นิทรรศการ นามธรรม : สัจจะแห่งศิลปะ ของ อิทธิพล ตั้งโฉลก
นิทรรศการ นามธรรม : สัจจะแห่งศิลปะ ของ อิทธิพล ตั้งโฉลก
เจตนา นาควัชระ
ผมไปชมนิทรรศการนี้ 2 ครั้ง หลังจากได้ชมนิทรรศการเป็นครั้งแรก ผมเขียนบทวิจารณ์ฉบับย่อเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาทันที ในหัวข้อ “How to grow old gracefully: The case of Ithipol Thangchalok”[i] บทวิจารณ์ฉบับภาษาไทยนี้อาจมาล่าเกินไป เพราะด้วยใจจริงผมอยากจะแนะนำผู้ที่ยังมิได้ชมนิทรรศการครั้งนี้ว่า ควรเริ่มต้น ณ จุดใด แต่นิทรรศการที่แสดงยาวนานถึงครึ่งปีที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ถึงอย่างไรก็ตาม ผมก็ใคร่ที่จะยืนยันว่า ถ้าได้เริ่มต้นที่จิตรกรรมชื่อ ผนังแห่งศรัทธา (Wall of Faith) แล้ว (ภาพที่ 1) ไม่ว่าผู้ชมคนใดก็จะต้องยอมรับโดยดุษณีว่า นี่อาจจะเป็นหนึ่งในบรรดาศิลปกรรมร่วมสมัยที่ลึกซึ้งที่สุดที่จะหาชมได้ในแวดวงของเราในขณะนี้
ภาพที่ 1 : ผนังแห่งศรัทธา (Wall of Faith)
ผมจงใจกล่าวเช่นนี้ก็เพราะข่าวล่าสุดที่ได้รับจากสื่อก็คือ ขณะนี้การแข่งขันหมากล้อมระหว่างแชมเปี้ยนซึ่งเป็นมนุษย์กับคอมพิวเตอร์นั้น ผลปรากฏว่าคอมพิวเตอร์เป็นฝ่ายชนะ เช่นเดียวกับเมื่อสองทศวรรษมาแล้ว คอมพิวเตอร์สามารถเอาชนะแชมเปี้ยนโลกในเกมหมากรุกได้ แต่ผมกล้ารับประกันได้ว่า ไม่ว่าผู้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเก่งกาจสักเพียงใด และตัวปัญญาประดิษฐ์จะมีศักยภาพสูงสักเพียงใด ก็ไม่มีวันจะเอาชนะ อิทธิพล ตั้งโฉลก ในการสร้างสรรค์งาน เช่น จิตรกรรมที่เอ่ยมาข้างต้นนี้ได้ นานๆ ครั้งเราจะได้เห็นจิตรกรรมซึ่งมีความละเอียดที่น่าจะท้าให้ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกลองสร้างโปรแกรมออกมาแข่งขันกัน แต่ความละเอียดที่ว่านี้ สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าเป็นงานฝีมือมนุษย์ เพราะแต่ละองค์ประกอบที่ศิลปินนำมาร้อยเรียงและนำมาปะทะกันนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตน แต่เมื่อหลอมรวมกันเข้าเป็นภาพใหญ่แล้ว และเมื่อเราถอยห่างออกมามองภาพทั้งหมด เราก็จะเห็นได้ว่างานนี้มีเอกภาพอย่างมิอาจปฏิเสธได้ การให้น้ำหนักทั้งที่เป็นองค์รวมและเป็นส่วนเฉพาะดูจะลงตัวอย่างดีมาก จิตรกรรมนี้มีพลวัตอันน่าประหลาด มองดูแล้วราวกับว่ามีความเคลื่อนไหว และดูจะเป็นความเคลื่อนไหวที่ไปในทิศทางที่พ้องกัน แม้ว่าความหลากหลายขององค์ประกอบต่างๆ จะอยู่ในระดับที่สูงมาก สีที่ใช้ไม่ต้องการจะดึงดูดความสนใจของผู้ชมด้วยความฉูดฉาด มองดูแล้วชวนให้คิดมากกว่าที่จะชวนให้ตื่นตา นี่มันโลกอะไรกันหนอที่เกือบจะกลายเป็นสภาพอันว้าวุ่น แต่ดูประหนึ่งว่ามีอำนาจแฝงอยู่เบื้องหลังที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างประสานกันเข้าเป็นหนึ่งได้ ชื่อที่จิตรกรตั้งมานั้นช่างเหมาะกับการบรรยายเนื้อหาของงานเสียนี่กระไร ใช่แล้วที่งานนี้มีพลัง ใช่แน่แล้วที่พลังนั้นเป็นพลังแห่งความศรัทธา เพราะถ้าไม่มีศรัทธาเป็นตัวกำกับ ชิ้นส่วนอันมากหลายและหลากหลายก็คงจะหลุดออกจากกันไป
ในฐานะผู้ชมก็คงอยากจะเสริมความคิดเข้าไปอีกมิติหนึ่ง นั่นก็คือศรัทธาในศิลปะ สำหรับความมุ่งมั่นนั้น ศิลปินที่เอาจริงเอาจังกับงานของตนย่อมจะต้องมี แต่ในยุคปัจจุบันที่ผู้ชมงานศิลปะไม่ค่อยจะประสีประสา การฝึกปรือในเรื่องของฝีมือของศิลปินเองก็มักจะย่อหย่อนไป โดยมีการนำเอามโนทัศน์ (concept) เข้ามาครอบตัวงาน สร้างความน่าทึ่งให้แก่มหาชนอยู่เนืองนิจ ด้วยการใช้ภาษาอธิบายความแทนภาพ แต่ในกรณีของ อิทธิพล ตั้งโฉลก นั้น ความมุ่งมั่นในทางศิลปะและในทางความคิดได้รับการตอบสนองจากความพร้อมในด้านฝีมือ ศรัทธาที่เกิดขึ้นกับผู้ดูผู้ชมจึงรวมถึงศรัทธาในเรื่องของฝีมือ หรือแม้แต่ในเรื่องของเทคนิคด้วย นี่มันงานของซุปเปอร์โปรเฟสเซอร์อย่างมิต้องสงสัยเลย เพราะท่านศาสตราจารย์ได้แสดงให้ศิษย์เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า ความลุ่มลึกในเชิงความคิด กับความจัดเจนในด้านของฝีมือ จำเป็นจะต้องสร้างความมั่งคั่งให้แก่กัน ในบทวิจารณ์ฉบับย่อภาษาอังกฤษ ผมรับสารภาพเอาไว้ว่า ตั้งแต่เริ่มสนใจงานของอิทธิพล ตั้งโฉลก เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ผม “แหยง” เรื่องความสมบูรณ์ของเทคนิคของศิลปินผู้นี้มาตลอด
ที่ผมเขียนมาในทำน้องนี้ก็ด้วยความปรารถนาที่จะสะท้อนประสบการณ์ที่ผมได้รับจากทั้งการได้ชมงานแต่ละชิ้น และจากทั้งนิทรรศการโดยองค์รวม ผมใคร่ที่จะถือโอกาสนี้บอกความไปยังภัณฑารักษ์ว่า ถ้ามีใครที่ควรจะได้โอกาสสร้างอาศิรวาทให้แก่ศิลปินแล้วละก็ ก็น่าจะเป็นผู้ดูผู้ชมมากกว่า หรือตัวแทนผู้ดูผู้ชมที่อุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาเป็นนักวิจารณ์ ณ จุดนี้ ผมจำเป็นจะต้องให้ทัศนะที่เกี่ยวกับวงการทัศนศิลป์ร่วมสมัยของบ้านเราเอาไว้บ้าง นิทรรศการย้อนหลัง (retrospective) ที่ใหญ่ขนาดนี้ น่าจะกระตุ้นให้มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง แต่ก็เช่นเดียวกับนิทรรศการที่แล้วๆ มา สำนักใครสำนักมัน ไม่มีการก้าวข้ามรั้วไปมา ไม่ว่าจะติหรือชม ความเงียบในด้านการวิจารณ์คือจุดบอดของวงการทัศนศิลป์ของบ้านเรา และอิทธิพล ตั้งโฉลก เองก็อดที่จะรู้สึกไม่ได้ว่า ได้ลงแรงกายแรงใจไปมากในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แต่ผู้รู้ที่อยู่ในวงการเดียวกันก็ปิดปากเงียบไม่แสดงทัศนะใดๆ จนในที่สุดตัวศิลปินต้องอาสาออกมาวิจารณ์ตนเอง หรืออย่างน้อยก็ให้ภูมิหลังว่า ศิลปินคิดอย่างไร ในโครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย” คณะผู้วิจัยได้เคยนำผลงานเขียนของอิทธิพล ตั้งโฉลก ชื่อ “บทวิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมของนาย ‘อิทธิพล ตั้งโฉลก’ โดย ผศ. อิทธิพล” ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2543 มาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ พลังการวิจารณ์ : ทัศนศิลป์ และจากการที่ผมได้ไปฟังการอภิปรายเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก็ยังเป็นที่ปรากฏชัดอยู่นั่นเองว่า ผู้ที่อธิบายงานของอิทธิพล ตั้งโฉลก ได้ดีที่สุดก็คือ อิทธิพล ตั้งโฉลก นั่นเอง (ความสามารถในการใช้ภาษาอยู่ในระดับที่สูงมาก ถ้าอาจารย์อิทธิพลได้ผันตัวมาทำงานวิจารณ์บ้าง วงการคงจะก้าวหน้าไปกว่านี้อย่างแน่นอน) ด้วยเหตุนี้ ผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นๆก็จงใจเฉไฉออกนอกเรื่องไปเสีย ไม่กล้าแตะงานของศิลปินอาวุโส ในที่สุดเราก็ย่ำเท้าอยู่ที่เดิม
ผมจำเป็นต้องชมเชยภัณฑารักษ์และผู้ร่วมงานของเธอว่า จัดนิทรรศการครั้งนี้ด้วยความประณีตเป็นอย่างยิ่ง การรวบรวมผลงานศิลปะมาได้เป็นจำนวนมากและจากทุกยุคเช่นนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า ศิลปินเก็บงานของตัวเองไว้เป็นจำนวนไม่น้อย เท่ากับเป็นการบ่งบอกว่า ไม่ใส่ใจในเรื่องที่จะสร้างความมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ให้แก่ตนเอง การที่ภัณฑารักษ์จัดผลงานออกมาเป็นหมวดหมู่ได้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ได้ไตร่ตรอง และครุ่นคิดมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็อีกนั่นแหละ มโนทัศน์ที่ใช้เป็นตัวกำกับหมวดหมู่ เช่น สัจจะ (Truth) และ ปัญญา (Wisdom) ก็ดูจะเป็นมโนทัศน์เชิงประเมินคุณค่า บทความต่างๆ ของอิทธิพล ตั้งโฉลก ซึ่งรวบรวมมาพิมพ์ไว้ในสูจิบัตรก็ให้ภูมิหลังที่เพียงพอแล้วในการที่จะเปิดทางให้ผู้ดูผู้ชมได้เข้าใจตัวงานได้ดียิ่งขึ้น ภัณฑารักษ์จึงประสบกับปัญหาอันหนักหน่วงว่า จะเขียนงานของตนในอย่างไรจึงจะพอเหมาะพอดี ผมได้รับทราบมาว่า นโยบายของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครคือการใช้นิทรรศการเป็นกลไกในการให้การศึกษาแก่ประชาชน ด้วยเหตุนี้ภัณฑารักษ์จึงคงจะได้รับการเรียกร้องให้เขียนคำอธิบายให้แจ่มแจ้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ความปรารถนาดีก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน เพราะโดยหลักการแล้วงานเขียนของภัณฑารักษ์จะต้องไม่เป็นการชักจูงมหาชนในการให้คิดตามตัวเขาหรือพวกเขามากเกินไป และในนิทรรศการครั้งนี้ ภัณฑารักษ์อดไม่ได้ที่จะสร้างวาทกรรมเชิงอาศิรวาทขึ้นมาอย่างชัดเจนมาก เป็นการต่อเติมไปจากข้อมูลที่ว่าด้วยภูมิหลังซึ่งศิลปินได้ให้เอาไว้แล้ว ในท้ายที่สุด ผู้ที่มิได้มีจิตสวามิภักดิ์ต่อสำนักหน้าพระลานก็คงมีเหตุที่จะนำไปติติง(ลับหลัง)กันต่อไปอีกนาน
ผมขอกลับมาที่ตัวงาน เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า อิทธิพล ตั้งโฉลก คือหนึ่งในบรรดาศิลปินไทยที่มีบทบาทสูงสุดในด้านของการสร้างงานประเภทนามธรรม และนิทรรศการครั้งนี้ก็ช่วยให้เราเห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า เส้นทางของศิลปะนามธรรมของอิทธิพล ตั้งโฉลก เป็นไปในทิศทางใด อันที่จริง อิทธิพล ตั้งโฉลก มีความคิดที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า ศิลปะนามธรรมจะเผยแสดงโลก “ภายใน” ของศิลปะ สะท้อนโลกแห่งความคิดที่มาจากภายในจิตใจของมนุษย์ได้ลึกซึ้งกว่าศิลปะรูปลักษณ์ ผมจำได้ว่า ประมาณสัก 20 ปีมาแล้ว ผมกำลังเดินชมงานศิลปะอยู่ในหอศิลป์สมัยใหม่แห่งเมือง Stuttgart ในเยอรมนี และบังเอิญก็ได้เห็นอาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ยืนอยู่หน้าจิตรกรรมชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นงานสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ของศิลปินผู้มีชื่อเสียง ซึ่งใช้สีเดียว แต่เล่นกับความหลากหลายของน้ำหนักได้อย่างละเมียดมาก ผมแอบดูศิลปินเอกของเรายืนเพ่งพินิจงานชิ้นนั้นอยู่นาน หลังจากนั้นเขาหยิบกล้องมาถ่ายภาพเอาไว้ เมื่อเราได้พบกันครั้งนั้น เราได้สนทนากันในเรื่องศิลปะระหว่างอาหารกลางวัน และผมก็อดชื่นชมอาจารย์อิทธิพลไม่ได้ว่าเป็นศิลปินที่แสวงหาประสบการณ์อย่างไม่มีขีดจำกัด เรียนรู้จากผู้อื่นเพื่อที่จะนำไปคิดต่อ หรือคิดแย้ง แล้วคิดใหม่ด้วยตัวเอง จะขออนุญาตเปรียบเทียบกับวงการดนตรี ผมได้ใกล้ชิดกับนักดนตรีคลาสสิกของไทยอยู่พอสมควร และก็อดอึดอัดไม่ได้ที่มีโปรเฟสเซอร์ชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่ฟังนักดนตรีคนอื่นเล่นน้อยมาก หรือถ้าเล่นและสอนเครื่องดนตรีประเภทใดก็จะไม่สนใจเครื่องดนตรีประเภทอื่นเอาเสียเลย
ผมจะไม่ใช้แนวคิดของ อิทธิพล ตั้งโฉลก เองที่เป็นเรื่องของงานศิลปะนามธรรมไปพิเคราะห์งานของเขา แต่จะขออนุญาตหวนระลึกย้อนหลังไปถึงการอภิปรายทางศิลปะ ซึ่งกรมศิลปากรจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงทศวรรษที่ 2510 ในยุคที่กรมศิลปากรมีผู้บริหารที่มีความสนใจต่อศิลปะอย่างลึกซึ้ง ในบ่ายวันศุกร์วันหนึ่ง อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ประติมากรแนวหน้าของไทยได้รับเชิญให้มาเป็นผู้อภิปรายเรื่องศิลปะร่วมสมัย และท่านได้กล่าวถึงศิลปะนามธรรมเอาไว้ด้วย โดยท่านตีความคำว่า “abstract” ตามหน้าที่ของคำกริยาคือ “to abstract” แปลว่า “สกัด” ก็แน่นอนที่สุดว่าประติมากรย่อมคิดเช่นนั้น เพราะกิจของการ sculpt ก็คือการสกัดนั่นเอง แต่อาจารย์เขียนชวนให้เราคิดไปไกลกว่านั้น นั่นก็คือ ศิลปะนามธรรมทำหน้าที่สกัดเอาทั้งแก่นของชีวิตมนุษย์และธรรมชาติออกมาสร้างใหม่ ซึ่งมิใช่เป็นการลอกเลียนต้นแบบในชีวิตจริงเช่นเดียวกับศิลปะรูปลักษณ์ นัยของการตีความในลักษณะนี้ย่อมเป็นการสนับสนุนความลึกซึ้งของศิลปะนามธรรมในการที่จะสะท้อน “โลกภายใน” ของมนุษย์ ซึ่งในกรณีที่ว่านี้ อิทธิพล ตั้งโฉลก ก็ตั้งเข็มเอาไว้ในทิศทางเดียวกัน
แม้แต่ในขั้นเริ่มต้นที่อิทธิพล ตั้งโฉลก ยังเขียนภาพประเภทรูปลักษณ์อยู่ เราก็สังเกตได้แล้วว่า เขาไม่ต้องการจะวาดภาพเหมือน แต่พินิจต้นแบบในโลกแห่งความเป็นจริง แล้วสกัดเอาพลังที่อยู่เบื้องหลังมาแสดงออก ดังเช่นภาพของ ถนนเจริญกรุง (Charoenkrung Road) (ภาพที่ 2) ซึ่งห่างไกลจากภาพถ่ายมากนัก ดูแล้วราวกับว่าทั้งถนน ทั้งตึกรามทั้งสองฟาก และทั้งยานพาหนะเคลื่อนไหวไปราวกับกำลังประสบภาวะแผ่นดินไหว ผู้ชมอดคิดไม่ได้ว่า อิทธิพล ตั้งโฉลก คงกำลังหาทางที่จะปลดแอกจากขนบรูปลักษณ์ ช่วงที่ศิลปินกำลังเดินทางเข้าหาโลกแห่งนามธรรมเป็นช่วงที่น่าสนใจยิ่ง เพราะเขาดูจะยังไม่มีความมั่นใจว่าจะใช้ศักยภาพของศิลปะนามธรรมได้อย่างเต็มที่ ภาพเขียนในช่วงปี 2512 ยังไม่ลงตัวนัก แต่กลุ่มภาพที่บอกความถึงการแสวงหาใหม่ก็เห็นจะเป็นกลุ่มภาพต้นไม้ในปี 2513 (ภาพที่ 3) ศิลปะนามธรรมปรากฏตัวชัดขึ้นแล้ว หลงเหลือแต่ส่วนที่ยังสะท้อนภาพธรรมชาติอยู่บ้าง คือใบไม้ แต่ศิลปินก็จงใจลากเส้นดำที่ว้าวุ่นทับลงไปบนส่วนนั้น ราวกับจะบอกว่าช่วยข้าพเจ้าขจัดโลกแห่งความเป็นจริงออกไปให้หน่อยได้หรือไม่ เส้นดำอันยุ่งเหยิงได้รับการนำมาเขียนทับภาพชุด พลวัตและหยุดนิ่ง (Dynamic & Static) ด้วย ดังตัวอย่างของ พลวัตและหยุดนิ่ง 8 (Dynamic & Static VIII) (ภาพที่ 4) ซึ่งดูแล้วรู้สึกได้ทันทีว่า ศิลปินจงใจสร้างข้อขัดแย้งให้เราเห็นในกระบวนการสร้างสรรค์ของเขาเอง เท่ากับเป็นการสารภาพว่า ข้าพเจ้าต้องทำกิจพิเศษบางประการเพื่อที่จะลบล้างสิ่งที่มารบกวนทิศทางใหม่อันเป็นที่ปรารถนา งานศิลปะจึงมิได้เสนอตัวในรูปของงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว (finished work) แต่เป็นการเผยให้เห็นถึงเบื้องหลังของกระบวนการปลดปล่อยตัวเองของศิลปิน (เรื่องที่ว่าด้วยการปลดปล่อยตัวเองนั้น จะปรากฏขึ้นอีกครั้งในงานชุดล่าสุดของเขา) ความสัตย์ซื่อที่มีต่อศิลปะเป็นคุณสมบัติที่ควรยกย่อง ดังเช่นภาพ ทิวทัศน์กลางคืน (Night Seascape) (ภาพที่ 5) แม้กรอบนอกได้กลายเป็นศิลปะนามธรรมไปแล้ว แต่ภาพของทะเลอันรวมถึงสีของท้องฟ้า ยังคงเป็นคำสารภาพว่า ข้าพเจ้ายังไปไม่สุดทาง และภาพชุด พื้นที่ว่าง (Space) (ภาพที่ 6) ที่ตามมาก็เป็นคำสารภาพในทำนองเดียวกัน
ภาพที่ 2 : ถนนเจริญกรุง (Charoenkrung Road)
ภาพที่ 3 : ต้นไม้ 7 (Trees VII)
ต้นไม้ 9 (Trees IX)
ภาพที่ 4 : พลวัตและหยุดนิ่ง 8
(Dynamic & Static VIII)
ภาพที่ 5 : ทิวทัศน์กลางคืน
(Night Seascape)
ภาพที่ 7 : ประตู A1 (Door A1)
ภาพที่ 8 : ชิ้นส่วน (Fragments)
คงจะต้องขอบคุณภัณฑารักษ์ที่จัดผลงานจำนวนหนึ่งเข้าไว้ในกลุ่มของสัจจะ (Truth) แต่ผมก็ต้องยอมรับว่าคำว่าสัจจะในที่นี้อาจจะเป็นมโนทัศน์ที่โอ่เกินกว่าตัวงานศิลปะที่นำมารวมเอาไว้ด้วยกัน งานกลุ่มนี้แหวกแนวออกมาจากกลุ่มที่เพิ่งจะกล่าวถึงข้างต้น มีความนุ่มนวล ใช้สีที่อาจจะต้องเรียกว่าทำให้เกิดรสหวาน มีเสน่ห์ที่ไม่รุนแรง ภาพที่ประทับใจผมมากที่สุดคือ ไหลลื่น (Fluent) (ภาพที่ 9) ให้อารมณ์ราวกับเป็นภาพปะการังใต้น้ำ มีความเคลื่อนไหวเพียงน้อยๆ องค์ประกอบหลักที่แยกตัวออกจากกัน แทนที่จะชวนให้คิดถึงการแตกสลาย กลับกลายเป็นการหลุดออกจากกันที่ทำให้ความมั่งคั่งทางสุนทรียะบังเกิดขึ้น ซึ่งได้รับการเสริมด้วยเส้นสายที่อ่อนช้อยกลายสีออกไปหลากหลาย เข้ากับบรรยากาศในองค์รวมได้อย่างดียิ่ง ศิลปินมิได้หยุดอยู่ ณ ที่นั้น แต่พยายามจะแสวงหาการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไป มีการใช้สีที่สะดุดตามากขึ้น โดยในขณะเดียวกันก็พยายามจะเน้นลักษณะนามธรรม แต่ผมจำเป็นต้องยอมรับว่างานบางชิ้นไม่เข้าตาผมเลย อาทิ สี่สัญญะ (Four Signs, 2548) (ภาพที่ 10) และ สี่เหลี่ยมคู่ (Double Squares) (ภาพที่ 11) ซึ่งลักษณะ 2 มิติอาจจะเรียบเกินไปเสียจนคลายเสน่ห์ เพราะเราคนไทยมักจะคุ้นชินกับ 2 มิติในจิตรกรรมฝาผนังที่กอปรด้วยความอลังการ การลดรูปต่อไปด้วยศิลปะนามธรรมอาจจะได้รับแรงดลใจจากศิลปะตะวันออกที่คนตะวันออกเองอาจรับได้ไม่ง่ายนัก
ภาพที่ 9 : ไหลลื่น (Fluent)
ภาพที่ 10 : สี่สัญญะ (Four Signs, 2548)
ภาพที่ 11 : สี่เหลี่ยมคู่ (Double Squares)
กลุ่มงานที่ภัณฑารักษ์รวมเอาไว้ภายใต้มโนทัศน์ ปัญญา (Wisdom) ดูจะเป็นการแสวงหาทางสายกลางที่ผละหนีจากทั้งลักษณะที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็น “มัณฑนศิลป์” ของกลุ่มสัจจะ และจากทั้งความเรียบง่ายที่อาจจะดูจงใจมากเกินไป งานกลุ่มนี้ดูผิวเผินราวกับเป็นการเล่นกับพื้นผิวในสองมิติอีกเช่นกัน แต่ความหลากหลายที่มาจากการสร้างความต่างอันน้อยนิดทั้งในด้านของรูปแบบและด้านของสี ซึ่งเรียกได้เป็นภาษาต่างประเทศว่า “nuances”นั้น ดูแล้วชวนคิดเป็นอย่างยิ่ง และภาพ ผนังแห่งศรัทธา ก็อยู่ในกลุ่มนี้ อาจกล่าวได้ว่า นี่คือกลุ่มผลงานที่แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของศิลปิน ผู้ซึ่งคิดละเอียดขึ้นทุกที และสร้างผลงานที่ละเมียดยิ่งขึ้นตามกันไป ประเด็นที่ว่าด้วยศิลปะนามธรรมนั้นจำเป็นที่จะได้รับการนำมาอภิปรายกันบ่อยครั้งกว่านี้ ในการแสดงครั้งนี้ภัณฑารักษ์มีความโน้มเอียงที่จะให้ความสำคัญกับศิลปะนามธรรมว่าเป็นการแสดงออกที่ไปในทางลึกได้ดีอย่างยิ่ง คำถามที่อาจจะค้างคาใจอยู่ก็คงจะเป็นว่า การแสดงออกเชิงนามธรรมเหมาะกับศิลปินอิทธิพล ตั้งโฉลกมากที่สุดใช่หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คงจะเป็นไปในทางรับ เพราะงานที่นำมาแสดงในครั้งนี้ยืนยันได้ว่าเป็นงานที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางสุนทรียะ และเป็นงานที่กระตุ้นความคิดไปพร้อมกัน แต่ผมก็ยังเกิดความสงสัยว่า ภัณฑารักษ์ให้ความช่วยเหลือผู้ดูผู้ชมเกินความจำเป็นหรือเปล่า ดังเช่นในกรณีของการอธิบายภาพนามธรรม ซึ่งมีชื่อว่า พลบค่ำ (Dusk) (ภาพที่ 12) ภัณฑารักษ์ให้อรรถาธิบายว่า “การจัดวางรูปร่างนี้ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด แต่ทว่าการซ้ำของจุดและร่องรอยบนรูปร่างเรขาคณิตแสดงให้เห็นเจตนาของศิลปิน เขากำลังเชื่อมโยงการซ้ำของทัศนธาตุกับระบบต่างๆ เช่น จังหวะการเต้นของชีพจร ลมหายใจเข้าออก และความต่อเนื่องของเวลาที่ไม่รู้จบ เป็นต้น ผลงานสะท้อนให้เห็นเชาวน์ของศิลปินในการใช้ระบบเรขาคณิตที่เรียบง่าย เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจในปรากฏการณ์อื่นที่อยู่รอบๆ ตัว”[ii] ถ้าจะตั้งคำถามว่า ถ้ารูปนี้ไม่มีชื่อ เช่นศิลปินเพียงแต่ตั้งชื่อว่า Composition No.3 เราจะดูออกหรือว่าเป็นภาพที่สะท้อนธรรมชาติตอนพระอาทิตย์ตกดิน ในท้ายที่สุดแล้วอาจจะเป็นการปลอดภัยกว่าก็ได้ที่จะปล่อยให้ศิลปะที่เป็นนามธรรมดำรงอยู่ในภาวะนามธรรมต่อไป แล้วให้โอกาสผู้ดูผู้ชมได้เข้าสู่กระบวนการของ “ใจกระทบใจ” ด้วยตนเองจะไม่ดีกว่าหรือ การอธิบายศิลปะนามธรรมด้วยไวยากรณ์ของศิลปะรูปลักษณ์อาจก่อให้เกิดความสับสนได้
ภาพที่ 12 : พลบคล่ำ (Dusk)
แต่ถึงอย่างไรก็ตามผมก็ยังคิดว่าอาจารย์อิทธิพลแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกและความคิดด้วยศิลปะนามธรรมได้อย่างน่าประทับใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ การนำเรื่องของการป่วยไข้ของตนเองมาเป็นแรงผลักดันให้เกิดจิตรกรรมชุดใหม่ ซึ่งถ้าไม่มีคำบอกเล่าใดๆ ว่าเป็นจุดหักเหของการสร้างสรรค์ของศิลปิน ผู้ดูผู้ชมก็ย่อมจะสังเกตได้เองอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเทียบกับภาพอื่น กับงานชิ้นๆอื่นก่อนหน้านี้ จิตรกรรม 9 ชิ้นที่กล่าวมานี้เบิกทางใหม่อย่างชัดเจน ผู้ที่อยู่ในแวดวงทัศนศิลป์คงจะอธิบายนวัตกรรมของงานชุดใหม่นี้ได้ดีกว่าผม สำหรับบุคคลทั่วไปที่ชอบดูงานศิลปะ งานชุดนี้บอกความอย่างชัดเจนว่า อิทธิพล ตั้งโฉลก ผู้ซึ่งเคยเป็นศิลปินที่มีระเบียบวินัยกับตัวเองอย่างเคร่งครัด ได้พัฒนามาถึงจุดที่พร้อมจะปลดปล่อยตัวเองออกจากกรอบที่ได้วางเอาไว้ เสรีภาพในการแสดงออกเห็นประจักษ์ได้ด้วยตา ความเคลื่อนไหวที่มีอยู่ในแทบทุกจุด ภาพทุกภาพมีพลวัตที่ได้รับการเสริมจากสีสันและเส้นลายที่ดูจะลื่นไหลกว่าเดิมมาก แม้จะยังเป็นศิลปะนามธรรมอยู่ แต่ความผูกพันกับลักษณะที่เป็นเหลี่ยมเป็นมุม (angularity) ได้ถูกผ่อนคลายไปแล้ว ในลักษณะหนึ่ง ความเบิกบานแจ่มใสและความมีชีวิตชีวาปรากฏขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ลักษณะที่เป็น “มัณฑนศิลป์” ก็มิจำเป็นต้องซ่อนตัวอีกต่อไป ถ้าไม่ได้รับการบอกกล่าวว่าศิลปินมีปัญหาความป่วยไข้ที่ทำให้ใช้มือในการวาดภาพไม่ได้แม่นยำเหมือนเดิม ผู้ดูผู้ชมก็คงจะไม่ได้ใส่ใจกับประเด็นนี้ เพราะภาพเหล่านี้มองแล้วเกิดความหฤหรรษ์ ดูแล้วไม่เครียดเหมือนงานบางชิ้นในอดีต เป็นไปได้อย่างไรที่ความป่วยไข้กลับเป็นจุดที่ก่อให้เกิดความเบิกบาน ซึ่งเราสามารถรับรู้ได้และก็เบิกบานตามไปได้ แต่ความป่วยไข้ในที่นี้มิได้เป็นอุปสรรคในระดับเดียวกับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เช่น Beethoven แต่ถ้าจะกล่าวว่างานชุดนี้เป็นงานที่เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะ จึงเรียกได้ว่าเป็น “Late Ithipol” เช่นเดียวกับ “Late Beethoven” แล้วละก็ ผมคิดว่าเรามีประเด็น
นอกเหนือจากการสร้างนวัตกรรมในเชิงทัศนศิลป์แล้ว ในด้านของความคิด งานชุดใหม่นี้ก็มีลักษณะบุกเบิกเช่นกัน ศิลปินยอมรับความจริงว่า มนุษย์ไม่อาจวางตัวไว้เหนือธรรมชาติได้ และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า มนุษย์ต้องน้อมรับความเป็นไปที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ภาพสุดท้ายของชุดมีชื่อ แรงโน้มถ่วง (Gravity) (ภาพที่ 13 ) มีลักษณะเป็นการบอกความเชิงปรัชญา (philosophical statement) แก่นของภาพบนพื้นสีดำถูกล้อมด้วยเส้นสีขาวและเส้นสีน้ำตาล เส้นทั้งสองดูหย่อนยานไปถึงขั้นที่มิอาจควบคุมส่วนกลางของภาพให้อยู่ในวงล้อมได้ต่อไป ส่วนที่ขยายตัวและกระจายข้ามเส้นทั้งสองออกไปนั้น ก็คงจะเทียบได้กับการที่มนุษย์และทุกสิ่งทุกอย่างบนผืนโลกถูกกำกับด้วยแรงโน้มถ่วงซึ่งมีอำนาจเหนือการควบคุมเรา แต่ถ้าพินิจดูให้ดี ภายในกรอบนั้น เราก็ยังสร้างสรรค์สิ่งที่เราต้องการจะสร้างได้มากและหลากหลาย ถ้ารับหลักการเชิงปรัชญาเบื้องต้นได้ ชีวิตที่ถูกบั่นทอน (บ้าง) ด้วยความป่วยไข้ก็ยังดำเนินต่อไปได้ แน่นอนที่สุด เวลาที่ผ่านไป สังขารที่ร่วงโรยลงไป ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ในภาพหนึ่งเรียกว่า วัตถุที่ร่วงหล่น (Fallen Objects) (ภาพที่ 14) อีกภาพหนึ่งเรียกว่า ผู้ชายล้ม (Falling Man) (ภาพที่ 15) สังเกตดูให้ดี วัตถุนั้นปราศจากแรงต้านใดๆ เมื่อร่วงไปแล้วก็ร่วงไปเลย เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “fallen” ในขณะที่มนุษย์นั้นยังมีพลังต้านอยู่บ้าง แม้จะน้อยนิด เพราะยังล้มไม่สุดทาง ศิลปินจึงใช้คำว่า “falling” เป็นสภาพที่ยังคงดำเนินอยู่และยังไม่ถึงจุดจบ ทั้งหลายทั้งปวงนี้อยู่ภายใต้มโนทัศน์ที่เรียกว่า “ร่วงหล่น” (fall) เมื่อไม่ใช่เป็นคริสต์ศาสนิกชน คำว่า fall ในที่นี้จึงมิใช่เทวดาตกสวรรค์ แต่เป็นมนุษย์ที่มิอาจเลี่ยงความเป็นไปของโลกได้ และต้องร่วงหล่นไปตามเวลาที่ล่วงไป ภาพที่ชื่อว่า ร่วงหล่น (Fall) (ภาพที่ 16) ถูกใจผมเป็นพิเศษ สีอาจจะเคร่งขรึมกว่าภาพอื่นๆ บ้างเล็กน้อย แต่ดูแล้วความมีชีวิตชีวายังคงอยู่ ได้ชมภาพนี้แล้วไม่ได้คิดว่าการร่วงหล่นคือสุดทางของชีวิต แต่เป็นเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น และภายในข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวง ศิลปะยังเป็นตัวสร้างความหฤหรรษ์และกำลังใจให้กับเราได้ สารที่ศิลปินส่งมาลึกซึ้งนัก กลุ่มผลงานที่เรียกว่า “Late Ithipol” คงจะดำเนินต่อไปและพัฒนาต่อไปอย่างไม่รู้จบ มีศิลปินสักกี่คนที่ใช้ความป่วยไข้ให้เป็นเครื่องชี้ทางแห่งความหวังได้ ผมอดคิดถึงคีตกวีชาวเยอรมันผู้ที่ผมเทิดทูนไม่ได้ นั่นคือ Johannes Brahms (1833-1897) ในผลงานที่ชื่อ The German Requiem (1869) คีตกวีไม่ยอมรับขนบที่สืบทอดกันมาว่า นี่คือโศลกแห่งมรณกรรมที่คีตกวีมักจะเขียนอุทิศให้กับผู้เขารักและเคารพที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ Bramhs กลับไปเฟ้นหาจากคัมภีร์ศาสนา วัจนะที่บอกความว่า สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ทางแห่งความหวังยังมีอยู่อย่างแน่นอน
ภาพที่ 13 : แรงโน้มถ่วง (Gravity)
ภาพที่ 14 : วัตถุที่ร่วงหล่น (Fallen Objects)
ภาพที่ 15 : ผู้ชายล้ม (Falling Man)
ภาพที่ 16 : ร่วงหล่น (Fall)
นิทรรศการครั้งนี้จบลงด้วยการให้ความหวังที่หนุนด้วยแรงแห่งความมุ่งมั่นและพลังแห่งศรัทธา ศิลปินผู้นี้ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
เชิงอรรถ
[i]เจตนา นาควัชระ, “How to grow old gracefully: The case of Ithipol Tangchalok”, [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://172.27.49.39/thaicritic/?p=2950 (วันที่ค้นข้อมูล 18 มีนาคม 2559)
[ii]สูจิบัตร : ITHIPOL THANGCHALOK, ABSTRACT : The Truth of Art, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, 2558), 94