สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล : ความปรารถนาดีของคนขาดรากและรากขาด
สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล : ความปรารถนาดีของคนขาดรากและรากขาด
เจตนา นาควัชระ
เป็นที่น่าชื่นใจอย่างยิ่งว่า ไม่ใช่แต่ผู้ฟังรุ่นเก่าที่เคยสัมผัสกับวงดนตรีและนักร้อง
สุนทราภรณ์ในยุคที่ครูเอื้อยังกำกับวงอยู่ แต่ในปัจจุบัน คนหลากยุคหลายวัยก็มาร่วมฉลอง 100 ปีชาตกาลของครูเอื้อ สุนทรสนาน และการที่ครูเอื้อได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ประจำปี 2553 ก็ยังเป็นแรงหนุนให้แฟนเพลงสุนทรภรณ์เกิดความมั่นใจว่า มรดกทางดนตรีที่ครูเอื้อและผู้ร่วมงานของท่านได้มอบให้แก่คนรุ่นหลังนั้นอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า “นานาชาติ” (นี่ถ้าเป็นผลงานทางวิชาการละก็อยู่ในระดับของ ศ. 11 ได้เลยทีเดียว!) ผมได้ยินคุณรวงทอง ทองลั่นธม กล่าวถึงเกียรติที่ครูเอื้อได้รับจากองค์การระหว่างประเทศเอาไว้ ซึ่งกินใจผมมาก นั่นก็คือ “เราลูกศิษย์ครูระดับนานาชาติเชียวนะ” การที่วงการบันเทิงร่วมสมัยอาสาที่จะเข้ามาทำงานหนักเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นอมตะของเพลงสุนทราภรณ์นั้น ต้องนับว่าเป็นคุณูปการอย่างหนึ่ง และการที่จะใช้รูปแบบของละครเพลงที่เรียกว่ามิวสิคัลมาเป็นตัวสื่อความภักดีที่ว่านี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่แฟนเพลงสุนทรภรณ์คาดหวังเอาไว้ว่า จะเป็นบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นได้ว่าเพลงสุนทราภรณ์ไม่มีวันตาย ละครเพลงเรื่อง กว่าจะรักกันได้ เดอะมิวสิคัล ที่นำออกแสดงที่โรงละคร เอ็ม เธียเตอร์ ซึ่งผมได้ไปชมเมื่อบ่ายวันที่ 23 มกราคม 2554 เป็นเครื่องพิสูจน์ความตั้งใจดีของกลุ่มศิลปิน ซึ่งวัตถุประสงค์ของพวกเขาอาจสรุปได้เป็น 4 ประการคือ
1. ต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเพลงสุนทราภรณ์มีคุณค่าอยู่ในเนื้อในที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอไปได้อย่างไม่รู้จบ เพียงคิดเท่านี้ก็น่าตื่นเต้นแล้ว
2. เปิดโอกาสให้แก่คนรุ่นใหม่ อันรวมถึงนักร้องและนักแสดง ได้ปรับตัวเข้าหาเพลงไทยสากลระดับบรมครู เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การตีความใหม่เป็นสิ่งที่ทำได้ตลอดเวลา
3. ถือโอกาสของการจัดแสดงในรูปแบบใหม่นี้แสดงทัศนะเชิงวิพากษ์สังคม อันรวมไปถึงการวิจารณ์วงการแสดงร่วมสมัยของไทยเองด้วย
4. เปิดหลังบ้านให้มหาชนได้รับทราบว่า การทำละคร โดยเฉพาะละครเพลงขนาดใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ต้องการความร่วมมือจากหลายด้าน และต้องการการบริหารจัดการ รวมถึงการสร้างมนุษยสัมพันธ์อันยากยิ่ง เบื้องหลังฉากในลักษณะนี้ จะช่วยให้ผู้คนได้รับรู้ถึงกลไกของกระบวนการ “กว่าจะเป็นละคร”
โจทย์ที่คณะละครตั้งให้ตนเองเป็นโจทย์ที่ยากมาก และก็น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ถึงแม้จะพยายามแล้ว ก็อาจจะยังตอบโจทย์เหล่านั้นมิได้ครบถ้วน ข้อวิพากษ์ที่ผมจะเสนอในบทวิจารณ์นี้ มิได้มุ่งที่จะผลักให้พวกนักแสดงเหล่านี้ตกจากเวที แต่ในทางตรงกันข้าม ผมใคร่ขอเสนอแนวคิดบางประการที่อาจจะทำให้พวกเขาอยู่บนเวทีต่อไปได้อย่างสมศักดิ์ศรีและมีคุณภาพ
สำหรับโจทย์ข้อที่หนึ่ง พอผมเดินเข้าไปในโรงละครก่อนการแสดงประมาณ 15 นาที ก็รู้สึกเอะใจขึ้นมาแล้วว่า เหตุใดนักดนตรีที่น่าจะนั่งอยู่หน้าเวทียังไม่เริ่มอุ่นเครื่องเสียที เพราะละครมิวสิคัลที่ผมได้ดูมาในบ้านเราก็ใช้วงดนตรีบรรเลงสดกันทั้งนั้น แม้ในโรงละครบางแห่งจะจับวงดนตรีไปซ่อนไว้ใต้เวที และเห็นเวทีผ่านจอมอนิเตอร์ แต่เราก็ยังได้ยินเขาขึ้นเสียงและอุ่นเครื่องกันอยู่ก่อนการแสดง ผมเริ่มใจไม่ดีแล้วว่า คงจะใช้ดนตรีประเภท “อัดกระป๋อง” มาอย่างแน่นอน แล้วก็เป็นจริงอย่างที่กริ่งเกรงเอาไว้ เพลงสุนทราภรณ์เป็นเพลงที่ยากมากสำหรับการร้องด้วยคาราโอเกะ เพราะผู้แต่งเพลงกำหนดให้มีการบรรเลงช้าบ้างเร็วบ้างเพื่อสนองอารมรณ์ของเพลงที่เปลี่ยนไป (ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าพวกที่เต้นรำบนเวทีลีลาศในสมัยก่อนจะตามดนตรีนี้อย่างไร) นักร้องรุ่นเก่าจะเรียกวิธีการร้องเช่นนี้ว่า “ร้องตามไม้” นั่นก็คือ ต้องมองการกำกับวงของครูเอื้อ ซึ่งไม้ที่ว่านั่นไม่ใช่ไม้บาตอง (baton) ที่วาทยกรเพลงคลาสสิกใช้กัน แต่ก็คือคันชักไวโอลินของครูเอื้อนั่นเอง การอัดเสียงมาล่วงหน้าเป็นการบีบให้นักร้องต้องร้องเพลงอย่างตายตัว ซึ่งไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเพลงของครูเอื้อและเพื่อนร่วมงานของท่านที่มีพื้นมาจากดนตรีคลาสสิกตะวันตก ในส่วนของดนตรีที่บันทึกมาล่วงหน้านั้น ก็คงจะต้องยอมรับว่ายังขาดความละเมียดในช่วงที่เพลงต้องการสร้างอารมณ์ที่ละเมียดพอกัน
สำหรับการเลือกเพลงนั้น (ยกเว้นเพลงชุดจุฬาตรีคูณ) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาจจะยังไม่ได้นำองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ของเพลงสุนทราภรณ์มาใช้อย่างกว้างขวางพอ เพราะยังมีเพลงชั้นยอดอีกเป็นจำนวนมากที่น่าจะเข้ามาสนองการเดินเรื่องของละครมิวสิคัลชุดนี้ได้ อันที่จริงการใช้เพลงที่มีอยู่แล้วมาเป็นตัวสนับสนุนเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่เป็นสิ่งที่ทำได้ และน่าจะทำได้อย่างดีกับเพลงสุนทราภรณ์ เพราะมีเพลงให้เลือกเป็นพันๆ เพลง ในช่วงทศวรรษที่ 2490 ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เคยทำรายการวิทยุ โดยนำเพลงสุนทราภรณ์ที่แต่งไว้แล้วมาบรรเลงต่อเนื่องกัน สามารถเล่าเรื่องราวที่มีความเข้มข้นและความหลากหลายทางอารมณ์ราวกับเป็นงานวรรณกรรมชั้นดีได้ คณะละครเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่จะต้องออกแรงอีกสักนิด
สำหรับโจทย์ข้อที่สอง นักร้องเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะมีความผูกพันกับเพลง
สุนทราภรณ์สักเพียงใด ก็ดูจะยังเข้าไม่ถึงวิญญาณของเพลง จึงมิได้เกิด “การตีความใหม่” หากแต่เป็นการจับความไม่ได้มากกว่า สังเกตได้ว่านักร้องอาจจะมีเวลาฝึกฝนการร้องเพลงสุนทราภรณ์น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วทอดเสียงยาวไม่ได้ และเอื้อนด้วยความยากลำบาก บางคนจึงหาทางออกด้วยการตัดเป็นวลีสั้นๆ ทำให้เพลงขาดความลี่นไหล และจุดนี้ทำให้เพลงจากจุฬาตรีคูณขาดรสไปไม่น้อย
ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทย์ข้อที่สาม การชี้ให้เห็นความฟอนแฟะของสังคมร่วมสมัยที่คุณหญิงคุณนายผู้ไร้รสนิยมออกมามีบทบาทมากเกินไป และความคลั่งดาราของคนส่วนใหญ่นั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง เพราะเท่ากับนักแสดงกลุ่มนี้พร้อมที่จะวิพากษ์ตนเอง เป็นความตั้งใจที่น่ายกย่อง แต่วิธีที่ใช้ไม่เกิดผล เพราะกลายเป็นโอกาสแสดงมุกตลกเกือบตลอดทั้งเรื่อง จนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะมุกตลกเหล่านั้นซ้ำๆ กัน และส่วนใหญ่ก็ต้องเรียกว่าด้านและขาดความแหลมคม การแสดงที่เกินพอดี (overacting) ถ้าใช้แต่เพียงประปรายก็อาจจะทำให้เกิดความขำขัน แต่ถ้าใช้มากเกินไปก็ทำให้ละครเสียความสมดุล หัวคะมำตกลงไปในห้วงน้ำเน่าที่พวกเขาพยายามวิพากษ์และหวังจะกำจัดไปเสียให้สิ้น วังวนและวังเวียนของความไร้สาระของสิ่งบันเทิงในประเทศไทยจึงจะยังคงอยู่กับเราต่อไปอีก
สำหรับโจทย์ข้อที่สี่ ความคิดที่จะใช้กลวิธี “ละครในละคร” เป็นความคิดที่ดีมาก แต่สิ่งที่คณะละครทำได้ก็คือ แนวการแสดงที่กล่าวมาแล้วในการตอบโจทย์ข้อที่สามข้างต้น อันที่จริงการผูกเรื่องให้ผู้เขียนบทกับผู้กำกับการแสดงมีปัญหาในการร่วมงานกันนั้นเป็นประเด็นที่น่าจะขยายความได้ดีเกินไปกว่าเรื่องของความสัมพันธ์ทางความรัก การตั้งประเด็นเรื่องข้อขัดระหว่างหน้าที่การงานกับความสัมพันธ์ส่วนตน ก็เป็นประเด็นที่ผู้เขียนบทนำกลับมาเล่นอีกหลายครั้ง นับว่าทำได้ดี นี่คือลักษณะของจุดเด่นทางความคิดที่น่าจะแผ่ขยายไปยังทุกองค์ประกอบของละครเพลงเรื่องนี้ แต่ความมุ่งมั่นที่จะสร้างความสนุกสนานทำให้ทั้งผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดง (จริง) ละเลยศักยภาพที่มีอยู่แล้วในเนื้อในของตัวบทไปเสีย
ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับการแสดงละครเพลงเรื่องนี้มิใช่ปัญหาในระดับบุคคล หรือแม้แต่ในระดับกลุ่มบุคคล แต่เป็นปัญหาของสังคมไทยร่วมสมัยที่เข้ามาครอบคลุมพฤติกรรมของพวกเราอย่างเลี่ยงได้ยาก ในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปะการแสดงนั้น ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ขาดราก”หรื “รากขาด”ในทางวัฒนธรรมนั้น อาจทำให้เราเกิดความเคว้งคว้างหาหลักที่จะเกาะยึดไม่ได้ จะขออนุญาตวิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้เป็นประเด็นๆ ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ความห่างเหินของสังคมร่วมสมัยจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน ทำให้เราเข้าไม่ถึงขุมทรัพย์ทางปัญญาอันมหาศาลที่สั่งสมกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ เคยมีผู้รู้กล่าวไว้ว่า “ถ้าคิดอะไรไม่ออก ให้กลับไปหาชาวบ้าน” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของการแสดงในบ้านเราก็คือ ปัญหาการสร้างอารมณ์ขัน ซึ่งเกิดความสับสนระหว่างลักษณะขำขัน (humorous) กับลักษณะงี่เง่า (insipid) สังคมไทยแต่ดั้งเดิมมาเป็นสังคมที่มีความมั่งคั่งทางภาษาสูงมาก และอารมณ์ขันส่วนหนึ่งแฝงอยู่ในเนื้อในของภาษา กลุ่มนักแสดงที่ยังสร้างอารมณ์ได้อย่างน่าทึ่งก็คือกลุ่มที่ยังใกล้ชิดกับชาวบ้าน ใกล้กับศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ถ้าเทียบอารมณ์ขันในละครเพลง กว่าจะรักกันได้ กับรายการโทรทัศน์ เช่น ก่อนบ่ายคลายเครียด, คุณพระช่วย หรือ วงษ์คำเหลา แล้วคงจะต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ขาดรากที่ฟู่ฟ่าทั้งหลายยังไม่รู้จักใช้อัจฉริยภาพของชาวบ้านให้เป็นประโยชน์
ประการที่สอง ละครที่ดีเป็นละครที่ต้องมีบทที่นับว่าเป็นวรรณกรรมได้ การผูกเรื่องก็ดี การสร้างตัวละครก็ดี การสนทนาโต้ตอบก็ดี เป็นสิ่งที่วรรณกรรมประเภทบทละครสั่งสมเป็นมรดกเอาไว้ให้เป็นพันๆ ปี ผู้เขียนบทละครที่เก่งกาจคงจะมิได้มองแต่เฉพาะมรดกของชาติของตนเองเท่านั้น แต่มีนักเขียนไทยจำนวนหนึ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากองคนิพนธ์ของตะวันตกและตะวันออก เช่น ชมพูทวีป ผู้ดูผู้ชมในครั้งนี้ก็เห็นตัวอย่างแล้วจากความสามารถของ “พนมเทียน” เมื่อวัยหนุ่ม คณะละครของตะวันตกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมประจำคณะละครไว้เป็นการถาวร เมื่อเดิมขนบนี้มาจากเยอรมนี แต่ก็แผ่ขยายไปยังสังคมตะวันตกอื่นๆ
ประเด็นที่สาม ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเมื่อตัดสินใจจะสร้างละครประเภทมิวสิคัลแล้ว ผู้สร้าง ผู้เขียนบท และผู้กำกับการแสดงได้ศึกษาวิเคราะห์งานประเภทนี้มาอย่างลึกซึ้งเพียงใด ตัวอย่างตะวันตกก็เป็นที่รู้จักกันอยู่ ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่คงจะได้สัมผัสในรูปของภาพยนตร์มากกว่าการแสดงบนเวที ถึงกระนั้นก็ตาม ละครมิวสิคัลในประเทศไทยที่มีความหนักแน่นในด้านการแสดง และในด้านของดนตรีก็มีให้เห็นเป็นประจักษ์ ผมยังอดคิดถึงคู่กรรมไม่ได้ ซึ่งแสดง ณ โรงละครแห่งเดียวกันนี้ หลายปีมาแล้ว และในกรณีที่เป็นของ “นำเข้า” ก็คงต้องกล่าวถึง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ซึ่งแสดงถึงสองครั้ง และก็จัดได้ว่าเป็นละครเพลงที่มีคุณภาพน่ายกย่องทั้งสองครั้ง ผู้สร้างกว่าจะรักกันได้ คงจะต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อพิเคราะห์ทั้งของใกล้ตัวและของไกลตัว
ประการที่สี่ “ผู้ใหญ่” อาจจะประเมิน “เด็ก” ของตนเองต่ำไป เพราะฉากจากจุฬาตรีคูณ 3 ฉากที่ตั้งใจแสดงให้เป็นละครจุฬาตรีคูณจริงๆ เรียกได้เลยว่าเป็นละครที่มีคุณภาพ แม้ว่าการร้องอาจจะยังไม่เข้าที่ แต่ชายหนุ่มหญิงสาวเหล่านี้มีความมุ่งมั่นและมีศักยภาพที่จะเป็นนักแสดงที่ดีได้ ผู้ใหญ่จะต้องพาเขาไปในหนทางที่ทอดสูงขึ้นเรื่อยๆ ในด้านของศิลปะการแสดง
คงจะต้องสรุปด้วยการไม่ชี้นิ้วไปที่ใครเป็นรายบุคคล แต่ขออนุญาตกล่าวเป็นเชิงสรุปรวมทั่วไปว่า สังคมเป็นเช่นไร ละครก็เป็นเช่นนั้น กว่าจะรักกันได้จริง ก็คงอีกนานทีเดียว
———————————————-