“เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ – จากวันวานถึงวันนี้” การเสวนา ณ ลานบ้านใต้ต้นมะม่วง ในบ้าน “ศรีบูรพา” ในวันครบรอบชาตกาล ๑๐๖ ปี “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔

“เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ – จากวันวานถึงวันนี้”  การเสวนา ณ ลานบ้านใต้ต้นมะม่วง  ในบ้าน “ศรีบูรพา”

ในวันครบรอบชาตกาล ๑๐๖ ปี “ศรีบูรพา”  กุหลาบ   สายประดิษฐ์  วันที่ ๓๑  มีนาคม  ๒๕๕๔

 

อรพินท์  คำสอน


 

เมื่อช่วงบ่ายสองโมงวานนี้  (๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔)    นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านของ “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ  สายประดิษฐ์  นักเขียนคนสำคัญของวงวรรณกรรมไทยในยุคแรก   ผู้เป็นเจ้าของวาทะสำคัญที่รู้จักกันดีว่า “ผู้ใดเกิดมาเพื่อผู้อื่น ผู้นั้นคือสุภาพบุรุษ”  สัมผัสแรกที่ได้รับเมื่อเดินเข้าไปในบริเวณบ้านของนักเขียนท่านนี้คือ  ความสุขสงบของบ้านไม้สองชั้นขนาดย่อมที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่ไม้  และบริเวณหน้าบ้านเป็นสนามหญ้าที่มีการวางเก้าอื้ไว้เพื่อเป็นลานจัดงานเสวนาในช่วงบ่ายนี้

 

ก่อนการเสวนาจะเริ่มมีการเปิดบ้านให้ผู้มาร่วมงานได้เยี่ยมชมห้องสมุดของ “ศรีบูรพา”  และวางดอกกุหลาบเพื่อแสดงควาระหน้ารูปคุณกุหลาบ  และคุณชนิด (ภรรยาคู่ชีวิต)  สายประดิษฐ์  จากนั้นจึงเริ่มงานในช่วงแรก  คุณประยอม  ซองทอง ประธานกองทุนศรีบูรพากล่าวคารวะ “ศรีบูรพา” และ
“จูเลียต” (คุณชนิด  สายประดิษฐ์ ที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว)  คุณเจน  สมสงพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ระลึกถึง  “ศรีบูรพา” และ “จูเลียต”  และปิดท้ายด้วยการฟังบทกวี  “หิรัญยักษ์ช่วยโลก” ที่แต่งและอ่านโดยอาจารย์ชมัยภร  แสงกระจ่าง   โดยส่วนตัวเห็นว่า การได้ฟังการแสดงความคารวะและแสดงความระลึกถึง “ศรีบูรพา” และ “จูเลียต”  จากผู้ที่รู้จักทั้งสองท่านมานานปี  ช่วยย้อนให้เห็นถึงประวัติ  ตัวตน ผลงาน  และวัตรปฏิบัติ อันน่ายกย่องเชิดชูของท่านทั้งสองได้เป็นอย่างดี   ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เห็นภาพในอีกมุมหนึ่งว่า  เบื้องหลังการทำงานของ “ศรีบูรพา”  จนได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี ๒๕๔๘ นั้น   มีคุณชนิดเป็นที่ปรึกษา  กำลังใจ และคู่ชีวิตที่ติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา

ช่วงแรกของการเสวนา “เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ – จากวันวานถึงวันนี้” คุณสินสวัสดิ์  ยอดบางเตย ในฐานหนึ่งในคณะทำงานเล่าถึงเบื้องหลังการทำงาน  อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น  ความตั้งใจ และความอุตสาหะของคุณสุชาติ กับ คุณวรรณา (“ศรีดาวเรือง”)  สวัสดิ์ศรี  ที่ใช้เวลาร่วมกันกว่า ๕ ปี เพื่อทำหนังสือ  เพื่อนพ้องแห่งวันวาร  เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มใหญ่ขนาด ๑,๑๒๐ หน้า  ที่คัดสรร  เรียง   ลำดับความสำคัญ   และจัดหมวดหมู่เรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ใน “สุภาพบุรุษ”  ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๓  รวม ๓๗  เล่ม  ซึ่งสามารถคัดเรื่องสั้นมาตีพิมพ์ได้ทั้งหมด ๒๑ เรื่อง จากนักเขียน ๒๑ คน  ที่มีวิธีการเขียนและแนวเรื่องที่หลากหลาย  ในการรวมพิมพ์ครั้งนี้ยังคงรักษาตัวหนังสือที่พิมพ์ในสมัยนั้นอย่างครบถ้วน  ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้หนังสือเล่มนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น   คุณสุชาติเพิ่มในส่วนของภาพประกอบ  บทบรรณาธิการ  และหมายเหตุบรรณาธิการ

 

ช่วงหลังได้เชิญ ดร. สรณัฐ   ไตลังคะ  อาจารย์  นักวิชาการ และนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และ  คุณอนุสรณ์  ติปยานนท์ นักเขียนและนักวิจารณ์อิสระ   มาร่วมเสวนาเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เป็นการเฉพาะ  โดยมีคุณชมัยภร  แสงกระจ่าง เป็นผู้ดำเนินรายการ  การเสวนาในครั้งนี้ช่วยเปิดมุมมองของผู้เขียนให้รู้จักหนังสืออันทรงคุณเล่มนี้มากขึ้น  ทั้งจากมุมมองของนักวิชาการทางวรรณกรรมและจากนักเขียน

ในมุมมองของนักวิชาการนั้น  อาจารย์สรณัฐชี้ให้เห็นว่าหนังสือเล่มนี้นับเป็นวรรณมาลัย (Anthology)  เล่มสำคัญที่เห็นควรว่าจำเป็นต้องนำไปใช้ในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา  เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับเรื่องสั้นของไทยในยุคทศวรรษที่ ๒๔๗๐  ขาดหายไป  และหนังสือเล่มนี้ยังรวมทุกอย่างไว้อย่างพร้อมมูล  ทั้งปกและสารบัญหนังสือ “สุภาพบุรุษ”  ประวัติ และงานวิจารณ์  ด้วยเหตุนี้  หนังสือเล่มนี้จึงช่วยเติมเต็มความรู้ทางวรรณกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวที่ขาดหายไปนี้ได้เป็นอย่างดี  ขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ยังช่วยเปิดประเด็นความรู้ใหม่เกี่ยวกับเรื่องสั้นในสมัยนั้นไปพร้อมกันด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานเรื่องสั้นของนักเขียนผู้หญิง   นอกจากนี้  บทบรรณาธิการและหมายเหตุจากบรรณาธิการยังนำเสนอข้อคิด  ข้อสังเกตที่น่าสนใจ  อันช่วยทำให้มองเห็นและเข้าใจสภาพสังคม  วัฒนธรรม และความนิยมของยุคสมัยที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง  ซึ่งความรู้เช่นนี้หาได้ยากจากแหล่งความรู้อื่น  เนื่องจากการศึกษางานวรรณกรรมในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่นวนิยาย และแหล่งข้อมูลที่ใช้ก็เป็นข้อมูลในระดับทุติยภูมิ  ไม่ได้ใช้ข้อมูลปฐมภูมิดังเช่นที่หนังสือเล่มนี้นำมาใช้   แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะมีขนาดใหญ่  แต่อาจารย์สรณัฐยังยืนยันว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกเล่มหนึ่ง  เนื่องจากลีลาการเขียนมีความน่าสนใจ  ประกอบกับภาษาเขียนของคุณสุชาติก็ไม่เป็นวิชาการมากนัก

จากมุมมองของนักเขียน  คุณอนุสรณ์นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจไว้หลายประเด็น  นับตั้งแต่ปกหนังสือ “สุภาพบุรุษ” ที่นิยมนำภาพของสุภาพสตรีมาเป็นภาพปก   ต่อมาเมื่อพิจารณาเรื่องสั้นที่คัดสรรมานั้นจะพบว่ามีความหลากหลายมีทั้งเรื่องสั้นแนวขนบ  ไพรัชนิยาม  หรือแม้กระทั่งผลงานของนักเขียนสตรี  ซึ่งนับเป็นการรวมความคิดอันหลากหลายของนักเขียนในกลุ่ม “สุภาพบุรุษ” ก่อนที่แยกกันไปในทิศทางต่างๆ ในช่วงต่อมา  นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างงานเรื่องสั้นที่น่าสนใจ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นของ อ.ก. รุ่งแสง (โพยม  โรจนวิภาค)  ที่เป็นเรื่องของการนิทาผู้หญิงไว้อย่างน่ารัก  เพราะนินทาด้วยความสุภาพ  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดที่มีเสรีภาพในสมัยนั้น  ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงมิติทางสังคมที่ปรากฏในเรื่องสั้น  ซึ่งการนำเสนอมิติทางสังคมเช่นนี้ขาดหายไปในเรื่องสั้นยุคปัจจุบัน  หรือในเรื่องสั้น “บันทึกของกุมภกรรณ” ของ “ยาขอบ” ก็นำเสนอในประเด็น “อัตลักษณ์ของคนเขียน” อย่างชัดเจน  เพราะตั้งแต่เปิดเรื่อง  “ยาขอบ” ได้เปิดพื้นที่เพื่อให้นักเขียนนำตัวเองไปใส่ไว้ในเรื่องที่แต่ง  ซึ่งลักษณะการเขียนเช่นนี้ไม่ปรากกฏในวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย   อีกทั้งเรื่องสั้นเรื่องนี้ยังมีลักษณะการเขียนในเชิงย้อนแย้งระหว่างการมีอยู่ และ/หรือไม่มีอยู่ระหว่างนักเขียนกับตัวบท  และเรื่องสั้น “ดำรงฤทธิ์”  ของ “เวทางค์”  นับเป็นเรื่องสั้นที่แปลก  เพราะนำสถานที่มาเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ   การนำสถานที่มาเป็นตัวละครเช่นนี้เป็นวิธีการเขียนที่นักเขียนตะวันตกนิยมใช้  แต่ไม่ค่อยพบในผลงานเของนักเขียนไทยยุคปัจจุบันเท่าใดนัก

อีกทั้ง  คุณอนุสรณ์ยังเห็นพ้องกับอาจารย์สรณัฐว่า  ทุกครั้งที่มีการทำวรรณมาลัย (Anthology)  ที่ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญ  เพื่อให้วงการวรรณกรรมสามารถที่จะดำเนินต่อไปได้  เพราะคุณค่าของวรรณมาลัยก็คือการกำหนดพื้นที่และที่ทางให้กับงานวรรณกรรมที่จะกระจายตัวไปในทิศทางต่างๆ ได้  การทำงานของคุณสุชาติในครั้งนี้นับเป็นคุณูปการสำคัญที่ช่วยทำให้เห็นว่า  วรรณกรรมของไทยจะเดินไปในทิศทางใด  อีกทั้งการทำวรรณมาลัยในลักษณะนี้มีความจะเป็นต้องทำต่อไป และคงต้องทำให้มากขึ้นด้วย เพื่องแสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมมีคุณค่า  ขณะเดียวกันก็จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีรากอย่างแท้จริง

การเสวนา ณ ลานบ้านใต้ต้นมะม่วงในบ่ายวันนี้ถักทอบรรยากาศความเป็นกันเองระหว่างนักเขียนรุ่นเก่า  รุ่นปัจจุบัน  รุ่นใหม่  สื่อมวลชน  และผู้สนใจทั่วไป  ให้ดื่มด่ำไปกับชีวิตและผลงานของ
“ศรีบูรพา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าของผลงานคัดสรรเรื่องสั้น “สุภาพบุรุษ” ใน หนังสือ เพื่อนพ้องแห่งวันวาร  เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ ที่ได้จากการเสวนาร่วมกันระหว่างนักวิชาการกับนักเขียน  จนจุดประกายความสนใจให้ผู้เขียนว่าจะต้องไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้จากบูธสามัญชน  ในงานสัปดาห์หนังสือฯ  มาอ่านให้ได้

นอกจากนี้   หากผู้ใดสนใจท่านใดอยากที่จะสัมผัสบรรยากาศการเสวนาทางวรรณกรรมสบายๆ เช่นนี้บ้าง   ก็ขอเชิญร่วมงานเสวนา “ถกเขมร  เขมรินทร์  อินทิรา  และ เชลยศักดิ์”  เนื่องใน ๑๐๐  ปี
ชาตกาล ม.ร.ว.  คึกฤทธิ์  ปราโมช  ”ก. สุรางคนางค” และ “ดวงดาว”  ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒ เมษายนนี้  ณ ห้องประชุม ๑  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ -๑๒.๐๐ น.

 

——————————————-

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *