สาว-สาว-สาว : มาด้วยกัน แต่ยังไม่ไปด้วยกัน นิทรรศการผลงานศิลปะจากโครงการ “บทบาทของวัฒนธรรมไทยในศิลปะร่วมสมัย”

สาว-สาว-สาว : มาด้วยกัน   แต่ยังไม่ไปด้วยกัน

นิทรรศการผลงานศิลปะจากโครงการ “บทบาทของวัฒนธรรมไทยในศิลปะร่วมสมัย”

เจตนา  นาควัชระ

เตยงาม  คุปตะบุตร  วันทนีย์  ศิริพัฒนานันทกูร และอรอนงค์  กลิ่นศิริ  ซึ่งผมของเรียกว่ากลุ่ม “สาว-สาว-สาว” (เช่นเดียวกับกลุ่มนักร้องเมื่อ 20 กว่าปีก่อน)  เป็นศิษย์เก่าศิลปากรที่เคยทำงานวิจัยร่วมกันมาในส่วนที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปะ และการร่วมมือครั้งล่าสุดเป็นกิจกรรมที่พวกเธอจงใจเรียกว่าเป็นโครงการวิจัย โดยพยายามจะศึกษาบทบาทของวัฒนธรรมไทยในการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย  แต่ที่แตกต่างออกไปจากงานวิจัยโดยทั่วไปก็คือ  พวกเธอต้องการจะสื่อผลงานวิจัยที่มิใช่รูปของเอกสารดังที่เราเห็นๆกันอยู่ แต่ในรูปของงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ  จุดนี้เป็นโจทย์ที่นับได้ว่าเป็นนวัตกรรม  การแสดงงานศิลปะในครั้งแรกระหว่างวันที่ 27 ม.ค.-17 ก.พ. 2554 ณ หอศิลป์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ยังอยู่ในขั้นของการทดลอง  ผมเองต้องยอมรับว่า  การจะปรับการสร้างสรรค์ทางศิลปะให้เป็นกระบวนการของการวิจัยนั้น  อาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก  ยิ่งไปกว่านั้น  ศิลปินที่สมัครใจเข้ามาเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกำกับให้เสนอผลงานวิจัย  ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  ที่ทำกันมาแล้วก็คือ  การสร้างสรรค์งานศิลปะโดยใช้งานศิลปะนั้นในการถ่ายทอดแนวความคิดและหลักวิชาไปสู่ผู้รับ  พร้อมกับให้คำอธิบายด้วยความเรียงเชิงวิชาการที่ละเอียดลึกซึ้ง  ซึ่งในที่นี้ก็ยังไม่แน่ว่าเป็นผู้รับในวงการศิลปะ  หรือเป็นผู้รับที่เป็นมหาชนทั่วไป  เพราะโดยวิสัยของศิลปินแล้ว  ย่อมปรารถนาที่จะสื่อความออกไปในวงกว้างต่อมหาชน  มากกว่าที่จะจำกัดวงอยู่กับผู้ร่วมอาชีพของตน

เช่นเดียวกับศิลปินร่วมสมัยจำนวนมาก  สาว-สาว-สาวเลือกที่จะอธิบายงานของตนเองด้วยความเรียง  ซึ่งก็เท่ากับเป็นการยอมรับในขั้นหนึ่งว่า ตัวงานศิลปะเองอาจสื่อความกับผู้รับได้ไม่ชัดเจนพอถ้าไม่มีภาษาเป็นเครื่องช่วย  ณ  จุดนี้  ศิษย์เก่าเยอรมันทั้งหลายก็คงเปล่งวาจาออกมาพร้อมกันและพ้องกันว่า  นี่คือบาปขั้นปฐมที่มาจากโยเซฟ  บอยซ์ (Joseph  Beuys:   1921-1986)  เพราะศิลปินเยอรมันท่านนี้  แม้จะสร้างนวัตกรรมในด้านงานศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะจัดวางไว้เป็นจำนวนมากมาย แต่ก็มีความทะเยอทะยานที่จะตั้งตัวเป็นปราชญ์ (หรืออาจจะถึงขั้นที่ต้องการจะเป็นศาสดา) ของสังคมร่วมสมัย  ทัศนศิลป์ของเขาส่วนหนึ่งจึงเป็นการแสดงออกด้วยภาษาอย่างตรงไปตรงมา  บางครั้งก็เป็นภาษาประกอบงานที่เป็นทัศนศิลป์  บางครั้งก็เป็นงานเขียนว่าด้วยมโนทัศน์เชิงปรัชญา สังคมและการเมืองที่เสนอตัวเป็นทัศนศิลป์ไปด้วยเลย  ด้วยลายมือที่จงใจสื่อให้เห็นถึงข้อบกพร่องของประถมศึกษาในเยอรมนี  สาว-สาว-สาวอาจจะแยกทางกันเดินในส่วนที่เกี่ยวกับการรับอิทธิพลตะวันตก  เตยงาม  ดูจะหมกมุ่นอยู่กับการสร้างและเสนอมโนทัศน์ที่มีความเป็นนามธรรมสูง  ส่วนวันทนีย์ก็ตั้งมโนทัศน์ไว้เช่นกัน  แต่พยายามใช้วิเดโออาร์ตสื่อความด้วยรูปแบบของเกม  อรอนงค์ดูจะเป็นคนเดียวในกลุ่มสาว-สาว-สาวที่ตั้งมโนทัศน์เอาไว้และแสดงความคิดออกมาเป็นงานที่จัดได้ว่าเป็นทัศนศิลป์  ซึ่งอธิบายตัวเองได้  โดยมิต้องพึ่งคำอธิบายที่เป็นภาษามากนัก  นั่นก็คือ นำเอาปัญหาของสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้มาแสดงออกด้วยศิลปะจัดวาง  เริ่มต้นด้วยการให้ภาพรางๆ ที่ใครๆก็ดูออกว่าเป็นการประกวดนกเขาขัน  อันเป็นที่นิยมกันในจังหวัดภาคใต้  ขั้นที่สองก็เป็นฝูงนกขนาดใหญ่ที่ห้อยลงมาจากเพดาน  ขั้นต่อไปเป็นฝูงนกที่ตกลงมาอยู่ในอุ้งมือคน  ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ขั้นสุดท้ายคือ นกที่พบจุดจบบนผืนแผ่นดิน  ไม่เป็นการยากนักที่จะตีความว่าสถานการณ์เกินกว่าที่เราท่านจะโอบอุ้มนกเหล่านั้นไว้ได้ด้วยมือเปล่า  ศิลปินมิได้เพียงตอบโจทย์ที่ตั้งเอาไว้เท่านั้น  แต่ได้ดึงเราเข้าไปมีส่วนร่วมในการตอบโจทย์นั้นด้วยวิธีการที่มีนัยเชิงสังคมและเชิงปรัชญาที่สูงมาก

งานของวันทนีย์เป็นการเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์  โดยมีคำถามให้เลือกตอบ  และคำถามเหล่านั้นก็ดูจะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับศิลปะเสียเป็นส่วนใหญ่  มิได้เชื่อมโยงออกไปสู่สังคมร่วมสมัยมากนัก  ดูประหนึ่งว่าศิลปินยังหมกมุ่นอยู่กับกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะ  และต้องการให้ผู้ดูผู้ชมมีส่วนร่วมในการตีโจทย์ให้แตก  คำถามของผู้ดูผู้ชมก็คือ แล้วเมื่อไรเล่าจึงจะตีโจทย์แตก  และพิสูจน์ให้เห็นว่าวัฒนธรรมไทยมีบทบาทอย่างไรต่องานศิลปะร่วมสมัย

งานของเตยงามเป็นงานที่ต้องการคำอธิบายมากที่สุด  ตัวงานศิลปะที่เป็นรูปธรรมแขวนอยู่บนเพดาน  และมีส่วนที่ให้เสียงกระพรวนอันแผ่วเบาราวกับเป็นบรรยากาศของวัดเซน  นัยว่าเป็นการแสดงออกซึ่งมโนทัศน์ที่ว่าด้วยการปลีกวิเวกในภาพ เสียง และพื้นที่  ถ้าจะถามว่านี่คือคำตอบต่อโจทย์ที่ว่าด้วยบทบาทของวัฒนธรรมไทยในงานศิลปะร่วมสมัย  ผู้ชมก็คงจะต้องยอมรับสารภาพว่ายังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงที่ว่านั้น

สรุปได้ว่า  สาว-สาว-สาวมีโจทย์ใหญ่ร่วมกัน และพยายามตอบโจทย์กลางนั้นด้วยวิธีการที่ต่างกัน  ข้อสังเกตแบบกำปั้นทุบดินของผู้ชมคนหนึ่งที่มีได้เรียนศิลปะมาก็คงจะเป็นว่า  ไม่ว่าศิลปินจะตั้งแนวคิดไว้ลุ่มลึกสักเพียงใด  แต่ถ้าสื่อความกับมหาชนส่วนใหญ่ไม่ได้  งานศิลปะนั้นก็เป็นแค่เอกวัจน์ในความคิด (มาจากศัพท์ทางวรรณคดีที่มีต้นแบบเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “monologue intérieur”) ที่พูดกับตนเอง  คงจะต้องให้คำแนะนำแบบกำปั้นทุบดินอีกเช่นกันว่า  ศิลปินไม่ควรหมกมุ่นกับการปรับการสร้างสรรค์ศิลปะให้เป็นงานวิจัย  และทัศนศิลปินก็ไม่ควรจะหาทางออกในการสื่อความด้วยการอธิบายงานของตนเองโดยพิสดารจนเกินไป  ถ้าจะตอบว่าศิลปะไม่มีพรมแดน  และศิลปินคนหนึ่งอาจจะทำงานข้ามสาขาได้ตลอดเวลา  โดยที่วรรณศิลป์ก็อาจจะเข้ามาผสมโรงด้วยก็ได้  ถ้าตอบเช่นนั้น  ผู้ชมก็อาจให้ข้อเสนอที่ท้าทายยิ่งไปกว่านั้นว่า  เหตุไฉนจึงไม่เขียนงานเป็นร้อยแก้วเชิงวรรณศิลป์ (prose poem) ไปเสียเลยเล่า  ลองกลับไปหางานร้อยแก้วของอังคาร  กัลยาณพงศ์ ดูบ้าง  แล้วจะได้แรงดลใจที่ไปในทางลึกมาก  แต่ก็คงจะต้องไม่ลืมว่าเมื่ออังคารวาดรูป  ท่านไม่เคยต้องอธิบายรูปของท่านด้วยวรรณศิลป์เลย ท่านตกยุคไปแล้วกระนั้นหรือ

——————————–

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *