ดนตรีทำหน้าที่ยารักษาใจ : สตริงควอร์เต็ทของ ม.ล. อัศนี ปราโมช

ดนตรีทำหน้าที่ยารักษาใจ :  สตริงควอร์เต็ทของ ม.ล.  อัศนี  ปราโมช

 

ผมชวนเพื่อนฝูงหลายคนให้ไปฟังการแสดง สตริงควอร์เต็ท (string quartet)  ที่โรงแรม  Four Seasons ในคืนวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค. 54 เพราะผมคาดหวังเอาไว้ว่า  งานชิ้นใหม่ของ ม.ล. อัศนี  ปราโมช  คือ String Quartet No. 1 จะต้องเป็นงานที่น่าตื่นเต้นอย่างแน่นอน  แต่ก็ไม่มีใครตามผมไปสักคน   เป็นไปได้อย่างไรที่นักไวโอลินและวิโอล่าชั้นนำ และนักประพันธ์เพลงคลาสสิกระดับแนวหน้าอย่างท่านต้องรอนานจนกระทั่งล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้วจึงจะกล้าแต่งสตริงควอร์เต็ทเป็นครั้งแรก  แต่แน่นอนที่สุด  ท่านต้องได้สั่งสมความคิดและกลวิธีต่างๆ ในการแต่งเพลงเอาไว้เป็นทุนอย่างมากมาย  พร้อมเมื่อไรก็นำมาใช้ได้เมื่อนั้น

ศิลปินต้องได้รับแรงบันดาลใจหรือแรงกระตุ้น จึงจะสร้างงานที่ทรงคุณค่าได้ เช่นเดียว กับพวกเราส่วนใหญ่  เหตุการณ์รุนแรงในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม  2553  กระทบใจเราอย่างเลี่ยงไม่ได้  แต่ศิลปินผู้สร้างสรรค์จะมีวิธีที่จะเปิดทางให้ประสบการณ์(ไม่ว่าจะเลวร้ายเพียงใด)มาประทับใจตน  แล้วหลอมประสบการณ์ที่ฝังใจนั้นออกมาเป็นงานศิลปะให้ได้  สตริง
ควอร์เต็ท หมายเลข 1 ของ ม.ล.อัศนี เป็นงานที่พรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดในโลกแห่งความเป็นจริง  จัดเข้าประเภทของ programme music ได้  กระบวนที่ 1 ให้ภาพของสังคมชนบทของไทยที่อยู่ได้ด้วยปรัชญาชีวิตแห่งความพอเพียง  กระบวนที่ 2  เร่าร้อน  สื่อความในเรื่องของความรุนแรง  กระบวนที่ 3  เป็นการครุ่นคิดพินิจนึก  ย้อนกลับไปพิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่น่าเกิดขึ้น  กระบวนที่ 4  เป็นการตั้งสติ หรือเรียกสติกลับคืนมา  มองไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่นว่าจะลบแผลแห่งประวัติศาสตร์ให้ได้  ถ้าพลังมนุษย์ไม่พอเพื่อการนี้  ก็ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงช่วยด้วย  สตริงควอร์เต็ทจบลงด้วยบทสวดอ้อนวอน  เสียงดนตรีค่อยๆ กลืนหายไปในบรรยากาศ

สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดของงานชิ้นนี้คือ  ความเรียบง่าย  และความไพเราะ  ไม่ใช่เพลงคลาสสิกที่ต้องปีนบันไดขึ้นไปฟัง  เทคนิคของการแต่งเพลงสำหรับเครื่องสายมีอย่างครบถ้วน  ลีลาหลักออกทำนองพื้นบ้านไทย  วนกลับมาหลายครั้ง  ราวกับจะเตือนให้เราสำนึกว่ารากของเราอยู่ที่ไหน  เครื่องดนตรีทั้ง 4 ชิ้นได้รับโอกาสที่จะแสดงฝีมือให้เห็นประจักษ์  ซึ่งแม้จะมิได้เรียกร้องเทคนิคที่ยากมากนัก  แต่ก็ไพเราะจับใจ  นักดนตรีที่แสดงในครั้งนี้ คือ ทัศนา  นาควัชระ (ไวโอลิน 1)  ศิริพงษ์  ทิพย์ทัญ (ไวโอลิน 2) ม.ล.  อัศนี  ปราโมช (วิโอล่า) และ กิตติคุณ  สดประเสริฐ  (เชลโล่)

ถ้าจะย้อนกลับไปเทียบกับดุริยางคนิพนธ์ตะวันตกบ้าง  ผมก็อดคิดไม่ได้ถึงงานของ Smetana  ในชุดที่มีชื่อว่า “ปิตุภูมิของข้าฯ”  (My Fatherland)  ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ งานของ ม.ล. อัศนี อยู่เหนือการฝักใฝ่ฝ่ายใด  ผมได้ถอดยศ ฯพณฯ องคมนตรี  พล.รอ. …  ออกเสีย  เพราะยศเหล่านั้นไม่เกี่ยวกับความเป็นนักดนตรีเอกของท่าน  สิ่งที่ท่านให้กับเราในครั้งนี้ก็คือ  ความผูกพันกับปิตุภูมิที่อยู่เหนือ “ฝ่าย” และ “สี” ใดๆ   การจะใช้คำว่า “ความเป็นกลาง”  กับสตริงควอร์เต็ทบทนี้ก็ดูจะเก็บความไม่ครบถ้วน  เราอาจจะต้องพูดถึง “คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์” มากกว่า

ม.ล.  อัศนี  ปราโมช เป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงคลาสสิกสมัครเล่นที่ทำให้ความหมายของวลีที่ว่า “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น”  เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง  ถ้าในโลกแห่งความเป็นจริง  สังคมเรายังแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย  ตั้งหน้าที่จะประหัตประหารกันทั้งด้วยกายกรรม  วจีกรรม และมโนกรรม  ศิลปินได้แสดงให้เห็นแล้วว่า งานสร้างสรรค์ทางศิลปะอยู่เหนือรอยร้าวทั้งหลายทั้งปวง  ศิลปะคือตัวสมานจิตมนุษย์  มิใช่ตัวแบ่งแยก  ดนตรีทำหน้าที่ยารักษาใจ

พวกเราที่ชอบฟังดนตรีคลาสสิกคงจะต้องยอมรับว่า  มีบุรุษนักเรียนเก่าอังกฤษอยู่ 2 ท่าน  ที่ช่วยกันกู้ดนตรีคลาสสิกเอาไว้  มิให้ตายจากไปจากบ้านเราเมื่อ 40 กว่าปีก่อน  ท่านหนึ่งล่วงลับไปแล้ว  คือ อาจารย์กำธร  สนิทวงศ์  และท่านที่สอง คือ ม.ล.  อัศนี  ปราโมช  ซึ่งยังไม่ยอมหยุด

ผมไม่ได้เอ่ยถึงงานชิ้นแรกที่บรรเลงในรายการนี้  คือ String Quartet in F Major, Opus 77, No. 2 ของ Joseph  Haydn  ผมเดาเอาว่าวงควอร์เต็ทคงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการฝึกซ้อมงานชิ้นใหม่ของ ม.ล. อัศนี งานของ  Haydn จึงยังไม่เข้าที่  ราวกับนักดนตรีไม่ฟังซึ่งกันและกัน

จำนวนผู้ที่มาฟังการแสดงครั้งนี้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าวิตก  และดูจะเป็นแขกรับเชิญเสียเป็นจำนวนมาก  ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงมาด้วยเหตุผลทางสังคม มิใช่ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาฟัง”  การแสดงในลักษณะนี้ที่มีการเสนองานชิ้นใหม่ที่โดดเด่นเช่นนี้น่าจะมีผู้ฟังที่สนใจดนตรีคลาสสิกจริงๆมาฟังกันมากกว่านี้  แต่ก็อีกนั่นแหละ  ทั้งโรงแรม Four Seasons (และเทวาลัยอีกแห่งหนึ่งคือ  วังพญาไท)  ดูจะน่าเกรงขามสำหรับมหาชนทั่วไป  ผู้จัด  คือ สถาบันกัลยาณิวัฒนาคงจะต้องตรองให้หนักว่า  งานที่ต้องการจะสื่อความอันเป็นแก่นสารต่อคนจำนวนมากจะเข้าถึงมหาชนได้อย่างไร  ไม่เช่นนั้นก็ “เสียของ”!

เจตนา  นาควัชระ

——————————-

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *