สดับลมขับขาน (Hear the Wind Sing) ละครเวทีอีกเรื่องที่น่าสนใจ
อรพินท์ คำสอน
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปชมละครเวทีเรื่อง สดับลมขับขาน หรือ Hear the Wind Sing ซึ่งดัดแปลงมาจาก
นวนิยายเรื่องแรกของฮารุกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) โดย 206 performing trope ในรอบบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ทองหล่อ อาร์ต สเปซ ก่อนเข้าชมก็ยังคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้มาแล้วเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และเมื่อดูละครจบเรื่องก็ได้คำตอบที่ชัดเจนว่าเคยอ่านแล้วแน่ๆ แต่ความรู้สึกที่ได้ขณะที่อ่านกับที่ได้จากการชมละครกลับต่างกันอย่างมาก เพราะขณะอ่านรู้สึกเพียงแค่ว่างานชิ้นนี้มีวิธีการเขียนที่แปลกกว่างานเขียนเรื่องอื่นๆ ในสมัยนั้น โดยเฉพาะแนวคิดที่นำเสนอ และการสร้างตัวละครที่ไม่มีชื่อ แต่ไม่ก่อให้เกิดความประทับใจมากเท่าที่ได้ดูละคร จนต้องกลับไปอ่านทวนวรรณกรรมเรื่องนี้อีกครั้ง
ความโดดเด่นของละครเรื่องนี้คือ อภิรักษ์ ชัยปัญหา ผู้ดัดแปลงบทและผู้กำกับ เข้าใจและจับแก่นของเรื่องได้เป็นอย่างดี แม้ว่าละครจะแต่งเสริม ตัดต่อ หรือสลับลำดับของเหตุการณ์ไปบ้าง แต่แนวคิด เหตุการณ์และสาระสำคัญของเรื่องยังคงอยู่อย่างครบถ้วน และที่สำคัญคือการที่เลือกคงภาษาฉบับแปลของนภดล เวชสวัสดิ์ ไว้ในบทพูดของตัวละคร ช่วยเน้นให้สไตล์และกลิ่นอายของมูคารามิ (ในความรับรู้ของผู้อ่านชาวไทย) ยังคงอบอวลอยู่ในละคร ขณะเดียวกันก็ไม่เสียรสของงานวรรณกรรมต้นฉบับแต่อย่างใด
ผู้แสดงนับเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่สร้างความประทับใจกับผู้ชม เพราะตัวละครสามารถที่ทำให้ผู้ชมเชื่อว่าเขาเป็นตัวละครที่ประสบชะตากรรมเช่นนั้นจริงๆ และพวกเขาเหล่านั้นเข้าใจตัวละครที่ตนสวมบทบาทอยู่จนสามารถจะสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกหลากหลายของตัวละครออกมาได้ดี ทั้งความโกรธเกรี้ยวต่อสังคมและชะตากรรม ความรัก ความเศร้าโศก และความเปลี่ยวเหงา นอกจากนี้ยังพบว่าผู้แสดงหลายคนต้องแสดงเป็นตัวละครมากกว่า 1 ตัว ซึ่งสามารถแสดงได้เป็นอย่างดี และไม่ทำให้ผู้ชมสับสนแต่อย่างใด
การใช้วงดนตรีสดประกอบละครเป็นอีกความแปลกใหม่ที่น่าสนใจ วงดนตรีและดนตรีประกอบทำหน้าที่หลากหลายในเรื่อง นับตั้งแต่สร้างบรรยากาศให้กับเรื่องและผู้ชม เริ่มตั้งแต่เป็นเพลงประกอบที่สะท้อนภาพสังคมในยุค 1960 และ 1970 ยุคของเพลงดิสโก้ และสร้างบรรยากาศดึงผู้ชมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของละครได้อย่างแยบยล ทั้งการให้ผู้ชมเป็นทั้งลูกค้าในร้านของเจที่ร่วมฟังการแสดงสดของวงดนตรี และเป็นผู้ฟังรายการ “สายด่วนเพลงป็อป” ของสถานี เรดิโอ เอ็นอีบี ซึ่งใช้การเล่นดนตรีสดแทนการเปิดแผ่น ขณะเดียวกัน บทเพลงในเรื่องยังทำหน้าขับเน้นให้ความหมายบางอย่างของเรื่องชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกบรรเลงและร้องเพลง “แคลิฟอร์เนีย เกิร์ล” สอดแทรกไปกับการเล่าเรื่องราวความรักของอดีตแฟนของผมทั้งสาม 3 คน ทั้งๆ ที่ในงานวรรณกรรมต้นฉบับ เพลงและเรื่องเล่าของสามสาวไม่ได้ปรากฏพร้อมกัน การเลือกนำเสนอเช่นนี้นับเป็นความชาญฉลาดที่ผู้เขียนบทที่เลือกกลวิธีนี้เพื่อเน้นย้ำและสนองตอบความปรารถนาของตัวละคร “ผม” ที่ว่า “ผมอยากให้สาวทุกคนเป็น แคลิฟอร์เนีย เกิร์ล” ได้อย่างชัดเจนและมีมิติมากขึ้น เช่นเดียวกันการที่เลือกสอดแทรกบริบทความเป็นไทยในทศวรรษเดียวกันเข้าไปในเรื่องอย่างน่าสนใจ ด้วยการให้ตัวละครหญิงคนหนึ่งร้องเพลง “เดือนเพ็ญ” ในบาร์ของเจ ซึ่งช่วยกระตุกเตือนให้ผู้ชมมองย้อนกลับมาและตั้งคำถามในสังคมไทยด้วยว่า ในยุคนั้น เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในสังคมเรามีอะไรบ้าง เช่นเดียวกับที่ตัวละครต่างๆ ได้ตั้งคำถามทั้งต่อเหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่นของตนและต่อเหตุการณ์ทั่วโลกในขณะนั้นด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่า ละครเรื่องนี้สามารถที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ในโรงละครขนาดเล็ก เป็นฉากต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยอุปกรณ์ประกอบฉากไม่กี่อย่างเท่านั้น ก็สามารถสร้างพื้นที่ในการเล่าเรื่องเฉพาะของตัวละครต่างๆ ขึ้นมาได้ ทั้งบาร์ของเจ ห้องของ “ผม” สถานีวิทยุ ท่าเรือ ความเรียบง่ายของฉากเช่นนี้สอดคล้องกับจังหวะและการดำเนินเรื่องที่ฉับไว ที่ตัดสลับฉากไปมาอย่างรวดเร็ว
หากจะกล่าวว่าละครเรื่องนี้ดีไปหมดทุกอย่างก็คงจะเป็นการกล่าวเกินจริง เพราะโดยส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาในการชมละครเรื่องนี้คือ การแสดงในโรงละครขนาดเล็ก ทำให้พื้นที่ของผู้ชมบางมุมเป็นจุดอับจนมองไม่เห็นบางฉาก ขณะเดียวกัน ละครเรื่องนี้สื่อสารกับผู้ชมด้วยคำพูดเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งตัวละครบางตัวก็พูดเบามาก จนทำให้จับสาระและเนื้อความที่ต้องการจะสื่อไม่ได้ หรือบทพูดขนาดยาวที่พรั่งพรูออกมาด้วยอารมณ์ของ “มุสิก” หลายครั้งที่ฟังไม่ชัดว่าเขากำลังพูดความว่าอย่างไร จนต้องอาศัยคำบรรยายที่ฉายประกอบช่วยอยู่หลายช่วง จึงเห็นว่าหากตัวละครทุกตัวสามารถพูดในระดับเสียงที่ดัง และพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ จะช่วยให้ผู้ชมจับสารความคิดที่ตัวละครต้องการจะสื่อได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น
คงต้องจบด้วยคำถามที่ได้รับจากแบบสอบถามที่ว่า “เมื่อดูละครเรื่องนี้จบแล้ว ท่านได้ยินเสียงอะไร” โดยส่วนตัวคิดว่าเสียงที่ผู้ชมแต่ละคนได้ยินคงจะแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยละครเรื่องนี้ก็เริ่มทำให้เราตระหนักที่จะรับฟังกันบ้างแล้วใช่หรือไม่ ละครเรื่องนี้มิได้สะท้อนเฉพาะเสียงของยุคสมัยในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ที่เป็นบรรยากาศของเรื่อง และเสียงสะท้อนของตัวละครต่างๆ ในเรื่องเท่านั้น แต่เสียงสะท้อนต่างๆ ในละครยังช่วยสะกิดเตือนให้เห็นว่า แม้เวลาจะผ่านไปเกือบครึ่งศตวรรษ แต่เสียงแห่งความทุกข์ทั้งในระดับปัจเจกและสังคมไม่ได้ลดลงเลย และดูเหมือนว่าจะทวีมากขึ้น ดังนั้น เราจะให้เสียงเหล่านี้เป็นเพียงเสียงลมที่พัดผ่านหูของเราไป หรือเราจะเริ่มหันมาสดับสายลมที่ขับขานอยู่รอบตัวเราอย่างตั้งใจและใส่ใจมากขึ้น