ์ในยุคแรก เปลี่ยนแค่เสียงเครื่องดนตรี  จะมีเครื่องให้จังหวะคือ เปียโน  กีตาร์ เบส กลอง  เครื่องเป่าคือ ฟลูตและคลาริเน็ตมาเสริม  ซึ่งนับเป็นเสียงเครื่องดนตรีที่ได้ยินน้อยในเพลงสุนทราภรณ์ และมีแอคคอเดียนแทรกเป็นบางเพลง  แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ของเพลงสุนทราภรณ์คือไวโอลิน   เมื่อนำเพลงที่เลือกมาเรียบเรียงเสียงประสานคุณทรงวุฒิพบว่าเพลงสุนทราภรณ์มีการวางฮาร์โมนีไว้ในทำนองเพลงด้วย  หมายความว่าวางคอร์ตหลักๆ ไว้ในทำนองเพลงแล้ว ซึ่งลักษณะเช่นนี้เหมือนกับเพลงคลาสสิก ดังนั้นก่อนที่จะทำเพลงจะต้องหาคอร์ตและฮาร์โมนีในเพลงให้พบก่อน  ก็จะได้ทำนองและ “เสียง” ของสุนทราภรณ์  เพราะสำเนียงหรือเสียงของสุนทราภรณ์เกิดจากฮาร์โมนีที่วางไว้ในเพลงอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ในเพลงสุนทราภรณ์ยังมี line สำคัญๆ ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์นั้นๆ เมื่อนำมาทำใหม่ก็ต้องคง line สำคัญนั้นไว้  เช่น จำได้ไหม  นางฟ้าจำแลง  หรือ ปาหนัน  (เป็นเพลงเดียวของสุนทราภรณ์ที่มีกีตาร์โซโล) คุณทรงวุฒิชี้ให้เห็นว่าการเล่นดนตรีของวงเยื่อไม้ยังยึดจังหวะ (rhythm) ของเดิมเป็นหลัก เช่น เพลงเดิมเป็นโบเรโร่  ก็จะเล่นเป็นโบเรโร่  และความเร็วของเพลงก็ยึดให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด  ส่วนเครื่องเป่าจะเขียนให้อยู่ในลักษณะที่เล่นเป็น counterpoint  เพื่อให้พัวพันหรือสอดแทรกกับทำนองหลักที่นักร้องร้องอยู่  และไวโอลิน ที่นับว่าสำคัญมาก  และถือว่าว่าเป็นสีสันของวงเลย  เนื่องจากอาจารย์นพ โสตถิพันธ์  มีวิธีสีไวโอลินที่ไม่เหมือนใคร และเสียงก็แปลก คือมีสีสันและทรงพลัง  และจะต่างจากครูเอื้อที่มักจะสีทำนองหลักของเพลงคลอไปกับนักร้อง  แต่วิธีการเล่นไวโอลินกับอาจารย์นพเป็นแบบการ “ด้น” (improvisation)  คือการสีโดยการคิดขึ้นมาเองสดๆ จากการฟังจากดนตรีที่บันทึกอยู่  แล้วก็สีทับลงไปโดยไม่ต้องเก็บโน้ต   เพราะฉะนั้นทางไวโอลินของอาจารย์นพจึงเป็นการเปิดโอกาสให้แสดงศักยภาพออกมามากที่สุด  จึงไม่มีการเขียนโน้ตกำกับการเล่นไว้  แต่ให้อาจารย์นพฟังและสีเอง โดยจะบอกเพียงแค่อารมณ์กว้างๆ ให้ฟัง เช่น  เศร้า  หวาน หรือ ดุดัน

สำหรับนักร้องนั้น  คุณทรงวุฒิเลือกอรวี  สัจจานนท์ และวิระ  บำรุงศรี เพราะทั้งสองคนไม่ค่อยได้ร้องเพลงสุนทราภรณ์  จึงยังไม่ติดสำเนียงของเพลงสุนทราภรณ์มากนัก ดังนั้น ในการร้องของนักร้องทั้งสองคนจึงเน้นการร้องที่เป็นตัวของตัวเอง  แต่ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาเทคนิคการร้องและความหมายของเพลงนั้นๆ มาเป็นอย่างดีเพื่อปรับให้เข้ากับการร้องของตน  นอกจากนี้ ในการเลือกเพลงมาทำใหม่นั้น  คุณทรงวุฒิจะเลือกเพลงที่ไม่โด่งดังมากนัก  เพื่อเลี่ยงการเปรียบเทียบ  เมื่อผลงานสำเร็จก็ได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งจากนักฟังเพลงรุ่นใหม่และผู้ที่ชื่อนชอบอเพลงสุนทราภรณ์เดิม  เพราะว่าเพลงของ “เยื่อไม้” มีทั้งของเก่าละของใหม่ผสมกันอยู่  แต่อย่างไรก็ดี  คุณทรงวุฒิยอมรับว่าผลผลิตที่ดีนั้นต้องเกิดจากบทเพลงต้นแบบที่ดีด้วย

 

  1. 4. “จากคลาสสิกสู่คลาสสิก : เส้นทางของสุนทราภรณ์”

ช่วงต้นศาสตราจารย์ ดร. ณัชชา  พันธุ์เจริญ ชี้ให้เห็นความคลาสสิกของเพลงสุนทราภรณ์  โดยใช้งานของคุณรวงทอง  ทองลั่นธมเป็นกรณีศึกษา  นับตั้งแต่คุณลักษณะของเพลงที่คุณรวงทองร้องนั้น  ประกอบด้วยเนื้อร้องที่มีภาษากินใจ  สื่อความได้   ทำนองมีเอกลักษณ์  และเพลงที่ร้องส่วนใหญ่ยังเป็นเพลงที่นักแต่งเพลงตั้งใจแต่งให้คุณรวงทองร้อง  ในส่วนของคุณลักษณะพิเศษของน้ำเสียงนั้นคุณรวงทองจะร้องเสียงขึ้นจมูก มีน้ำเสียงอ้อน และจริตส่วนตัวที่น่าฟัง  ซึ่งร้องเลียนเสียงเครื่องสาย  ทั้งยังมีน้ำเสียงที่มีพลังแบบไทย  คือเชื่อมเสียงสูงและเสียงต่ำได้พลังเท่ากัน  และร้องเอื้อนเสียงแบบไทย ซึ่งจะขยี้ทุกเสียง  มีกลเม็ดเด็ดพราย และโน้ตประดับเวลาร้อง  รวมทั้งยังออกเสียงอักขระชัดทุกคำ

ในแง่ของการเชื่อมระหว่างความเป็นคลาสิกของเพลงสุนทราภรณ์กับคลาสสิกของวงซิมโฟนีนั้น  อาจารย์ณัชชาเห็นว่าต้องอาศัยนักดนตรีและผู้เรียบเรียงเสียงประสานที่มีฝีมือ  เนื่องจากความเป็นคลาสสิกของสุนทราภรณ์อยู่ที่ความเรียบง่าย และมีจุดเด่นอยู่ที่นักร้องและแนวดนตรี   ทั้งนี้จะพบว่าปัญหาของวง
สุนทราภรณ์คือ  เพลงแต่เดิมนั้นวางตัวเพลงไว้กับนักร้อง   จึงทำให้ไม่สามารถที่จะมีนักร้องรุ่นใหม่คนใดร้องแทนนักร้องคนเดิมได้    ซึ่งงานศิลปะในลักษณะนี้  เมื่อหมดแล้วก็จะหมดเลย  ด้วยเหตุนี้  คนรุ่นหลังจึงต้องทำหน้าที่รักษาให้งานเหล่านี้คงอยู่ต่อไป  โดยไม่ต้องพะวงว่าจะต้องร้องเสียงให้เหมือนต้นแบบ  ในขณะที่เพลงสุนทราภรณ์ที่บรรเลงโดยวงบี.เอส.โอ นั้น นับเป็นงานแนวใหม่ที่บุกเบิกขึ้นมา   เพราะไม่ได้รักษาสุนทรียะแบบของเดิมไว้   แต่ต้องการที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สนใจและติดใจ   ซึ่งผลงานที่สร้างขึ้นใหม่นี้นับเป็นองค์ของคีตพนธ์ (repertoire) ที่สามารถใช้แสดงคอนเสริต์ดนตรีคลาสสิกได้

 

จากนั้น  อาจารย์ชูวิทย์  ยุระยง เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างความเป็นวงบิ๊กแบนด์ของวงสุนทราภรณ์  กับวงบิ๊กแบนด์มาตรฐานทั่วไปว่า  โดยปกติวงบิ๊กแบนด็จะแยกเครื่องดนตรีเป็น 2 กลุ่ม คือ หนึ่ง  กลุ่มเครื่องเคาะจังหวะ  ประกอบด้วย  กลอง  เปียโน  กีตาร์ และ เบส   กลุ่มสองเป็นกลุ่มเครื่องเป่า  จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เครื่องลมไม้ คือ แซกโซโฟน จะมีทั้งสิ้น 5  ตัว คือ อัลโตแซกโซโฟน 2   เทเนอร์แซกโซโฟน 2  และ บาริโทน  1    และเครื่องลมทองเหลือง คือ ทรัมเป็ต 4  และ ทรอมโบน 4  แต่วง
สุนทราภรณ์จะใช้ แซกโซโฟน 4  คือ อัลโต 2  และเทเนอร์ 2  โดยจะใช้วิธีการเรียบเรียงเสียงประสานแบบสลับ  คือ แนวที่หนึ่ง และ สาม ใช้อัลโตแซกโซโฟน ส่วนแนวที่สอง และ สี่ ใช้ เทเนอร์แซกโซโฟน  เพราะจะให้เสียงนุ่มนวลกว่าที่จะฉีกกันไปโดยให้เครื่องเล็กเล่นเสียงสูง  และเครื่องใหญ่เล่นเสียงต่ำอย่างที่นิยมกัน  และเครื่องลมทองเหลืองนั้นจะใช้  ทรัมเป็ต 2  และทรอมโบน 1   ทั้งนี้เนื่องจากการบันทึกเสียงในสมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้ามากพอ  ถึงแม้ว่าครูเอื้อจะใช้วงดนตรีตามมาตรฐานของวงบิ๊กแบนด์โดยทั่วไป เมื่อนำมาอัดเสียงก็จะได้ยินเฉพาะเครื่องดนตรีเสียงสูง  ในขณะที่เครื่องดนตรีเสียงต่ำก็จะไม่ค่อยมีบทบาทเท่าใดนัก

นอกจากนี้  จากเอกสารที่อาจารย์ชูวิทย์อ่านพบนั้น  ครูสมาน  นภายน เขียนเล่าไว้ว่า ครูเอื้อมักจะกล่าวไว้เสมอว่าการเล่นดนตรีนั้นไม่ได้ต้องการเอาดนตรีขึ้นไปอวดพลังหรืออวดความสามารถและไปกลบเสียงร้อง  หรือแม้แต่เพลงเต้นรำก็จะบอกว่าต้องเล่นจังหวะให้ชัด  เพื่อให้ผู้ที่เต้นรำได้ยินจังหวะที่เต้น  ไม่ใช่เป็นการเล่นเพื่ออวดฝีมือ  แต่เป็นการเล่นดนตรีเพื่อให้คนเต้นรำมีความสุข  ด้วยความคิดเช่นนี้จึงทำให้เพลงเต้นรำของสุนทราภรณ์เป็นที่นิยม    และแนวความคิดเช่นนี้เองที่กลายเป็นข้อกำหนดประการหนึ่งในการเรียบเรียงเสียงประสานของวงสุนทราภรณ์ด้วยเช่นกัน

อาจารย์ชูวิทย์เห็นว่าดนตรีคลาสสิกแตกต่างจากเพลงป๊อบปัจจุบันคือ ดนตรีคลาสสิกเมื่อแต่งเสร็จแล้วจะออกแสดงก่อน แล้วจึงจะมีการอัดเสียงตามมา  จึงแตกต่างจากนักร้องและนักดนตรีในปัจจุบันที่อัดเพลงก่อนแล้วค่อยนำไปออกแสดง  และเวลาที่ออกแสดงนั้นก็ใช้ “ลิปซิง”  ไม่ได้ร้องจริง และไม่มีเวลาร้อง  เมื่อต้องมาอัดเพลงในครั้งต้อไป  ทั้งนักร้องและนักดนตรีเหล่านั้นก็ไม่มีการพัฒนาศักยภาพใดๆ ของตนขึ้นมาเลย   ในขณะที่เพลงสุนทราภรณ์ เมื่อแต่งเพลงเสร็จแล้วก็นำเพลงดังกล่าวออกแสดงจนเพลง “ช้ำ” แล้วจึงค่อยมาอัดเสียง  ซึ่งนับเป็นกระบวนการในการขัดเกลาและช่วยพัฒนานักร้องและนักดนตรีให้มีคุณภาพมากขึ้น  ลักษณะเช่นนี้นับเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของวงสุนทราภรณ์ที่ส่งผลให้เพลงของสุนทราภรณ์คงอยู่และเป็นอมตะ

ท้ายที่สุด  อาจารย์นรอรรถ  จันทร์กล่ำ กล่าวถึงการนำเพลงสุนทราภรณ์มาเรียบเรียงใหม่ในชุด “B.S.O. PLAYS  SUNTARAPORN” ว่า  เพลงส่วนใหญ่ที่เลือกจะเลือกเพลงที่ชอบ  และจะพิจารณาว่าเพลงที่เลือกมานั้นเหมาะกับการทำออร์เคสตราหรือไม่  และจะดูเพลงที่เลือกมาทั้งหมดในภาพรวมว่ามีความสมดุลต่อกันหรือไม่  อย่างไร  และเพลงส่วนใหญ่ที่เลือกมาในชุดนี้จะยังคงรักษาวิญญาณเพลงสุนทราภรณ์ไว้  แต่อาจจะขยายหรือเสริมตัวเพลงเพื่อให้ประกาศศักดาในแง่มุมทางดนตรีให้ชัดเจนขึ้น  เพราะความเป็นเพลง
สุนทราภรณ์แข็งแกร่งอยู่แล้ว  จึงไม่ต้องห่วงว่าจะกลายเป็นอื่นโดยที่หาความเป็นสุนทราภรณ์ไม่ได้

 

————————

 


สำหรับความเห็นเกี่ยวกับการแสดงคอนเสิร์ตที่นำเพลงสุนทราภรณ์มาปรับใหม่ในครั้งนี้  สามารถอ่านได้จาก http://172.27.49.39/thaicritic/?p=209

 

One comment

  • # *** การวิเคราะห์ วิจารณ์ พร้อมแทรกความรู้จากหลายท่านดังกล่าวข้างต้น …ทำให้เกิดแนวคิดและประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลแด่ทุกท่านที่มีใจรัก ชื่นชอบแนวเพลงสุนทราภรณ์ และสามารถนำไปเพื่อการพัฒนาต่อยอด อนุรักษ์ ต่อไป…..กระผมขออนุญาตเป็นคนหนึ่งที่ขอชื่นชมทุกท่านที่เป็นธุระเกี่ยวข้องจนปรากฏบทความชิ้นนี้ครับ….ขอเป็นกำลังใจ พร้อมจะติดตามผลงานต่อไป….ปอ น้ำค้าง,6ก.ค.559,11:15น.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *