Siam Sinfonietta กับการปีนป่ายขึ้นสู่ยอดเขาแห่งดนตรีคลาสสิก

Siam Sinfonietta กับการปีนป่ายขึ้นสู่ยอดเขาแห่งดนตรีคลาสสิก

confirmed_sinfonietta

วฤธ วงศ์สุบรรณ

13 กรกฎาคม 2558

          เมื่อสิบปีที่แล้ว ผมได้เขียนบทวิจารณ์เรื่อง “สยามฟิลฮาร์โมนิค : “วงเด็ก” ที่กล้าสามารถเล่นงานชั้นครู” โดยกล่าวถึงวงสยามฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา (ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นวงขนาดเล็กประมาณ 40-50 คน ไม่ใช่วงออร์เคสตราขนาดร่วมร้อยคนดังเช่นปัจจุบัน) บรรเลงบทเพลงซิมโฟนิหมายเลข 45 และ 60 ของไฮเดน ซึ่งการแสดงในครั้งนั้นมีความไพเราะและน่าประทับใจมาก มาในวันนี้ วงสยามซินโฟนิเอตต้า (Siam Sinfonietta) ซึ่งก็คือ “วงเด็ก” จริงๆ ของวงสยามฟิลฮาร์โมนิค ก็ยังสีบทอดวิถีของวง ด้วยการเลือกบรรเลงบทเพลงชั้นครูของคีตกวีเอก ซึ่งมีความเข้มข้นและ “ยาก” ในการเล่นและตีความ

การแสดงเมื่อวันที่ 4 กรกรฎาคม 2558 ณ หอประชุม ดร.ถาวร พรประภา อาคารสยามกลการ นั้น สยามซินโฟนิเอตต้า ซึ่งมีทฤษฎี ณ พัทลุง เป็นวาทยกร เลือกบรรเลงเพลงที่สำคัญของปลายยุคคลาสสิกและต้นโรแมนติก อย่าง Violin Concerto in E minor Op.64 ของเฟลิกซ์ เมนเดลส์โซห์น (Felix Mendelssohn, 1809-1847: คีตกวีชาวเยอรมัน) และ Symphony No.8 in F major ,Op.93 ของลุดวิก ฟาน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven, 1770-1827: คีตกวีชาวเยอรมัน) แน่นอนว่าทั้งสองเพลงคือยอดเขาแห่งดนตรีคลาสสิก ที่กาลเวลาได้พิสูจน์ความไพเราะและความยิ่งใหญ่ตัวบทเพลงมาแล้ว อีกทั้งยังเป็นบทเพลงที่คุ้นหูผู้ฟัง เราก็อดที่จะตื่นเต้นไม่ได้ที่วงเด็กบ้านเราวงนี้พยายามนำเสนอคีตนิพนธ์ที่ยากยิ่งทั้ง 2 เพลงนี้

เพลงแรก Violin Concerto ของเมนเดลส์โซห์น บรรเลงเดี่ยวไวโอลินโดย โชติ บัวสุวรรณ หัวหน้าวง (concertmaster) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักไวโอลินรุ่นเยาว์ที่มีฝีมือโดดเด่นของเมืองไทย หากเราติดตามวงการดนตรีคลาสสิกเป็นประจำจะพบว่าโชติได้ร่วมแสดงกับวงดนตรีหลายวง เช่น Bangkok Symphony Orchestra, Pro Musica Orchestra, CU Symphony Orchestra และบางครั้งก็ยังเป็นหัวหน้าวงรับเชิญให้กับ “วงผู้ใหญ่” อย่างสยามฟิลฮาร์โมนิคด้วย การแสดงในค่ำคืนนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่โชติจะได้แสดงเดี่ยวอย่างเต็มรูปกับวงที่เขาเติบโตมา

การบรรเลงของโชตินั้น ในช่วงต้นๆ ดูเขาจะประหม่าไปหน่อย มีพลาดบ้างในบางจังหวะ แต่พอเริ่มเครื่องติดก็บรรเลงได้อย่างลื่นไหล ในกระบวนที่สองที่มีจังหวะช้าและมีท่วงทำนองที่ไพเราะงดงาม โชติสามารถบรรเลงได้อย่างราบรื่น แต่สังเกตว่าในโทนเสียงต่ำค่อนข้างเบาและแห้ง เข้าใจว่าเป็นเพราะหอประชุมมีลักษณะที่ดูดซับเสียงไปมาก เพราะในช่วงเสียงกลางและสูงก็ทำได้ดี มาถึงกระบวนที่สามซึ่งมีจังหวะและลีลาที่สนุกสนานเร้าใจ ช่วงแรกๆ โชติก็เล่นได้ค่อนข้างดี แต่ไปซักพักก็อาจจะมันในอารมณ์ไปบ้าง จึงเล่นเร็วไปกว่าวง จนเกือบจะหลุดออกจากกัน แต่วาทยกรทฤษฎีก็สามารถดึงวงให้ตามผู้แสดงเดี่ยวได้อย่างทันท่วงที ในส่วนของวงก็บรรเลงได้ค่อนข้างดี เสียงแน่นและมีเอกภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของวาทยกรและผู้แสดงเดี่ยวได้ดี ในส่วนของโชตินั้น เราคงต้องยอมรับว่าเขามีฝีมือที่ดี มีความเข้าใจในตัวเพลง และด้วยวัยเพียง 21 ปี เขายังพร้อมที่จะพัฒนาฝีมือขึ้นได้อีก แต่ในวันนี้อาจจะไม่ใช่วันของเขา ซึ่งผมก็สังเกตได้ว่าเขาดูหน้าเครียดๆ อยู่บ้างระหว่างที่บรรเลง แต่โดยรวมก็ถือว่าเล่นได้ดีพอสมควรและน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในการแสดงครั้งต่อๆ ไป

ในครึ่งหลังนั้น เป็นการบรรเลง ซิมโฟนีหมายเลข 8 ของเบโธเฟน ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งบทเพลงที่ยากทั้งการเล่นและการตีความ ว่ากันว่าหากจะดูฝีมือของวงและวาทยกร ให้ตัดสินกันด้วยเบโธเฟน คำคมนี้อาจจะใช้ได้สำหรับวงระดับอาชีพ ผมคิดว่าอาจเป็นการด่วนสรุปเกินไปหากจะเอาเพลงเบโธเฟนเพลงเดียวมาประเมินวงสยามซินโฟนิเเอตต้าและทฤษฎี อย่างน้อยพวกเขาก็คือ “วงเยาวชน” และพวกเขาก็มีความกล้าที่จะนำเสนอองค์แห่งคีตนิพนธ์มาตรฐาน (standard repertoire) (หรืออาจจะเรียกว่า “เพลงครู” ก็น่าจะได้) ที่เล่นได้ไม่ง่ายนักให้กับผู้ฟัง

การบรรเลงของวงนั้น ในกระบวนแรกเริ่มต้นไปไม่ค่อยมีเอกภาพนัก เสียงของวงค่อนข้างกระจัดกระจายไม่กลมกลืนกัน อีกทั้งด้วยระบบอุโฆษวิทยาของหอประชุมที่ทำให้เสียงแห้งขาดความกังวาน เสียงของเครื่องสายมีเพี้ยนบ้างเป็นบางช่วง โดยเฉพาะช่วงที่เล่นเร็วมากๆ แต่พอเล่นไปได้ซักพักก็เริ่มทำได้ดีขึ้น พอถึงกระบวนที่สอง ซี่งจังหวะนิ่งเป็นการล้อ metronome นั้น วงก็เล่นกันได้ดีขึ้น และเสียงประสานกันดีขึ้น มาในกระบวนที่สาม จุดที่น่าสนใจคือช่วงที่กลุ่มฮอร์นโซโล รู้สึกว่าเสียงจะแปร่งๆ เหมือนไปคนละทิศละทาง อีกทั้งกลุ่มเครื่องทองเหลืองยังมีอาการแผดเสียงมากกว่าปกติ คล้ายกับพยายามสู้กับแรงต้านของหอประชุมอยู่ด้วย จนถึงกระบวนที่สี่ รู้สึกว่าจะเล่นได้กลมกลืนกันมากขึ้น แต่ก็มีบางช่วงที่เครื่องสายกับเครื่องเป่าไปกันคนละทาง เมื่อจบเพลงวาทยกร ทฤษฎี ณ พัทลุง ดูจะผิดหวังกับการกำกับวงของตนและของวงในครั้งนี้ จึงออกมาโค้งรับการปรบมือเพียงรอบเดียว แล้วไม่ขึ้นมาอีกเลย แม้ว่าผู้ชมจะปรบมือกันต่ออีกค่อนข้างนาน

ผมเองได้ลองสอบถามกับเพื่อนนักดนตรีที่ไปฟังด้วยกัน ก็ให้ความเห็นที่ค่อนข้างตรงกัน คือในครึ่งแรกนั้นวงเล่นได้ค่อนข้างดี แต่มาฟอร์มตกในครึ่งหลัง โดยเห็นว่าวาทยกรและวงอาจจะเลือกเพลงที่ยากเกินไป หรือมีเวลาซ้อมน้อยเกินไป ทำให้ยังไม่สามารถปรับวงให้เล่นได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะ “วงผู้ใหญ่” บางครั้งก็เล่นเบโธเฟนได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้แต่วาทยกรหรือวงมีชื่อเสียงจากตะวันตก ก็อาจตกม้าตายได้อยู่บ่อยๆ ยิ่งซิมโฟนีของเบโธเฟนมีวาทยกรที่ยิ่งใหญ่บันทึกเสียงไว้หลายท่าน (บางท่านก็มีหลายเวอร์ชั่น) ยิ่งทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับวงได้มากยิ่งขึ้น

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น วงสยามฟิลฮาร์โมนิคเมื่อสิบปีก่อน อาจเรียกได้ว่าเป็น “วงเด็ก” ได้อย่างไม่เต็มปากนัก เพราะมีหัวหน้ากลุ่มเป็นนักดนตรีใหญ่ระดับแนวหน้าของประเทศมาคอยนำทางให้กับนักดนตรีรุ่นเด็กที่อยู่ในวง ส่วนวงสยามซินโฟนิแอตต้าในปัจจุบัน คือวงเด็กอย่างแท้จริง การเล่น “เพลงครู” ให้ได้ดีนั้น อาจต้องอาศัยความเข้าใจและวุฒิภาวะพอสมควร ซึ่งปัญหาที่หนักที่สุดคือการกำกับจังหวะให้ได้ตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการ ซึ่งต้องการการกำกับวงระดับอาชีพ และนักดนตรีระดับมืออาชีพเช่นกันต้องการเวลาซ้อมมากกว่านี้ และต้องการ “ครู” ที่คอยชี้แนะและขัดเกลาฝีมือในการเล่นรวมวงให้ดีขึ้น จะว่าไปวงก็ไม่ได้เล่นแบบอ่อนหัดเสียทีเดียว แต่เลือกเล่นเพลงที่เป็น “ยอดเขา” แห่งดนตรีคลาสสิก ซึ่งย่อมต้องมีข้อเปรียบเทียบมากกว่าปกติ และการปีนขึ้นสู่ยอดเขาย่อมยากลำบากกว่าเดินทางราบ แต่เชื่อว่าสยามซินโฟนิแอตต้าคงจะไม่ย่อท้อ และต้องนับถือความมุ่งมั่นของวง รวมทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเล่นได้ดียิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป

ในท้ายที่สุดนี้ ผมอยากจะบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ ผมได้ชมอุปรากรเรื่อง “ภูริทัต” ซึ่งบรรเลงโดยวงสยามฟิลฮาร์โมนิค ซึ่งปัจจุบันถือเป็น “วงผู้ใหญ่” แต่องค์ประกอบกว่าครึ่งของวง ก็คือเด็กๆ ของสยามซินโฟนิแอตต้านั่นเอง การบรรเลงครั้งนั้นผมคิดว่ามีคุณภาพสูงมากทั้งเรื่องของน้ำเสียงและความสอดประสานกัน ซึ่งวันที่ผมไปนั้นเป็นวันที่แสดงรอบสุดท้ายแล้ว คาดว่าคงจะเป็นการบรรเลงรอบที่ดีที่สุดของพวกเขา เพราะได้ผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างเข้มข้น และบรรเลงจริงมาหลายรอบจนเข้าที่แล้ว ดังคำคมของนักดนตรีทั้งหลายว่า “Practice makes perfect” จึงยังเป็นความจริงเสมอ ผมคิดว่าวงสยามซินโฟนิแอตต้าเป็นวงที่มีฝีมือ แต่อาจจะมีวันที่ฟอร์มดีและฟอร์มตกกันได้ หวังแต่ว่าพวกเขาจะกลับสู่ฟอร์มการเล่นที่ดีได้ในเร็ววัน และพร้อมที่จะนำเสนอดนตรีระดับ “คลาสสิก” ที่ไพเราะให้แก่ผู้ฟังต่อๆ ไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *